About
DETOUR X Trang

รักตรัง

ตรังออนทัวร์กับ 7 ความยูนีคที่ทำให้เราหลงรักและอยากกลับมาเที่ยวเมืองนี้

เรื่อง นริสา ลี. ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 30-03-2023 | View 23212
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ตะลอนทัวร์กับ ONCE ไปพบกับความยูนีคของเมืองตรังที่ทำให้เรารู้ว่าตรังเป็นเมืองน่าเที่ยวมาก จนอยากให้ทุกคนหลงรักเมืองนี้เหมือนเรา

เมื่อก่อนเวลานึกถึงตรัง เรามักนึกถึงความสนุกและตื่นเต้นเวลาลอยคอในทะเลเพื่อมุดเข้าไปในถ้ำมรกต แต่วันนี้ถ้าลองกลับมาทบทวนอีกครั้ง นึกถึงตรังจะนึกถึงอะไร…

ทะเล ของกิน หรือยางพารา…เรากลับไปตรังอีกครั้งในวันที่ภาคใต้มีอากาศสดใสไร้ฝุ่นกวนใจ

เราไปทักทายตรัง จัดระเบียบความทรงจำเก่าๆ เพื่อเก็บความทรงจำใหม่ๆ

เพราะออนทัวร์ตรังรอบนี้เจอของดีมากมาย จะไม่ให้หลงรักได้ไง

รักตรัง

ตึกตรัง

“ตึกในตรังโคตรเท่” น้องคนหนึ่งเคยบอก

ตรังเป็นเมืองตึกสวย สวยชนิดที่ใครเห็นต้องยกมือถือบันทึกไว้ ใครเป็นช่างภาพคงลั่นชัตเตอร์สนั่น ตึกในเมืองตรังสวยมาตั้งแต่ยุคโบราณ หากวางตัวในสวนก็จะเป็นบ้านไม้ หากอยู่ในย่านค้าขาย ก็สร้างเป็นเรือนแถวสองชั้นแบบผสมผสานศิลปะจีนเข้าไปสไตล์ตึกชิโนโปรตุกีส นอกตึกชั้นล่างเป็นซุ้มโค้งทางเดินคล้ายๆ หง่อคาขี่ของภูเก็ต ตึกเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หาดูได้ง่ายๆ แถวตลาดสดเทศบาล สถานีรถไฟ ถ.ราชดำเนิน ถ.กันตัง และ ถ.พระรามหก

รักตรัง

รักตรัง

รักตรัง

ตึกโรงแรมจริงจริง ปัจจุบันโรงแรมไม่ได้เปิดบริการแล้ว

พอถึงยุคร่วมสมัย ตึกเก่ากลายเป็นอาคารพาณิชย์แนวเรโทร ฟาซาดตึกบางแห่งเป็นลวดลายกราฟิกเก๋ไม่ไหว นอกจากนี้หลายตึกในเมืองตรังมีรางวัลอาคารอนุรักษ์การันตี อย่างอาคารสิริบรรณกับ บ้านไทรงามบน ถ. ราชดำเนิน โรงแรมจริงจริง บนถ.พระรามหก ปัจจุบันไม่ได้ทำการแล้ว

รักตรัง

ตึกห้างอาเชี่ยน จากห้างขายผ้ามาเป็นคาเฟ่เล็กๆ ฟีลวินเทจ

รักตรัง

อาคารยุคโบราณของตรัง

รักตรัง

เราสนุกมากกับการเป็นนักเดินชมตึก เดินลัดซอยนั้นออกซอยนี้จนไม่อยากจะเชื่อขาตัวเองว่าเดินเข้าไปได้ยังไง มันคงเป็นความประทับใจแรกที่ตรังกับเราได้ทักทายกัน

รักตรัง

สตรีทอาร์ตที่ทำให้การเดินชมตึกสนุกขึ้น

รักตรัง

สภากาแฟเล็กๆ ในร้านกาแฟเขาช่อง

กาแฟเขาช่อง

อายุ 90 ปีของกาแฟเขาช่องน่าจะเป็นเหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้ร้านกาแฟเล็กๆ บริเวณแยกเขาช่อง (โรงขนม) คือหนึ่งในตำนานของตรังที่อยากชวนทุกคนไป

บรรยากาศของร้านยังคลาสสิก เรายังเห็นคนตรังรุ่นเก่าๆ เดินผ่านไปมา แวะซื้อขนม และพบปะสนทนากันในร้านได้อารมณ์ย้อนวันวานดีเหมือนกัน

รักตรัง

ณัฎพล ต่ายดำรงค์ ทายาทรุ่น 3 ของกาแฟเขาช่อง

ต่าย – ณัฎพล ต่ายดำรงค์ ทายาทรุ่น 3 ของกาแฟเขาช่องบอกว่าตอนเช้าหน้าร้านเหมือนเป็นตลาดย่อยๆ และเป็นมาแบบนี้นานแล้ว เพราะบริเวณแยกนี้คือจุดบรรจบของทุกเส้นทางรอบนอกที่เข้าสู่เมืองตรัง ร้านกาแฟของเขาเปิดตั้งแต่ตีห้ากว่าๆ และปิดตอนบ่ายสาม

หลังใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ กับธุรกิจขายของวินเทจอยู่พักใหญ่ ในที่สุดต่ายก็ต้องกลับมาสานต่อร้านของครอบครัว ขนของวินเทจที่เขาชอบส่วนตัวมาตกแต่ง บางชิ้นอาจไม่เกี่ยวอะไรแค่มาวางแล้วทำให้ร้านดูเท่ แต่บางชิ้นก็มีความหมายอย่างกระปุกพลาสติกใส่ถั่วสีส้มของเขาช่องซึ่งเป็นกิจการเดิมของครอบครัว

ส่วนบางชิ้นก็ไม่เคยย้ายไปไหนเพราะเป็นความทรงจำจากกาแฟเขาช่องที่คนเก่าแก่ยังจำได้ นั่นคือภาพวาดกำแพงเมืองจีนซึ่งก๋งของเขาจ้างนักวาดสร้างสรรค์มาให้ และนักวาดคนนี้ก็คือนักวาดโปสเตอร์หนังที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของตรัง หลงเหลืออยู่คนสุดท้ายแล้วในปัจจุบัน

รักตรัง

ครั้งหนึ่งต่ายเคยเปิดบาร์ลับบนชั้นสองของที่นี่ ชื่อ Doma แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจย้ายมันไปหาโอกาสใหม่ในกรุงเทพฯ และวางแผนว่าจะเปิดร้านกาแฟเขาช่องที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นด้วย

รักตรัง

ส่วนร้านที่ตรังก็ยังเปิดกิจการต่อไป เพราะที่นี่คือสภากาแฟของตรังที่ยังมีกลิ่นของวันเก่าๆ ซึ่งเขาอยากเก็บรักษามันเอาไว้

รักตรัง

ปาท่องโก๋ร้านซินจิว ขายสองรอบ เช้าและค่ำ

สำรับตรัง

มาตรังน้ำหนักตัวไม่ขึ้นก็ให้มันรู้กันไปเพราะตรังเป็นเมืองของคนช่างกิน และเป็นเมืองของคนช่างทำของอร่อย

“ไปกินที่ไหนก็สู้บ้านเราไม่ได้” เรายืนคุยกับคุณป้าคนตรังที่ภูมิใจในวิทยายุทธ์เฉพาะตัวของชาวตรังเอามากๆ ทำไมยุทธจักรเมืองตรังจึงมีแต่ของอร่อย อาจเพราะความหลากหลายของชุมชนชาวจีนในตรัง ทั้งชาวจีนฮกเกี้ยน กวางตุ้ง แต้จิ๋ว แถมยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมจากปีนัง อาหารตรังเลยเป็นเมนูโฮมเมด ทำเอง กินเอง ขายเอง ความช่างกินของคนตรังอยู่ในระดับไหน เอาเป็นว่าคนที่นี่กินวันละสี่ห้ามื้อตั้งแต่เช้ายันค่ำเลยล่ะ

รักตรัง

ติ่มซำตรัง นอกจากความอิ่มในเครื่องเครา น้ำจิ้มติ่มซำตรังก็ไม่เหมือนที่ไหน ไม่ใช่ซอสพริก ไม่จิ้มในซอสหวาน แต่กินอย่างตรังต้องจิ้มในค่อมเจือง สูตรลับความจิ้มของที่นี่

ซีอิ๊ว…ตรังก็มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ชื่อซีอิ๊วตราแกะและตราแพะ ใช้กันแทบทุกร้านอาหาร

รักตรัง

ปากหม้อตรังสูตรพิเศษไม่เหมือนใคร

ปากหม้อตรัง ไม่ใช่ขนมปากหม้อที่เราคุ้นเคย เป็นปากหม้อที่ราดด้วยค่อมเจืองปรุงสูตรเฉพาะจนท่วม ดูคล้ายก๋วยเตี๋ยว ตอนนี้เหลือเจ้าเดียวในตลาดเทศบาล

รักตรัง

กล้วยทอดจีผัน

กล้วยทอดจีผัน กล้วยทอดยืนหนึ่งในใจคนตรังที่อยู่ในตรอกเล็กๆ มายาวนาน ก็หมดเร็วมาก ไม่ถึงเย็น คนตรังมาสอยกันเกลี้ยงแล้ว

รักตรัง

รักตรัง

หมูแดงร้านฉันที่มีน้ำราดหมูแดงรสชาติเหมือนที่เราเคยกินตอนเด็กๆ ส่วนหมูแดงร้านนี้เรายกนิ้วให้กับความหอมนุ่ม

และอีกหลายความอิ่มในตรัง ถ้าจะกินให้ครบคงต้องอยู่ยาวเป็นเดือน

เกาะมุก

เกาะใหญ่ และไอติมมะพร้าว…เราสะดวกรวบนิยามของเกาะมุกไว้แบบนี้ เกาะมุกเป็นเกาะขนาดใหญ่ นั่งเรือหางยาวจากท่าเรือควนตุ้งกูเพียงแค่ 30 นาทีก็ถึง ชื่อเกาะมุกอาจไม่ค่อยคุ้นหู แต่ถ้าพูดว่าถ้ำมรกต หลายคนน่าจะรู้จักมากกว่า และถ้ำมรกตก็เป็นส่วนหนึ่งของเกาะมุกล่ะ

รักตรัง

เกาะมุกมีหลายมุมให้เราได้เที่ยวมากกว่าถ้ำมรกต เที่ยวเกาะมุกให้สนุกต้องนั่งซาเล้งที่พาเราลัดเลาะไปมุมต่างๆ ได้ทั่วเกาะ ใครอยากคล่องตัวขึ้นหน่อยเช่ามอเตอร์ไซค์ขับก็ดีเหมือนกัน วันนี้เกาะมุกกำลังถูกพัฒนา ถนนหนทางสร้างขึ้นเชื่อมต่อถึงกันทั่วเกาะ ที่พักเล็กๆ รีสอร์ตใหญ่ๆ เริ่มผุดขึ้นให้เห็นแตกต่างจากวันที่เราเคยมาเยือนเกาะนี้เมื่อนานมากแล้ว

รักตรัง

นิจนิรันดร์ พาหุมันโต เจ้าของร้าน Forever บนเกาะมุก

“ไม่ใช่แค่มีทะเลสวยอย่างเดียวนะ เกาะมุกยังมีมะพร้าวเยอะมาก” หนิง – นิจนิรันดร์ พาหุมันโต เจ้าของร้าน Forever พูดขึ้น ร้านของหนิงเปิดเฉพาะฤดูท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน พอถึงหน้าโลว์ เธอเลือกปิดร้านชั่วคราวแล้วขยับชีวิตไปหาความท้าทายอื่น

ไม่ได้มีพื้นเพชาวเกาะก็จริง แต่หนิงตกหลุมรักเกาะมุกเอามากๆ มากจนเธอตัดสินใจมาเป็นชาวเกาะได้ 7 ปีแล้ว หนิงบอกว่าเพราะเกาะมุกมีมะพร้าวเยอะ เธอเลยคิดทำไอศกรีมกระทิสดขึ้นมา ใช้มะพร้าวบนเกาะมุกเลยเพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นว่าที่นี่ก็มีของดีเหมือนกัน ระหว่างเล่าเธอก็ตักไอศกรีมกระทิรสนุ่มละมุนมาเสิร์ฟ

รักตรัง

อากาศร้อนๆ ได้กินของเย็นชื่นใจเหมือนได้ขึ้นสวรรค์แม้เพียงเวลาสั้นๆ ก็ตาม ส่วนทะเลเกาะมุกที่เราเห็น ผืนน้ำสีจัดเหมือนท้องฟ้า นักท่องเที่ยวฝรั่งเดินเล่น อาบแดด นั่งริมหาด กิจวัตรที่หายไปจากทะเลตรังยาวนานกว่าสองปี วันนี้ภาพนั้นหวนกลับมาแล้ว

รักตรัง

ครูกาน – วรานนท์ สุทธินนท์ กับคู่หูคู่ชีวิต นิ่ม – กุหลาบ อินพรม

เซิร์ฟสกีคายัก

“เมื่อก่อนฝรั่งเอาเข้ามาเล่นประปราย สำหรับคนไทยรู้จักเซิร์ฟสกีมาก็สามปีแล้ว แต่เล่นหนักๆ กันก็ที่ตรังนี่แหละซึ่งในภาคใต้ผมเป็นคนเริ่มเล่นคนแรกตั้งแต่ยังไม่มีใครรู้จักเลย” ครูกาน – วรานนท์ สุทธินนท์ เล่า วันนี้ครูกานพายเซิร์ฟสกีมาพร้อมกับคู่หูคู่ชีวิตของเขา นิ่ม – กุหลาบ อินพรม จอดเทียบหาดฝรั่งบนเกาะมุก

รักตรัง

เซิร์ฟสกีคายัก (Surfski Kayak) มีต้นกำเนิดจากยานช่วยกู้ภัยนักว่ายน้ำและนักเซิร์ฟในฝั่งออสเตรเลีย จัดอยู่ใน Surf Life Saving ด้วยความเร็วและความคล่องตัวเหนือกว่าคายักทั่วไป ในวันคลื่นลมดี มันสามารถทำความเร็วเวลาเกาะคลื่นได้สูงสุด 27- 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรียกว่าเป็นคายักชนิดหนึ่งที่มีสมรรถนะสูงและเร็วที่สุด ทำให้มันถูกใช้งานในประเภทนี้บ่อยครั้ง

“แต่ปัจจุบันความนิยมมันก็แพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มของคนชอบกีฬาทางไกลในทะเล” ครูกานอธิบายถึงกีฬายูนีคนี้

รักตรัง

ครูกานเป็นเจ้าของ Surfski Andaman  เพจที่ทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพความสนุกของเซิร์ฟสกีแจ่มชัดขึ้น เซิรฟ์สกีลำที่เขาเอามาโชว์เรานั้นเป็นรุ่นอเนกประสงค์ เหมาะกับการใช้งานทั่วไป เป็นเซิร์ฟสกีทัวริ่งที่พาลัดเลาะเกาะต่างๆ ได้สบายๆ เขาชี้ให้ดูที่วางเท้าเหมือนตัวควบคุมหางเสือ เวลาพายต้องใช้ลำตัวเอี้ยวไปมาช่วยอีกแรง ต่างจากคายักธรรมดาที่ใช้เพียงแรงแขนจ้วงพาย

สำหรับบีกินเนอร์ เขาแนะนำว่าทุกคนต้องผ่านการฝึกถึงจะพายเซิร์ฟสกีได้ “ถ้าฝึกแล้วพาลุยตามเกาะได้เลย” เขายิ้มแต่ก็กำชับว่า ไม่ใช่ทุกวันในทะเลจะเป็นวันที่ดี ทุกคนควรมีเซฟตี้โปรโตคอล เป็นต้นว่า มือถือควรใส่ซองกันน้ำอย่างดี เกิดเหตุฉุกเฉินควรโทรหาใคร ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่เราสามารถแชร์ตำแหน่งของเราได้ เพื่อให้คนบนฝั่งมอนิเตอร์

รักตรัง

พูดจบเราขอให้ครูกานโชว์ลีลาเหนือคลื่นให้ดูซักสองสามรอบ เซิร์ฟสกีของเขาออกตัวรวดเร็วเผลอแป๊บเดียววิ่งปรู๊ดไปกลางทะเลแล้ว ถ้าชอบความเร็วและท้าทาย เซิร์ฟสกีเป็นอะไรที่น่าลองสักครั้งเลยนะ

รักตรัง

กันตัง

ขับรถออกมานอกเมืองตรังเหมือนตัดภาพฉากในหนัง จากย่านการค้ากลายเป็นสวนยางพาราเรียงรายหนาตาตลอดสองข้างทาง เพราะสมัยก่อนตรังคือเมืองแห่งยางพารา นำเข้ามาโดย พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ซึ่งเกิดจากการเดินทางไปดูงานแถบมลายูของท่าน

และยางพาราต้นแรกอยู่ที่กันตัง

รักตรัง

ตึกเก่าในกันตัง

รักตรัง

ศาลเจ้าฮกเกี้ยนก๋งก้วน-ม่าจ้อโป๋กันตัง

รักตรัง

ในอดีตยางพารานี่แหละทำให้กันตังกลายเป็นเมืองท่าสำคัญของภาคใต้ ธุรกิจเฟื่องฟูมากๆ กันตังจึงเป็นเมืองใหญ่ที่มีคนหลายเชื้อชาติเข้ามาอาศัย ทั้งฝรั่ง ชาวจีน มุสลิม เราเห็นภาพเก่าๆ ของกันตังจากศาลเจ้าเก่งจิวโฮยก้วน ศาลเจ้าเก่าแก่ของกันตังที่ปัจจุบันปรับปรุงอาคารด้านหน้าใหม่ชวนมองมากขึ้น แต่ถ้าเป็นศาลเจ้าเก่าแก่มากที่สุดของตรัง ต้องไปชมศาลเจ้าฮกเกี้ยนก๋งก้วน-ม่าจ้อโป๋กันตัง ที่ยังคงความคลาสสิกของอาคารไม้สองชั้นอายุกว่าร้อยปี

รักตรัง

กันตังเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีเสน่ห์ล้นเหลือ ทุกคนมาเที่ยวที่นี่ ต้องแวะถ่ายรูปสถานีรถไฟกันตัง สถานีปลายทางสุดท้ายของอันดามัน จริงๆ ถ้านั่งมาจากเมืองตรังเสียค่าตั๋วรถไฟแค่ 5 บาท ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 30 นาที

รักตรัง

มุมถ่ายรูปของหลิงเฉินคาเฟ่

เราแวะพักหลบไอร้อนกันที่หลิงเฉิน คาเฟ่ในตึกเก่าของกันตัง นอกจากกาแฟแล้ว ที่นี่มีเมนูอาหารเปอรานากันฟิวชันให้ลองอีกด้วยรวมทั้งของหวานพื้นเมืองอย่างโอ้วเอ๋วที่เป็นสูตรเฉพาะของร้านก็เย็นชื่นใจคลายร้อนได้ดีมาก

รักตรัง

สีสันงานเลิฟตรังที่ใช้ตึกร่วมสมัยเป็นฉากหลัง เปิดสเปซใหม่ๆ ให้เมือง

เลิฟตรัง

มาตรังแล้วก็ต้องเลิฟตรัง ตำนานความรักของตรังทุกคนน่าจะเคยรู้จักผ่านงานวิวาห์ใต้สมุทรที่จัดกันมายาวนานหลายสิบปีจนเป็นซิกเนเจอร์ของเมือง แต่ในวันที่โลกเปลี่ยน แม้เป็นซิกเนเจอร์ที่ทุกคนรู้จักก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน จากงานวิวาห์ใต้สมุทรจึงต่อยอดมาสู่ Love Trang 2023 by เทศกาลวิวาห์ใต้สมุทร ด้วยการจับมือกันของหลายฝ่าย ทั้งจังหวัดตรัง หอการค้าจังหวัดตรัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง เทศบาลนครตรัง YEC Trang ครีเอทงานรูปแบบใหม่ปลุกเมืองตรังด้วยความยูนีคจากความอาร์ต และเชิญชวนทุกคนมาหลงรักตรังได้ตลอด 365 วัน สร้างภาพลักษณ์ให้เมืองตรังเป็นเมืองน่าเที่ยวมากกว่าเดิม

เพราะตรังไม่ได้มีแค่ทะเล แต่ยังมีมิติอื่นให้เราตกหลุมรัก

รักตรัง

รักตรัง

มุมถ่ายรูปแบบอาร์ตๆ ของงานเลิฟตรัง

งานเลิฟตรังที่นับว่าเป็นการเปลี่ยนภาพการจัดงานวิวาห์ใต้สมุทรเป็นปีแรกจึงใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเปลี่ยนเมือง ทำให้เราเดินเมืองได้สนุกขึ้นจากการสร้างสรรค์งานอาร์ตตามจุดต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้เช็กอินและถ่ายรูป เช้าก็บรรยากาศหนึ่ง กลางคืนก็มีไวบ์อีกแบบหนึ่ง

รักตรัง

อาร์ตที่ได้แรงบันดาลใจจากผ้าทอนาหมื่นศรี

รักตรัง

Pass The Love Forward

ทุกงานอาร์ตที่สร้างสรรค์ล้วนมีความหมาย เป็นต้นว่า Live Laugh Love ข้างอาคารสิริบรรณ อุโมงค์ที่สอนให้เราเข้าใจชีวิตและความรัก ในซอยโรงแรมโกเต็งจะพบกับชิ้นงานที่สะท้อนถึงสายใยแห่งรักที่ได้แรงบันดาลใจจากผ้าทอนาหมื่นศรี ที่ซอยสมาคมฮากกา มีงานอาร์ต Pass The Love Forward นำเสนอสัญลักษณ์มงคลต่างๆ ของชาวจีนได้อย่างน่าสนใจ

รักตรัง

นิทรรศการ Love Trang : People ในสวนสาธารณะพระยารัษฎาฯ

หนึ่งในไฮไลต์ของ Love Trang 2023 by เทศกาลวิวาห์ใต้สมุทร คือนิทรรศการ Love Trang : People ในสวนสาธารณะพระยารัษฎาฯ นิทรรศการภาพถ่ายที่รวบรวมใบหน้าของชาวตรังไว้ถึง 50 คน โดย กฤษฎากร สุขมูล ช่างภาพที่อยากเล่าความประทับใจในคนตรังผ่านภาพของเขา

รักตรัง

ถามว่าคนตรังน่ารักแค่ไหน…ตอบเลยว่าน่ารักมากๆ มีความเป็นมิตรสูงมาก

เลิฟตรังอาจเป็นภาพใหม่ๆ ที่บางคนไม่คุ้นเคย แต่การเปิดเมืองตรังด้วยสีสันของงานอาร์ตในปีนี้ ถึงเป็นก้าวแรกที่เริ่มต้น เป็นก้าวใหม่และท้าทายที่เราเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนกลับมาเลิฟตรังได้อย่างไม่รู้จบ

รักตรัง

เพราะเมืองนี้เต็มไปด้วยเสน่ห์และความยูนีคจริงๆ

Tags: