About
RESOUND

Nostalgic Memories

‘ล ม ห ว น’ เพจที่ชวนคนอ่านหวนถึงอดีตผ่านความทรงจำของป้อม ฐกฤต วงค์พนิตกฤต

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • หากชอบหวนนึกถึงอดีต เราขอชวนมานั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปอ่านเรื่องเล่าจากความทรงจำของ ป้อม – ฐกฤต วงค์พนิตกฤต ทั้งการเล่าถึงกับข้าวจีนจากก้นครัวที่ไม่เหมือนที่ไหน การละเล่นหายากในวันนี้ ตึกเก่า บ้านเรือน กลิ่นหยาดฝนที่ชวนให้คิดถึงใครบางคน ในเฟซบุ๊กเพจของเขาที่มีชื่อว่า ‘ล ม ห ว น’ กัน

ลมหวนชวนให้คิดถึงความหลัง ภวังค์จิตคิดขื่นขมระทมใจ

ตัวใครเป็นคนผิดอยากถามนัก รักไยใจจะกลับดังลมหวน

ใกล้เรากล่าวถ้อยนัยที่รัก เจ็บนักพอถึงอื่นก็คืนคำ

มาทำชิดสนิทใหม่ใครจะเชื่อ เบื่อแล้วไยจะมารับกลับคืน…

ลมหวน เป็นบทเพลงที่ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย หม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ และ หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ขับร้องโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ซึ่งพูดถึงการเลิกราและแยกกันไป แต่วันใดวันหนึ่งเขาและเธอจะหวนกลับมาหากันอีกครั้ง บทเพลงนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ป้อมสร้างเพจ ‘ล ม ห ว น’ ของเขาขึ้นมา เพื่อบอกเล่าความทรงจำที่ยังคงอยู่ให้หวนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ลมหวน

สมัยที่ผมยังเด็ก…

“บ้านของผมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มีรถเมล์วิ่งรอบเมืองที่ผมชอบนั่ง ค่าโดยสาร 50 สตางค์ตลอดทาง หน้าร้อนผมจะชอบไปเล่นน้ำ ดูปลา ดูปู ละแวกบ้านจะมีร้าน 76A Susuru ข้างหลังบ้านจะติดกับโรงไม้ โรงเลี้ยงหมู ผมจะชอบไปขุดขี้ดินขี้หมูเพื่อหาไส้เดือน ตรงข้ามบ้านผมจะเป็นบ้านเพื่อน มีอาม่าที่เปรียบเสมือนญาติคนหนึ่ง ทุกครั้งที่กลับมาจากโรงเรียน อาม่าก็จะเตรียมเม็ดแตงโมใส่ถ้วยมา 2 ถ้วยให้ผมกับเพื่อนตักกินกัน” บทสนทนาแรกเริ่มของเรา ที่เขาพาท่องเวลาถอยหลังไปหาภาพวัยเด็กในนครพนมของเขา

ลมหวน

ป้อมเกิดมาในครอบครัวคนจีน อาศัยอยู่ในนครพนม ย่างเข้าวัยรุ่นก็ย้ายไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมและทำงานเป็นสถาปนิกที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงทำให้เขาคิดถึงชีวิตติดริมแม่น้ำโขง อาหารเมนูเดิมเปลี่ยนแค่มือคนทำ ก็ดึงความทรงจำเมื่อหลายปีก่อนกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง กระทั่งในวันที่พ่อมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ก็ถึงเวลาที่ได้พาตัวเองกลับเมืองนครพนม

ลมหวน

กลับมาคราวนี้มีหลายอย่างเปลี่ยนไป นครพนมยังคงมีเสน่ห์ทั้งเมืองเก่า และความเงียบสงบ แต่เขายังคงเห็นภาพร้านกับข้าวที่เคยซื้อ ผู้คนในอดีตทับซ้อนสถานที่ในเวลาปัจจุบัน นักเล่าความทรงจำคนนี้จึงสร้างเฟซบุ๊กเพจ ‘ล ม ห ว น’ ขึ้นมา “ผมเซ็ตโครงเรื่องของผมไว้แบ่งออกเป็นช่วงวัย เริ่มจากวัยเด็ก ชีวิตวัยหนุ่ม วัยทำงานที่ต้องจากบ้านไป วัยอัสดงที่จะกลับมาที่นี่อีกครั้งเป็นอันจบเรื่องราว มันจะได้เห็นวันที่เราโตขึ้น ไปเจอโลก แล้วก็กลับมาที่เดิมที่บ้านของเรา” เริ่มต้นเพจด้วยการเล่าชีวิตวัยเด็ก ทำให้ทุกๆ การเริ่มเรื่อง เขาจะขึ้นต้นด้วยประโยค ‘สมัยที่ผมยังเด็ก…’

ลมหวน

‘ลมหวน’ เชื่อมโยงความชอบ เส้นเวลา ผู้คน

“ผมชอบเขียน ทุกๆ ครั้งที่นึกถึงชีวิตในวัยเด็กเหมือนฝนแรกก็จะมีกลิ่นดินที่ทำให้เราคิดถึงบ้าน ผมเลยพยายามเขียนจากความทรงจำเก็บไว้ในบันทึก มองเห็นอะไร นึกอะไรได้ก็เล่า พอมีเฟซบุ๊กผมก็เล่นปกตินะ แต่เมื่อ 6-7 ปีหลัง ผมก็คิดว่า ถ้าเล่าเรื่องแล้วโพสต์ไป น่าจะเชื่อมคนรุ่นเราได้อีกหลายๆ คน”

ลมหวน

ไม่ว่าจะเป็นตึก อาคาร พื้นที่บ้าน การละเล่นในวันวาน ผู้คน กับข้าวจีนจากก้นครัวที่ไม่เหมือนที่ไหน ป้อมจะเขียนเล่าประกอบภาพถ่าย สร้างเส้นเรื่องสลับไปมาให้อารมณ์ราวกลับนั่งดูหนังที่ไม่มีจุดไคลแมกซ์ แต่เน้นรายละเอียด ภาษางดงามที่เข้าใจง่าย โพสต์ลงเพจก็เกิดการแชร์ทอดต่อกันไป ในจำนวนแชร์หลักร้อย บางทีขึ้นหลักหมื่น ก็ได้ดึงคนรุ่นราวคราวเดียวกันได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความทรงจำส่วนตัวกับผู้คนอีกมากมายในโลกออนไลน์

ลมหวน

“หลายครั้งเลยที่ผู้คนทักมาขอบคุณ เพราะโพสต์ของเราเหมือนพาเขาย้อนเวลากลับไปหาสิ่งนั้นๆ หรือสถานที่ที่เขาเคยไป” ส่วนคนเกิดไม่ทันพอได้อ่านก็เหมือนได้พบเรื่องราวใหม่ๆ เราไม่แปลกใจที่ ‘ล ม ห ว น’ จะมีผู้ติดตามมากกว่า 9 พันคน

ลมหวน

นอกจากความคิดถึง สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่อการเล่าเรื่องของเขาคือ “ของเก่า หนังเก่า เพลงเก่า ผมเป็นคนชอบดื่ม ชอบเดินทาง ผมชอบอยู่คนเดียว เวลาเขียนบางทีแฟนผมเขาจะมานั่งด้วย ผมจะเปิดเพลงในยุคของเราฟังให้มันดึงฟิลเราออกมา แล้วผมก็จะเริ่มเขียนลงในโทรศัพท์ แล้วโพสต์ลงไปสดๆ เลย”

ลมหวน

สร้างเพจเฟซบุ๊กไม่นานก็มี ‘ลมหวน’ บนป้ายไม้กำกับชื่อบ้านของเขาที่ตั้งอยู่ใกล้กับหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์นครพนม ลมหวนแห่งนี้มัดรวมความชอบของเขาออกมาเป็นร้านนั่งบาร์แบบ Invitation Only เพื่อที่จะได้เปิดเพลงเก่าชวนคนรุ่นเดียวกันมานั่งดื่มบทสนทนา ดำดิ่งไปกับอารมณ์ที่เขาพูดติดตลกว่า “เหมือนศาลาคนเศร้ายังไงยังงั้น”

ลมหวน

ส่วนอีกบทบาทของป้อม ไม่พูดถึงคงไม่ได้กับการเป็น Activist อีกคนของนครพนมที่ดึงเสน่ห์ความเป็นเมืองเก่าด้วยการจัดอีเวนต์ร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อคืนชีพให้กับเมืองแห่งนี้ พร้อมเรียกผู้คนเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตอันสวยงามของนครพนม

ลมหวน

เป็นนักเล่าความทรงจำ ทั้งยังเคยจัดอีเวนต์ของเมือง นครพนมในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน? “นักลงทุนเริ่มเข้ามาเยอะขึ้น เมื่อก่อนจะเห็นเพื่อนปั่นจักรยานผ่านมา แต่ทุกวันนี้มีรถยนต์ และโรงแรมเยอะขึ้น นักท่องเที่ยวก็มากขึ้นด้วย หลายอย่างเปลี่ยนไป มีแต่กลางเมืองนี่ล่ะที่ยังไม่เปลี่ยน แต่ผมว่านครพนมก็ยังมีเสน่ห์ในตัวอยู่ ด้วยความเป็นเมืองเก่าก็ให้อารมณ์เมืองเหงา ที่ชวนให้ผู้คนพากันมาเดินตามรอยถ่ายรูปเยอะดี”

ลมหวน

สวมกอดอดีตในยามคิดถึง

แม้ ‘ล ม ห ว น’ เริ่มต้นด้วย ‘สมัยที่ผมยังเด็ก…’ แต่เรื่องเล่าในวัยนั้นกำลังจะจบลง อีกไม่นานคงเปลี่ยนเป็นอีกช่วงวัยที่ให้กลิ่นอายที่ต่างออกไป “ถ้าเราเขียนได้ดี มันจะเห็นพัฒนาการในเวลาที่เราเป็นบุคคลที่สามมองย้อนกลับไปดูตัวเอง”

อ่านเรื่องราวของป้อม ‘เหมือนได้ลงไปสัมผัสด้วยตัวเอง’ สำหรับเรา ไม่ใช่ภาษาของเขาที่ชวนให้เห็นภาพ แต่นับรวมถึงประสบการณ์การมองชีวิตแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกันออกไปนั่นล่ะ ทำให้คนรุ่นหลังอย่างเรามีโอกาสเรียนรู้บางสิ่ง

การหวนคิดถึงใครบางคน บ่อยครั้งที่เราชอบเผลอปล่อยน้ำตาเลอะเลือนข้างแก้ม ความสุขที่เกิดขึ้นในเวลานั้นมาไวและไปไวเหลือเกิน แม้หลายเรื่องอยากกลับไปแก้ไข แต่ถ้าทำได้จริงก็คงแฟนตาซีน่าดู “เราทำได้แค่เก็บความรู้สึก ปล่อยวางเรื่องราวที่พัดผ่านเข้ามาแล้วก็ให้มันผ่านไป” นักเล่าความทรงจำบอกกับเราอย่างนั้น

ในตอนจบของหนัง ‘Big Fish’ กำกับโดย Tim Burton ปิดท้ายด้วยวลีสุดกินใจไว้ว่า “ชายคนหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเขาหลายต่อหลายครั้ง จนตัวเขากลายเป็นเรื่องเล่าเสียเอง เรื่องเล่าเหล่านั้นอยู่ยงคงกระพัน ดังนั้นเขาจึงเป็นอมตะ”

ลมหวน

นับเป็นอีกรอบที่เราตกผลึกได้ว่า บางครั้งเรื่องราวในอดีตอาจไม่เคยลาจากไม่ว่าจะผ่านไปกี่นานปี ถ้าใครสักคนสวมบทเป็นนักเล่าความทรงจำ ร้อยเรียงเรื่องราวแล้วเล่ามันออกไป สถานที่เดิม ผู้คนเดิมๆ ในวันนั้น คงได้หวนกลับมามีตัวตนอีกครั้ง และแม้ว่าเราจะสัมผัสกันไม่ได้อีกต่อไป เราคงทำได้แค่สวมกอดความคิดถึงนั้น ให้คงอยู่ในใจเราไปตลอดกาล

‘ล ม ห ว น’ ที่ประพันธ์และเล่าโดย ป้อม ฐกฤต วงค์พนิตกฤต ก็คงจะ ‘เป็นอมตะ’ อย่างนั้นล่ะนะ

Facebook Page: ล ม ห ว น

Tags: