- ชวนไปรู้จักกับ Huh! What do you say (HUH.WDUS) กระเป๋าแบรนด์รักษ์โลกออกแบบโดย จอร์จ-นภัทร แสนศิริพันธุ์ ดีไซเนอร์หนุ่มชาวเชียงใหม่ ผู้ให้นิยามผลงานตัวเองว่าเป็น ‘งานสร้างสรรค์ศิลปะบนวัสดุรีไซเคิล’
- นอกจากจะเป็นกระเป๋ารักษ์โลกที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จุดเด่นของ HUH.WDUS อยู่ตรงการออกแบบลายกราฟิกที่ดูชิค และการเลือกมิกซ์แอนด์แมทช์วัสดุรีไซเคิล เพื่อให้ได้กระเป๋าคราฟต์ที่เก๋ และแข็งแรงทนทาน
- แม้ว่าวัสดุรีไซเคิลที่ได้มาจะมีต้นทุนต่ำ แต่ด้วยกระบวนการออกแบบ การตัดเย็บที่ประณีต รวมไปถึงเทคนิคที่ใช้ฝีมือล้วนๆ จึงทำให้กระเป๋าคราฟต์มีราคาสูง เพราะต้นทุนที่สำคัญคือใช้เวลา
“ผมไม่ใช่คนขายกระเป๋าคราฟต์เพื่อไปซื้อแบรนด์หลุยส์ วิตตอง กระเป๋าทุกใบที่ทำจึงต้องเกิดมาเพื่อตัวเองก่อน จะได้รู้ว่ามันดีหรือมีข้อเสียยังไง แล้วค่อยฟอร์เวิร์ดต่อไปให้คนอื่น เพราะฉะนั้น กระเป๋าที่เย็บเสร็จ ต้องเอามายืนถือหน้ากระจกว่าเราโอเคกับมันไหม ถ้าโอเค เราจะรู้สึกศรัทธากับสิ่งที่ทำ และเชื่อว่าเป็นของที่ใครๆ ก็ซื้อ”
คำพูดสั้นๆ ทว่าชัดเจนของ จอร์จ-นภัทร แสนศิริพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกระเป๋าแบรนด์รักษ์โลกอย่าง Huh! What do you say (HUH.WDUS) บอกกับเราในวันที่ได้คุยกัน เขาเปิดบ้านที่เชียงใหม่ ซึ่งใช้เป็นสตูดิโอทำงานต้อนรับเรา และพาไปทำความรู้จักกับโลกของวัสดุรีไซเคิล ที่ตอนนี้กลายเป็นส่วนประกอบหลักของกระเป๋าดีไซน์สุดชิคที่เขาปั้นเองมากับมือ
ทำไมต้องเป็น Huh! What do you say ?
“เคยดูซีรี่ส์ของอเมริกันไหมฮะ ถ้าดูแบบ Subtitle จะมีคำว่า Huh! What do you say (ฮะ-วัต-ดู-ยู-เซย์ หมายถึง เมื่อกี้พูดว่าไงนะ ไหนลองทวนอีกทีซิ) เป็นวลีหรือสำนวนของฝรั่ง ที่เราหยิบเอามาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ จริงๆ แล้ว มันเริ่มจากตัวเรานี่แหล่ะที่ไม่ได้ไนซ์ (Nice) ไปซะทุกอย่าง เช่นเพื่อนเล่นมุข แล้วเราไม่เก็ท หรืองงว่าทำไมเล่นมุขนี้ เราก็จะบอก Huh! What do you say? มันเหมือนเป็นอารมณ์ และเป็นตัวเรา”
จอร์จเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะบนโลกใบนี้ เขาเรียนจบโฆษณา ชอบวาดรูป ตามแฟชั่น และมีความครีเอทีฟในตัว วันนี้เขาเป็นนักออกแบบกระเป๋ารักษ์โลก ซึ่งออกแบบมาแล้วทั้งหมด 3 คอลเลคชั่น ได้แก่ Sweet Taste, จะเตวไปกาด และพริกฝรั่ง ผลงานที่เขาให้นิยามว่าเป็น ‘การสร้างสรรค์ศิลปะบนวัสดุรีไซเคิล’
ทว่า เรื่องราวของกระเป๋า HUH.WDUS อาจจะไม่เดินทางมาถึงวันนี้ หากเมื่อ 4 ปีก่อน จอร์จไม่ถูกปฏิเสธ…
“วันนั้น ผมไปเจอกระเป๋าแบรนด์หนึ่งที่จตุจักร ผมชอบการเล่าเรื่องของเขา ดีไซน์ และความเป็นยูนีคแบบใบต่อใบ เลยขอให้เขาเป็น OEM ให้ แต่เขาปฏิเสธ ผมเลยคิดว่างั้นไม่เป็นไร เราลองกลับมาทำเองดูก็ได้ แต่จะบอกว่าเขาคือจุดเริ่มต้นของวัสดุที่เราชอบ”
วัสดุที่เขาหมายถึง คือของเก่าที่ถูกนำมารีไซเคิลใหม่ จอร์จเล่าต่อว่า เขารู้สึกสนุกทุกครั้งเมื่อหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของวัสดุรีไซเคิล “ผมมีเพื่อนที่ทำโรงงานขายของเก่าพอดี ทำให้เรามีโอกาสได้เจอของเหล่านี้บ่อย ยิ่งค้น ก็ยิ่งมัน ยิ่งสนุก ของบางอย่างที่เห็นในโรงงานช่วยจุดประกายความคิด และเราคิดว่ามันเป็นไปได้มากกว่านั้น”
กระเป๋าที่มาจากวัสดุรอทิ้ง
กระสอบและถุงเมล็ดกาแฟ เป็นสองวัสดุหลักๆ ที่ใช้ในการผลิตกระเป๋า HUH.WDUS ตัวกระสอบทำจากลามิเนตเคลือบด้วยกระดาษคราฟต์สีน้ำตาล เพื่อให้มีความเหนียว ทนทาน และกรอบยากกว่าเดิม ด้านในกระเป๋าบุด้วยพลาสติก PE บางรุ่นใช้แคนวาส ส่วนเชือกคล้องกระเป๋า ทำจากไนล่อนถัก และผักตบชวา
วัสดุเกือบไร้คุณค่าล้วนเป็นของใกล้ตัว และหาได้จากเชียงใหม่ เหนือสิ่งอื่นใด จอร์จเลือกใช้เฉพาะวัสดุที่เขารู้สึกสปาร์กกับมัน
“พอเรารู้สึกสปาร์ก เราจะเห็นภาพในหัวว่า ถ้าเป็นกระเป๋ามันจะเป็นยังไง การต่อกันระหว่าง Material กับ Material จะต้องทำยังไง การเบลนด์กันของ Material และการเย็บต้องใช้ด้ายสีอะไร เส้นเล็กหรือเส้นใหญ่ เหมือนเป็นการจัดเลเยอร์ในความคิดให้ขึ้นเป็นรูปทรงกระเป๋า”
ภาพที่จอร์จออกแบบ มักจะมีกลิ่นอายวินเทจนิดๆ ดูย้อนยุคหน่อยๆ และใช้สีสันสดใส ลวดลายเหล่านี้จะถูกนำไปสกรีนต่อบนกระเป๋า บ้างก็ทำกราฟิกปริ๊นส์ ไปจนถึงงานปักบนเสื้อผ้า ซึ่งมีขั้นตอนของการผลิตที่ใช้ระยะเวลาและความละเอียดสูง จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมสินค้ารีไซเคิลที่เป็นงานคราฟต์จึงมีราคาแพง
“คนมักจะคิดว่าแบรนด์รีไซเคิลมีต้นทุนต่ำ Material ไม่แพง แต่ทำไมถึงมีราคาสูง โปรเจกต์ต่างหากที่แพง การผลิตแต่ละครั้งใช้เวลานาน เวลาจึงเป็นต้นทุนที่แพงที่สุดในโลกแล้ว”
“สินค้าชิ้นเล็กๆ ในบางคอลเลคชั่นของเรา อาจใช้เวลามากกว่าชิ้นใหญ่เพราะเย็บยากกว่า มีขั้นตอนซับซ้อนกว่า แม้กระทั่งการทำเสื้อจากกระสอบเพียง 1 ตัว เราต้องขัดกระสอบเพื่อให้ได้สีที่เหมือนกัน เสื้อตัวเดียวอาจจะใช้กระสอบมากถึง 7-8 ใบ ส่วนแขนอาจใช้ได้แค่ 1 กระสอบ ที่เหลืออาจใช้ได้แค่ปก ต้องคัดสี คัดลาย ใช้สีล้วนไปเลยก็ไม่ได้” จอร์จอธิบายให้เห็นภาพ
Sweet Taste คอลเลคชั่นที่ขายดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม สินค้าหลักของแบรนด์ HUH.WDUS เน้นกระเป๋า Daily Life หรือเป็นกระเป๋าที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ใบเล็กอย่างกระเป๋านามบัตร กระเป๋าเงิน กระเป๋าทรง Cross Body ไปจนถึงกระเป๋าช้อปปิ้ง ส่วนเสื้อผ้ามีบ้างประปรายเนื่องจากใช้เวลาในการทำที่มากกว่า
เราอดถามไม่ได้ว่า เขาใช้กระเป๋าทุกใบที่ทำหรือเปล่า เมื่อเห็นเขาเก็บกระเป๋าที่ผลิตไว้ในกล่องอย่างดี “ผมไม่ใช่คนขายกระเป๋าคราฟท์เพื่อไปซื้อหลุยส์ วิตตอง ต้องยอมรับว่ากระเป๋าทุกใบ มันเกิดมาเพื่อตัวเองก่อน พอเย็บใบ Sample เสร็จ ต้องเอามายืนถือหน้ากระจกเพื่อดูว่าเราโอเคกับกระเป๋าใบนี้ไหม ถ้าโอเคแล้ว เราจะรู้สึกศรัทธากับสิ่งที่เราทำ และเชื่อว่าจะเป็นของที่ใครๆ ก็ซื้อ”
แล้วคอลเลคชั่นไหนขายดีที่สุดตั้งแต่ขายมา ? เราถามต่อ…เขาสวนตอบทันทีว่า “Sweet Taste เป็นคอลเลคชั่นที่ขายดีที่สุด และเรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จ มันคือส่วนผสมที่ลงตัวหลายๆ อย่างระหว่าง Material กับความหวานของงานกราฟิก มันคือการแมทชิ่งกันได้อย่างกลมกล่อมพอดี”
Sweet Taste เป็นคอลเลคชั่นแรกของแบรนด์ มีจุดเด่นตรงลวดลายกราฟิกรูปดอกไม้ ที่ถ่ายทอดถึงความหวานละมุน ประดับกับกาน้ำชาสมัยโบราณ ให้อารมณ์เหมือนการนั่งจิบชาอุ่นๆ ในร้านชาดั้งเดิม จอร์จเล่าว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากกิจกรรมว่างยามบ่ายตอนเริ่มก่อตั้งแบรนด์ใหม่ๆ นั่นคือการไปนั่งจิบชาแทนไปร้านกาแฟ
“ช่วงนั้นผมกำลังลดน้ำตาลอยู่พอดี และเรารู้สึกว่าการไปร้านชา เรานั่งนานได้แค่ไหนก็ได้ ตอนนั้นเราสังเกตว่ากาน้ำชาที่เติมน้ำเข้าไปจนรสชาติจืด ก็ยังมีกลิ่นหอมของพืชพรรณ เลยวาดเป็นรูปถ้วยกาแฟที่มีดอกไม้อยู่ด้านบน”
จาก Paper Bag ในหนังฝรั่ง สู่คอลเลคชั่น ‘จะเตวไปกาด’
ต่อจากคอลเลคชั่น Sweet Taste มาสู่คอลเลคชั่นถัดมาที่เจ้าตัวได้มาจากภาพจำในวัยเด็ก เป็นภาพของผู้หญิงฝรั่งในภาพยนตร์ ที่สวมชุดสีแดงรัดรูปเดินถือถุง Sandwich เก๋ๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ต ภาพนี้หวนกลับมาอีกครั้ง และเป็นที่มาของคอลเลคชั่น ‘จะเตวไปกาด’
“คอลเลคชั่นนี้ เราทำคล้ายๆ กับถุง Paper Bag เหมือนถุงหิ้วไปซูเปอร์มาร์เก็ตของฝรั่ง แต่จะตั้งชื่อว่า Go to Supermarket อาจฟังดูดัดจริตไปหน่อย เพราะเราอยู่เชียงใหม่ เลยตั้งชื่อให้มีความเป็นเชียงใหม่ เลยกลายเป็น จะเตวไปกาด”
ความพิเศษของคอลเลคชั่นนี้ ดีไซเนอร์ออกแบบให้มีความเป็นงานคราฟท์มากขึ้น โดยเลือกบุกระดาษทั้งด้านนอกและด้านใน แทนการใช้แคนวาส ข้อดีที่เป็นผลพลอยได้คือความทนทาน และรองรับน้ำหนักได้มากกว่า 10 กก. รวมไปถึงสามารถกันน้ำได้ “มีลูกค้าเอาไปถ่ายตอนดำน้ำด้วยนะ รู้สึกอะเมซซิ่งมากๆ” จอร์จแอบเล่าอย่างภาคภูมิใจ
เช่นเดียวกับคอลเลคชั่นล่าสุดอย่าง ‘พริกฝรั่ง’ ซึ่งจอร์จเริ่มหันมาใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น “พริกฝรั่ง เป็นคอลเลคชั่นที่มาจากการเห็นใบพริกฝรั่งขึ้นอยู่หน้าบ้าน เราออกแบบโดยการสกรีนมือ เป็นลายพริกฝรั่งสีแดงสด และทาเคลือบด้วยสีกันน้ำแทนการทาเคลือบแลคเกอร์เหมือนคอลเลคชั่นก่อนหน้า เพราะอยากจะกลับไป Back to basic มากขึ้น แต่ในแง่ความทนทาน กันน้ำกันเปียกได้เช่นเดียวกัน จะเตวไปกาด”
กระเป๋ารักษ์โลกที่เป็นงานดีไซน์
จะว่าไปแล้ว กระเป๋าแนว Eco-Friendly โดยทั่วไป ไฮไลท์น่าจะอยู่ตรงวัสดุรีไซเคิลที่นำมาใช้ และการได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความรักษ์โลก แต่สำหรับกระเป๋า Huh จอร์จให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ลวดลายกราฟิกควบคู่ไปกับวัสดุที่ใช่ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้ผู้ใช้สายกรีน ได้ถือกระเป๋า Eco ดีไซน์เก๋ๆ ดูทันสมัย และมีคาแรกเตอร์
“แบรนด์คู่แข่งของเรา เขาขาย Real Material แต่ด้วยข้อจำกัดของ Material ที่เราใช้ ไม่สามารถยืดหยุ่นได้เท่า เลยคิดว่าจะสู้เขาไปทำไม เพราะเขาอาจจะแข็งแกร่งกว่า อีกทั้งเราเริ่มต้นจากการทำกราฟิกเบลนด์กับ Material ดังนั้น Core Target คือ การทำกราฟิก เราเป็นคนทำงานศิลปะบนวัสดุรีไซเคิล เพราะฉะนั้น จะขายแค่ Material เฉยๆ ไม่ได้ ต้องใส่ความเป็นตัวเองหรืองานอาร์ตที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวลงไป จนกลายเป็น HUH.WDUS ในตอนนี้”
“ที่ผ่านมา ผมพยายามวาดรูปเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอนาคตอยากจะ collab งานกับคนอื่นดูบ้างเพื่อให้เกิดความหลากหลายในสไตล์มากขึ้น” จอร์จเล่าทิ้งท้ายถึงอนาคตที่คิดไว้
ใครที่อยากชมกระเป๋าดีไซน์รักษ์โลก HUH.WDUS ลองเข้าไปชมได้ในเฟซบุ๊ค www.facebook.com/huh.wdus และไอจี huh.wdus