Freedom Town
Little Town Sriracha เมืองที่ตั้งอยู่บนความไร้กฎเกณฑ์และตั้งใจเป็นบ้านพักตากอากาศของทุกคน
- ชาร์จพลังในเมืองริมทะเลชื่อ Little Town Sriracha ที่นำเสนอคอนเซปต์ของความเป็นอิสระผ่านการคอนเน็กต์กับธรรมชาติ อาหารโฮมเมดของสายฟู้ดดี้ และเพลงเร็กเก้
Our Town
มวลสนุกปนเฟรนด์ลีล่องลอยอยู่ในอากาศตามเสียงดนตรี อาคารสีขาวตั้งรับลมทะเล ใบไม้พลิ้วไหวตามลม ทุกอย่างดูเบาสบายในเมืองริมทะเลขนาดเล็กที่ชื่อว่า Little Town Sriracha
“ทะเลไทยไปดังที่เมืองนอกเยอะมากนะ เรา Proud นิดๆ เลยอยากได้บาร์ริมทะเลของเราเอง แชปก็บอกว่างั้นลองไปทำที่บ้านคุณยายแล้วกัน” พื้นที่ชิลล์ๆ ก็มีจุดเริ่มต้นง่ายๆ อย่างงี้เลย
กอล์ฟ-นที รักเสรี ลาออกจากงานในวงการโฆษณาตั้งแต่ช่วง 3-4 เดือนแรกของการทำร้าน หันหลังให้ความวุ่นวายของการ Work From Home เพื่อแปลงโฉมบ้านร้าง โดยถือว่านี่คือโอกาสสร้างความสุขควบคู่ไปกับการทำเงิน
“สำหรับคนวัยเรา โควิดคือวิกฤตแรกในชีวิต มันเหวอกันหมดเลย คนเลยมองหาสิ่งใหม่ บางทีเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้วและเราให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น โควิดทำให้เรามีชีวิต 2 พาร์ต ใครมีงานก็ไปทำงาน ใครไม่มีงานก็มาอยู่ร้าน อารมณ์ผลัดกันเฝ้าบ้าน” กอล์ฟยืนยันว่าที่นี่เป็นบ้านมากกว่าร้าน
บริเวณบ้านตากอากาศของ แชป-อภินันท์ เตลาน มีพื้นที่เหลือเฟือ บริการซัปบอร์ด คาเฟ่ และร้านพิซซ่าค่อยๆ ตบเท้าตามกันมา ตามความสนใจของเจ้าบ้านคนอื่นๆ ซึ่งแต่ละคนล้วนรู้จักกันมานานจนกลายเป็นพี่น้อง
นอกจากความหลากหลาย อะไรทำให้ที่นี่โดดเด่น-เราถาม
“ความเป็นตัวเอง (ตอบทันที) เคยได้ยินไหมว่าร้านจะออกมาเหมือนเจ้าของ ทุกอย่างในนี้มาจากการที่เราไปเห็น ไปเจอ การเดินทาง ประสบการณ์ชีวิต”
Little Town Sriracha จึงเป็นประมวลความชอบของเหล่าเจ้าบ้าน ด้วยจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กันคือตามหาความสบายใจและอิสระท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์อันเข้มงวดจนเจอ แล้วความไร้กฎเกณฑ์ก็กลายมาเป็นทิศทางของเมืองริมทะเลแห่งนี้
Reconnect With Nature
สิ่งแรกที่เห็นตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าร้านคือซัปบอร์ดสูงเกือบพ้นรั้ว บอร์ดหลากสีวางเรียงรายรอลูกค้าเข้าไปหยิบยืม เนื่องจากหนึ่งในกิจกรรมหลักของร้านคือ ซัปบอร์ดเซอร์วิส ที่เปิดให้เช่าบอร์ดรวมถึงสอนพายบอร์ด
“เราไปเบอร์ลินแล้วเดินบนสะพานข้ามแม่น้ำ มองลงไปข้างล่างเห็นคนพายบอร์ดอยู่ คนพายใส่สูท! ฮามาก แล้วเราก็ไม่ได้อะไรนะ จนมาโควิดเลยนึกถึง เราก็ลองสั่งบอร์ดมาพาย”
ทะเลมีมนตร์เสน่ห์ที่สัมผัสได้เฉพาะเวลาอยู่กลางน้ำ ขณะออกห่างจากฝั่ง ความเงียบสงบจะเข้าปกคลุม มีเพียงเสียงคลื่นและตัวเราเอง พอมองกลับมายังแผ่นดินใหญ่จะเห็นเป็นภูเขา ความรู้สึกเหมือนทิ้งโลกไว้เบื้องหลัง ย้ำเตือนว่าตัวเองและปัญหาที่พบเจอนั้นเล็กนิดเดียว
สภาพอากาศในแต่ละวันก็ท้าทายให้วางแผนการเดินทางใหม่ตลอด ทุกครั้งที่ออกเดินทางสู่ในความเวิ้งว้างของธรรมชาติจึงเหมือนการผจญภัย
“มันต้องใช้สมาธินะ การจะอยู่บนบอร์ดได้ต้องมีบาลานซ์ ร่างกายต้องพร้อม ถ้าจะไปทางที่สวนทิศทางลม มันก็มีเทคนิคการพายและเทคนิคการเซฟตัวเอง มันมีอยู่ทีหนึ่ง คนเอาบอร์ดมาแล้วลงไปคนเดียว ครูสอนไปเจอคนนี้ลอยคออยู่ หน้าเหนื่อยมาก ปัญหาคือเขาขึ้นบอร์ดไม่ได้ ปีนแล้วบอร์ดพลิกกลับมาตลอดเวลา ดีที่เขาใส่ชูชีพอยู่”
ร้านเน้นสอนทักษะเพื่อความปลอดภัย ทะเลบริเวณหน้าร้านก็เหมาะสำหรับมือใหม่ เพราะมีลักษณะเป็นอ่าว น้ำจึงค่อนข้างนิ่ง ไม่มีคลื่นแรงมาบั่นทอนความพยายาม
หากจะเที่ยวทางทะเลก็เจ๋งไปอีกแบบ จะพายบอร์ดไปบ้านแพกลางทะเลของร้านก็ได้ ไปจอดชิมกาแฟที่ร้านมาเธอร์ก็ได้ หรือจะไปเกาะลอยซึ่งเป็นสถานที่โด่งดังของศรีราชาก็ดี บางคนพายไปไกลถึงเกาะสีชังที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร
ชีวิตต้องการความท้าทายเนาะ-เราแซว
“ชีวิตอยากออกแรง” กอล์ฟหัวเราะ
Foodies’ Projects
สูตรอาหารฟิวชั่นและวัตถุดิบไทยมาจากการทดลองไปเรื่อยของเหล่าเจ้าบ้าน ทั้งปรับความจัดจ้านเข้าปากคนไทย สำรวจหาวัตถุดิบตามฤดูกาล ยิ่งไปกว่านั้นคือหาวิธีดึงศักยภาพของวัตถุดิบเหล่านั้นออกมามากที่สุด
สปาเกตตีหอยตลับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน หลังตระเวนชิมตั้งแต่ร้านหรูจนถึงร้านราคาทั่วไป ข้อสรุปที่ได้คือหอยตลับต้องสด เพราะแค่นำเข้าช่องฟรีซ รสชาติก็เพี้ยนได้แล้ว
“ข้อได้เปรียบของเราคืออยู่ใกล้ทะเล ถ้าเป็นฤดูมัน เราจะสั่งมาแล้วทำให้หมดภายใน 1-2 วัน หลังจากนั้นน่ะ ถ้าเหลือเราก็เก็บไว้กินเอง”
สปาเกตตีเบคอนผัดพริกแห้งก็หอมกลิ่นรมควันมากๆ (ย้ำว่ามาก) ทางร้านรมควันเบคอนเองด้วยไม้ลำไยจากลำพูน โปรเจกต์นี้ถูกพัฒนาช่วงโควิด จนกลายมาเป็นจานเด็ดบนโต๊ะเราในวันนี้
“ความยากของการรมควันคือต้องคุมอุณหภูมิให้ต่ำและคงที่ตลอด 8 ชั่วโมง มันต้องว่างจริงนะถึงลองทำได้ คนทำงานประจำจะมานั่งรมควันเหรอ” กอล์ฟแซว ‘ความหาทำ’ ของตัวเอง
เจ้าบ้านอีกคนก็ไม่แพ้กัน เจ้าของร้านพิซซ่า Artisan Cucina แนะนำตัวว่า “อาร์ตซัง” (Art-San) แล้วเล่าว่าเขาทักแชทเพื่อนัดเจอกับเหล่าเจ้าบ้าน หลังจากนั้นหายไปฝึกวิชานาน 3-4 เดือน จนกอล์ฟนึกว่าเชฟคนนี้จะไม่กลับมาเสียแล้ว
ความพยายามของอาร์ตนั้นคุ้มค่า จากวิศวกรผันตัวมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพิซซ่า เขายังคอยลองสูตรกับวัตถุดิบใหม่ๆ ตลอดเวลา แล้วเซอร์ไพรซ์ลูกค้าด้วยเมนูฟิวชั่น พูดได้ว่าลูกค้าประจำหลายคนของ Little Town Sriracha คือลูกค้าที่ติดใจ Artisan Cucina เนี่ยแหละ
แล้วเมื่อกอล์ฟกับอาร์ตมาอยู่ด้วยกันจะพากันทำอะไรล่ะ หลักฐานบนเว็บไซต์ชี้ชัดถึงความเนิร์ดคูณสอง
“เราเพิ่งทำเรื่องซอสศรีราชา 15 ตัวกับอาร์ตไป เอาซอสมากินกัน ดูความข้น ความเผ็ด ตัวไหนกินกับอะไรแล้วโอเค หาวิธีปรุงซอสเพื่อจะเอาไปกินกับสิ่งต่างๆ มันไปได้อีกไกลเหมือนกันนะ และเราบันทึกข้อมูลบนเว็บไซต์ คนจะเอาไปต่อยอดได้”
ประวัติและดัชนีรสชาติของซอสศรีราชาถูกบันทึกไว้อย่างละเอียด ซึ่งจะไม่มีทางหายไปจากโลกอินเทอร์เน็ต ต่างจากคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียที่อาจถูกลบเมื่อไหร่ก็ได้
คนชาติไหนก็รู้จักซอสศรีราชา แต่แท้จริงแล้วมันเริ่มต้นอย่างไร ไม่มีใครบอกได้ คนไทยก็ว่าบรรพบุรุษตั้งโรงงานขายจนดัง บ้างก็ว่าเกิดจากคนจีนที่ย้ายมาอยู่ไทย เวียดนามก็เคลมความเป็นเจ้าของ คำถามเหล่านี้เป็นปริศนาสนุกๆ ให้กอล์ฟได้ลองแก้เล่น และคลุมเครือระหว่างทางก็อาจสนุกกว่าการหาคำตอบให้เจอด้วยซ้ำไป
Festival Theme
ห้องติดทะเลเต็มไปด้วยภาพถ่ายขาวดำ โดยฝีมือช่างภาพมืออาชีพ ผู้เป็นพ่อของหนึ่งในหุ้นส่วน เรายืนเพ่งภาพบนฝาผนังแต่ละด้านเพลินๆ ร้านเปิดเพลงคลอดังทั่วร้านทำให้รู้สึกคึกคัก แต่ไม่ได้มากเกินพอดี ชวนให้เดินเล่นจนลืมเวลามากกว่า
“สิ่งสำคัญของที่นี่คือเพลง ร้านก็ส่วนหนึ่งนะ แต่เพลงก็ส่วนหนึ่ง มันทำให้คนรู้สึกโดยไม่รู้ตัว แล้วทุกอย่างรวมกันเป็นบรรยากาศ ทั้งสิ่งที่เราเสิร์ฟ ศิลปะ ดนตรี เราขายประสบการณ์น่ะ
เราเอาแนวคิดมาจาก Glastonbury งานเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันเป็น Art and Music คนไปเพื่อดูศิลปะ เข้าไปอยู่ในสิ่งที่เซ็ตขึ้นมา ทำเป็น Terminal ในสนามบิน มี ตม. ด่าคน มันเสียดสีมาก มันพูดเรื่องการแบ่งแยกคน สิ่งนี้ให้ประสบการณ์ตั้งแต่เดินเข้าไปเลย”
กอล์ฟไม่เพียงแค่ชอบไปมิวสิกเฟสติวัล เขาเคยทำงานเป็นโปรโมเตอร์ในค่ายเพลงด้วย วันนี้จึงได้จำลองเฟสติวัลจากประสบการณ์ตรง โปสเตอร์ก็เป็นของงานเฟสติวัล แถมได้เปิดเพลงตามใจชอบ พร้อมกับแบ่งปันเอกลักษณ์ของดนตรีในท้องที่
“ศรีราชามี Sound เป็นของตัวเองนะ คนทำเร็กเก้เยอะ พี่แก๊ป T-Bone ก็อยู่แถวนี้ เรารู้จักจากที่เคยทำงานค่ายเพลง และพี่วิน SRIRAJAH ROCKERS เราให้วงนี้เป็นเร็กเก้ไทยที่ดีที่สุดสำหรับตอนนี้เลย ดีเจร้านเราก็เปิดเร็กเก้เหมือนกัน”
เร็กเก้มาจากจาเมกา มันเป็นดนตรีของคนดำ ซึ่งพูดถึงอิสรภาพและการไม่ถูกกดขี่ และโดยไม่ตั้งใจ เพลงเร็กเก้ก็เข้ากันดีกับบรรยากาศปล่อยตัวปล่อยใจอย่างอิสระของ Little Town Sriracha
Slow Life
เจ้าบ้านที่นี่เว้นระยะห่างกับลูกค้านะ พวกเขารอเราเข้าไปหาตามจังหวะที่สะดวก แทนการนำเมนูมาวางตรงหน้า แล้วยืนรอรับรายการอาหาร เราเองก็ได้ชมวิวทะเลจนพอใจก่อนไปสั่งกาแฟที่เคาน์เตอร์ เมื่อได้ที่นั่งแล้วยังหลุดเข้าไปในโลกความคิดของตัวเอง โดยไม่มีใครขัดจังหวะด้วย
ร้านแบบนี้หายากกว่าที่คิด เป็นใครก็คง ‘เกรงใจ’ เมื่อจับจองเก้าอี้ในร้านใดร้านหนึ่งนานเกินไป แต่ความรู้สึกนั้นไม่เกิดขึ้นเลยระหว่างที่เราอยู่ใน Little Town Sriracha
“พูดในฐานะคนกรุงเทพฯ ที่อยากไป Hang Out นอกกรุงเทพฯ แต่ไม่อยากไปไกล เราเข้าใจว่าคนต้องการอะไรแบบนี้ คุณจะไม่กินอะไรก็ได้นะ มันมีคนแบบนั้นมา เราก็ไม่เคยโกรธ เราแฮปปี้ที่มีคนใช้พื้นที่ ที่นี่เป็นบ้านตากอากาศ อย่างน้อยคนที่มาต้องได้รับความสนุกหรือความสุขกลับไป”
อีกบทบาทของพื้นที่นี้คือ Community Park หลายคนมานั่งทำงานทั้งวัน บางคนขอเข้ามาเล่นกีตาร์ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนก็มาเป็นดีเจ กระทั่งมือกีตาร์วง Desktop Error ยังมาควงไฟโชว์ ซึ่งหลายเคสเป็นผลพวงจากโควิดไม่ต่างจากเมืองริมทะเลนี้
“หลายคนเป็นลูกค้ามาก่อน แล้วกลายเป็นเพื่อน แล้วมาทำงานด้วยกัน เรามาดูร้านเองก็เลยสนิทสนมกับลูกค้า ถ้ามีโอกาสหรือมีอะไรให้เราได้เริ่มคุยกันนะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เข้าไปนั่งคุย”
ศรีราชามีสิ่งน่าสนใจอีกมากที่นอกสายตาผู้คน ทั้งเกาะลอยที่เต็มไปด้วยร้านอาหารฟิวชั่นสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งใช้วัตถุดิบท้องถิ่น กิจการต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อรองรับคนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำโรงงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนธรรมชาตินั้นสวยงามไม่แพ้ทะเลไหนๆ เผลอๆ สงบกว่าด้วย
คงน่าเสียดายไม่น้อยถ้าเมืองริมทะเลนี้ถูกมองข้ามไปตลอด เพราะฉะนั้น มาให้ศรีราชาเป็นแค่ทางผ่าน แล้วอย่าลืมแวะมาทักทายเจ้าบ้านของ Little Town Sriracha กันด้วยนะ
Little Town Sriracha
Open Hours: 10.00 – 21.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
Map: https://maps.app.goo.gl/E9stCwep8ypG4Vtg6
Facebook: Little Town Sriracha
Website: https://www.littletownsriracha.com/