ฮีลละไม ใจละมุน
ชวนฟังเสียงฮีลใจในมิวเซียมสยาม เมื่อพิพิธภัณฑ์คือพื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึก
- ไปทำความรู้จัก Saturday Happening-Healing House ฮีลละไม ใจละมุน นิทรรศการส่งเสริมความรู้สึกไปพร้อมกับคุณภาพชีวิต จัดในสเปซมิวเซียมสยาม เพราะท่ามกลางความเจ็บปวดของคนเมืองและสังคมที่วุ่นวาย ถ้าหากได้เสียงเข้ามาเยียวยาความบอบช้ำก็คงจะดีไม่น้อย
ด้วยแนวคิดของงานพิพิธภัณฑ์ที่ต้องการให้เป็นมากกว่าพื้นที่จัดแสดงงาน แต่คือพื้นที่สงบ ปลอดภัย ผ่อนคลายของคนเมือง มิวเซียมสยามจึงจัดนิทรรศการชื่อว่า “Saturday Happening-Healing House ฮีลละไม ใจละมุน” สร้างประสบการณ์ทางหูด้วยเสียงและ ASMR โดยมีมินนี่ - ชนน์ชนก พลสิงห์ มิวเซียมเมกเกอร์เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
ONCE จึงชวนเธอมาเล่าสู่กันฟังว่าการพัฒนาพื้นที่มิวเซียมให้เป็น civic space นั้นสำคัญพอๆ กับการเป็นแหล่งเรียนรู้นอกระบบที่ครบทั้งความสนุกและมีสาระอย่างไร และทำไมนิทรรศการที่เน้น “การฟัง” จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่านิทรรศการที่ “ต้องดู”
มากกว่าพิพิธภัณฑ์
“เราต้องการจะพัฒนาพื้นที่ของมิวเซียมในอยู่ในฐานะของซีวิคสเปซ เป็นพื้นที่ในการให้บริการทางสังคม เพราะเมื่อก่อนเราทำงานพิพิธภัณฑ์ เราค่อนข้างคำนึงถึงเนื้อหาที่เราสื่อสารว่าผู้ชมจะรู้อะไร แต่ว่าพอหลังๆ เรามองว่า จริงๆ พิพิธภัณฑ์มีฟังก์ชันบางอย่าง ฟังก์ชันอย่างนึงที่เราเห็นก็คือ ผู้เข้าชมอยากกลับมาพิพิธภัณฑ์ เลยมีโจทย์ว่า เราจะทำยังไงให้ผู้เข้าชมมาพิพิธภัณฑ์ได้ทุกวัน” มินนี่เล่า
นอกจากพิพิธภัณฑ์จะเป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้แล้ว พิพิธภัณฑ์ควรให้ความสุขกับคนที่เข้ามาด้วย เพราะความสุขของผู้คนเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะคนเมือง การที่คนเมืองมีช่องว่างระหว่างตัวเองกับธรรมชาติ หรือสังคมของคนเมืองตกอยู่ในสภาวะกดดัน เธอจึงมีความคิดว่า จะทำยังไงให้พิพิธภัณฑ์มีฟังก์ชันที่ทำให้ทุกคนผ่อนคลายสบายใจ มีความสุขทุกครั้งที่กลับมา ยิ่งกว่านั้นกลับมาแล้วก็อยากกลับมาอีก มินนี่จึงออกแบบพื้นที่บางมุมของมิวเซียมเพื่อเติมเต็มความสุขนั้น
ปล่อยวางและเดินเข้ามา
“อย่างน้อยพื้นที่ของเราก็จะสร้างให้เขามีความสุขได้หรือผ่อนคลายลงได้ แม้ว่าปัญหาที่เขาเจอมันอาจไม่ได้แก้ไข แต่อย่างน้อยการที่เขามาในพื้นที่ของเรา ก็อาจมีบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกว่าได้ปล่อยวางสิ่งที่อยู่ข้างนอก วางสิ่งที่ติดตัวเขามา ได้ผ่อนคลาย”
โซนชั้น 1 ออกแบบให้สามารถเดินฟังเสียงตามมุมต่างๆ หรือนั่งโซฟาตัวใหญ่กลางห้องโถงเพื่อรับฟังเสียงโดยรอบ ขณะที่ชั้น 3 คือโซน ASMR สามารถฟังเสียงผ่านหูฟังและเลือกฟังในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกผ่อนคลายสบายใจได้มากขึ้น โดยได้ทีมซาวเอนจิเนียจาก ‘Hear and Found’ มาร่วมออกแบบประสบการณ์ในเรื่องเสียงต่างๆ ในครั้งนี้
“เราเป็นคนที่เชื่อว่า…’คนเราจะตกหลุมรักคนทางสายตา’ นึกออกไหมว่าคนที่แบบหน้าตาดีมันโดนใจเรา เราก็รู้สึกรักเขา แต่ว่าเราจะเจอรักแท้ เมื่อเราได้ฟังเสียงอะไรบางอย่าง ซึ่งเราคิดว่า เสียงมันทำงานในพื้นที่ของสมอง เราเลยอยากทดลองให้คนได้ลองใช้ประสบการณ์ทางหูมากขึ้น” มินนี่-ชนน์ชนก พลสิงห์ บอกเล่ามุมมองที่มีต่อเสียงของเธอ
ทำไมต้อง “เสียง”
เสียงมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของคนเราค่อนข้างมาก อย่างที่มินนี่ได้บอกว่า เลเยอร์ระดับการมองเห็นอาจเป็นแค่ทำให้ตกหลุมรัก แต่เลเยอร์ของเสียงนั้นเปรียบได้กับการเจอรักแท้หรือการรับรู้ที่มั่นคงขึ้น
“เราใช้ประสบการณ์ทางหูค่อนข้างน้อยมาก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันมีผลกับความรู้สึกของเราค่อนข้างมากอย่างคาดไม่ถึง” มินนี่ย้ำ เพราะเสียงไม่ใช่แค่ทางผ่านของสิ่งเร้าที่สะท้อนต่อตัวเราเท่านั้น แต่ยังสะท้อนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้มีอิทธิพลต่อเราที่ได้ยินเสียงเหล่านั้น และอาจทำให้เราเข้าใจต่อเสียงที่ได้ยินมากกว่าที่เคยคิดไว้ก็ได้
สำหรับเราเอง หลังจากได้ลองฟังเสียงที่มีความหลากหลายมิติจนครบทุกโซนแล้ว เรารู้สึกผสมปนเปกันไปหมดจากเสียงที่ได้ฟัง ทั้งเสียงที่ฟังแล้วรู้สึกสงบ เสียงที่ฟังแล้วรู้สึกอึดอัด เสียงที่ฟังแล้วรู้สึกอยากนึกภาพตาม หรือเสียงที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกกลัว แต่นั่นล่ะ ความรู้สึกที่มีต่อเสียงต่างๆ ก็ขึ้นอยู่การรับรู้ของแต่ละคน ซึ่งเราสามารถเลือกฟังเสียงที่เข้ากับความชอบของเราได้
ลองใช้เสียงนำพาตัวตนของเราออกมาจากความขุ่นมัวที่วนเวียนอยู่ในความคิดถึงไม่ได้เยียวยาในเวลาอันรวดเร็วแต่มันจะค่อยๆปลอบประโลมเราได้ชั่วคราว เชื่อไหมว่าด้วยเสียงรอบๆ ตัวหรือเสียงที่เราคุ้นเคยแต่ไม่เคยให้ความสำคัญ
ลองฟังเสียงเหล่านั้นดีๆ สิน่าจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้บ้างนะ
สถานที่ : Museum Siam
เวลาจัดแสดง : วันนี้จนถึง 30 กันยายน 2566 (เวลา 10.00-18.00 น. วันอังคาร-อาทิตย์(ปิดทุกวันจันทร์) )