LUKYANG
LUKYANG แบรนด์นักออกแบบที่เล่าเรื่องขยะและรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องใช้กระดาษรีไซเคิล
- ผลงานออกแบบของแบรนด์ LUKYANG โดยลูกยาง-วีรพล วงศ์เทวัญ ที่ชวนตั้งคำถามว่าเราต้องใช้กระดาษรีไซเคิลเท่านั้นหรือ ถึงจะเรียกว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนิทรรศการอาหารจากขยะที่ชวนให้เข้าใจวิธีการจัดการขยะได้ง่ายๆ ไม่สับสน
เรามาถึงบ้านของลูกยาง-วีรพล วงศ์เทวัญ บุคคลผู้คว้ารางวัลการออกแบบและมีผลงานการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ยัน UX/UI และทำแบรนด์ เส้นทางของเขาเริ่มต้นมาจากการจบจากสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก่อนจะพบว่าขอบเขตความสนใจของตัวเองกว้างกว่าสาขาที่เรียนมา
“ผมนิยามตัวเองเป็น Creative Designer เพราะว่าทำได้หลายอย่าง เราเอนจอยการดีไซน์ เราเข้าใจว่าสิ่งนี้ต้องเสิร์ฟผู้บริโภคแบบไหน แบรนด์ต่างๆ เขาเจอปัญหาอะไร”
การออกแบบของลูกยางมาจากความต้องการแก้ปัญหาจากโจทย์ของลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ และ Pain Point ของผู้ใช้งาน รวมถึงหลักการออกแบบที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดทั้งมวลนั้นนำไปสู่ผลงานที่ลดต้นทุนของโรงงาน ผู้ประกอบการ รวมถึงส่งเสริมการรักษ์โลกควบคู่กับตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้วย
ผลงานเด่นที่เราจะชูในวันนี้ยกมาจากหมวดผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ แต่ที่ว้าวกว่าคือลูกยางจัดนิทรรศการชื่อ ‘Waste โภชนา’ ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะในงาน Bangkok Design Week 2023 ด้วย (เก่งรอบด้านจริงๆ)
What is Eco-Design?
ลูกยางบอกว่าตั้งชื่อเพจและแบรนด์เพราะแค่จะส่งผลงานเข้าประกวด แต่ด้วยการออกแบบที่ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าและไอเดียที่โดดเด่นส่ง LUKYANG ไปไกลกว่าที่คิด
“ผมมีเพจชื่อ LUKYANG ตอนแรกตั้งใจทำผลิตภัณฑ์ขายเล่นๆ แต่กลายเป็นว่ามันติดกระแสและได้รางวัล DEmark Award แล้วมันก็ยาวมาเลย แต่เรายังยึดเส้นเรื่องหลักเป็นสิ่งแวดล้อม” ลูกยางพูดถึงเพจที่ตั้งเมื่อปี 2013 และตอนนี้กลายเป็น Eco Product Design Studio แล้วเรียบร้อย
ผลิตภัณฑ์คู่แรกของ LUKYANG มาจากขวดทดลองและหลอดทดลอง โดยใช้ขวดทดลองเป็นบรรจุภัณฑ์ ส่วนฝาเป็นถาดใส่ของกินเล่น หลอดทดลองก็เอามาทำปากกา เขาว่าการใช้อุปกรณ์ที่มีขายอยู่แล้วมาทำฝาปิดเสริมเข้าไป จะช่วยลดการผลิต ลดต้นทุน ตั้งแต่ขั้นตอนในโรงงานเลย
ผลิตภัณฑ์ต่อมาคือ ‘ปฏิทินปลูกผัก Let’s Grow Plants’ ซึ่งเปิดตัวในปี 2015 ตอนนั้นกระแสกินคลีนกับผักออแกนิกกำลังมา ลูกยางเลยทำปฏิทินใส่เมล็ดผัก วิธีใช้ก็ง่ายๆ คือฉีกปฏิทินแต่ละเดือนแล้วเอาเมล็ดข้างในมาปลูก แถมลูกยางยังจับวางพันธุ์พืชลงแต่ละเดือนอย่างตั้งใจ อาศัยถามจากแม่ผู้เป็นชาวไร่ชาวสวนว่าเดือนนี้ควรปลูกผักชนิดไหน แล้วใส่เมล็ดผักตามฤดูกาล
ลูกยางยังต่อยอดปฏิทินปลูกผักไปเป็น ‘Let’s Plant Postcard’ ปฏิทินมักเป็นที่นิยมก็เฉพาะช่วงท้ายปีที่ลูกค้าซื้อไปเป็นของขวัญปีใหม่ แต่โปสต์การ์ดปลูกผักเหมาะเป็นของขวัญน่ารักๆ ที่มอบให้คนพิเศษได้หลายโอกาส และคราวนี้วาดอาหารที่ใช้ผักชนิดนั้นๆ เป็นวัตถุดิบลงบนโปสต์การ์ดด้วย หน้าตาเลยน่าดึงดูดมากขึ้น
ปฏิทินปลูกผักกับโปสต์การ์ดได้รางวัลจากเวทีประกวดการออกแบบที่มีชื่อเสียงทั้ง DEmark Award ของไทยและ Good Design Award ของญี่ปุ่นสองปีซ้อน (ปี 2015 และ 2016) เพราะคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัด แถมแฝงคอนเซ็ปต์รักษาวัฒนธรรมอาหารไทย และเกณฑ์อื่นๆ เช่น การใช้งานจริง ความสวยงาม เป็นต้น
พอเดินสายประกวดมาเรื่อยๆ ยิ่งติดใจ ส่งผลงานไปให้กรรมการตรวจด้วยความตื่นเต้นที่มีคนคอยประเมินผลงาน ลูกยางชอบมองหาความเห็นใหม่ๆ มาพัฒนาทักษะของตัวเองเสมอ
“ผมมองว่ามันเป็นแบบฝึกหัด เราทำข้อสอบแล้วมีครูมาตรวจให้ว่าเราได้คะแนนตรงไหนบ้าง ตรงไหนที่เราบกพร่อง ในระบบหลังบ้านจะมีบอกคะแนนเรื่องความสวยงาม การใช้งาน และเกณฑ์อื่นๆ รางวัลนี้มันเป็นมุมมองของกรรมการ นั่นคือสิ่งที่เราอยากได้”
พอถามว่ารักษ์โลกจริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ ลูกยางก็ว่าคำถามยากเสียจริง (เราเองก็เห็นด้วย เพราะคิดว่าคำถามนี้ถาม 100 คนก็ได้ 100 คำตอบ) แต่สุดท้ายเขาก็เลือกคำตอบที่ว่า
“มันคือการใช้ทุกอย่างอย่างคุ้มค่า”
ลูกยางยกตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่เขาออกแบบให้แบรนด์ Noe ที่เพิ่งได้รางวัล DEmark Award 2022 ปกติแล้วการใช้วัสดุรีไซเคิลจะเพิ่มต้นทุนการผลิตให้กับโรงงานที่ไม่สามารถรีไซเคิลวัสดุได้เอง โรงงานเหล่านั้นต้องนำเข้าวัสดุรีไซเคิลจากที่อื่น พอพูดคุยถึงปัญหากันแล้ว ลูกยางเลยได้โจทย์ออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก โดยที่ไม่เอาสูตรสำเร็จด้วยการพุ่งหาวัสดุรีไซเคิลมาใช้ แล้วก็ได้กล่องกระดาษสีขาว ต้นทุนหลักหน่วยเป็นคำตอบ
“เราใช้กระดาษที่โรงงานมี ปั๊มตัวหนังสือให้เป็นรอยนูนบนกระดาษ ส่วนที่เป็นสูตรก็ทำฉลากติดแยกไป ให้เขาพิมพ์ทีเดียวล็อตใหญ่ๆ เพราะการเปิดเครื่อง 1 ครั้งใช้พลังงานเยอะ
และเราใช้สีเดียว แล้วใช้เทคนิคลดเปอร์เซ็นต์สี ตรงไหนสีอ่อนก็ใช้วิธีกระจายจุดสีเอา นี่คือเทคนิคง่ายๆ อยากบอกว่า เออ เราไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุรีไซเคิลก็ได้ แค่เราจับจุดให้ถูก ทำให้กระบวนการผลิตสั้นลง การใช้ไฟฟ้าก็ลดลง มันก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ลดต้นทุนด้วย”
ประสบการณ์ทำงานหลายปีของลูกยางช่วยให้เขารู้เรื่องราวหลังม่านของขั้นตอนการผลิตอย่างดี และวิธีการของลูกยางก็เสนอทางออกในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตั้งแต่ต้นน้ำของสายพานการผลิต นี่คือตัวอย่างการออกแบบที่จะแก้ Pain Point ของหลายๆ โรงงาน
Waste โภชนา The Series
ลูกยางมองว่า ภาพรวมของสังคมทุกวันนี้ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก แต่ในเชิงการผลิตก็ยังพัฒนานวัตกรรมกันต่อไปได้อีก พฤติกรรมของคนบางส่วนก็หันมาใส่ใจกับการเลือกซื้อข้าวของในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่ก็เปลี่ยนยากสักหน่อย ด้วยเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกันไป ลูกยางยกตัวอย่างคนที่อาศัยอยู่ในคอนโด ไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับแยกขยะ หรือคนหาเช้ากินค่ำที่อยากเก็บเงินไว้เลี้ยงปากท้องมากกว่าสะสมขยะรีไซเคิลส่งโรงงาน ซึ่งต้องเสียค่าจัดส่งเอง
คนส่วนมากเลยปรับพฤติกรรมเท่าที่ทำได้ ลูกยางเลยอยากเสริมความรู้สำหรับจัดการขยะและการใช้วัสดุในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้องผ่านนิทรรศการ Waste โภชนา
“เราคิดคอนเซปต์จากการหาจุดเริ่มต้นของขยะ แล้วนึกได้ว่า เออ อาหารเป็นจุดเริ่มต้นของการดำรงชีวิต ตื่นมาก็ต้องกินข้าว เดินไปซื้อหมูปิ้งก็เจอถุงแล้ว ก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์อาหาร
งานนี้ชื่อ Waste โภชนา Waste คือของเหลือใช้ โภชนาคือการให้ข้อมูล เราอยากให้ข้อมูลการแยกขยะและการใช้ซ้ำที่ถูกต้องและปลอดภัย”
ลูกยางตั้งใจเป็นคนหาบเร่แผงลอยที่ตระเวนให้ข้อมูลกับคนไปเรื่อยๆ นิทรรศการรอบแรกเขาร่วมมือกับร้านอาหารที่เข้าร่วมงาน Bangkok Design Week 2023 เหมือนกัน เลยออกมาเป็นเมนูเด็ดร้านนั้นๆ ส่วนครั้งที่ 2 จัดอยู่ในไปรษณีย์กลาง ธีมคือตลาดที่มีร้านอาหาร 3 ร้านด้วยกัน โดยมีร้านยายนิดขายขนม ร้านป้าใจขายข้าวกล่อง และร้านลุงยิ้มขายลูกชิ้นปิ้งกับเกี๊ยวทอด
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้กันทุกวันมีอยู่เยอะมาก อย่างถุงทนร้อนทนเย็นก็ใช้ผิดประเภท บางคนก็เอาปากกาเมจิกไปเขียนบนถุง ซึ่งลูกยางบอกว่าไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะหมึกปากกาบางยี่ห้อกับตัวถุงที่โดนความร้อนจะเกิดประจุบวก ทำให้หมึกซึมเข้าไปได้ ถึงใช้ถุงทนร้อนแต่ก็ได้กินโจ๊กเปื้อนสารเคมีอยู่ดี
ส่วนเรื่องการแยกขยะ บางคนก็เข้าใจว่าทิชชู่ทิ้งลงถังขยะรีไซเคิล เพราะเป็นกระดาษ แต่ความจริงแล้วมันคือขยะทั่วไป บิลก็มีหลายประเภท จะทิ้งลงถังรีไซเคิลทั้งหมดไม่ได้ ลูกยางก็เลยช่วยไกด์วิธีแยกให้ละเอียด จนลึกถึงกระดาษแต่ละประเภทเลย ด้วยการนำเสนอประเภทของกระดาษผ่านขนมร้านยายนิด
ตัวลูกยางเองก็แยกกระดาษขายเลยรู้ว่า เรตราคาของกระดาษแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เนื่องจากขั้นตอนการรีไซเคิลที่ซับซ้อนต่างกัน อย่างกระดาษขาวสามารถนำไปรีไซเคิลเป็น A4 ได้อีก ราคาจึงสูงกว่ากระดาษประเภทอื่นที่ไม่ผ่านการฟอกขาว เขากระซิบบอกด้วยนะว่าวิธีนี้เป็นวิธีแยกขยะที่ดีต่อใจ ทั้งได้จัดการขยะรีไซเคิล ทั้งได้เงินด้วย
Waste โภชนาคือนิทรรศการให้ความรู้ที่ดึงดูดคนได้เยอะทีเดียว ลูกยางเอาศิลปะมาผูกกับเรื่องวิชาการให้คนรับข้อมูลได้ง่ายขึ้น หลายคนที่เดินผ่านนิทรรศการก็เข้ามาชวนลูกยางคุย จังหวะนั้นเขาก็อาศัยใช้ป้ายข้อมูลที่ทำไว้บอกวิธีการจัดการที่แนะนำและไม่แนะนำ พร้อมอธิบายเหตุผล
ส่วนตัวจุดบทสนทนาก็เป็นคำถามง่ายๆ อย่าง นี่ไม่ใช่ลูกชิ้นของจริงเหรอ เพราะผลงานในนิทรรศการมาจากกระดาษรีไซเคิล ถุงช็อปปิ้งที่ทำจากกระดาษ ดอกดาวเรือง เศษยางพาราและเปลือกโกโก้จากโรงงาน และอื่นๆ อีกมากมายเท่าที่พื้นที่บ้านของลูกยางเก็บสะสมไหว (เสียดายที่ไม่ได้เก็บภาพคลังแสงของลูกยางมาฝาก เพราะเจ้าของบ้านดูจะเขินกับปริมาณของสะสมที่แน่นจนล้น)
ลูกยางมีงานอดิเรกวนเวียนอยู่กับการเล่นวัสดุใกล้มือมาตั้งแต่ไหนแต่ไร บางทีก็ลองเอาดอกไม้เอาขมิ้นมาทำสี นิทรรศการนี้เลยต่อยอดมาจากความชอบของเขาเอง นอกจากนั้น คือนิสัยใช้ของจนคุ้มที่ได้มาจากแม่ผู้เปิดร้านโชว์ห่วย เธอเก็บถุงพลาสติกในชีวิตประจำวันมาใช้ในร้านแทนการซื้อถุงใหม่ (ฟังถึงตรงนี้เราก็แซวเล็กน้อยว่าลูกยางลูกนี้หล่นใกล้ต้นนะ)
ลูกยางกำลังจะเข้าร่วม Bangkok Design Week 2024 เขาว่านอกจากนิทรรศการก็จะจัดเวิร์กช็อปต่อยอดจากเวิร์กช็อปสีน้ำที่เคยจัด โดยเขาเอาดอกไม้จากสวนที่บ้านกับอาหารหมดอายุมาทำสี แต่ก่อนหน้านั้นลูกยางจะไปจัดนิทรรศการที่ Chiang Mai Design Week ที่กำลังจะจัดในเดือนธันวาคมและซีรีย์ Waste โภชนา จะจบลงในครั้งที่ 3 นี้
หลังจากนี้จะมีอะไรอีกบ้างก็ต้องติดตามกันต่อไป เจ้าตัวระบุว่ามีไอเดียอีกมาก นิทรรศการครั้งหน้าอาจเปลี่ยนหัวข้อจากการจัดการขยะ เป็นการจัดการมลพิษทางน้ำโดยมีตลาดน้ำเป็นตัวเล่าเรื่องก็ได้
นี่ไม่ได้สปอยล์นะ แค่ยั่วให้อยากรู้ต่อ 🙂
ติดตามผลงานของเขาได้ที่เพจ LUKYANG