About
DETOUR X Phang Nga

กินผักตะกั่วป่า

งานกินผักตะกั่วป่า พิธีกรรม อ๊าม และความดั้งเดิมที่คงอยู่

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 05-10-2021 | View 6112
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ความสวยงามของโคมไฟประดับประดาเต็มท้องถนน ละลานตาไปด้วยธงสีเหลือง เสียงประทัดนับล้านนัดดังสนั่นเมือง มาพร้อมกับขบวนแห่พระแห่งศรัทธา ศาลเจ้าคลาคล่ำไปด้วยผู้คนชุดขาว นี่คือบรรยากาศเทศกาลกินเจที่แสนคุ้นเคยในทุกๆ ปีเมื่อเดือน 9 ของจีนเวียนมาบรรจบ
  • มาตรการ COVID-Free setting หรือโรงเจปลอดโควิด ตามประกาศของศบค. ทำให้ประเพณีกินผักของเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ต้องงดพิธีชุนนุมคนหมู่มาก อาทิ พิธีโก้ยเฉ่งอิ๋วตามบ้านเรือน ข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ โรงครัว และแห่พระ เป็นต้น พร้อมจำกัดจำนวนผู้เกี่ยวข้องในการประกอบพิธีกรรม แต่เรื่องราวที่ซ่อนอยู่นั้นยังคงน่าสนใจ

เพราะประเพณีกินผักไม่ใช่แค่เทศกาล แต่คือวิถีชีวิตของคนตะกั่วป่า ที่มีเอกลักษณ์ดั้งเดิมมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ONCE จะพาไปทำความรู้จักกับวิถีแห่งความเชื่อและความศรัทธาของชาวตะกั่วป่าที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน

J 3

สืบสานประเพณีเกือบ 200 ปี

อดีตเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท่าและเป็นศูนย์กลางการค้าแร่ขนาดใหญ่ ทำให้มีชาวจีนอพยพเข้ามาค้าขายและทำงานมากมาย ซึ่งรวมถึงนายหง่อจก แซ่หงอ ที่เดินทางมาพร้อมคุณพ่อและมีความเชื่อในองค์เทียนฮู้หวั่นโซ่ย จึงมีการนำมาตั้งบูชาไว้ที่โรงกลวงในชุมชนคลองปิ ภายหลังเมื่อพ่อของนายหงอจกเสียชีวิต ได้นำรูปพระไปฝากไว้กับโรงถลุงแร่ของเถ้าแก่พ่อแดง ลิ่ม เอง เซ่ง ซึ่งอยู่ด้านหลังโรงแรมสามชั้นในปัจจุบัน อยู่ติดกับบ้านขุนกลั่นแก้วกำจร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศาลเจ้าโรงพระตลาดเหนือ (กู่ใช้ตึ่ง) และศาลเจ้าพ่อกวนอู (ซิ่นไช้ตึ่ง) หรือโรงพระตลาดใต้

J 13

การถือศีลกินผักเป็นประเพณีของชาวจีนฮกเกี้ยนที่ได้รับอิทธิพลเข้ามาพร้อมกับชาวจีนอพยพตั้งแต่ยุคแรกๆ ซึ่งต่อมามีการรวมตัวกันทำพิธีกินผัก โดยตามสมมุติฐานที่มีการบันทึกไว้ของโรงพระตลาดใต้ระบุว่ามีการเริ่มทำพิธีกินผัก 9 วัน 9 คืน เมื่อพ.ศ. 2386 โดยใช้ไม้ไผ่ทำเสาแขวนตะเกียง 9 ดวง เรียกว่า “กิ้วอ๋องเต้ง” ซึ่งปัจจุบันในอำเภอตะกั่วป่ามีศาลเจ้าทั้งหมด 13 แห่ง โดยแห่งแรกคือโรงพระตลาดเหนือ

J 14

วิถีชีวิตและความสามัคคี

ประเพณีกินผักไม่เพียงเป็นความเชื่อและศรัทธาในกิ่วอ๋องไต่เต่ (เทพเจ้าทั้ง 9 องค์) และ หยกอ๋องซ่งเต่ รวมถึงเทพเจ้าองค์อื่นๆ ในการเสด็จมาเยือนโลกมนุษย์ เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายมอบความโชคดีให้กับผู้ร่วมถือศีลกินผัก หากยังเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนในตะกั่วป่าจะถูกปลูกฝังให้เข้าอ๊ามร่วมพิธีตั้งแต่เล็กๆ ซึบซับบรรยากาศและการมีส่วนร่วมในพิธีกรรม

J 12

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นหนูน้อยตั้งแต่วัย 7-8 ขวบ ทำหน้าตีกลองกับผ่างตามจังหวะในขบวนแห่พระลุยประทัดอย่างไม่กลัวเกรงใดๆ เพราะนี่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการกลายเป็นกำลังสำคัญและผู้สืบทอดต่อไปในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นหลายๆ การร่วมด้วยช่วยกันในกิจกรรมต่างๆ เช่น พิธีล้างอ๊ามช่วยกันทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ หรือการโรงเจ ยังเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย

J 4

ตำนานเล่าขาน…ปาฏิหาริย์เทพเจ้า

จากแรกเริ่มเดิมทีที่มีผู้ร่วมงานเพียงหลักสิบกลายเป็นความศรัทธาที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ว่ากันว่าเป็นผลมาจากการแสดงอิทธิฤทธิ์ 3 ด้านหลักๆขององค์เทพเจ้า นั่นคือ การทายดวงชะตา การรักษาโรคภัยไข้เจ็บและการให้โชคลาค ซึ่งมีเรื่องเล่ากันมาว่า สมัยก่อนมีชาวจีน 4 คนไม่เชื่อในเทพเจ้าคิดว่าใครก็หามเก่วหรือเกี้ยวได้ แค่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา จึงให้ลองหามดูปรากฏว่าหามไปลงป่าเตยจนเกิดเป็นความเชื่อและศรัทธาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับคำบอกเล่าจากคุณป้าอมรรัตน์ ดีแท้ หนึ่งในกรรมการโรงพระตลาดเหนือที่ย้อนความทรงจำเกี่ยวกับปาฏิหาริย์อันน่าทึ่งที่เจอกับตัวเมื่อปี 2519 ให้ฟังว่า มีม้าทรงองค์หยินยี่ไท่จื้อเต้นเข้ามาหาและแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการตัดลิ้นออกมาสับแล้วกลืนกลับเข้าไปก่อนจะแลบลิ้นออกมาให้เห็นแบบปกติเหมือนเดิม จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดความศรัทธามากขึ้นและเข้าไปช่วยงานในศาลเจ้าอย่างเต็มตัว

J 10

ม้าทรง…ไม่ใช่ใครก็เป็นได้

คนเก่าแก่เล่าว่าในอดีตพระจะจับคนที่ไม่สบายมาเป็นม้าทรงเพื่อช่วยรักษา หรือไม่ก็เป็นการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นในครอบครัว ซึ่งการจะเป็นม้าทรงได้ไม่ใช่ใครนึกอยากจะเป็นก็เป็นได้ ต้องมีความศรัทธา ถือศีลกินผักอย่างเคร่งครัดและคลุกคลีอยู่ในพิธีกรรมมาพอสมควร โดยปกติผู้เป็นม้าทรงจะงดกินคาวล่วงหน้าเป็นเดือน ในทางตรงกันข้ามหากมีการออกนอกลู่นอกทางระหว่างเทศกาลเชื่อกันว่าจะถูกลงโทษอย่างหนักจากเทพเจ้า ขณะเดียวกันเป็นม้าทรงแฝงหรือไม่ ทางเจ้าพิธีก็มีวิธีการดูได้ไม่ยาก เนื่องจากแต่ละองค์จะมีท่าทางประจำตัวและสามารถสื่อสารเป็นภาษาจีน

หากใครได้ติดตามงานประเพณีกินผักของเมืองตะกั่วป่าจะเห็นว่าการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรงที่นี่ ไม่เน้นความพิสดารหรือหวาดเสียวจนเกินไป เพราะตามประเพณีดั้งเดิมก็มีเพียงเหล็กแหลมและอาวุธมีคมธรรมดานำมาทิ่มแทงร่างกายเพื่อเป็นการรับเคราะห์แทนประชาชนและสร้างความศรัทธา

J 9

ป้างเอี๋ย…ปล่อยทหาร

15 ค่ำเดือน 8 ซึ่งตรงกับวันไหว้พระจันทร์และวันเกิดขององค์ปุนเถ่ากง จะมีพิธีป้างเอี๋ย หรือการปล่อยทหารเพื่อปกป้องรักษาบริเวณประกอบพิธีกรรมหรือศาลเจ้าและบ่งบอกว่าใกล้งานกินผักแล้ว ด้วยการใช้ธง 5 สีปัก 5 ทิศ ซึ่งตามความเชื่อโบราณบอกว่าทหารเหล่านี้จะส่งสัญญาณไปบอกบรรดาม้าทรงและชาวไทยเชื้อสายจีนว่าเตรียมกลับมาโรงพระได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าฝัน กระซิบ ดึงขาหรือปรากฏตัวให้เห็น

นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาในการเตรียมตัวล้างอ๊าม ล้างบ้าน ทำความสะอาดโต๊ะบูชา รูปเทพเจ้า เปลี่ยนถ้วยชามเครื่องครัวสำหรับกินผัก หรือใช้ไม้หอมเผาไฟรมควันไล่สิ่งอัปมงคลออกไปตามความเชื่อ

J 11

ยกเสาโกเต้ง…สัญลักษณ์เริ่มกินผัก

หลังจากมีพิธีพ่ายก่งซู่ หรือการโยนไม้เพื่อทำนายเวลาแล้ว จะมีการยกเสาโกเต้ง เป็นการอัญเชิญกิ่วอ๋องไต่เต่กับหยกอ๋องซ่งเต่และนำตะเกียงไฟ 9 ดวงขึ้นแขวนบนยอดเสา เป็นสัญลักษณ์เริ่มประเพณีถือศีลกินผักอย่างเป็นทางการ ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะมีประชาชนผู้ศรัทธามาช่วยยกเสาตามความเชื่อจะเป็นสิริมงคงแก่ตัวเองและครอบครัว โดยผู้ที่มาเข้าร่วมพิธีตัดด้ายที่โยงกับเสามาผูกข้อมือด้วยเช่นกัน ซึ่งปีนี้จำกัดคนเข้าร่วมพิธีแค่ในศาลเจ้าไม่เกิน 30 คนตามมาตรการป้องกันโควิด-19

J 5

โก้ยเช้งอิ๋ว…ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน

พิธีกรรมประเพณีกินผักในแต่ละที่ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่มีอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตะกั่วป่า นั่นคือ พิธีโก้ยเช้งอิ๋ว หรือพิธีล้างบ้าน หลังพิธียกเสาโกเต้ง โดยแต่ละบ้านจะตั้งโต๊ะรอรับพระมาปัดเป่าสิ่งที่เป็นอัปมงคลออกไปและนำสิ่งดีงามเข้าบ้านด้วยการใช้หวักอันใหญ่ไว้กลางประตู แล้วพระจะปัดแส้จากหลังบ้านมาหน้าบ้าน และให้ลูกศิษย์ใช้เหล้าขาวพ่นไฟในหวักให้ลุกโชติช่วง เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความรุ่งโรจน์ และขับไล่สิ่งชั่วร้ายหายไป

J 6

เก่วหนุ่มเล่นประทัด…ไฮไลต์ตะกั่วป่า

ตลอดงานกินผัก 9 วัน 9 คืนมีพิธีกรรมที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมากมาย แต่หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของที่นี่คือการหามตั๋วเหลี่ยนเก่วหรือเกี้ยวเล่นประทัดในพิธีแห่พระ 6 ค่ำและ 9 ค่ำที่มีการจุดประทัดโยนมากที่สุดแห่งหนึ่ง หรือถ้าพูดให้เห็นภาพชัดขึ้นในระยะทางไม่ถึง 2 กม.ขบวนแห่ใช้เวลานาน 6-8 ชม. เพราะต้องรอเก่วเล่นประทัดนับล้านนัดโดยเริ่มตั้งแต่ออกจากศาล ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะได้เคลื่อนขบวน โดยมีลีลาการหามแบบเหวี่ยงไปมา เดินหน้า ถอยหลังท่ามกลางประกายไฟและควันตลบอบอวลแต่กลับไร้ร่องรอยแผลพุพองใดๆ

อย่างไรก็ตาม ตามประเพณีของตะกั่วป่าจะมีการจุดประทัดเฉพาะเก่วหนุ่ม ซึ่งภายในเป็นกิ้มสิ้นองค์เทพเจ้าจีน โดยความหมายของจุดประทัดก็เปรียบเหมือนการตอบแทนหรือทำตามคำขอไว้ทั้งความรุ่งเรืองและโชดดี ส่วนเก่วเฒ่า ซึ่งเป็นเก่วอัญเชิญองค์กิ่วอ๋องไต่เต่และหยกอ๋องซ่งเต้นั้น จะหามแบบนิ่งๆ โดยผู้มีตำแหน่งระดับอาวุโส ไม่มีการเหวี่ยงหรือจุดประทัดใส่และผู้อยู่รอขบวนสองข้างทางจะคุกเข่าลงต้อนรับและยกมือไหว้สักการะ

J 7

ข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ 7 ก้าว

อีกหนึ่งพิธีที่ขาดไม่ได้คือ โก้ยห่าน หรือการข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ 7 ก้าว เพื่อให้ม้าทรงที่ยืนเรียงทั้งสองข้างปัดเป่าสิ่งไม่ดีหรือเคราะห์ร้ายออกไป เหลือไว้แต่สิ่งดีๆ มีโชคลาภ มีความสุขตลอดปี โดยแต่ละปีจะมีการเสี่ยงทายเพศและปีเกิดสำหรับคนที่จะเปิดสะพานเป็นคนแรก ซึ่งตามความเชื่อบอกว่าผู้ถือศีลกินผักจะเข้าร่วมได้สมบูรณ์ครบถ้วยจะต้องร่วมพิธีโก้ยห่าน และมีตุ๊กตาต่างตัว เขียนชื่อวันเดือดปีเกิดถือข้ามไปด้วยก่อนให้พระเก็บตุ๊กตาและสิ่งไม่ได้ดีไปทิ้งทะเล อย่างไรก็ตามมีข้อห้ามสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์และมีประจำเดือนไม่สามารถร่วมพิธีนี้ได้

สำหรับพิธีลุยไฟหรือไต่บันไดมีดถือเป็นพิธีกรรมแสดงอิทธิฤทธิ แต่ไม่ได้มีทุกปีขึ้นอยู่กับการเสี่ยงทายดูฤกษ์ดูยามขององค์พระ แต่เบื้องต้นการทำพิธีลุยไฟจะเกิดขึ้นหลังก่อตั้งศาลเจ้าแล้วอย่างน้อย 3 ปี

J 8

หมี่โขกุ้น…จานเด็ดโรงเจ

ยามปกติเมื่อถึงเทศกาลกินผัก ศาลเจ้ามีโรงเจสำหรับทำอาหารแจกฟรีให้กับผู้ลงทะเบียนบริจาคเป็นผู้ร่วมกินผักของศาลเจ้าสำหรับประกอบอาหารตามหลักการถือศีล คือไม่มีเนื้อสัตว์และผักฉุน 5 ชนิดคือ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุ่ยช่าย/ผักชีและใบยาสูบ ซึ่งหนึ่งในเมนูที่ได้รับความนิยมมาก คือ หมี่โขกุ้น ซึ่งเป็นผัดหมี่เหลืองในพิธีกรรมโขกุ้นหรือพิธีเลี้ยงเหล่าทหาร ในวันที่ 3, 6 และ 9 เป็นเมนูที่ทำในปริมาณไม่เยอะมาก ใครที่มีโอกาสได้กินถือว่าเป็นสิริมงคลในชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีเมนูคู่เทศกาลกินผักมาแต่โบราณที่นิยม คือ ปอเปี๊ยะไส้มันแกวซึ่งสมัยก่อนมีทั้งแบบสดและแบบกระทงทอง แต่ปัจจุบันเป็นปอเปี๊ยะทอดเสียส่วนใหญ่ และผัดหมี่เหลืองหมี่ไทย ที่เป็นอาหารหลัก สามารถหากินได้ตามร้านทั่วไปตลอดเทศกาล

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเข้าร่วมพิธีกรรมหรือมาเที่ยวชมเทศกาลถือศีลกินผักปีนี้ไม่สะดวกเหมือนก่อน แต่ถ้ามีโอกาสปีหน้าลองมาชมความดั้งเดิมของประเพณีกินผักที่นี่ ซึ่งคนตะกั่วป่ารู้ดีว่าสำหรับพวกเขาแล้ว…9 วัน 9 คืนของทุกปีไม่ใช่แค่เทศกาล แต่คือคุณค่าและสายใยของชีวิตที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น


ขอบคุณภาพจาก Facebook ศาลเจ้าพ่อกวนอู ซิ่นใช่ตึ๋ง อ๊ามใต้ เมืองเก่าตะกั่วป่า และ ศิริโชค ภาระกิจ

Tags: