About
DETOUR X Trat

เกาะหมากโลว์คาร์บอน

เที่ยว ‘เกาะหมาก’ กับหลากหลายความสุขของคนรักษ์โลกและอยากโลว์คาร์บอน

เรื่อง ONCE-team Date 01-09-2022 | View 2109
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • สัมผัสประสบการณ์พิเศษบนเกาะหมากในบรรยากาศรักษ์โลกกับทริปแบบโลว์คาร์บอน ที่จะทำให้ภาพจำของเกาะกลางอ่าวไทยแห่งนี้เปลี่ยนไปสู่ความทรงจำของคนอยากเดินช้าและเที่ยวอย่างสร้างสรรค์

‘เกาะหมาก’ เรารู้จักกันครั้งแรกเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน

จำได้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงปลายปี เราตัดสินใจใช้เวลาช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปลายปีที่เกาะหมาก จากที่เคยนัดเคาต์ดาวน์กับแก๊งเพื่อน ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาฉลองปีใหม่แบบปลีกวิเวกดูบ้าง แล้วความเรียบง่ายและเงียบสงบราวกับอยู่บนเกาะส่วนตัวของเกาะหมาก ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ที่นี่เป็นเหมือนพาวเวอร์แบงก์ที่ชาร์จพลังชีวิตของเราให้กลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง

ทริปนั้นเราไปแบบชิลล์ๆ ปล่อยให้บรรยากาศและอารมณ์พาไป อยากตื่นตอนไหน กินข้าวเมื่อไหร่ เล่นน้ำทะเลวันละกี่รอบ หรือนอนแผ่หลาดูดาวอยู่ริมหาด ก็ย่อมได้ และไม่ว่าจะเช้าสายบ่ายค่ำ เกาะหมากก็มีแต่เสียงลมเสียงคลื่นที่สาดกระทบฝั่งลูกแล้วลูกเล่า ไม่มีเรือเฟอร์รี่ลำโต บานานาโบ๊ตหรือเจ็ตสกีส่งเสียงดัง ทำลายวิถีสโลว์ไลฟ์บนเกาะหมาก และเราก็มีความสุขกับการนั่งแกว่งชิงช้ากินลมชมทะเลใต้ต้นมะพร้าว ขี่จักรยานบนสะพานไม้โดยมีทะเลขนาบข้าง เดินไม่กี่ก้าวก็เล่นน้ำทะเลใสๆ ได้แล้ว เท่านี้ก็เพียงพอให้ดีกรีความสุขทะยานแบบไม่จำกัดแล้ว

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

นั่นคือภาพจำของเกาะหมากที่เรานึกย้อนกลับไปในอดีต ซึ่งแทบไม่ต่างกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเกาะหมากยังคงต้อนรับอาคันตุกะด้วยความเงียบสงบและความเป็นธรรมชาติที่ไม่แต่งแต้ม ไม่ได้เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกอันทันสมัย ไม่ได้เต็มไปด้วยแสงสีเสียงยามราตรี ไม่มีทั้งร้านสะดวกซื้อ ผับ บาร์ หรือคาราโอเกะ เหมือนอย่างแหล่งท่องเที่ยวอื่น

จะกี่ปีเกาะหมากยังคงรักษาความเป็นตัวตนเอาไว้ ท่ามกลางโลกที่หมุนเวียนผันเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา ทว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรม เกาะหมากในปัจจุบันจึงพัฒนาตัวเองเพื่อยกระดับสู่การเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  (Low Carbon Destination)

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

ทำไมต้อง ‘เกาะหมาก’

นึกสงสัยไหมว่า ทำไมเกาะหมากถึงได้รับเลือกให้เป็นเมืองต้นแบบในการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมการท่องเที่ยว คำตอบนี้อาจต้องย้อนกลับไปถึงประวัติความเป็นมาของเกาะหมาก ตั้งแต่สมัยอดีตที่ชาติตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคม เกาะหมากเป็นหนึ่งในดินแดนที่ไทยจำต้องทำสนธิสัญญายกให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการถอนกองทหารฝรั่งเศสออกจากจันทบุรี ซึ่งในตอนนั้น เจ้าสัวเส็ง ปลัดจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเจ้าของ เข้ามาจับจองพื้นที่เกาะหมากไว้ทำสวนมะพร้าว ต่อมาพระองค์ทรงยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณแลกเมืองตราดและหมู่เกาะต่าง ๆ รวมทั้งเกาะหมากกลับคืนมา แต่สิทธิ์ความเป็นเจ้าของเกาะหมากได้ถูกเปลี่ยนมือไปก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อหลวงพรหมภักดี ต้นตระกูล ‘ตะเวทีกุล’ ขอซื้อเกาะหมากต่อจากเจ้าสัวเส็ง

นับจากปี พ.ศ. 2447 ที่หลวงพรหมภักดีได้เป็นเจ้าของเกาะหมากจนถึงปัจจุบัน เกาะหมากยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหลานในตระกูลที่แตกหน่อวงศ์วานว่านเครือเป็นอีก 4 ตระกูลใหญ่ คือ วงษ์ศิริ สุทธิธนกูล จันทสูตร และสุขสถิต

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

เมื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นกระแสที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสำคัญ เกาะหมากก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับความนิยมนั้น และด้วยเจ้าของที่ดินบนเกาะหมากเกือบทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน การบริหารจัดการดูแลพัฒนาเกาะหมากให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจึงเป็นเรื่องง่ายขึ้น ยิ่งได้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เข้ามาช่วยขับเคลื่อน ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเป็นระบบ จากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสากล

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

ร่วมด้วยช่วยกัน

เมื่อเจ้าบ้านร่วมแรงร่วมใจกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของเกาะหมากที่เปรียบเสมือนบ้านของพวกเขาอย่างเต็มที่ ยังช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนเกาะหมากโดยปริยายด้วยว่า นอกจากชื่นชอบบรรยากาศความเป็นเกาะหมากแล้ว มักเป็นผู้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ชอบวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ และอยากอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

แม้ผลการสำรวจออกมาว่า การเป็นเมืองโลว์คาร์บอน ทำให้เกาะหมากมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง แต่ทุกฝ่ายกลับชื่นมื่นยิ้มรื่นตาม ๆ กัน นั่นเพราะสวนทางกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่กลับเพิ่มขึ้นกว่าครึ่ง! นี่จึงเป็นการยืนยันว่าการพัฒนาเกาะหมากให้เป็นเมืองโลว์คาร์บอนเป็นการดำเนินงานที่มาถูกทางแล้ว เพราะผลลัพธ์ที่ได้ตรงเป้าหมาย นั่นคือการได้นักท่องเที่ยวคุณภาพ มีการใช้จ่ายสูงขึ้น โดยที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

เราในฐานะแขกผู้ไปเยี่ยมเยือนเกาะหมากก็สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลที่นี่ได้จากการปฏิบัติตามวิถีชีวิตของชาวเกาะหมาก ซึ่งทำได้ตั้งแต่อาหารการกินที่ปรุงจากวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ผักออร์แกนิกส์จากฟาร์มบนเกาะ อาหารทะเลสด ๆ จากเรือประมงเล็กในเกาะหมาก เพื่อลดการใช้พลังงานในการขนส่ง มาทำอาหารโลว์คาร์บอน

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

อิ่มท้องแล้วอยากย่อยอาหาร เกาะหมากก็มีกิจกรรมโลว์คาร์บอนไว้ให้เลือกทำตามความสนใจ เช่น การขี่จักรยานไฟฟ้า การพายคายัคและไปดำน้ำดูปะการังที่เกาะใกล้เคียง การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เพราะที่นี่ปลูกมะพร้าวเยอะ การทำเสื้อมัดย้อมจากสีดินบนเกาะหมาก

แต่ถ้าอยากอัพเลเวลการมีส่วนร่วมในการช่วยให้เกาะหมากเป็นเมืองโลว์คาร์บอนล่ะก็ เราขอแนะนำให้เป็นจิตอาสาเก็บขยะริมหาดทรายกับ Trash Hero เพื่อนำไปแยกขยะ สำหรับการจัดการขยะบนเกาะหมาก ทาง อพท.เอง ก็มีโครงการการจัดการขยะภาคการท่องเที่ยวบนเกาะหมากตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่กำลังดำเนินการอยู่ด้วย ซึ่งในระหว่างนี้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของโครงการได้ ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด หากมีขยะก็รู้จักวิธีการนำกลับมาใช้หมุนเวียนด้วยการใช้ซ้ำ ซ่อมแซม หรือแปรสภาพ เพื่อให้เกิดการใช้งานที่คุ้มค่าและยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ยังไปร่วมอนุรักษ์ปะการังกับกลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก ด้วยการปลูกปะการังที่อนุบาลไว้ในแผงท่อพีวีซีก่อนนำไปปลูกที่ชายฝั่งและในพื้นที่เดิมที่เคยมีปะการังอาศัยอยู่

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

‘เกาะหมาก’ เสน่ห์จากวันวานสู่ต้นแบบเมืองโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย

เอาเข้าจริง การมาเที่ยวเกาะหมากก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจให้เลือกทำตามชอบอยู่ไม่น้อยเลย และสังเกตให้ดีทุกกิจกรรมล้วนส่งผลดีทั้งต่อตัวเรา ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

อย่าลืมหาโอกาสมาเยือนเกาะหมากกันนะ

Tags: