About
RESOUND

หาดใหญ่คอนเน็กเตอร์

สุทธหทัย นิยมวาส Hatyai Connext นักพัฒนารุ่นใหม่ที่เชื่อมคนเมืองด้วย Participatory Design

เรื่อง ศรีวลี หลักเมือง Date 16-06-2023 | View 2324
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่กับตัวกลางสื่อสารเรื่องเมืองหาดใหญ่ชื่อว่า ‘Hatyai Connext’ ด้วยการเป็นคอนเน็กเตอร์ (Connector) ซึ่งเป็นการทำงานแบ็กกราวด์เรื่องเมืองที่ ‘เชื่อมคน’ กับ ‘เมือง’ ให้เป็นหนึ่งเดียว

คงไม่แปลก ถ้าชื่อของ ‘แจน-สุทธหทัย นิยมวาส’ แขวนไว้ลำดับต้นๆ ตามสื่อแวดวงนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ในนามสถาปนิกและนักออกแบบเมือง

เธอคือกลุ่มคนนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่กับตัวกลางสื่อสารเรื่องเมืองหาดใหญ่ชื่อว่า ‘Hatyai Connext’ ด้วยการเป็นคอนเน็กเตอร์ (Connector) ซึ่งเป็นการทำงานแบ็กกราวด์เรื่องเมืองที่ ‘เชื่อมคน’ กับ ‘เมือง’ ให้เป็นหนึ่งเดียว หัวใจหลักของคอนเน็กเตอร์คือการ ’สื่อสาร’ ให้ผู้คนทำความเข้าใจภาพเมืองในมุมมองใหม่ โดยหยิบกรอบแนวคิดที่นิยมในหมู่นักออกแบบที่เรียกว่า Participatory Design ไว้เป็นแนวทางสื่อสารเพื่อออกแบบเมือง

แจนค่อยๆ คลี่ภาพกรอบแนวคิด Participatory Design หรือการออกแบบร่วมกันในมุมมองสถาปนิกที่หลอมรวมความหลากหลายของคนกับเมืองให้เชื่อมโยงกันอย่างน่าทึ่ง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งครอบคลุมถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเมืองที่ขึ้นชื่อว่าพหุวัฒนธรรมได้ตรงจุดที่สุด รวมไปถึงแนวคิด Inclusive Design หรือการออกแบบนวัตกรรมสำหรับ ‘ทุกคน’ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต

ว่าแล้วก็คล้อยจินตนาการถึง ‘อนาคต’ ของเมืองหาดใหญ่ไปด้วยกันต่อจากนี้

Hatyai

แจน-สุทธหทัย นิยมวาส

Salad Bowl of Culture อีกพาร์ตของ Melting Pot of Culture

“ส่วนตัวมองว่าหาดใหญ่มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือ Salad Bowl of Culture เปรียบได้ว่า ต่างคนก็ต่างที่ แต่ล้วนมาอยู่รวมกันใน Salad Bowl กลมๆ ถ้วยหนึ่ง” แจนผุดศัพท์ใหม่ที่ฟังแล้วเซอร์ไพรส์

นอกจากคำว่า Melting Pot of Culture หรือการหลอมรวมพหุวัฒนธรรมซึ่งได้ยินกันจนชินหู การมองเห็นภาพรวมของวัฒนธรรมในเมืองหาดใหญ่อย่างลึกซึ้งกินความแบบนี้ได้ เพราะคนรุ่นใหม่อย่างเธอพกไฟฝันที่จะขับเคลื่อนบ้านเกิดในอำเภอหาดใหญ่ ที่ตั้งใจจะพาสถาปัตยกรรมเข้าไปมีบทบาทต่อบริบทของเมืองหาดใหญ่ในสักวัน

สามปีก่อน art4d เคยลงบทสัมภาษณ์เธอบนหน้านิตยสารและเว็บไซต์ ถึงแนวคิดของการทำโปรเจกต์จบปี 5 กับหัวข้อ ‘สถาปัตยกรรมเชื่อมความสัมพันธ์พหุวัฒนธรรมในหาดใหญ่’ แจนตั้งคำถามถึงความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรมในหาดใหญ่ต่อการสร้างพื้นที่ในสถาปัตยกรรมว่าไปได้ไกลแค่ไหน เธอจึงออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมให้คนหาดใหญ่ได้มีส่วนร่วมกับอาคารหลังนั้น โดยหยิบจุดเด่นของหาดใหญ่คือเรื่อง ‘อาหารสะท้อนวิถีชีวิต’ ที่ไม่มีเส้นขีดกั้นระหว่างเชื้อชาติมาเชื่อมความเป็นพหุวัฒนธรรมให้คนมองเห็นจุดร่วมเดียวกัน แต่หากเป็นการออกแบบมิวเซียมให้คนหาดใหญ่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียบน ‘พื้นที่’ หนึ่งอย่างที่เธอนึกภาพไว้ตั้งแต่แรกอาจไม่ตอบโจทย์และเป็นได้แค่เรื่องสมมติ แจนพูดพร้อมหัวเราะเฝื่อน

ด้วยบุคลิกของคนแอ็กทีฟ ระหว่างทำโปรเจกต์จบปี 5 แจนเข้าไปขลุกประสบการณ์ทำงานด้านสถาปนิกที่ Somdoon Architects พร้อมๆ กับได้รับการเชิญชวนในฐานะสปีกเกอร์และอาสาสมัครจากคนในแวดวงสถาปัตยกรรมให้ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานไปด้วย กว่า 2 ปีที่รีดประสบการณ์จนเข้ามือ แต่ก็ไม่วายเห็นช่องโหว่ของโอกาสที่จะทำงานด้านพัฒนาเมืองอย่างที่ตั้งใจ

Hatyai

จนเจอกับโครงการ Rethink Urban Space-ริทัศน์ (โครงการที่ให้เยาวชนคิดและมองพื้นที่เมืองในประเทศไทยด้วยมุมมองใหม่ ที่มีเป้าหมายให้เยาวชนเป็นภาคีและผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาเมืองอย่างเต็มตัว) แจนใช้โอกาสสมัครเป็นตัวแทนเยาวชนในนาม ‘ริทัศน์หาดใหญ่’ โอกาสนี้ทำให้แจนได้เจอรุ่นพี่มากประสบการณ์ส่งไม้ต่อให้เธอทั้งสกิลเชิงลึกและคอนเน็กชั่น ในปัจจุบันโครงการริทัศน์มีทั้งหมด 5 เมือง คือ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และหาดใหญ่

เป็นจังหวะเดียวกับช่วงที่โปรเจกต์จบของเธอคว้ารางวัล Winner-Worldwide Best Bachelor’s Thesis Project จากการแข่งขัน UnIATA 2020 ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานโปรเจกต์จบของนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมทั่วโลกด้วยพอดี

“การก่อตัวของริทัศน์หาดใหญ่เป็นช่วงประจวบเหมาะกับที่โปรเจกต์จบชนะรางวัล ถือเป็นความโชคดีที่ได้โอกาสหันมาทำงานพัฒนาเมืองด้วยเลย ความตั้งใจของโครงการริทัศน์หาดใหญ่ คือการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชนเพื่อให้เยาวชนมีบทบาทในเมืองโดยเป็น Kick-off ส่งเสียงให้เมืองเติบโตไปได้ แต่เมื่อริทัศน์หาดใหญ่เริ่มหมดวาระ เราเองมีกลุ่ม มีคอนเน็กชั่น และอยากจะทำต่อไป ก็เลยกลายมาเป็น ‘Hatyai Connext’ ที่ตั้งใจว่าจะเป็น ‘คอนเน็กเตอร์’ พื้นที่ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะสื่อสารเรื่องเมืองให้เอง”

Hatyai

Hatyai Connext ‘เมือง’ คืออนาคต

Hatyai Connext เป็นโปรเจกต์ในนาม City Connext คือ กลุ่มเยาวชนพัฒนาเมืองในหาดใหญ่ที่ต้องการฟื้นคืนหาดใหญ่ โดยสร้างอัตลักษณ์ให้กับเมือง และเน้นการทำงานร่วมกับกลุ่มชุมชน ที่มี ‘แจน’ สถาปนิกและนักออกแบบเมือง ซึ่งจัดการงานแบ็กกราวด์เรื่องเมือง รับบทบาทเป็นคอนเน็กเตอร์ที่แปลเรื่องเมืองให้เป็นงานวิจัยในเชิงอะคาเดมิก รวมทั้งแปลเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในเมืองผ่านการสื่อสารด้านกิจกรรมในรูปแบบ On-ground ด้วย

Hatyai

โฟกัสมาอีกด้านจะมีพาร์ตเนอร์อีก 3 คน คือ ‘ไบรท์-สรวิชญ์ อังศุธาร’ วิศวกรที่เคยฝึกงานและทำงานกับองค์กรทั้ง UN-HABITAT และ UDDC ด้านพัฒนาเมือง ไบรท์จึงถนัดการวิเคราะห์และย่อยข้อมูลแบ็กกราวด์เรื่องเมือง ด้าน ‘ขนุน-สุตาภัทร ชากรี’ เสริมทีมเรื่องการลงพื้นที่ เก็บข้อมูล และประสานงานร่วมกับกลุ่มชุมชนอย่างคล่องตัว ส่วน ‘ซอล-อณวิทย์ จิตรมานะ’ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้าน Digital Marketing Agency นำข้อมูลจากงานรีเสิร์ช ลงพื้นที่ จัดกิจกรรม ฯลฯ มาขยายเรื่องที่ต้องการสื่อสารด้วยคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม Hatyai Connext และหยิบประเด็นเกี่ยวกับ ‘เมือง’ หาดใหญ่มานำเสนอผ่านผู้อ่าน

Hatyai Connext พยายามตีโจทย์ให้เห็นว่า ‘เมือง’ เป็นเรื่องที่ทุกคนมีสิทธิส่งเสียงเพื่อออกแบบเมืองที่อยากเห็นร่วมกันได้ การริเริ่มออกแบบเมืองจะช่วยสร้างการจดจำต่อผู้คนและทำให้คนรุ่นใหม่อยากกลับบ้านเกิด นั่นเท่ากับการกลับไปตอบคำถามที่แจนคุยเล่นในกลุ่มเพื่อนมาตลอดว่า เพราะอะไรกลุ่มคนรุ่นใหม่ถึงไม่กลับบ้าน คำตอบที่ว่าเพราะหาดใหญ่ยังขาดพื้นที่แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งก็คือเนเจอร์ของพวกเขา

Hatyai

“เมืองหาดใหญ่มีความหลากหลายสูงมาก ทั้งช่วงวัย ความเชื่อ วิถีชีวิต หรือเรื่องที่คุยกับกลุ่มเพื่อนแล้วเห็นตรงกันว่าหาดใหญ่เป็นเมืองที่มีคนรู้จัก เราจะภูมิใจเสมอว่าเราเป็นเด็กหาดใหญ่ และสิ่งที่เห็นเหมือนกันคือความเป็น Inclusive City หรือเมืองเป็นของทุกคน จะว่าไปเมืองเราเป็น Learning City ที่มีรองรับแล้วอย่างด้านการแพทย์ แต่เราอยากเห็นเมืองที่มีความครีเอทีฟ ดังนั้น การออกแบบเมืองอย่างสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ อย่างการนำสกิลไปปรับกับ Hidden Gems ในเมืองเพื่อให้คนรุ่นใหม่มีความหวังกับเมืองนี้ต่อไปในอนาคต” แจนเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังปนสนุก

Hatyai

Participatory Design มาออกแบบ (เมือง) ร่วมกันเถอะ!

เบื้องหลังการทำงานของทีม Hatyai Connext ที่ผ่านมา คือการเรียนรู้และจัดการงานในรูปแบบ Project-base Learning (PBL) ซึ่งใช้สกิลที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันคือ Placemaking หรือเทศะรังสรรค์ แนวคิดจากสถาปนิกและนักออกแบบชาวเดนมาร์กที่เน้นการออกแบบจาก ‘ชีวิตในชุมชน’ แล้วค่อยเขยิบไปยังพื้นที่ จากนั้นจึงเป็นอาคารตามลำดับ อีกหนึ่งสกิลสำคัญนั่นก็คือ Participatory Design หรือการออกแบบร่วมกัน คล้ายกับแนวคิด Design Thinking แต่ Participatory Design จะหลากหลายกว่าเพราะใช้นวัตกรรมหลายด้าน โดยเฉพาะการออกแบบสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง จึงตรงตามความต้องการของทีม Hatyai Connext ที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนอยู่ก่อนแล้ว

Participatory Design เดิมทีเป็นแนวคิดจากโครงการริทัศน์หาดใหญ่ โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม (Participation Process) ว่ากันง่ายๆ เป็นงานหลังบ้านของคอนเน็กเตอร์คล้ายการทำรีเสิร์ชชิ้นหนึ่ง ที่เริ่มจากดีไซน์โครงร่างชิ้นงาน ดีไซน์โปรเสสข้อมูล การรวบรวมชุดคำถาม ฯลฯ แล้วนำข้อมูลที่เตรียมไว้ทั้งหมดลงพื้นที่จริง อย่างการสำรวจชุมชน จัดงานเสวนาหรือกิจกรรมเพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ในท้ายที่สุด แต่จะใช้วิธีการแบบไหนนั่นขึ้นอยู่กับคอนเน็กเตอร์ ส่วนข้อดีของการใช้ Participatory Design อยู่ที่ได้นำทักษะหลายอย่างออกมาใช้แก้ปัญหา ทั้งความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ หรือการสื่อสาร

“Partipatory Design ใช้ได้ดีกับทีมของเรา โดยเน้นการจัดกิจกรรมที่ใช้กรอบแนวคิด Participatory Design อย่างเช่น งานรีเสิร์ช ลงพื้นที่ หรือมีรีเสิร์ชอยู่แล้วก็จะแปลงร่างแนวคิด Partipatory Design จากการลงพื้นที่ให้เป็นนิทรรศการในรูปแบบ On-ground ไปจนถึงการสื่อสารบนโลกออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของ Hatyai Connext มากกว่านั้นเรายังเป็นหน่วยซัพพอร์ตหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเมืองด้วย” แจนอธิบาย

Hatyai

งานที่ผ่านมาอย่างนิทรรศการ ‘404 Hatyai File Not Found’ นิทรรศการภาพถ่ายขนาดเล็กที่ติดตั้งบนกำแพงสังกะสีบริเวณถนนภราดร-ประชารมย์ เป็นโปรเจกต์ทดลองทำนิทรรศการกลางแจ้งร่วมกับคนในชุมชนที่ตั้งคำถามถึงทิศทางพื้นที่สร้างสรรค์ในเมืองหาดใหญ่ว่า ผู้คนยังกระหายกับสิ่งสร้างสรรค์อยู่หรือไม่

Hatyai

ขณะเดียวกันกับงาน ‘Hatyai Happens เดินเมืองหาดใหญ่ผ่าน 3 มื้ออาหาร 3 เส้นทาง’ ที่ทำให้มองเห็นภาพของหาดใหญ่ชัดมากขึ้นกว่าเดิม หรืออย่างปีที่แล้วกับนิทรรศการเยาวชน ‘Hatyai Defines Youth คบเด็กหาดใหญ่สร้างเมือง’ เป็นการจำลอง ‘ภาพอนาคต’ ของเมืองหาดใหญ่ผ่านประเด็นทั้งเรื่องอาหาร ผู้คน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมรวมอยู่ด้วย

พื้นที่สาธารณะ – ช่องว่างระหว่างวัย = เรื่องเดียวกัน?

สำหรับ ‘ปัญหา’ ของการทำงานคอนเน็กเตอร์ย่อมปัดไม่ตกในเรื่องปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) แจนอธิบายได้กระจ่างว่า การศึกษาประวัติของเมืองสำคัญมากพอที่จะช่วยให้เกิด Empathy ลดช่องว่างระหว่างวัยจากอีกฝ่ายได้ ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็ต้องส่งคืน Empathy กลับมาให้ด้วย การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเดินหน้าพัฒนาเมืองเป็นเรื่องที่สองทางต้องมาเจอกัน

“ครั้งหนึ่งเคยจัดกิจกรรม Hatyai Public Space เป็นกิจกรรมเสวนาระดมความคิดของบุคคลและหน่วยงานขององค์กรในหาดใหญ่กว่า 30 องค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม วิชาการ วิชาชีพ หรือเยาวชน ที่มีหัวข้อว่า คุณมองเห็นภาพของพื้นที่สาธารณะว่าอย่างไร? เห็นได้ว่ามีคนหลากหลายช่วงวัยที่เชิญมาร่วมกิจกรรม ซึ่งยากแต่ชาเลนจ์มาก ด้วยความที่เป็นคอนเน็กเตอร์และคนรุ่นใหม่เลยต้องใช้ทักษะความเป็นมนุษย์ขั้นสูงเพื่อที่จะเข้าใจเนเจอร์ของคนให้ได้” แจนเล่า

Hatyai

อย่างไรก็ตาม เรื่องของปัญหาช่องว่างระหว่างวัยนับรวมได้กับอีกหนึ่งปัญหา คือการสร้างพื้นที่สาธารณะในหาดใหญ่เพื่อเป็นทางเลือกและช่วยเพิ่มอัตลักษณ์ให้เมืองอย่าง พื้นที่สีเขียว (Relaxing Space) แจนอธิบายว่า พื้นที่สีเขียวที่แท้จริงนั้นต้องมองเห็นสิ่งมีชีวิตอื่นร่วมด้วย ถ้าจะให้ดีควรสร้าง Ecosystem ในบริเวณพื้นที่สีเขียวให้เอื้อประโยชน์ต่อกันและเดินทางไปยังพื้นที่ได้สะดวก

หรือจะเป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ว่ากันตามตรงหาดใหญ่คือเมืองแห่งเศรษฐกิจการค้า ทำให้ ‘พื้นที่ สาธารณะแท้จริง’ นั้นหาได้น้อย ซึ่งอาจเริ่มจากการปรับปรุงอาคารเก่าให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครก็ใช้งานในพื้นที่นั้นได้จริง และไม่เสียเงินเป็นค่าผ่านทาง ไม่ว่าจะค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าบริการพื้นที่ อย่างเช่น หอสมุดประจำเมืองสงขลา

Hatyai

แต่หากเอะใจว่า แล้วทำไมจึงต้องมีพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยล่ะ? คำตอบจากกลุ่มเวทีสาธารณะของเครือข่ายนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่อย่างงาน Unlock City Potential ในเว็บไซต์ The Active บอกว่า เพราะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจความเป็นอยู่เรื่องผู้คนได้ แต่ควรสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ประชาชน หรือประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งแน่ชัดอยู่แล้วว่าพื้นที่สาธารณะมักมีปัญหาเรื่องคนที่แก้ไม่ตก ทั้งกลุ่มที่เข้าใจว่า ‘พื้นที่สาธารณะคือภารกิจของคนอื่น’ และกลุ่มที่เห็นว่า ‘พื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำ’ งานนี้แจนเป็นหนึ่งใน 13 นักพัฒนาเมือง จาก 39 แนวคิด 9 เมือง ที่เข้าร่วมปลดล็อกเสนอแนวทางพัฒนาเมืองอีกด้วย

ทั้งหมดนี้แจนมีความเชื่อว่า ดีไซเนอร์เองออกแบบเพื่ออนาคต แม้ประสบการณ์อาจเทียบเท่ากับคนรุ่นเก่าไม่ได้ แต่เสียงของคนรุ่นใหม่ย่อมมีความหมายที่จะ ‘เปลี่ยนแปลงอนาคต’ ได้

Hatyai

‘โอกาส’ ทิศทางในอนาคตที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น

หากการพัฒนาเมืองทำให้ผู้คนเห็นถึงอนาคตตัวเองอยู่ในนั้น เป็นไปได้ว่าทิศทางต่อไปของเมืองหาดใหญ่ควรตอบรับกับความเป็น Salad Bowl of Culture ในเมืองแห่งนี้ หมายความว่า เป็นเมืองที่พร้อมเติบโตไปตามสเต็ปตามความหลากหลายของคน เชื้อชาติ แม้กระทั่งช่วงวัย รวมถึง ‘เมืองแห่งโอกาส’ ที่คนรุ่นใหม่อยากเห็นเช่นเดียวกัน

“เมืองแห่งโอกาส เป็นประโยคจุดประกายความคิดที่รุ่นพี่คนหนึ่งพูดขึ้นท่ามกลางวงสนทนา” แจนเล่า “คำว่า โอกาส อาจเป็นเรื่องที่ดูกว้าง แต่ความจริงแล้วเมืองหาดใหญ่มีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาไปได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเมืองแห่งโอกาสทางด้านการศึกษา หรือเมืองแห่งโอกาสทางด้านการท่องเที่ยว ที่น่าสนใจคือ เมืองหาดใหญ่ต้องการยกระดับการท่องเที่ยวก็จริง แต่มีปัญหากับการออกแบบพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นได้แค่เมืองแวะพักเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นเราออกแบบให้เป็นเมืองแวะพักที่ดีที่สุดเลยได้ไหม? อาจเป็นการสร้างประโยชน์ให้สอดรับกับศักยภาพเดิม ทั้งที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องทิ้งสิ่งเดิมด้วยซ้ำ”

Hatyai

“ถ้ามองไปถึงอนาคตของเมืองหาดใหญ่ในบริบทที่เราเติบโตมา ก็ควรสอดคล้องกับเมืองที่ดีด้วย สำหรับแจน เมืองที่ดีคือเมืองที่พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตของคนที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองและเห็นภาพอนาคตในที่แห่งนั้นได้ เมื่อไรที่เราเห็นภาพอนาคตของตัวเองชัด เราจะรับรู้ว่าเมืองนั้นให้อะไรกับเราได้มากกว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน นั่นคือโอกาสที่จะปีนขั้นบันไดไปสู่เมืองแห่งโอกาสแน่นอน” แจนทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก แจน-สุทธหทัย นิยมวาส

ขอขอบคุณ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนแจนและทีม Hatyai Connext อย่าง ‘โต้-โตมร อภิวันทนากร’ ‘ไก่-ทัศนวรรณ บรรจง’ ‘Lorem Ipsum คาเฟ่และคอมมูนิตี้ขนาดย่อมทางเลือกของคนรุ่นใหม่’ และ ‘Hatyai Sidewalk พื้นที่ปล่อยของบนถนนภราดร-ประชารมย์’
ติดตามพวกเขาได้ทางเฟซบุ๊ก Hatyai Connext และอินสตาแกรม hatyaiconnext

อ้างอิง: https://art4d.com/2020/06/suttahathai-niyomwas
https://www.goethe.de/prj/tus/th/index.html
https://bit.ly/3CmHZ7N
https://bit.ly/3oWKJpa
https://bit.ly/3NqXy4o
https://bit.ly/3oYSGdC
https://blog.artipania.com/designing-design-b09865c4084b
https://www.gqthailand.com/culture/article/inclusive-design
https://thecitizen.plus/node/

 

Tags: