About
DETOUR X Vietnam

รอยอดีตฮานอย

รู้จักฮานอย ฮิลตันผ่าน ‘Hoa Lo’ พิพิธภัณฑ์สุดแสนเจ็บปวดกลางกรุงฮานอย

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ Date 14-06-2022 | View 1876
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘ฮานอย ฮิลตัน’ คือฉายาที่เหล่าทหารอเมริกันที่ตกเป็นเชลยสงครามเวียดนามตั้งให้กับเรือนจำ Hoa Lo ในกรุงฮานอย
  • James Stockdale ทหารอเมริกันที่ถูกทรมานในคุก Hoa Lo กล่าวว่า ‘การมีความมุ่งหวังอันไม่สั่นคลอนขณะที่ไม่ละเลยความจริงอันโหดร้ายที่เผชิญอยู่’ คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เขามีชีวิตรอดในนรกฮานอย ฮิลตันถึง 8 ปี
  • ปัจจุบันคุก Hoa Lo กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้บทเรียนถึงความโหดร้ายของสงคราม ส่วนแนวคิดของกัปตันเจมส์กลายเป็นบทเรียนในการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจที่รู้จักกันในชื่อแนวคิด Stockdale Paradox
ha 1

Photo credit: Piranhi / Shutterstock.com

ชีวิตของเชลยศึก

เครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของกองทัพอเมริกันถูกทหารเวียดนามเหนือยิงตกในปี 1965 สิ่งที่ James Stockdale ทำหลังจากร่มชูชีพถูกปลดออกจากร่างก็คือ หนึ่ง เขาพบว่ากระดูกขาข้างหนึ่งแหลกไป สอง เขาพบว่าตัวเองประจันหน้า ชาวบ้านชาวเวียดนามที่ประเคนมือตีนเข้าใส่ สาม เขาถูกทหารเวียดนามบังคับให้ ‘รับเชือก’

เจมส์อธิบายวิธีรับเชือกไว้ว่า…นักโทษถูกจับให้อยู่ในท่านั่งกับพื้น แขนสองข้างโดนเชือกมัดไพล่หลัง ด้านหลังมีทหารใช้เข่ากดแผ่นหลังเชลยศึกจนหัวมุดไปอยู่หว่างขาของตัวเชลยเอง ด้านหน้ามีทหารเวียดนามอีกคนเหยียบหัวเชลยเอาไว้ ทหารทั้งสองจะช่วยกันดึงเชือกที่ผูกแขนเชลยไปข้างหน้าจนกระทั่งหัวไหล่บิด

ด้วยวิธีการนี้ ผู้คุมขังผลักตนเองออกจากสงคราม แล้วปล่อยให้เชลยทำสงครามกับความเจ็บปวดทางร่างกายและความหวาดกลัวในใจตนเองเพียงลำพัง

คุก ‘Hoa Lo’ หรือสมญานามตลกร้ายว่า ‘Hanoi Hilton’ กลายเป็นบ้านใหม่ของเจมส์ เป็น 8 ปีที่กัปตันเจมส์ สต็อกเดลถูกทรมานร่างกายไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง ทั้งโดนทุบตี โดนโบย ถูกเชือกรัดคอจนเกือบสิ้นลม ที่ควบคู่กันไปคือการทรมานจิตใจ เขาโดนล่ามตรวนอย่างเดียวดายในความมืดสนิท 4 ปี อดๆ อยากๆ จนร่างกายขาดสารอาหาร ป่วยไข้ก็ไม่เคยได้รับการรักษา
แต่ที่ทารุณจิตใจที่สุดคือการถูกตัดสิทธิไม่ให้อ่านจดหมายจากครอบครัว

ความทุกข์ทรมานดูจะวนเวียนไปเช่นนี้อย่างมิรู้จบ เจมส์เริ่มใช้สิ่งเดียวเขามีตอบโต้ผู้คุมขัง นั่นคือร่างกายของตนเอง

วันหนึ่ง ผู้คุมแจ้งว่าเจมส์จะถูกพาตัวไปเข้าเมืองเพื่อเดินพาเหรดต่อหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ผู้คุมสั่งให้เจมส์ตัดผมโกนหนวดเครา เจมส์รับมีดโกนมาและใช้มันกรีดหนังหัวตัวเอง เก้าอี้ที่อยู่แถวนั้น เจมส์ยกมันและกระหน่ำฟาดหน้าตัวเองไม่ยั้ง กองทัพเวียดนามไม่อาจนำตัวเจมส์ สต็อกเดลที่เลือดอาบไปทั้งตัวปรากฏตัวต่อหน้าสื่อ สมหวังดังใจเจมส์ที่ไม่ประสงค์จะตกเป็นเครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อว่าเชลยสงครามอยู่ดีมีสุขในฮานอย ฮิลตัน

อีกครั้งเมื่อเจมส์รู้ข่าวว่าเพื่อนนักโทษโดนทรมานเกือบตาย เขาทุบหน้าต่างและใช้เศษแก้วเชือดข้อมือตัวเอง เขาเสียเลือดมากจนหมดสติ และนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เจมส์และเพื่อนเชลยศึกไม่โดนทัณฑ์ทรมานอีกต่อไป ผู้คุมตระหนักแล้วว่า ไม่มีความเจ็บปวดใดที่เจมส์ สต็อกเดลไม่อาจทานทนได้ แม้แต่ความเจ็บปวดที่อาจนำไปสู่ความตายด้วยน้ำมือตนเอง เจมส์ยินดีจะเลือกความตายมากกว่าจะยอมแพ้

ในปี 1973 เจมส์ถูกปล่อยตัว ได้กลับคืนสู่อเมริกาและกลายเป็นวีรบุรุษสงคราม เขาเดิมพันอิสรภาพด้วยการใช้ร่างกายตัวเองประจานความอยุติธรรมที่เขาและเพื่อนๆ ได้รับ และเขาชนะในเดิมพันครั้งนี้

ทว่าระหว่างที่กัปตันเจมส์ประท้วงด้วยการทำร้ายตนเองอยู่ในคุกที่ฮานอย ภรรยาของเขาและคนรักของเชลยสงครามทั้งหลายก็พยายามส่งเสียงดังให้โลกสนใจอยู่ข้างนอกนั่น

พวกเธอบอกให้โลกรู้ว่าสามีและสมาชิกครอบครัวของตนถูกกักขัง โดนทารุณกรรมต่างๆนานาอยู่-ใน-คุก-มา-นาน-8-ปี-แล้ว เพื่อมิให้การถูกลิดรอนอิสรภาพของคนกลุ่มหนึ่งเป็นเพียงกระแสข่าว ที่สุดท้ายแล้วก็เลือนหายไปจากความสนใจของสาธารณชน

ha 2

Photo credit : Artit Wongpradu / Shutterstock.com

ฮานอย ฮิลตัน: ชื่อนี้ที่ไม่ใช่โรงแรมหรู

กลุ่มอาคารที่ทอดตัวยาวในย่าน French Quarter ของกรุงฮานอยทาทับด้วยสีเหลืองคานารีที่สดใสอย่างชวนพิพักพิพ่วน ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมเฟรนช์โคโลเนียลที่งดงามอย่างชวนฉงน ตัวอักษรสีขาวสว่างบนพื้นสีดำเรียงไปตามประตูโค้งด้านหน้าอ่านได้ความว่า ‘Maison Centrale’ ตามความมุ่งหมายที่ก่อสร้างอาคารเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้เป็น ‘เรือน(จำ)กลาง’ เพื่อคุมขังนักโทรชาวเวียดนามที่ลุกฮือขึ้นมาปลดแอกเวียดนามจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส – ดังที่หลงเหลือกิโยตินให้เห็น และในกาลต่อมาได้กลายเป็นคุกคุมขังเชลยสงครามชาวอเมริกันในสงครามเวียดนาม ซึ่งเริ่มเรียกขานเรือนจำกลางแห่งนี้อย่างเสียดเย้ยว่า ‘ฮานอย ฮิลตัน’

‘Hoa Lo’ ในภาษาเวียดนามหมายถึง เตาไฟ เมื่อแรกก่อสร้างในปี 1896 โดยเจ้าอาณานิคมชาวฝรั่งเศสนั้น เรือนจำกลางแห่งนี้กะขนาดให้รองรับนักโทษได้ 450 คน หากมีบันทึกว่าในช่วงทศวรรษที่ 1930 กลับมีนักโทษยัดทะนานกันอยู่ในคุกเกือบ 2,000 ราย อีกทั้งยังเป็นคุกที่ประสบความสำเร็จในความเป็นคุก เมื่อมีนักโทษแหกคุกหลายร้อยคน บ้างปีนกำแพง บ้างเบียดตัวเองคลานไปตามท่อระบายน้ำ

ในทศวรรษที่ 1990 อาคารบางส่วนถูกปลิดทิ้งออกไปแล้วแทนที่ด้วยตึกระฟ้าและเชนโรงแรมใหญ่ที่มาพร้อมเวียดนามยุคใหม่ในฐานะประเทศท่องเที่ยว

ส่วนร่องรอยของคุกที่หลงเหลืออยู่นั้นกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังไม่หลงลืมอดีตเพื่อไม่ให้กงล้อความผิดพลาดในอดีตวนกลับมาซ้ำรอยเดิม และผู้มาเยือนจำนวนหนึ่งก็คือคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ – ในฐานะนักโทษ

ha 3

Photo credit: Danny Iacob / Shutterstock.com

Stockdale Paradox: มีศรัทธาโดยไม่สั่นคลอน

อีกบทเรียนหนึ่งที่ผู้มาเยือนอาจได้เรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ Hoa Lo ก็คือ ‘Stockdale Paradox’ ซึ่งกลายมาเป็นกลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

Jim Collins นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือด้านบริหารธุรกิจขายดีแห่งทศวรรษอย่าง Good to Great วิเคราะห์ข้อมูลบริษัทต่างๆ ใน Fortune 500 ก่อนจะแบ่งประเภทว่ามีบริษัทที่จัดว่า ‘Good’ 1,435 บริษัท แต่มีเพียง 11 บริษัทเท่านั้นที่อยู่ในระดับ ‘Great’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่สร้างผลตอบแทนมากกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดหุ้นอย่างน้อย 3 เท่าเมื่อดูผลประกอบการย้อนหลัง 15 ปี ได้แก่ Abbott Laboratories, Circuit City, Fannie Mae, Gillette, Kimberly-Clark, Kroger, Nucor, Philip Morris, Pitney Bowes, Walgreens และ Wells Fargo

หลังจากสัมภาษณ์ซีอีโอและพนักงานของบริษัทระดับดีเยี่ยมทั้ง 11 แห่งแล้ว จิมวิเคราะห์ว่าสิ่งหนึ่งที่ซีอีโอทั้ง 11 คนแห่ง 11 องค์กรเหล่านี้มีร่วมกันก็คือ ‘Stockdale Paradox’

ตัวกัปตันเจมส์ สต๊อกเดลเองเป็นผู้อธิบายแนวคิดนี้ด้วยตนเองในบ่ายวันหนึ่งที่เขามีนัดกินข้าวกับจิม คอลลินส์

กัปตันเจมส์เชื่อมั่นอย่างแรงกล้ามากว่าในท้ายที่สุดตนจะได้ออกไปจากนรกฮานอย ฮิลตันนี้-อย่างมีชีวิตอยู่ ความเชื่อมั่นของเขาในเรื่องนี้แน่วแน่ยิ่งตลอด 8 ปีที่ถูกกักขัง ในขณะที่เฝ้ามองเพื่อนเชลยศึกรอบตัวตายจากไปเรื่อยๆ  ซึ่ง “คนที่ตาย” กัปตันเจมส์กล่าว “คือพวกมองโลกในแง่ดี” ก่อนขยายความว่า

“คนที่มองโลกในแง่ดีเป็นคนจำพวกที่พูดว่า ‘เราจะได้ออกไปก่อนคริสต์มาส’ แล้วคริสต์มาสก็มาถึง และแล้วคริสต์มาสก็ผ่านไป คนพวกนี้ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ‘เราจะได้ออกไปช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้านี่ละ’ แล้ววันนั้นก็มาถึงและผ่านไป จวบจนคริสต์มาสและวันขอบคุณพระเจ้าเวียนมาบรรจบอีกครั้ง คนพวกนี้ก็จะตายไปเพราะหัวใจสลาย” เป็นเพราะคาดหวังไว้สูง แต่เมื่อความเป็นจริงไม่เป็นดังหวัง ก็ร่วงหล่นจากกำแพงความคาดหวังอันสูงลิบลิ่วที่ตนสร้างขึ้นมาเอง

ha 4

“อย่าสิ้นศรัทธาว่าคุณจะผ่านพ้นมันไปได้ในท้ายที่สุด ซึ่งหมายความว่าคุณไม่มีสิทธิแพ้พ่ายไปเสียก่อนอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันก็ต้องมีวินัยในการเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้ายของสถานการณ์ใดๆ ที่คุณประสบอยู่ ไม่ว่าความจริงนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม” ความย้อนแย้งในตัวเองในจุดนี้เองที่เป็นที่มาของชื่อ Stockdale Paradox แต่การมีความตั้งมั่นแน่วแน่โดยไม่ละทิ้งความเป็นจริงนี่แหละที่ทำให้ผู้ที่ยึดถือแนวคิดนี้ สมประสงค์ในสิ่งที่ตั้งใจไว้

“นี่คือบทเรียนที่สำคัญยิ่งในชีวิต” กัปตันเจมส์ซึ่งมีอายุยืนยาวมาถึงวัย 82 ปีทิ้งท้าย


ที่มา:
https://bit.ly/3zC2htF
https://achievement.org/achiever/admiral-james-b-stockdale/
https://www.tripsavvy.com/a-tour-of-hanoi-hilton-infamous-hoa-lo-prison-1629300
https://foreignpolicy.com/2012/01/20/john-mccain
https://www.jimcollins.com/concepts/Stockdale-Concept.html

Tags: