Latte and Leaf
Latte and Leaf คาเฟ่ห้องทดลองของคนรักฮาโวเทียและพันธุ์ไม้ฮีลใจซ่อนตัวอยู่ในปั๊มน้ำมัน
- ไปชิลล์กับ Latte and Leaf คาเฟ่ของคนชอบต้นไม้ที่ซ่อนตัวอยู่ในปั๊มน้ำมัน ภายในจัดแต่งคล้ายเป็นสตูดิโอทดลองปลูกต้นไม้ในร่ม ทั้งพรรณไม้บกและไม้น้ำที่เติบโตอย่างงดงามภายใต้แสงไฟประดิษฐ์
เขาว่าคาเฟ่น่ารักมักอยู่ลึกลับ แต่สำหรับ Latte and Leaf เป็นคาเฟ่ที่ตั้งอยู่โดดเด่นในปั๊มน้ำมันบนถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง เส้นทางจากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่จังหวัดลำพูนและลำปาง ที่นี่ไม่ใช่แค่กาแฟดี ครัวซองต์อร่อยและทำสดใหม่ทุกวัน แต่ยังเป็นคาเฟ่ที่คนรักต้นไม้จะต้องเอ็นจอย
ด้วยพื้นที่ภายในเจ้าของออกแบบเหมือนเป็นแล็บทดลองปลูกต้นไม้ในร่ม รวมพรรณไม้บกและไม้น้ำที่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน โดยพรรณไม้เกือบทุกต้น เจ้าของปลูกและดูแลเอง ประกอบด้วย ต้นฮาโวเทีย (Haworthia) เฟิร์น ไม้ชื้นในโหลแก้ว และตู้ไม้น้ำ ที่โชว์ความงดงามของการออกแบบระบบนิเวศธรรมชาติ
จุดเริ่มต้น
แซน-วัฒน สุภัคพงศ์วิไล เจ้าของปั๊มน้ำมันและคาเฟ่ Latte and Leaf เป็นหนุ่มผู้หลงใหลในการปลูกต้นไม้มานานกว่า 10 ปี เขาเป็นหนึ่งในมือปลูกฮาโวเทียยุคแรกๆ ของเมืองไทย แซนเคยเป็นสถาปนิกมาก่อน งานออกแบบร้านจึงตกเป็นหน้าที่ของเขา ส่วนแอมป์-ศิชา สุภัคพงศ์วิไล ภรรยาสาวสวยรับหน้าที่เป็นคนทำขนมและบาริสตา
“เดิมทีที่ตรงนี้เป็นมินิมาร์ต และมีร้านกาแฟเล็กๆ ที่เซ็ตตามสูตร พอถึงจังหวะที่ต้องต่อสัญญากับทางปั๊มน้ำมัน จึงมีการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ เราทั้งคู่เห็นตรงกันว่า หากจะทำร้านกาแฟนั้นต้องมีจุดขายที่ทำให้ลูกค้าอยากเดินเข้ามาในร้าน นั่นก็คือ ต้นไม้ และกาแฟต้องอร่อย เพราะถ้ากาแฟไม่อร่อย คนมาครั้งเดียวก็จะไม่มาอีก” แซนเล่าถึงที่มาและคอนเซ็ปต์ของ Latte and Leaf
“ตอนที่เรากำลังปรับปรุงปั๊มน้ำมัน ด้านหลังมีบ้านไม้อยู่หลังหนึ่ง เราเลยรื้อเอาส่วนประกอบของบ้านมาทำคาเฟ่ พยายามใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เพื่อช่วยลดต้นทุนไปในตัว วัสดุหลักๆ ที่ใช้ คือ ไม้ เหล็ก บานหน้าต่างบ้านก็นำมาทำเป็นโต๊ะ” แซนตั้งใจออกแบบคาเฟ่ในสไตล์ลอฟต์ โชว์ความเท่แบบแมนๆ และความเรียบแบบมินิมัลของวัสดุ หากแต่ลดทอนบรรยากาศดิบๆ ภายในด้วยความสดชื่นของต้นไม้ที่แทรกแซมไปทั่วบริเวณ
คาเฟ่ของคนรักต้นไม้
แซนออกแบบคาเฟ่ Latte and Leaf ให้ทอดยาวเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อเปิดเข้าไปภายในจะพบเคาน์เตอร์กาแฟ และมุมขนมปังโฮมเมดที่จะหมุนเวียนสลับเปลี่ยนเมนูกันไปในแต่ละวัน ขนมที่นี่อบสดใหม่ทุกๆ เช้า ส่วนกาแฟ เจ้าของบอกว่าเป็นรสชาติที่พวกเขาชื่นชอบ เน้นใช้วัตถุดิบคุณภาพดี และมีมาตรฐาน
“เราทั้งคู่เป็นคนชอบดื่มกาแฟกันอยู่แล้ว ก่อนจะมาเปิดร้าน เรามีรสชาติที่ชอบอยู่ในใจประมาณนี้ กาแฟที่เสิร์ฟจึงเป็นรสชาติที่พวกเราชอบ” แซนเล่ายิ้มแย้ม ในบรรยากาศที่ร่มรื่นเย็นสบาย มองไปทางไหนก็สดชื่นสบายตาไปด้วยพรรณไม้สีเขียว
“ต้นไม้ทุกต้นในร้าน เราเลี้ยงที่บ้านมาก่อน คือแทนที่จะตั้งไว้ในบ้านเฉยๆ ก็เอามาตั้งที่ร้าน อย่างน้อยคิดว่าคนที่เข้าร้านก็จะมีกลุ่มคนที่รักต้นไม้มานั่งอัปเดตต้นไม้กัน มันก็ดูแฮปปี้ดี แต่ถ้าเอาต้นไม้มาตกแต่งเฉยๆ ก็อาจจะเหมือนกับร้านอื่นๆ ทั่วไป เลยปักธงไว้ว่า ต้นไม้ในร้านจะต้องเติบโตสวยงามในห้องกระจก ไม่ใช่ต้นไม้อายุสั้น ที่เอามาจัดโชว์แค่ 2-3 อาทิตย์แล้วต้องเปลี่ยนสลับเอาต้นใหม่เข้ามาแทน”
สวยได้ด้วยแสงไฟประดิษฐ์
ข้อจำกัดของการปลูกต้นไม้ในที่ร่มคือเรื่องแสงธรรมชาติ การใช้แสงไฟประดิษฐ์ทดแทนจึงเป็นสิ่งจำเป็น “โชคดีที่เรามีพื้นฐานเรื่องการใช้ไฟอยู่แล้ว เพราะเลี้ยงไม้น้ำมาก่อน และไม้น้ำต้องใช้ไฟเป็นหลัก” แซนอธิบายต่อ “ต้นไม้แต่ละจุดที่เห็นในร้าน จะมีปริมาณความเข้มของแสงไม่เท่ากัน เราใช้แอปพลิเคชันที่วัดความเข้มของแสงมาวัดว่าแสงระดับนี้เหมาะกับต้นนี้ไหม แสงเพียงพอหรือมากเกินไปหรือเปล่า เพราะถ้ามากเกินไป ใบจะไหม้ น้อยเกินไปก็ไม่สวย ไม่ได้ฟอร์ม ก็ต้องค่อยๆ เซ็ตกันไป
“เมื่อก่อนคนจะถามว่า เลี้ยงต้นไม้โดยใช้ไฟจะสู้เลี้ยงแดดได้เหรอ คือทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ถ้าเราเข้าใจและเซ็ตให้เหมาะสม มันก็สวยได้ ความตั้งใจของเราคืออยากเห็นต้นไม้เติบโตสวยงาม 90% อย่างต้นไม้ที่เห็นในร้านก็อยู่ที่นี่มา 2 ปีแล้ว”
ฮาโวเทีย…แค่คล้าย แต่ไม่ใช่กระบองเพชร
บอกตรงๆ เลยว่าตั้งแต่เข้ามาในร้าน เราสะดุดตากับต้นฮาโวเทียมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายกระบองเพชรและเป็นไม้อวบน้ำเหมือนกัน แต่ฮาโวเทียดูมีลูกเล่นในรูปทรง และไม่ค่อยซ้ำแบบกันเลย
“ฮาโวเทียเป็นต้นไม้ที่มีความหลากหลายในสายพันธุ์ กระบองเพชรหลายๆ ต้น หน้าตามันก็แบบนี้ อาจจะต่างกันที่สี แต่ฮาโวเทียบางต้น มีใบแหลม ใบกลม มีหน้าตาที่หลากหลายมาก และในความหลากหลายนั้น ฮาโวเทียสามารถผสมข้ามกันได้หมด คือมันไม่จบง่ายๆ ทุกวันนี้จึงมีฮาโวเทียลูกผสม หน้าตาแปลกๆ ออกมาเรื่อยๆ แล้วแต่จินตนาการของบรีดเดอร์ว่า ถ้าผสมแล้วหน้าตาจะออกมายังไง
“จริงๆ แล้ว การเลี้ยงฮาโวเทียนั้นไม่ยาก แต่คนจะเข้าใจว่าเลี้ยงเหมือนกระบองเพชร ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ฮาโวเทียชอบดินโปร่ง เราต้องผสมหินภูเขาไฟ และเพอร์ไลท์ (Perlite) เพื่อให้ดินโปร่งขึ้น ส่วนพวกแคคตัส (กระบอกเพชร) ในโรงเรือนจะเลี้ยงแบบปิดหมด เพื่อให้ความชื้นอยู่ด้านใน แต่ฮาโวเทียอยู่แบบนั้นไม่ได้ การเลี้ยงต้นไม้ ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานพวกนี้ รู้ว่าไม้ชนิดนี้ชอบอะไร แล้วเซ็ตสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียง ก็สวยได้ เพราะไม้อวบน้ำจริงๆ พื้นฐานแข็งแรงอยู่แล้ว ถึงข้างในจะดูเหมือนมีน้ำสะสมอยู่ แต่ต้นพวกนี้อยู่ได้เรื่อยๆ ถ้าเราดูแลและไม่เป็นโรคตาย” แซนอธิบาย
ไม้ชื้นและตู้ไม้น้ำ
นอกเหนือจากฮาโวเทียที่สร้างความตื่นตา ภายในร้านยังประดับใบเฟิร์น ไม้ชื้นในโหลแก้ว และตู้ไม้น้ำที่เคยส่งประกวดและได้รางวัลชนะเลิศระดับโลกมาแล้ว มีทั้งตู้ไม้น้ำที่ออกแบบเป็นแนวภูเขาและแนวป่าที่ดูลึกลับน่าค้นหา “เราเคยส่งเป็นภาพออนไลน์เข้าประกวด เช่น งานประกวดของญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเคยส่งประกวดได้ที่ 1 ของอเมริกาติดต่อกันสองปี”
สำหรับไม้ชื้นในโหลแก้ว แซนเพิ่งเริ่มทำตอนเปิดร้านเมื่อสองปีก่อน แต่ถือเป็นความท้าทายของการปลูกต้นไม้ที่แตกต่างไปจากเดิม “ไม้ชื้นในโหลแก้ว ถ้าเปิดฝาก็เลี้ยงไม่รอดนะ ต้นไม้ทุกอย่างมีความชอบไม่เหมือนกัน แต่จะทำยังไงที่เราจะเอามารวมอยู่ในห้องกระจกให้ได้ ทั้งไม้ที่ชอบชื้นอย่างเฟิร์นและแคคตัส ซึ่งจริงๆ มันคนละขั้วเลย
ปักหมุดรอไว้เลยนะสำหรับคนรักต้นไม้ หรือหากใครมีโอกาสขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ ลองแวะไปนั่งชิลล์ ชม และชิมกาแฟที่ร้านก่อนก็ได้
Latte and Leaf
ถ.ซูเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่
เปิดทุกวัน เวลา 07:30-16:00 (หยุดทุกวันอังคาร)
โทร. 089-560-5487
Facebook : Latte and Leaf