Hacking The Future
Hacking Coffee Flagship คาเฟ่ดีไซน์ล้ำในโลกจักรกลของแฮกเกอร์และไซเบอร์พังก์
- Hacking Coffee Flagship คาเฟ่ผสมโรงคั่วกาแฟคอนเซ็ปต์ ‘เครื่องจักรกลแห่งโลกอนาคต’ จากรสนิยมความชอบของเจ้าของร้านพ่วงด้วยเคยทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์และเปรียบตัวเองว่าเป็นแฮกเกอร์ ทำให้ ต้น – บดินทร์ พลางกูร ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง Context Studio หยิบคาแรกเตอร์และความชอบใส่ลงไปในการออกแบบคาเฟ่แห่งนี้อย่างสนุกสนาน
- วัสดุเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแผงวงจรไฟฟ้า จอมิเตอร์ โคมไฟ ล้วนเป็นของเก่าที่ต้นเสาะหาตามพื้นที่ต่างๆ ก่อนจะปลุกชีวิตของเหล่านั้นให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ๆ โชว์ความสวยงาม บางอย่างพร้อมใช้งานได้จริง ทำให้สถาปัตยกรรมของที่นี่ดูเหมือนเครื่องจักรโดยสมบูรณ์
Hacking Coffee Flagship เป็นคาเฟ่มีดีไซน์ค่อนข้างชัดเจนจากความชอบเจ้าของร้านอย่าง ต้น - สุริยะ ดีอุ่น อดีตโปรแกรมเมอร์ที่ชื่นชอบโลกอนาคต ไซเบอร์พังก์ กับ นท - กมลภัทรา กะสีชล
ที่นี่ออกแบบโดยต้น - บดินทร์ พลางกูร ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง Context Studio ที่ตีความโจทย์นั้นออกมาเป็นสถาปัตยกรรมล้อไปกับกลิ่นอายหนังไซไฟ คลุมโทนด้วยสีดำ ให้อารมณ์ดิบ ดาร์กตามสไตล์ของเครื่องจักรกล
คาเฟ่นี้มีดีไซน์น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว…
วิถีแฮกเกอร์
ตัวคาเฟ่ตั้งติดกับถนน แต่ใครที่ขับรถผ่านไปมาอาจจะรู้สึกว่า ดูเป็นร้านที่พยายามหลบซ่อนสายตาผู้คน แม้กระทั่งจะเดินเข้ามาในร้าน ประตูยังถูกซ่อนอยู่ทางด้านข้าง เป็นทางเดินแคบๆ ที่ข้างๆ กันถูกกั้นด้วยผนังกำแพงไม้สนเผาขนาดสูงอีกที ให้อารมณ์คล้ายกำแพงเมือง ส่วนเราคือพวกนอกกฎหมายที่อยู่หลังกำแพงนั้น
นี่น่าจะเป็นจินตนาการแรกที่เรารู้สึกกับคาเฟ่นี้…
“แฮกเกอร์ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ข้างกำแพง ใต้ทางด่วน หรือมุมหนึ่งของตึก เราเลยต้องทำให้ภายนอกตัวร้านออกมาเป็นภาพที่ดูลึกลับ ประตูเลยมาอยู่ด้านข้างกับข้างหลังร้านเชื่อมไปกับที่จอดรถแทน ใส่ความหลบๆ ซ่อนๆ บิวท์อารมณ์คนที่มาก่อนที่เขาจะเข้าไปเจอกับโครงสร้างด้านใน” ต้น – บดินทร์ สถาปนิกผู้ออกแบบ หยิบวิถีชีวิตแฮกเกอร์มาเล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะ และบอกว่าเขาเป็นอีกคนที่ชอบดูหนังไซไฟ งานนี้เลยสนุกเข้าไปใหญ่
โลกเสมือนของจักรกล
โครงสร้างภายในของคาเฟ่นี้ยังใช้โครงสร้างเดิม เพิ่มเติมคือการรีโนเวตใหม่ ปรับใช้ทั้งวัสดุและ เฟอร์นิเจอร์เพื่อขับเน้นให้สถาปัตยกรรมสามารถสื่อสารความเป็นเครื่องจักร ถิ่นฐานของแฮกเกอร์
เดินเข้ามาในร้าน แน่นอนว่าสิ่งแรกที่เตะตาคือเคาน์เตอร์บาร์ขนาดใหญ่ใจกลางคาเฟ่จักรกลแห่งนี้ ต้นใส่คาแรกเตอร์และออกแบบให้เป็น Processor คอมพิวเตอร์ที่ควบคุมและกระจายข้อมูลทุกอย่าง (ลองจินตนาการตามเรานะ) และเพิ่มดีเทลด้วยการใส่สายไฟข้างล่างซึ่งมีทั้งสายไฟสำหรับใช้งานและสายไฟเก่าที่ใช้ไม่ได้แล้ว
ส่วนดีไซน์ของบาร์ วัสดุที่ต้นเลือกใช้คือ หินภูเขาธรรมชาติจากจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนหน้านี้ตัวหินถูกตัดออกเพื่อเอาส่วนกลางของหินไปทำเป็นกระเบื้องขาย เขาเลือกซื้อแผ่นหน้าของหินที่โชว์พื้นผิวขรุขระแล้วนำมาต่อกันให้เป็นบาร์
ต้นยังชี้ไปที่โคมไฟด้านบนซึ่งส่องลงมาที่เคาน์เตอร์ เขานำมาจากโรงงานแก๊สที่สโลวีเนีย เป็นโคมไฟที่มีตัวครอบไฟเพื่อป้องกันไฟฟ้าสถิต พอมาอยู่ที่คาเฟ่แห่งนี้กลับกลายเป็นไอเท็มขับเน้นให้สถานที่ดูสวย เด่น แปลกตาไปอีกแบบ
การรียูสสุดเจ๋ง
ถัดจากบาร์จะพบกับผนังกำแพงกินพื้นที่ไปจนถึงทางเดินออกหลังร้าน พ่วงด้วยเสาของอาคารนั้นเป็นคอนกรีตที่หล่อขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วทุบออกให้อยู่ในสภาพผุพัง แตกหัก เผยให้เห็นเนื้อแท้ภายในนั่นก็คือมิเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้าซึ่งถูกเรียงตามแบบที่วางไว้อีกที เพื่อเสริมความเป็นไซเบอร์พังค์ เสมือนว่าคาเฟ่ที่เรากำลังยืนอยู่นี้ ล้วนห้อมล้อมไปด้วยแผงคอมพิวเตอร์ เพียงแต่บดบังด้วยคอนกรีตในสภาพค่อยๆ แตกหักไปตามกาลเวลา
ต้นเล่าถึงที่มาของวงจรไฟฟ้า เขาต้องใช้ความพยายามทั้งหมดตามซื้อของเก่าซึ่งกว่าจะได้มานั้นไม่ง่ายเลย แถมยังทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ความดื้อเท่านั้นชนะทุกสิ่ง
“วัสดุที่เราเลือกใช้ ส่วนใหญ่ซื้อมาจากของเก่าทั้งหมด เอามาสร้างสรรค์ใหม่ให้ใช้งานได้ ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ เรามองว่ามันคือการทำงานคราฟต์อย่างหนึ่งนะ กับของพวกนี้ ขอเรียกว่า การรียูสที่รักษ์โลกในระดับหนึ่งละกัน” ต้นยังเสริมอีกว่า ของบางอย่าง หรือแม้กระทั่งพื้นที่นั้นๆ ถ้ามาพร้อมกับเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ เขาก็อยากที่จะดึงข้อดีมาใช้ อยากให้บางส่วนของเรื่องราวเหล่านั้นยังคงอยู่ แม้จะเล็กน้อยก็ตาม เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งต่างๆ สามารถนำมาต่อยอดกลายเป็นสิ่งใหม่ได้ หากเราสร้างสรรค์โดยไม่ยึดติดกับกรอบมากเกินไป
มูฟเม้นท์จักรกลต้องมา
โซนที่นั่งนอกจากจะเป็นโต๊ะเก้าอี้แล้ว ยังมีที่นั่งซึ่งเป็นคอนกรีตลากยาวตลอดแนว ให้อารมณ์ Public Space มากขึ้น ความพิเศษอยู่ที่ลูกค้าสามารถนั่งดื่มกาแฟ นั่งทำงานกับสเปซนี้ได้อย่างเป็นอิสระ ขณะเดียวกันบรรยากาศภายในร้านยังขับกล่อมโลกเครื่องจักรให้คุณรู้สึกร่วมด้วยการทำโรงคั่วกาแฟในห้องกระจกใส โชว์เสน่ห์ขั้นตอนการคั่วเมล็ดกาแฟผ่านเครื่องจักรที่นั่งมองก็เพลินตาเลยทีเดียว
เครื่องจักรมักจะมีฟังก์ชั่นและกลไกซ่อนอยู่ หากมองในภาพรวมเราจะเห็นว่า ทุกส่วนของมันทำงานอยู่ตลอดเวลา ต้นมองว่านี่คือมูฟเม้นท์ที่คาเฟ่แห่งนี้ต้องมี ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นคอนเซ็ปต์เครื่องจักรกลโดยสมบูรณ์ได้อย่างไร
อย่างที่กล่าวไปว่าเพราะตัวร้านอยู่ติดถนน เขาจึงติดตั้งตัวบังแสงบริเวณโซนม้านั่งยาว ซึ่งมีลักษณะเป็นตะแกรงเหล็กปกคลุมอยู่ หากมองจากภายนอก มันกำลังทำหน้าที่ปกปิดพื้นที่ภายในคาเฟ่ให้ลับตาคนที่ขับรถผ่านไปมา
“จริงๆ แล้วมันสามารถขยับเคลื่อนไหวด้วยการเปิด-ปิดเป็นเลเยอร์ได้ ปรับเปลี่ยนองศาได้ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวัน” และนี่ล่ะคือการเพิ่มสิ่งที่น่าสนุกต่อการสร้างความฉงนสงสัยให้กับคนที่ขับรถผ่านไปมา ต้นเล่าไปหัวเราะไป พร้อมกับบอกว่านี่คืออีกวิธีเรียกความสนใจจากลูกค้า
สวนคอนกรีต
พื้นที่ข้างหลังร้าน คือ ‘สวนคอนกรีต’ เชื่อมกับพื้นที่จอดรถ ซึ่งมีต้นไม้สูงยืนอยู่เพียงลำพัง ต้นมองว่าโลกในอนาคตคงเต็มไปด้วยความผุพัง มลพิษ ธรรมชาติคงไม่มีให้เห็นได้ง่ายอีกต่อไป จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมีต้นไม้เพียงต้นเดียว
แต่เขาก็เลือกที่จะเพิ่มชีวิตชีวาด้วยการหล่อคอนกรีตให้เป็นฟอร์ม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากสุสานที่สร้างโดยสถาปนิกชาวอิตาลี คาร์โล สการ์ปา (Carlo Scarpa) ต้นเพิ่มลายไม้ในการหล่อปูนขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงร่องรอยธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ แล้วถ้ามองจากด้านบนของคอนกรีต จะมองเห็นรูปแบบที่เป็นร่องเชื่อมต่อกัน คล้ายผังควบคุมคอมพิวเตอร์ ที่จะปล่อยให้น้ำ เสมือนเป็นข้อมูลได้วิ่งไหลไปตามแผงวงจรนั้นๆ
ข้างๆ กันจะพบงานออกแบบที่ใช้อุปกรณ์เสริมทัพเครื่องจักรอย่างสมบูรณ์ ด้วยท่อระบายความร้อน จอมิเตอร์ไฟฟ้าเรียงรายมากมาย พัดลมระบายอากาศ ทุกชิ้นต้นซื้อมาจากแหล่งขายของเก่าแล้วนำมาประกอบ ออกแบบใหม่ภายใต้ความคิดที่ว่า “จะต้องใช้งานได้ด้วย เพราะไม่อยากให้ถูกมองว่าเป็นแค่พร็อพตกแต่ง อย่างเครื่องดูดความร้อนก็จะใช้งานได้จริง”
คิดบวก สนุก สร้างสรรค์ให้สุด
สถาปัตยกรรมภายใต้ชื่อ Hacking Coffee Flagship ที่โชว์ไอเดียแปลกใหม่ สร้างเอกลักษณ์และความโดดเด่นได้มากขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะต้นคือดีไซเนอร์ที่ไม่ยึดติดกรอบใด ต้นเชื่อว่า การมองโลกแง่บวกจะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ แล้วพาจินตนาการไปได้ไกล ก่อเกิดเป็นไอเดียหรืองานชิ้นใหม่ๆ ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เราคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ ในมุมมองที่กว้างมากขึ้นด้วย
“การคิดงานแต่ละงานเราต้องมี positive energy มากๆ เพราะถ้าคิดลบเมื่อไหร่ มันจะตีกรอบเราหมด ไอเดียไม่มา แถมพอเห็นว่า อันนี้มีปัญหา ความคิดลบจะพาให้เราล้มเลิกสิ่งๆ นั้นไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเรา break free กับตรงนั้น คิดบวก ฝันให้ใหญ่ แล้วลองทำไปก่อน แน่นอนว่า ระหว่างทางอาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่ใครจะรู้ว่า บางสิ่งบางอย่างที่ดูเป็นไปไม่ได้ อาจเกิดเป็นชิ้นงานใหม่ๆ ในแบบที่คาดไม่ถึงก็ได้ เราว่านี่ล่ะคือคุณสมบัติที่นักออกแบบต้องมี อีกสิ่งสำคัญคือต้องดื้อกับความคิดตัวเอง อดทน ฝึกฝนและรีเช็กเพื่อพัฒนางานของเราอยู่ตลอดเวลา”
ชวนคุยกันเพลิน ต้นก็พูดขึ้นมาว่า “ที่นี่มีโอมากาเสะกาแฟด้วยนะ” โอมากาเสะที่ต้นพูดถึงนั้นหลบซ่อนอยู่หลังกำแพงคอนกรีต เหมือนเป็นห้องลับสุดยอดของแฮกเกอร์ที่จะไม่ปรากฏตัวออกมาง่ายๆ ใครจะเข้าไปต้องเดินผ่านประตูลับ…แน่นอนว่าต้องมีกาแฟระดับพรีเมี่ยมรอเราอยู่ข้างในแน่ๆ
Hacking Coffee Flagship
ที่อยู่ : ซอยลาดพร้าววังหิน 63 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
เปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่ 7.00 – 20.30 น.
เบอร์ติดต่อ : 064-606-5947
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook Page : Hacking Coffee Flagship