เป็ดอุดรฯ
เต้ย-ปองพล เจ้าของ Hed Design Studio และผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่ม Active Citizens ในอุดรธานี
- แค่งานเดียวไม่พอ ต้องมี 2 บริษัท แค่อาชีพหลักไม่พอ ต้องมีโปรเจกต์ส่วนตัวด้วย เต้ย-ปองพล ยุทธรัตน์ คือสถาปนิกผู้ยึดแนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เขายังสร้างกลุ่มทำกิจกรรมด้านศิลปะ การศึกษา และอื่นๆ ในอุดรธานีบ้านเกิด จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ คือไม่อยากต้องบินไปเสพศิลปะไกลถึงกรุงเทพฯ
ก๊าบๆ ! นี่คือเรื่องราวของเป็ดนามว่า เต้ย-ปองพล ยุทธรัตน์ เป็ดตัวนี้ไม่เคยเหนื่อยและไม่อยากอยู่เฉย ไม่ใช่ว่าทำเพื่อตัวเองอะไรขนาดนั้นหรอก แต่เขาสนุกกับชีวิตจริงๆ
“เรารู้ตั้งแต่ตอนปี 5 ว่าตัวเองสนใจอะไรเยอะแยะไปหมด ที่ตั้งใจไว้ว่าจะเลือกสักอย่างก็ไม่เคยสำเร็จเลย ยังเยอะอยู่ดี”
เต้ยพูดไปหัวเราะไป เขาใช้เวลา 5 ปี ลองหลายอาชีพ สุดท้ายก็ลงเอยที่อาชีพตรงสายกับที่เรียนมาด้วยความจำเป็นของครอบครัว เขาเปิดบริษัทออกแบบและก่อสร้างด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีแผนจะชูโฟมเป็นพระเอกในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง แถมยังกระตุ้นตัวเองทุก 5 ปีด้วยการปรับทิศทางของบริษัทอยู่เสมอ
อีกด้านของเรื่องราวคือการเป็น Active Citizen ผู้หยิบยกประเด็นปัญหาในชีวิตประจำวันมาหาทางแก้ เต้ยคือแม่เหล็กดึงดูดคนที่มีความต้องการเหมือนกันเข้ามา พวกเขาทำกิจกรรมด้านศิลปะ การศึกษา ธุรกิจออกแบบ และด้านอื่นๆ โดยเป้าหมายของทุกคนคือพัฒนาคุณภาพชีวิตคนอุดรฯ
ปีนี้คือปีที่ 10 ของการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ระหว่างทางเต็มไปด้วยเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ และผู้อยู่รอดบนความไม่แน่นอนคงมีแต่มนุษย์เป็ดนี่แหละ!
Life Has Its Ups and Downs
ชีวิตหลังเรียนจบของเต้ยโคตรไม่ธรรมดา เขาค้นหาตัวเองอยู่ 5 ปี โดยไม่สนวุฒิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต ซึ่งได้มาเพราะครูมัธยมบอกว่า คนที่วาดรูปสวยควรเรียนคณะสถาปัตย์ฯ
“นั่นเป็นเหตุผลที่เรากลับมาโรงเรียนเก่าทุกปีเพื่อมาบอกน้องๆ ว่าไม่จริง” เต้ยหัวเราะ
เต้ยไม่มีความคิดที่จะซิ่ว และไม่คิดว่าทักษะของตัวเองนั้นจำกัด เขาตื่นตาตื่นใจกับคณะอย่างจิตรกรรม มัณฑนศิลป์ ฯลฯ จนได้รู้ว่าการวาดรูปมีเป็น 10 แขนง แถมยังไปเรียนกับคณะอื่น ลองพิมพ์ผ้า ลองแกะสลักไม้ แล้วเป็ดตัวหนึ่งก็จบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย
“หลังเรียนจบตั้งใจว่าจะลองเป็นทุกอย่างที่อยากเป็น พอครบ 5 ปีถึงจะเลือกว่าฉันจะทำอะไรกันแน่ ถ้าไม่ได้ลองคงนอนตายตาไม่หลับ”
ถ้านี่เป็นเรซูเม่ของจริงก็คงเท่ไม่หยอก
• ส่งหนังสั้นประกวดในงานของมูลนิธิหนังไทย – เริ่มทำหนังสั้นขณะเรียนชั้นปีที่ 5
• Interior Designer – 1 Year – ออกแบบภายในร่วมกับดีไซเนอร์ไอเดียนอกกรอบ ตัวอย่างงานคือการแตกธีมจากเพลงของ Madonna มาเป็นสลิงพันรอบตึกสตูดิโออัดเสียง
• Creative – 1 Year – ผลิตรายการโทรทัศน์ โดยสัมภาษณ์ผู้คนในแวดวงออกแบบหลายแขนง (สถาปนิก, กราฟฟิก ดีไซเนอร์, นักออกแบบเครื่องประดับ ฯลฯ) แล้วแปลงเป็นคลิปความยาว 5 นาที สำหรับออกอากาศทุกวัน
• Writer – 7 Years – เขียนบทความด้านการออกแบบหลายแขนงลง art4d Magazine ควบคู่กับเรียนปริญญาโท สาขาแนวความคิดในการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อลงลึกด้านคอนเซปต์และที่มาของการออกแบบ
“ตอนทำรายการน่ะคุย 2-3 ชั่วโมง ตัดเหลือ 5 นาที เราเสียด๊ายเสียดาย พอนั่นไม่ครอบคลุมสิ่งที่เราต้องการสื่อ ก็เลยเขียนบทความ บทความแรกส่งไปที่ art4d ส่งปุ๊บเขาก็เรียกทำงานปั๊ป เพราะดีไซเนอร์สายเขียนหายากมาก พี่ช่างภาพเห็นเรามีพื้นฐานการถ่ายรูป เขาก็จับเราเรียนถ่ายรูปสถาปัตย์ฯ อีก มันเป็นคนละศาสตร์กับการถ่ายแฟชั่นหรือพอร์เทรต ช่างภาพสถาปัตย์ฯ เลยมีคุณค่า”
สถาปัตยกรรมศาสตร์มีความเฉพาะตัว หากต่อยอดทักษะเขียนหรือถ่ายรูปได้ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน ส่วนเต้ยคือคนที่ทำได้ทั้ง 2 อย่าง อาชีพนักเขียนจึงลงตัวที่สุด ไหนจะรับงานถ่ายภาพฟรีแลนซ์กับงานอาจารย์พิเศษจนรายได้เคยแตะ 6 หลัก รู้ตัวอีกที เต้ยก็ทำงานบริษัทเดิมจนครบ 7 ปี และกลายเป็นเป็ดที่ยืดอกอย่างภาคภูมิ
“เราเขียนด้วยถ่ายรูปด้วย เราก็ยินดีนะ เวลาไปต่างจังหวัดยังพูดกับแฟนเลยว่า เขาจ้างให้ไปเที่ยวอีกแล้ว” เต้ยพูดไปหัวเราะไป
ในตอนที่คิดว่าทุกอย่างลงตัว เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น นั่นคือการสูญเสียพ่อ เต้ยขยับสถานะมาเป็นหัวหน้าครอบครัวแล้วกลับไปปักหลักที่บ้านเกิด เหตุผลหนึ่งคือแม่ อีกเหตุผลคือคุณภาพชีวิตของลูกวัยแรกเกิด
“ปี 2010 เป็นปีแห่งความทรงจำในชีวิตเลย ต้นปีนั้นได้ข่าวว่าแฟนท้อง 1 อาทิตย์ต่อมาได้ข่าวว่าพ่อเป็นมะเร็งตับอ่อน ปีนั้นเลยกลับมาอยู่บ้าน ทำงานรับเหมาก่อสร้างของพ่อให้จบ เวลาผ่านไป 9 เดือน ลูกก็คลอด 1 อาทิตย์ต่อมาพ่อก็เสีย โอ้โห ไม่รู้จะทำตัวยังไง ทั้งดีใจสุดๆ และเศร้าสุดๆ สุดท้ายเราก็ไปบอก art4d ว่า ขอกลับบ้าน แล้วหอบเอาทุกสิ่งกลับมาเลย”
We Do What We Can
แม้เป็นเป็ดก็มีแนวทางของตัวเองชัดเจน เต้ยปิดบริษัทของพ่อเพราะเบื่อระบบราชการเต็มทน ระบบนั้นทำให้แต่ละเจ้าแข่งกันตั้งราคาถูก ส่งผลให้งานถูกลดสเปกตามไปด้วย จากนั้นเต้ยเปิดบริษัทออกแบบ Hed design studio และบริษัทก่อสร้าง WonderCreation ในปี 2014 จวบจนปีนี้ก็ถึงวาระครบ 10 ปีพอดี
First Impression สำคัญขนาดไหน เต้ยปัดตกงานตึกแถว หมู่บ้านจัดสรร แล้วเลือกคาเฟ่ที่เห็นว่าดีไซน์เพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจได้ ร้านนั้นคือ Dose Factory ร้านกาแฟสเปเชียลตีเจ้าดังในอุดรธานี เจ้าของร้านนี้ได้รับโอกาสจากร้านชื่อเดียวกันขณะอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลีย จึงตั้งปณิธานว่าจะทำแบบเดียวกันเมื่อกลับบ้านเกิด
“ร้านให้ผมติดรูปถ่ายผลงานพร้อมเบอร์หน้าห้องน้ำ ผมกะทำเป็นนิทรรศการ 3 เดือน แต่ทุกวันนี้ยังไม่แกะออกเลย ผมใส่เครดิตช่างไฟ ช่างเหล็ก ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ใครอยากช้อปปิงก็มีเบอร์อยู่ในนั้นหมด Dose Factory ใช้คำว่า ‘โอกาส’ ได้เปลืองมาก ลูกค้ามาจากร้านนี้เพียบจนผมคิวเต็ม”
แผน 5 ปีของเต้ยกลับมาอีกครั้ง เขาตั้งใจไว้ว่าทุกๆ 5 ปีจะต้องมีการเปลี่ยนคอนเซปต์ โดย 5 ปีแรก จิตวิญญาณนักเขียนของเต้ยยังแจ่มชัดอยู่ในงานออกแบบ
“ทุกงานที่ทำได้ออกสื่อ ได้ลงหนังสือ เราตั้งประโยคงี่เง่าๆ ว่า ถ้าจะลงหนังสือได้ต้องมีคุณภาพประมาณนี้ ซึ่งตอนนั้นหนังสือก็ตายแล้ว พอครบ 5 ปี คำนี้ลอยมาเลย มันต้องมีแก่นสิ”
5 ปีหลังเต้ยเน้นการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยยึด 2 หลักการคือป้องกันการเกิดขยะและวิธีคิดแบบ Nature-based Solution
“100% ของขยะโลกเป็นขยะจากอุตสาหกรรมก่อสร้างประมาณ 40% โคตรเยอะ มันมาจากปลายปากกาของดีไซเนอร์นี่แหละที่กำหนดว่าจะมีหรือไม่มีขยะ สมมติดีไซน์มาว่าใช้เหล็ก 5.50 เมตร ผมจะขยายให้เต็ม 6 เมตรเพื่อไม่ให้เหล็กท่อนนั้นถูกตัด เพราะตัดนิดหนึ่งก็กลายเป็นขยะ ใช้ไม่ได้แล้ว
เราใช้ธรรมชาติมาช่วยแก้ปัญหา เราดูการไหลเวียนของอากาศแล้ววางบ้านให้สัมพันธ์กับทิศทางลม เจาะหน้าต่างเป็นช่องลมออก วิธีนี้เรียกว่า Passive Cooling เราไม่ได้ปฏิเสธแอร์นะ เพียงแต่ช่วยให้มันทำงานน้อยลง นี่คือคอนเซ็ปต์ของ Nature-based Solution”
10 ปีผ่านไป ถึงเวลากำหนดทิศทางของสตูดิโออีกครั้ง เต้ยสนใจคำว่า ‘Partner with Nature’ ซึ่งเฟรนด์ลี่กว่า Nature-based Solution เป็นไหนๆ อีกทั้งจะชวนเพื่อนร่วมงานไปลงมือทำจริงมากขึ้น เพื่อเข้าใกล้คำว่า ‘เฮ็ด’ ให้มากขึ้น คำนี้มาจากภาษาอีสาน แปลว่า ทำ
“ผมอยากทำเรื่องงานไม้ในอีสาน ซึ่งต่างจากภาคเหนือที่มีเทคนิคแพรวพราว คนอีสานมีอุปกรณ์แค่ 2 อย่างคือสิ่วกับกบ เราจะไปเรียนรู้ภูมิปัญญาอีสาน เรื่องไพหญ้าคา วิธีทำงานไม้ในสถาปัตยกรรมอีสาน เอาวิธีการมาแล้วทำแบบร่วมสมัย”
วิธีคิดก็อย่างหนึ่ง วัสดุก็อย่างหนึ่ง เต้ยพบวัสดุมหัศจรรย์ที่ตอบโจทย์เขาทั้งด้านการลดขยะและ Nature-based Solution นั่นคือ โฟม ฟังแล้วยังนึกภาพไม่ออก จนเต้ยเฉลยว่า ห้องที่นั่งกันอยู่นี้ก็ทำจากโฟม และเป็นผลงานของเต้ยเอง
“มันเป็นฉนวน ไม่มีขยะ และติดตั้งเร็ว ลองนึกถึงถังน้ำแข็ง คุณสมบัติเก็บอุณหภูมิจะช่วยลดการทำงานของแอร์ โฟมไม่สร้างขยะเพราะสั่งตัดได้ตามต้องการ ผนังทั้งหมดรวมถึงหลังคาเป็นโฟม ไม่มีคาน ตั้งอยู่บนพื้นคอนกรีต ประกอบโครงสร้าง 3 วัน ที่เหลือเป็นงานฉาบสี งานไฟ รวมระยะเวลาสร้างห้องนี้ประมาณ 1 เดือน เร็วกว่าใช้ปูน 5 เท่า แต่ราคาไม่ต่างกัน”
เต้ยเปิดตัวงานโฟมกับ Dose Factory เช่นเคย ทำให้มีลูกค้ามาจ้างไปต่อเติมบ้าน เหตุผลก็ไม่ใช่แค่ 3 จุดเด่นที่กล่าวมา แต่เพราะใช้คนน้อยและไม่มีเครื่องจักร เจ้าของบ้านต่างพอใจกับวิธีที่รบกวนคนน้อย เต้ยเห็นโอกาสเติบโตอีกมาก ใจเลยอยากทำโรงงานโฟม เพราะที่ผ่านมาเขาต้องสั่งโฟมจากจังหวัดราชบุรี แล้วการขนส่งก็สร้างคาร์บอนมากเหลือเกิน
“ถามว่า Commercial ไหม ใช่ครับผมขายของ แต่พื้นฐานมาจากการดูแลโลกในแบบที่เป็นเรา และมันแก้ Pain Point ของลูกค้าได้หมด”
Udon Thani Is On the Way Up
โปรเจกต์ใหม่ๆ งอกจากอาชีพหลักไม่หยุดหย่อน โปรเจกต์ส่วนตัวก็เช่นกัน และนี่คือ Side Projects ส่วนหนึ่งของเป็ดอุดรฯ ตัวนี้ตั้งแต่ปีที่กลับบ้าน
• ‘อุดรฯ สเก็ตเชอร์’ – กลุ่มศิลปินในอุดรธานี แรกเริ่มเคยนัดกันไปวาดรูปทุกวันอาทิตย์
“เราอยู่ art4d มา 7 ปี คุยกับดีไซเนอร์ทุกวัน แต่อยู่อุดรฯ ไม่มี จนเรารู้สึกเสี้ยนมาก ถึงขนาดนั่งเครื่องบินไปกินข้าวเที่ยงหอศิลป์ ตอนเย็นบินกลับ ก็มานั่งคิดว่า กูจะเป็นแบบนี้ไปถึงไหน เราเลยจัดแกลเลอรีที่ชั้นล่างของออฟฟิศ คนที่มางานพูดกันว่า รอจังหวะนี้มานาน มีคนคิดเหมือนเราเต็มไปหมดแค่ยังไม่มีใครเปิด”
• ‘อยู่ดีไม่ว่าดี’ – กลุ่มคนทำงานดีไซน์ในอุดรธานี มีสมาชิกราว 150 คน
“การเปิดออฟฟิศที่อุดรฯ ไม่เหมือนที่กรุงเทพฯ อยู่นั่นออฟฟิศหนึ่งมีสถาปนิก อินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ วิศวกร อยู่ในออฟฟิศเดียวได้ เพราะค่า Fee ที่เก็บจากลูกค้าครอบคลุมทั้งหมด แต่ที่นี่เราเก็บไม่ได้เยอะ ต้องใช้ระบบพันธมิตร เราไม่ได้ทำอินทีเรียร์ก็เรียกน้องที่รู้จักมารับงาน”
• ‘มาดีอีสาน’ – ก่อตั้งโดยสถาปนิก 5 คน แตกเป็น Book Club Sport Club Kids Club ฯลฯ
“ผมพาเด็กๆ เดินห้วยหมากแข้ง ไปสำรวจธรรมชาติ และมีกลุ่มที่เราไปหยอดไว้แล้วเขาก็โตขึ้น ช่วงโควิดหายๆ กันไป จนปีที่แล้วมีสัญญาณว่าจะมีกลุ่มแบบนี้กลับมา เป็นศิลปินหน้าใหม่หมด”
• ‘เด็กยิ้มกว้าง’ – กลุ่มของพ่อแม่ในอุดรธานีที่จะพาลูกๆ มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยผลัดกันไปบ้านคนนู้นทีคนนี้ที ไอเดียนี้เกิดขึ้นในช่วงโควิด ซึ่งกระทบการศึกษาภาคบังคับของเด็ก
ย้อนกลับไปที่ยุคสงครามเวียดนาม อเมริกาส่งทหารเข้ามาในอุดรธานี ส่งผลให้จังหวัดนี้เป็นดั่งพัทยาในปัจจุบัน ฝรั่งเต็มบ้านเต็มเมือง ธุรกิจเติบโตถึงขีดสุด โรงหนังสเกลเดียวกับ Scala เกิดขึ้นถึง 3 แห่ง ธุรกิจโรงแรมอู้ฟู่ สร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้คนอุดรฯ หลายคนมีฐานะ มองเห็นโลกที่ไร้พรมแดน และส่งลูกหลานไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศไม่น้อย
“พ่อของผมอินกับวัฒนธรรมอเมริกันมาก เวลาผมดื้อ พ่อจะพูดว่า Man! โรงหนังชั้นล่างก็พากย์สด แต่ชั้นบนมีหูฟังสำหรับฟัง Soundtrack เงินสะพัดจนเกิดธุรกิจอื่น ผับบาร์ วงดนตรี แหลม มอริสัน ก็เคยถูกจ้างให้มาจัดคอนเสิร์ตเรียกร้องให้ยุติสงครามเหมือน Woodstock ที่อเมริกา ยุคนั้นไม่ได้มีแค่สงคราม แต่มีมิติเชิงวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย”
“การเปิดตัว Dose Factory เปลี่ยนอุดรฯ ไปจริงๆ เพราะก่อนหน้ามีห้างโลคัลชื่อ เจริญศรี ที่เริ่มร้าง แล้วเจริญศรีก็ขายให้เซ็นทรัล เมืองเปลี่ยนแกนไปแถวนั้นหมด เมืองแถวนี้ตาย” บทสนทนาอันเข้มข้นนี้ดำเนิน ณ Dose Factory ที่ถูกกล่าวถึงมาตลอดบทความ
คนรุ่นเต้ยอย่างเจ้าของร้าน Dose Factory ร้าน Samuay & Sons และ บ้านนา คาเฟ่ รวมถึง Active Citizen คนอื่นในจังหวัดช่วยฟื้นคืนชีพอุดรธานีอีกครั้ง ไม่เพียงธุรกิจ แต่รวมถึงศิลปะ การศึกษา และด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวันด้วย
เต้ยยอมรับตามตรงว่า ไม่เข้าใจอาการ Burn Out และเข้าไม่ถึงคนที่รู้สึกเช่นนั้น พอชูประเด็นเรื่อง ‘เป็ด’ เต้ยก็ถามกลับว่า
“เป็นเป็ดไม่ใช่เรื่องดีเหรอครับ”