Better Baker
ถอดสูตรชีวิตและเบื้องหลังเตาอบขนมของสุชาธิษณ์ สุวิตธรรม ‘แจม – บ้านนาคาเฟ่’ แห่งเมืองอุดร
- เชื่อว่าถ้าเอ่ยถึงคาเฟ่ในอุดร หลายคนที่เคยไปคงจะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่าลืมแวะบ้านนาคาเฟ่ เพราะที่นั่นเค้กอร่อยสมกับที่เขาร่ำลือ ใช่เลย! วันนี้เราจะพาไป ‘บ้านนาคาเฟ่’ คาเฟ่ในโรงนาติดกับสวนต้นไม้ ดอกไม้ ของ แจม – สุชาธิษณ์ สุวิตธรรม เจ้าของร้านจะมาเล่าเบื้องหลัง การทำธุรกิจ และแอบเผยสูตรการเรียนทำขนมที่คนรักเบเกอรี่ไม่ควรพลาด รับรองว่าเรื่องราวของเธอจะเข้ามาเติมความหวานและพลังให้คุณอยากลุกขึ้นจับช้อนเข้าครัวทำขนมชัวร์
“การทำขนมเป็นเหมือนการทำสมาธิของแจมเลย แจมชอบอยู่คนเดียว เพราะทำให้เรามีโฟกัสที่ดี ในหัวแจมจินตนาการจะพุ่งมาก พาให้อยากลองใส่อันนั้นอันนี้ตลอด ยิ่งถ้าทำออกมาสำเร็จ ใจจะฟูมาก การทำขนมทำให้เราเป็นแจมที่ดีขึ้น และเป็นแจมที่มีคุณค่า”
ใครที่หลงใหลการทำขนมคงจะต้องพยักหน้าเห็นด้วยกับแจม และด้วยน้ำเสียงสดใสรับกับใบหน้ายิ้มแย้มของเธอ ทำให้เราเข้าใจแล้วล่ะ ที่เขาว่ามากินขนมร้านนี้ นอกจากอร่อยสมคำร่ำลือ บรรยากาศและเจ้าของร้านนี่ล่ะที่ชวนให้อยากวนรถกลับมาที่นี่อีกครั้ง
ในวันที่ฟ้าสว่าง แสงแดดยอมเป็นมิตร แจมยกขนมปังกระเทียมครีมชีสและทาร์ตลิ้นจี่กุหลาบมาเสิร์ฟให้ถึงที่ (ได้ยินว่าเป็นเมนูยอดฮิต ชิมแล้วก็จริงอย่างที่ลือ) การทักทายระหว่างกันกลับลากยาวไปถึงบทสนทนาเบื้องหลังชีวิตการทำขนมของแจมที่ฟังแล้วก็กินใจและก็ดีใจไปกับการเดินตามฝันของเธอจนอยากมาเล่าสู่กันฟัง
ตั้งท่ากันให้พร้อม ค่อยๆ อ่านอย่างระวัง ถ้าไม่อยากน้ำลายสอ!
หนทางคนทำขนม
ก่อนจะมาเป็นบ้านนาคาเฟ่ ก็ต้องผ่านบทเรียนนัก (ฝึก) ทำขนมมาก่อน ความสนใจอยากทำขนมมาพุ่งเข้าก็ตอนที่แจมเป็นนักเรียนมัธยมปลายไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศแคนาดา เธอเลือกเรียนทำขนมเป็นวิชาเลือกในคาบบ่าย และด้วยบริบทแต่ละบ้านชอบอบขนมกินกันเองในครอบครัว แอปเปิลครัมเบิลเค้กที่โฮสต์ของเธออบให้กินในครั้งแรก (และกลายเป็นเมนูโปรดของเธอไปตลอดกาล) เล่นส่งกลิ่นหอมอบอวลทั่วบ้าน ก็ค่อยๆ ปลุกความหลงใหลที่อยากทำขนมขึ้นมา
กลับมาแคนาดาอีกครั้งในคราบนักศึกษาปี 2 ได้มาทำร้านอาหารไทย Siam Dish ของพี่ลี่ เจ้าของร้านที่ถือเป็นแรงซัพพอร์ตสำคัญของเธอ “พี่ลี่เป็นคนที่บอกเราว่า อยากทำไรให้ไปทำเลย หลังจบปี 4 แจมอยากทำงานเพื่อเก็บเงิน เลยขอกลับไปทำงานกับเขา พอวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ พี่ลี่จะให้แจมยืมรถขับไปเรียนทำขนมที่สถาบันเล็กๆ ต่างเมือง ในขณะที่เขาและครอบครัวยอมนั่งรถเมล์ไปดูหนังทำกิจกรรมกันในครอบครัว คือถ้าไม่มีพี่เขา ก็คงไม่มีเราในวันนี้” แจมเล่า
กลับอุดรธานีบ้านเกิด เริ่มสานฝันด้วยการเปิดคาเฟ่ Under The Tree ร่วมกับเพื่อน ก่อนแยกตัวออกมาเปิด Jammie’s Recipe สตูดิโอสอนทำขนมที่เสิร์ฟ Atfernoon Tea เพียงแค่ 1 โต๊ะ “จำได้ว่ามีสื่อมาเขียนแนะนำร้านเราว่า เป็นสตูดิโอสอนทำขนมกลางทุ่งนา กลายเป็นกิมมิกของเราที่เขาตั้งให้เลย แล้วเขามีคนที่ติดตามมา เขาไม่รู้จะทำอะไรดี เราก็เลยจัดขนมให้นั่งกินระหว่างรอ แล้วเหมือนภาพถูกเผยแพร่ไป คนก็นึกว่าแจมเปิดร้าน ก็พากันมาที่นี่เพิ่มชิมขนมแจม”
ดูเหมือนโชคจะเข้าข้างความมุ่งมานะของเธอ เพราะหลังเปิดได้ 2 ปี ก็มีทุนสร้างคาเฟ่ที่ใฝ่ฝันสักที แจมปรับพื้นที่บ้านสวนให้เป็น ‘บ้านนาคาเฟ่’ คาเฟ่ที่โอบล้อมไปด้วยทุ่งนาและสวนดอกไม้ที่เธอปลูกเองไว้เป็นวัตถุดิบ ความชอบ และก็เพื่อต้อนรับลูกค้าที่เดินเข้ามา ปล่อยให้ได้ชมสุนทรีธรรมชาติกันอย่างอบอุ่น ก่อนที่จะมาชิมขนมเค้กและเครื่องดื่มกันอย่างเพลิดเพลินปะปนกับความสุขใจที่ได้ใกล้ชิดผืนนา
Back to Basic
คนเริ่มหัดทำขนมไปจนถึงมือโปรต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะทำขนมให้อร่อย การเลือกวัตถุดิบที่ดีนี่ล่ะมีชัยไปกว่าครึ่ง กว่าจะเจอสูตรของตัวเอง ก็ต้องแลกมาด้วยการวิ่งเรียน จด ทดลองทำอยู่หลายที และเพราะลงมือทำ แจมจึงถอดบทเรียนได้อีกข้อว่า “เรียนทำขนมไม่จำเป็นต้องเรียนกับสถาบันมีชื่อ แจมก็ไม่ได้เริ่มต้นจากตรงนั้น การเรียนเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้จักขนมเท่านั้นเอง”
“แจมชอบไปเรียนกับคนที่มีประสบการณ์กับเมนูนั้นๆ จนเขามีสูตรออริจินัลของเขาเอง อย่างบัตเตอร์เค้ก ก็ไปเรียนกับครูไทยที่เชี่ยวชาญสูตรนี้มากว่า 30 ปีเลย หรือเรียนทำคุกกี้โบราณก็ไปเรียนกับคุณยาย บางทีไปเจอรสชาติแปลกใหม่ถูกใจคนไทย เราก็ไปเรียนกับเขา”
เริ่มเรียนจากเมนูอะไรดี เธอบอกว่าเริ่มจาก Back to Basic “เรียนแบบกลับหลัง เรียนทำขนมเมนูที่เขานิยมกันก่อน แล้วค่อยเรียนถอยหลังกลับไปที่เมนูเบสิกสุดอย่างคุกกี้ ขนมเบสิกที่ดูทำง่าย แต่จริงๆ ยากมากที่จะหารสชาติให้ถูกใจคนกิน บราวนี่แจมก็เพิ่งวางขาย เพราะเพิ่งเจอสูตรที่เป็นเราที่สุดไม่กี่เดือนนี้เอง”
ขนมฝีมือแจมจะมีรสชาติที่กลมกล่อม ถ้าพูดง่ายๆ ก็มีเปรี้ยว หวาน มัน เค็มครบ เพราะนี่คือรสชาติที่ถูกปากคนไทย เลือกกินชิ้นไหนก็ไม่ผิดหวัง ความเป็นแจมอีกอย่างที่เด่นออกมาคือการแต่งหน้าขนมเน้นดอกไม้สีสวยและผลไม้ชิ้นโตแบบไม่เกรงใจงบประมาณ ความโฮมเมดนั้นยังเหมารวมไปถึงเครื่องดื่มด้วย
“แจมพยายามใช้วัตถุดิบที่ปลูกเอง อย่างผลไม้ก็เอามาทำขนมเครื่องดื่มตามฤดูกาลแทนการใช้ไซรัป คาราเมลก็เคี่ยวเอง เครื่องดื่มแบบไหนที่ทำเองไม่ได้ เราก็จะไม่ขาย” นอกเหนือเรื่องขนม ยังมีอาหารไทย-อีสาน ไร้เนื้อสัตว์ เมนูง่ายๆ ที่ใครอยากมาฝากท้องที่นี่ ก็รับรองได้เลยว่าต้องชอบแน่นอน
จะเปิดร้านกาแฟเหรอ เดี๋ยวก็เจ๊ง!
นึกย้อนกลับไป 8 – 10 ปีก่อน น่าจะเป็นยุคที่ธุรกิจร้านกาแฟอาจไม่ค่อยบูมเท่าในยุคนี้ จำได้ว่าใครเปิดร้านกาแฟ สักพักก็ต้องล้มความตั้งใจ Under The Tree ที่แจมทำร่วมกับเพื่อนก็นับว่าเป็นคาเฟ่ที่แรกๆ ของอุดรธานี แน่นอนคงไม่มีใครเห็นด้วยกับสิ่งที่เธอทำ
“คนชอบพูดว่า เด็กพวกนี้คงเปิดกันเล่นๆ เปิดร้านกาแฟเดี๋ยวก็เจ๊ง ตอนที่ทำ Jammie’s Recipe ด้วยสไตล์ที่เสิร์ฟเซ็ตน้ำชาแบบ English Country มีอยู่โต๊ะเดียว ใครจะมาต้องจองล่วงหน้า คนยิ่งไม่เข้าใจว่าแจมจะทำอะไร จะเป็นคนเสิร์ฟก็ไม่ใช่ คนทำขนมก็ไม่ใช่อีก เหมือนเป็นสไตลิสต์ เพราะในแต่ละวันแจมจะจัดดอกไม้แต่งร้านไม่เหมือนกันเลยนะ จู่ๆ วันนี้นึกอยากเดินเข้าป่าไปเจออะไรสวยๆ มาตกแต่งก็ไปเลย”
แม้กระทั่งครอบครัวที่ทำงานราชการ มีเพียงแจมที่หันมาจับธุรกิจ ความที่พ่อแม่กลัวการเป็นหนี้จึงไม่เข้าใจว่า การทำธุรกิจต้องเริ่มจากการเป็นหนี้ก่อน “เรามีเป้าหมาย มี Passion จะไปบอกใครว่าเราชอบดอกไม้อยากจัดดอกไม้ อยากมีบ้านกลางนา อยากเลี้ยงควายมันก็ดูเป็นความคิดเพ้อเจ้อ ใจแจมอะเชื่อว่าทำได้ ด้วยประสบการณ์ที่ไปอยู่เมืองนอก เราไปเห็นความคิด เห็นอะไรใหม่ๆ มาแล้ว ก็คิดว่าเราจะค่อยๆ ทำออกมาเป็นรูปธรรมให้เขาเห็นในสิ่งที่แจมทำ ตอนจะเปิดบ้านนาคาเฟ่ แจมไม่กลัวว่าจะไม่มีลูกค้าเลย เพราะจากที่เคยทำมาแล้ว 2 ที่ แจมเห็นแล้วว่าทำได้ แจมก็มั่นใจในระดับหนึ่งแล้ว”
ในเส้นทางที่ต้องฝ่าฟันก็ยังมีคนสำคัญที่ไม่กล่าวถึงเลยก็คงไม่ได้อย่าง ‘แม็กกี้ – ณัฏฐ์กีรติ หทัยพงศคุณ’ คู่ชีวิตและเพื่อนคู่คิดที่คอยให้กำลังใจและช่วยปรับความเข้าใจระหว่างเธอกับครอบครัวเสมอ ฟังแจมเล่าความตั้งใจ ก็นึกชื่นชมความเป็นนักปฏิวัติของเธอ ที่ใช้ความเชื่อต่อสู้กับชุดความคิดของคนในยุคหนึ่งให้เห็นว่า ความฝันไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อและสามารถพาเธอให้ถึงฝั่งได้
ถึงเวลาต้องเติบโต
โลโก้แบรนด์บ้านนาคาเฟ่ที่มัดรวมความชอบของแจมตั้งแต่อุปกรณ์ทำขนม เค้ก ดอกไม้ น้องควายที่แจมเลี้ยงอยู่ในหน้าเดียว เพราะแจมเป็นคนที่ชอบหลายอย่าง การวนอยู่ในบ้านนาคาเฟ่ เธอเลยคิดว่าตัวเองทำงานเหมือนเป็นศิลปินมากกว่านักธุรกิจ “แจมชอบทำอะไรตามอารมณ์ ด้วยความที่บ้านนาคาเฟ่มัดรวมงานอดิเรกของเราทั้งหมด วันนี้อยากทำขนมก็ทำ เบื่อก็ไปปลูกต้นไม้ ทำงานแบบไม่มีแพตเทิร์น กระทั่งโควิดเข้ามา แจมถึงเริ่มรู้ตัวว่า บางอย่างเราต้องโตเป็นผู้ใหญ่ได้แล้วนะ”
เพราะการทำธุรกิจมีเรื่องให้รับผิดชอบอยู่เสมอ ทั้งครอบครัว พนักงานในร้าน เรื่องก้นครัว และสวนต้นไม้ดอกไม้ แพลนที่กำลังคิดจะทำเผื่ออนาคตเกิดเหตุการณ์เหมือนโควิดซ้ำสองอีก คือการแตกแบรนด์บ้านนาคาเฟ่เพื่อขายบนออนไลน์ …ทำไมถึงไม่เปิดเป็นสาขา คำถามง่ายๆ ที่ชวนให้แจมนั่งครุ่นคิด
“มันดูไม่ใช่เรา เราอยากให้คงความเป็นบ้านนาคาเฟ่ที่เน้นมอบประสบการณ์ กินเค้กที่ไหนก็ไม่เหมือนกินเค้กที่นี่ เราเป็นโฮมเมด ทุกวันนี้เราเล่าเรื่องขนมผ่านมุมมองของเราเอง ถ้าสมมติว่าเปิดอีกสาขา ใครจะดูแลดอกไม้ ถ้าจัดดอกไม้แล้วมันดูไม่ใช่เราล่ะ ขนมอีก แจมเลยคิดว่า นอกจากจะลองดูตลาดออนไลน์ แจมอยากขยายบ้านนามันใหญ่ขึ้นเพื่อรักษาไวบ์ของที่นี่ แล้วก็อยากต่อยอดร้านอาหารที่อาจเน้นเรื่องออร์แกนิก หรือจะเป็นอาหารเจก็ดูกันอีกที”
ยังมีหนึ่งความฝันที่คืบคลานเข้ามา คือการเปิด Farmer Market ในช่วงวันหยุด “เหมือนที่เมืองนอกทำ ตอนเช้าผู้คนถือตะกร้ามาซื้อผัก ผลไม้ เสร็จแล้วก็แวะมากินเค้ก เราชอบบรรยากาศแบบนี้ เดินไปตลาดมีนั่นมีนี่ให้กิน ตอนนี้มีพี่แม็กกี้เข้ามาช่วยคิดคอนเซปต์แล้ว เรากำลังแพลนกันอยู่”
แม้ว่าจะเป็นแพลนที่รอการคอนเฟิร์มจากเจ้าตัว แต่เราก็เชื่อว่า ในวันที่แจมลงมือทำแล้ว จะต้องออกมาดีเหมือนที่ผ่านมาแน่นอน คิดแค่นี้ก็ลุ้นแทนจริงๆ ส่วนตอนนี้ใครที่กำลังเดินทางเข้าอุดรแล้วอยากแวะเข้าคาเฟ่ เราก็ขอฝากบ้านนาคาเฟ่แห่งนี้ด้วยนะ รับประกันเลยว่า บรรยากาศร้านจะทำให้คุณฟินจนอยากจะแวะมาอีกหลายๆ รอบเหมือนเราแน่นอน
บ้านนาคาเฟ่
ที่อยู่ : 95 หมู่ที่ 1 ตำบลหมูม่น อำเภอเมืองอุดรธานี อุดรธานี 41000
เปิด – ปิด : วันจันทร์ – วันพุธ เวลา 09:00 – 18:30 น. และ วันพฤหัสบดี – วันอาทิตย์ เวลา 09:00 – 17:30 น.
โทรศัพท์ : 095 426 4624
Facebook Page : Barn Naa Cafe บ้านนา คาเฟ่