About
Leisure

It’s nice to see you, Grandma.

Gimbocha คาเฟ่คุณยายสุดโคซี่กลางกรุงที่ตั้งใจเป็นคอมมูนิตีให้ทุกคนเข้าถึงชาจีนง่ายขึ้น

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Gimbocha คาเฟ่ชาจีนย่านหอศิลป์ที่มีเอกลักษณ์เป็นคาแรกเตอร์ประจำร้านอย่าง ‘คุณยาย’ ภายใต้การดูแลของสองหนุ่มสาวยุคใหม่ที่อยากผลักดันให้ชาจีนเข้าถึงทุกคน

เราเชื่อว่าหลายคนที่ชอบเดินเล่นหอศิลป์ เคยมีโมเมนต์อยากหาร้านนั่งพักผ่อนหย่อนใจหลังจากเดินดูงานอาร์ตมาทั้งวัน ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น จนกระทั่งได้เห็นโพสต์แนะนำคาเฟ่ชาจีน Gimbocha (อ่านว่า กิมบ้อชา) ที่อยู่ในซอยเกษมสันต์ 1 ใกล้กับหอศิลป์ หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ชาอร่อย ร้านน่ารัก บรรยากาศอบอุ่น แถมคุณยายที่เป็นคาแรกเตอร์ประจำร้านก็น่าเอ็นดูสุดๆ เราจึงไม่รอช้า ลองแวะไปดูด้วยตัวเอง

การลองแวะไปครั้งนั้นนำมาสู่การพูดคุยในครั้งนี้ เพราะความประทับใจที่ได้จากการไปสัมผัสบรรยากาศและลิ้มลองชามันท่วมท้น จนทำให้เราอยากพูดคุยกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังร้านอย่าง บอส - นภัสรพี พุทธรัตน์ และต้นน้ำ - วารีช กิจบูรณะ ว่าอะไรกันที่ทำให้ร้านชาจีนแห่งนี้อบอวลไปด้วยเสน่ห์

Gimbocha

Grandma’s Tea House

ถึงร้าน Gimbocha จะตั้งอยู่ในซอยเกษมสันต์ 1 ซึ่งรายล้อมไปด้วยโรงแรมและตึกสูงใหญ่ แต่เราว่าตัวร้านมองหาไม่ยากเลย แค่เดินเลียบฝั่งซ้ายไม่ไกลจากหน้าซอยก็จะเห็นป้ายรูปคุณยายตั้งอยู่ตรงมุมเสาสีขาวเป็นเอกลักษณ์สะดุดตา มองเลยไปเป็นต้นไม้ร่มรื่นและตัวร้านสองชั้น ดูอบอุ่นไม่เหมือนมาร้านชา ทว่าเหมือนมาเยี่ยมคุณยายที่บ้านไม่มีผิด

Gimbocha

สิ่งแรกที่เราเห็นเมื่อเข้าไปด้านในคือบันไดวนกลางร้านสวยงามรับกับผนังไม้ด้านหลัง บอสและต้นน้ำบอกเราว่า บ้านหลังนี้เก่ามากเลยอาจผุพังไปบ้าง ส่วนบันไดวนกับผนังไม้เป็นของเดิมที่มีอยู่แต่แรก ต้องบอกเลยว่าทั้งสองเลือกทำเลดีไม่ใช่เล่น ทั้งสวย ทั้งอยู่ใจกลางเมือง ด้วยความที่อยู่ในซอยหน่อยจึงไม่วุ่นวาย ทุกอย่างลงตัวกับการจิบชาพักผ่อนเป็นที่สุด

Gimbocha

Gimbocha

ก่อนนั่งลงพูดคุยกัน เรามีเวลาเดินสำรวจร้านนิดหน่อย สังเกตเห็นในเมนูว่าที่นี่เน้นเสิร์ฟชาจีน ทว่าภายในร้านกลับให้ไวป์ญี่ปุ่น เหมือนเราหลุดเข้ามาในซีนคาเฟ่ของอนิเมะสักเรื่อง ข้าวของเครื่องใช้เป็นไม้สีน้ำตาลเสียส่วนใหญ่ แซมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ในกระถางเล็กๆ บนเพดานประดับโคมไฟหลายรูปทรงส่องแสงโทนส้ม รวมถึงของตั้งโชว์เป็นตุ๊กตาต่างๆ ซึ่งบางตัวเราก็จำได้ว่ามาจากอนิเมะญี่ปุ่นนั่นแหละ บอสจึงเล่าที่มาที่ไปของไอเดียตกแต่งร้านให้เราฟัง เริ่มจากร้านแรกที่หนองแขม

Gimbocha

ธุรกิจนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากคนสองเจนเนอเรชัน คุณพ่อของบอสสนใจอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับค้าส่งใบชา ประกอบกับความว่างในช่วงโควิด บอสจึงเข้ามาช่วยทำร้านและค่อยๆ แต่งเติมร้านไปเรื่อยๆ ทว่าด้วยความชอบของคนสองเจนที่ต่างกันนี่แหละ ร้านเดิมคงจะเรียกว่าเป็นการ Mix Generation ได้เลยทีเดียว มีการบูชาเทพเจ้าอยู่โซนหนึ่ง มีสแตนดีคุณยายอยู่อีกโซนหนึ่ง มีมังกรบินอยู่กลางห้อง บวกกับต้นจั๋งแบบมินิมัลและต้นไผ่ปลอม ปนกันไปหมด

Gimbocha

“ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นข้อดีนะ ด้วยวิธีนั้นแหละ ลูกค้าที่เข้ามาเขาก็มีจุดเปิดบทสนทนาหมด ชวนคุย มาถามเราว่าอันนั้นอันโน้นคืออะไร” บอสเปรยยิ้มๆ ให้เรานึกภาพตามก่อนหัวเราะเสียงใสไปตามๆ กัน

ร้านกิมบ้อชาไม่ได้มีความชัดเจนในการดีไซน์ตั้งแต่แรก แต่พอบอสและต้นน้ำออกจากจุด โลคัลตรงหนองแขมมาอยู่ในเมือง ทั้งสองก็รู้สึกตรงกันว่าต้องตกแต่งเป็นสไตล์ที่ชัดเจนขึ้น จึงใช้ความรู้ด้านนิเทศฯ สายภาพยนตร์ที่เรียนมาในการดีไซน์ซีนให้เข้ากับตัวแบรนด์

ต้นน้ำอธิบายให้เราฟังว่า ที่นี่มีเรฟเฟอเรนซ์มาจากไต้หวัน แต่คนอาจนึกไม่ออกว่าไต้หวันเป็นยังไง เพราะมันอยู่ตรงกลางระหว่างจีนกับญี่ปุ่น อีกหนึ่งมุมมองที่บอสเสริมเข้ามาคือ หากจะตกแต่งร้านให้มีความจีนจ๋าๆ อาจทำให้มีสเปซระหว่างคนไทย ทำให้รู้สึกห่างเหิน ไม่กล้าเดินเข้าร้าน อันที่จริงเราก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า หนึ่งในความเป็นไทย คือคนไทยชอบหลายวัฒนธรรม จะจีน ไต้หวัน ฮ่องกง หรือญี่ปุ่น เราเอามาปรับให้ลงตัวและเป็นตัวเราได้

Gimbocha

ตอนแรกที่ทำร้านก็โดนคอมเมนต์อยู่บ้าง อย่างแรกๆ ต้นน้ำเล่าว่า เธอเคยวาดคุณยายใส่รองเท้าเกี๊ยะ หลังจากนั้นมีลูกค้าท่านหนึ่งเข้ามาแนะนำว่าคุณยายจีนๆ ไม่น่าใส่เกี๊ยะนะ เป็นฟีดแบ็กให้ทั้งคู่ค่อยๆ ปรับดีไซน์ร้านและแบรนด์ให้เข้าที่เข้าทาง เหมือนทั้งตัวเจ้าของร้านและลูกค้าช่วยกันสร้างให้ทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็นทุกวันนี้

Gimbocha

“ร้านนี้เป็นร้านนี้ได้ เพราะลูกค้าช่วยกันใช้งานนะ รูปภาพที่ลูกค้าวาดติดผนังมันหมุนเวียนเรื่อยๆ ของต่างๆ ถูกหยิบวางทุกวัน มันมีคุณค่าของมันอยู่แล้ว เราเลยค่อนข้างเชื่อว่า ต่อให้เราจัดร้านคล้ายกันๆ แต่ถ้าเราไม่ให้ลูกค้าใช้อะไรเลย ให้เขามานั่งกินอย่างเดียว ก็คงไม่ได้มีความอบอุ่นขนาดนี้หรอก”

Gimbocha

Let’s Get to Know Grandma

นอกจากการตกแต่งสไตล์โฮมมี่ อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกสนิทกับร้านชานี้ แม้จะมาเพียงครั้งสองครั้ง คือ “คุณยาย” คาแรกเตอร์ที่ต้นน้ำเป็นผู้สร้างสรรค์ แต่งเติมเรื่องราวให้ร้าน Gimbocha ดูมีชีวิตชีชีวา แถมยังโดนใจลูกค้าอย่างจัง

“เราอยากให้คุณยายดูน่ารักเหมือนเป็นคนในครอบครัวของทุกคน ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านชา เวลาคุณยายพูดอะไรออกมา นอกจากจะทำให้รู้สึกอบอุ่นแล้ว ยังต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจเรื่องชาได้ง่ายด้วย” ต้นน้ำเล่า

เรียกได้ว่าตัวตนของคุณยายเกิดขึ้นมา เพราะบอสกับต้นน้ำอยากสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจเรื่องชาได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ชาจีนมีภาพลักษณ์เข้าถึงยาก ทั้งด้วยชื่อภาษาจีนซึ่งคนไทยอ่านไม่ออกหรือไม่คุ้นเคย จนทำให้รู้สึกเกร็งก็ดี แบรนด์นี้และตัวคุณยายจะทำหน้าที่เป็นวุ้นแปลภาษาชาให้ทุกๆ คนเอง

Gimbocha

ปกติเวลาซื้อน้ำดื่มอาจไม่มีใครมาคุยกับเรา แต่แบรนด์นี้ทำให้แก้วคุยกับเราได้ ผ่านสติกเกอร์การ์ตูน 3 ช่อง ซึ่งแปะไว้ข้างแก้วที่ใช้เสิร์ฟเมนูชาเย็น เป็นบทสนาระหว่างคุณยายกับหลานคุยกัน คล้ายกับว่าคุณยายกำลังนำชามาเสิร์ฟให้กับหลานคนโปรดที่กลับมาเยี่ยม โดยชื่อของหลานกับชื่อชาจะเปลี่ยนไปตามชื่อลูกค้าและออเดอร์ที่สั่ง

Gimbocha

Gimbocha

เห็นแบบนี้แล้วเราก็อดถามไม่ได้ว่า ทั้งคู่ได้แรงบันดาลใจในการทำสติกเกอร์การ์ตูนติดแก้วแบบนี้มาจากไหน ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ผิดจากที่เราลองเดาไว้ บอสตอบทั้งเสียงหัวเราะว่า ไอเดียนี้ผุดมาตอนกำลังเล่นกับน้องแบ้ง (นกที่เจ้าตัวเลี้ยงไว้) คิดได้แบบนั้นเลยรีบบอกให้ต้นน้ำลองวาดคุณยายคุยกับลูกค้า ต้องขอบคุณน้องแบ้งที่ทำให้เกิดไอเดียเจ๋งๆ แบบนี้ขึ้นมา เพราะผลลัพธ์ที่ได้คือ ลูกค้าหลายคนประทับใจ บ้างก็บอกว่าอ่านแล้วชวนให้คิดถึงคุณยายที่บ้าน

Gimbocha

การสร้างคาแรกเตอร์หนึ่งขึ้นมาให้ทุกคนรักไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่า บอสและต้นน้ำทำให้คุณยายมอบความรักความใส่ใจให้ลูกค้าก่อน เราเองแอบเห็นคุณยายโต้ตอบกับหลานๆ อยู่ในโซเชียลมีเดีย ชวนให้อบอุ่นหัวใจราวกับคุณยายมีตัวตนอยู่จริงๆ ที่ร้านชาแห่งนี้

“มันมีเสี้ยวหนึ่งของเราอยู่ในยายนี่แหละ แต่การสร้างคาแรกเตอร์ตัวหนึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา และยิ่งเราให้เวลากับเขาเท่าไหร่ เขาจะยิ่งเป็นมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น” บอสพูด

Gimbocha

Tea Time

ชาจีนในภาพจำของบางคนอาจมีรสชาติขม แต่ความจริงแล้วรสของมันมีหลากหลายกว่าที่คิดไว้มาก ตอนบอสกับต้นน้ำได้ลองครั้งแรกก็รู้สึกเซอร์ไพรส์และประทับใจ เพราะไม่เคยนึกมาก่อนว่าชาจีนจะอร่อยขนาดนี้ บอสบอกกับเราว่า เขาเหมือนโดนสะกดจิตหลังจากที่ได้ชิม

“เราชอบชาตันฉง มันเป็นชาที่รสจัด กลิ่นหอม ถ้าคุณภาพที่สูงขึ้นจะหวานนุ่มละมุน ชุ่มคอ แต่ที่เราทำแล้วชอบคือ เอาตันฉงมาทำเป็นเมนูใส่โซดา ชื่นใจมาก กลิ่นเหมือนผลไม้ ซึ่งเครื่องดื่มแบบนี้มันเข้ากับเมืองไทยได้ดี” บอสเล่าถึงเมนูโปรดในปัจจุบัน เจ้าตัวยังพูดเสริมอีกว่า ชาที่ชอบขึ้นอยู่กับมู้ดของช่วงนั้นด้วย

Gimbocha

อีกภาพจำหนึ่งคือ ‘ชาจีนเป็นของคู่คนแก่’ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะคนวัยไหนก็ดื่มได้เหมือนกัน เสน่ห์ของมันมีมากมายเกินกว่าจะยกให้เป็นของคนแค่กลุ่มเดียว ต้นน้ำเองเคยเจอทั้งลูกค้าวัยมัธยมและวัยมหา’ลัยเข้ามาชวนคุยเกี่ยวกับชา ซึ่งเธอเองก็ยินดีมากที่จะแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ให้

Gimbocha

นอกจากรสชาติและกลิ่นที่ถือเป็นเสน่ห์ของชาจีนแล้ว ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเครื่องดื่มชนิดนี้ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน การที่ชาแต่ละชนิดมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง มันยิ่งช่วยทวีคูณความน่าสนใจขึ้นไปอีก

“สตอรี่มันเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็จะดูเชิงก่อนว่า ลูกค้าสนใจอะไร สนใจโปรเซส เรื่องราว หรือรสชาติ มันมีหลายเรื่องให้พูดเวลาไปเสิร์ฟ” ต้นน้ำพูดอย่างจริงใจ ถ้าไม่รู้จะคุยเกี่ยวกับอะไร ยังไงชาก็จะเป็นท็อปปิกที่ยกมาสนทนาได้เสมอ

Gimbocha

Would You Like a Cup of Tea?

“คิดว่าเมนูไหนนำเสนอความเป็นร้านได้ดี” – เราถามด้วยความสงสัย

“ไม่มีนะครับ เพราะว่าใครชอบกินตัวไหนแล้วแต่ความชอบ เราตั้งใจนำเสนอทุกตัวผ่านน้ำเสียงคุณยายอยู่แล้ว ในเชิงธุรกิจอาจจะแย่ เพราะว่าโปรดักต์ไม่เด่น แต่เรารู้สึกว่าไม่เป็นไร ชอบที่ลูกค้าเอ็นจอยในสิ่งที่เขาเลือกเอง เรามีหน้าที่แนะนำเพื่อให้เขาเจอสิ่งที่ชอบ” บอสตอบแบบไม่ลังเลพร้อมเสียงหัวเราะ

“เวลารับออเดอร์ ลูกค้าจะถามว่าตัวไหนคือซิกเนเจอร์เยอะมาก สิ่งแรกคือเราจะถามลูกค้ากลับไปว่า ลูกค้าชอบแบบไหน อยากได้ชาร้อนหรือเย็น ถ้า Single Iced Tea จะเป็นแบบนี้ ส่วน Blended Tea เป็นอีกอย่าง” ต้นน้ำเล่า

Gimbocha

สำหรับคนที่ไม่เคยดื่มชามาก่อน ก็ไม่ต้องคิดหนักว่าควรดื่มอะไรดี เพราะร้าน Gimbocha จะพาลูกค้าค้นหาความชอบจากสิ่งพื้นฐาน อาจเริ่มจากกลิ่นชาที่ดื่มแล้วหอมดอกไม้ หรือดื่มแล้วรู้สึกหวานเหมือนน้ำผึ้งก็ได้ ค่อยๆ ต่อยอดให้ลูกค้าเข้าไปอยู่ในโลกของชาจีนทีละนิด

“เราจะทำตามโจทย์ที่เราคิดไว้ สมมติลูกค้าอยากเริ่มดื่มชา แต่เขายังไม่กล้าดื่มชาร้อนหรือชาใสที่ชื่อมันดูยาก เราก็จะเอามาทำเบลนด์ ซึ่งก็ต้องเบลนด์แบบที่มีวัตถุดิบชาจีนกับสิ่งที่เขารู้จัก 1 อย่าง เพราะเขาจะกล้าดื่มมากขึ้น” บอสบอก

Gimbocha

การทำชาให้เข้าถึงทุกคนได้ง่ายขึ้นถือว่าเป็นภารกิจหลักของทางร้าน และเราก็เห็นความใส่ใจของบอสและต้นน้ำอยู่ในทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นใบเมนูตรงบาร์ ซึ่งไม่ได้มีเพียงรายการเครื่องดื่ม แต่ยังมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับชาจีนผสมด้วย การอธิบายของตัวเจ้าของร้านเอง ให้ลูกค้าเข้าใจในเมนูต่างๆ รวมไปถึงการบริการ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาพยายามทำอยู่ตลอดและทำออกมาได้ดีเสมอ

Gimbocha

Gimbocha

อีกหนึ่งสิ่งที่ย้ำให้เห็นว่า ทางร้านพยายามทำให้ชาเข้าถึงทุกคนจริง ๆ คงจะเป็นบริการที่มาพร้อมกับเซ็ตชาร้อนกงฟูฉา (Gongfu Set) โดยต้นน้ำจะเข้าไปอธิบายและแนะนำวิธีการชงชากับลูกค้าแบบตัวต่อตัว ทำให้นอกจากจะได้จิบชาอุ่นๆ ให้ชุ่มคอแล้ว ลูกค้ายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะการชงชาอีกด้วย

Gimbocha

อย่างไรก็ตาม นอกจากเมนูชาแล้ว ทางร้านก็มีขนมหวานที่น่าลิ้มลองไม่แพ้กัน มีทั้งชีสเค้กและทาร์ตหลากหลายรสชาติ เราไม่รอช้า ลองสั่งทาร์ตเลมอนมากินคู่กับชาร้อน ปรากฏว่าทั้งสองไปด้วยกันดีอย่างไม่น่าเชื่อ ใครจะไปคิดล่ะว่า ขนมหวานฝั่งตะวันตกพอได้มากินคู่กับชาจีนแล้ว จะอร่อยลงตัวขนาดนี้

Gimbocha

“ทาร์ตเองเป็นตัวเลือกที่ดีสุดในตอนนี้ที่เราเลือกมา ความสนุกคือมันออกแบบเลเยอร์ได้ ในความสูงแค่ไม่กี่เซ็นมันมีได้หลายรสชาติเลย แล้วแต่ Combination ที่ใส่ เราไม่ต้องเครียดว่ามันจะเก็บไม่ได้ เพราะว่ามันฟรีซได้ พอเอาออกมาเวฟ สุดท้ายรสชาติยังเหมือนเดิม เราเลยใช้วิธีนี้เพื่อลด Food Waste ด้วย” บอสอธิบาย

Gimbocha

Gimbocha

“เราค้นพบว่าชาไม่ได้เป็นแค่เรื่องของชา เพราะเป็นเรื่องของคนด้วย เรารู้สึกว่ามันมี Benefit เรื่องอื่นอีกเยอะที่เราจะให้ลูกค้าได้ ทำไมเราถึงจะจบแค่ชา” บอสพูด

ต้นน้ำเสริมด้วยน้ำเสียงสดใสว่า จริงๆ เธอก็อยากทำคอมิกเกี่ยวกับคุณยายเหมือนกัน คงจะดีไม่น้อยถ้าหากคุณยายได้มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง รวมไปถึงเพิ่มสมาชิกครอบครัวคุณยายเข้ามาด้วย แต่ว่าตอนนี้ยังวางสตอรี่ไม่เสร็จ มันเป็นสิ่งที่เธอและบอสต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกอย่างจะลงตัว

Gimbocha

ในฝั่งทางบอสเอง อยากต่อยอดทางด้านความคิดสร้างสรรค์ให้ไปไกลกว่าเดิม รวมไปถึงการเขียนคอนเทนต์ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชาที่เขาได้เรียนรู้มา

“ความฝันเราคืออยากสร้างงานศิลปะ หรืออะไรก็ได้ที่เป็นครีเอทีฟพร้อมมีตัวตนเราอยู่ในนั้น ด้วยความที่โชคชะตามันพาให้มาทำร้านชา มันสนุกเวลาเห็นผลงาน แต่เราต้องประคองธุรกิจบนโลกความเป็นจริงด้วย ซึ่งมันไม่สนุกเท่าไหร่ (หัวเราะ)” บอสเล่าถึงสิ่งที่เขาต้องทำควบคู่กันไปด้วย ในฐานะที่เป็นเจ้าของร้านชาและคนที่ตั้งใจอยากสร้างสรรค์ผลงาน

Gimbocha

แม้การประคองธุรกิจจะยาก แต่บอสมองว่า ทุกอย่างจะดีขึ้นได้หากมีการสื่อสารที่ดี บางทีการค้าขายก็ไม่ใช่เรื่องของการขายของให้ลูกค้าอย่างเดียว กลับกันมันคือการสร้างความสัมพันธ์กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกค้า รวมถึงทีมงาน และซัปพลายเออร์ด้วย

“ช่วงแรกเราตั้งใจขายชามากไปหน่อย แต่ว่าดื่มไปดื่มมา สุดท้ายชาที่เราหยิบไม่ใช่ชาที่แพงที่สุด อาจจะเป็นชาที่ขมฝาดหรือหวานมากบ้าง มันเลยจะเป็นชาอะไรก็ได้ ขอแค่ให้ตอบโจทย์เรากับเพื่อนวันนั้นก็พอ” บอสพูดปนน้ำเสียงหัวเราะ

คงเป็นเพราะตัวเจ้าของร้านเข้าใจถึงเสน่ห์ของชาดีแบบนี้แหละ ถึงพร้อมพุ่งชนเป้าหมายและมีความตั้งใจผลักดันร้านชาคุณยายแห่งนี้ ให้เป็นคอมมูนิตีที่ทุกคนเข้าถึงชาจีนได้ง่ายขึ้นมาตลอด ไม่ว่าจะไปดื่มชา นั่งพูดคุย อ่านหนังสือ ถ่ายรูป หรือพักผ่อน คุณยายจากกิมบ้อชาก็พร้อมต้อนรับหลานๆ ทุกคนเสมอ

ติดตามคุณยายได้ทาง
IG: gimbocha
Facebook: Gimbocha
X: Gimbocha
แวะไปหาคุณยายได้ที่
ซ. เกษมสันต์ 1 (BTS สนามกีฬาแห่งชาติ)
ร้านเปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.30-21.00 น. / วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.30-19.00 น.
หยุดทุกวันพฤหัสบดี

Tags: