About
TRENDS

'นิยมหรู' โจทย์ท่องเที่ยวแห่งอนาคต

‘นิยมหรู’ โจทย์ท่องเที่ยวแห่งอนาคต

เรื่อง โอเมก้า ภาพประกอบ ANMOM Date 10-02-2021 | View 4289

ใครๆ ก็อยากใช้ชีวิตแบบ 'หรูหรา' ได้กินอาหารดีๆ ท่องเที่ยวสถานที่สุดพิเศษ หรือทำกิจกรรมเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งความหรูหราของแต่ละคนนั้นต่างก็มีนิยามที่แตกต่างกัน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่เทรนด์การท่องเที่ยวหรูหรา (Luxury Travel) เพราะจำนวนประชากรที่มีฐานะมั่งคั่งเพิ่มขึ้นทั่วโลก
  • ทำความรู้จักกับนักท่องเที่ยวนิยมหรูทั้ง 6 ประเภท ที่จะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต
  • ภาคธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการนำเสนอสินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวหรูรุ่นใหม่ ซึ่งมีความต้องการแตกต่างกัน

รายงาน Future Traveller Tribes 2030 : Understanding Tomorrow’s Traveller highlights ของ Amadeus ระบุว่า ตอนนี้โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่เทรนด์การท่องเที่ยวหรูหรา (Luxury Travel) เนื่องจากประชากรที่มีฐานะมั่งคั่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก

บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพยายามเสาะหาผลิตภัณฑ์และบริการการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มมั่งคั่งหน้าใหม่ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาความรู้สึกของการเป็นคนพิเศษให้อยู่ในใจลูกค้าหรูดั้งเดิม ซึ่ง 2 กลุ่มนี้มีความต้องการแตกต่างกัน

Luxury Travel

เทรนด์ท่องเที่ยวหรูมาแรง

ข้อมูลจากรายงานของ Amadeus พบว่า การท่องเที่ยวแบบหรูหราขยายตัวเฉลี่ย 4.5% ระหว่างปี 2554-2558 สูงกว่าการท่องเที่ยวโดยรวมที่โตขึ้น 4.2% และความนิยมเที่ยวหรูจะยังคงดำเนินต่อไป แม้โลกจะเผชิญบททดสอบทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย

โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกมีจำนวนนักท่องเที่ยวหรูหราคิดเป็นสัดส่วน 64% ของตลาดท่องเที่ยวหรูในต่างประเทศ (outbound) ทั้งที่มีประชากรเพียง 18% ของทั้งโลก ส่วนตลาดท่องเที่ยวหรูในเอเชียแปซิฟิกขยายตัวรวดเร็วกว่ายุโรปในช่วงปี 2554-2568 แต่จะลดความหวือหวาลงระหว่างปี 2558-2568

เป็นที่คาดการณ์กันว่าในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ อัตราการเติบโตของการท่องเที่ยวหรูในต่างประเทศจะอยู่ที่ 6.2% ซึ่งมากกว่าการท่องเที่ยวโดยรวมที่ 4.8%

เที่ยวแบบไหนเรียก ‘หรูหรา’

เมื่อแยกลูกค้าตามพฤติกรรมความหรู จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.กลุ่มให้รางวัลกับชีวิต (Reward Hunters) 2.กลุ่มเรียบง่าย-ไม่ยุ่งยาก (Simplicity Searchers) และ 3.กลุ่มที่ภารกิจต้องมาก่อน (Obligation Meeters)

ทั้ง 3 กลุ่มนี้สะท้อนถึงความเป็นนักเดินทางนิยมหรูรุ่นใหม่ ที่มีความต้องการหรูหราแบบลงลึกเฉพาะบุคคล กลายเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ มีความเฉพาะกลุ่ม (niche) และปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น

แตกต่างจากอดีตที่ความหรูหรามักมีรูปแบบตายตัว โดย 3 กลุ่มนี้ มีความแตกต่างกันบางประการ อาทิ

Luxury Travel1.กลุ่มให้รางวัลกับชีวิต จะนิยมทำตามใจตัวเอง เน้นไปที่การพัฒนาตัวเองและสุขภาพที่ดี เป็นการให้รางวัลกับตัวเองหลังทำงานอย่างหนัก คนกลุ่มนี้มองหาประสบการณ์หรูหราที่เหนือกว่าชีวิตประจำวัน

Luxury Travel2.กลุ่มเรียบง่าย-ไม่ยุ่งยาก กลุ่มนี้มักหลีกหนีความปวดหัวจากการวางแผนเดินทางและท่องเที่ยววันหยุด หันไปพึ่งมืออาชีพมาช่วยตัดสินใจแทน จะได้ไม่ต้องค้นหาข้อมูลและเตรียมการเองทั้งหมด

business traveller3.กลุ่มภารกิจต้องมาก่อน เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายหลักที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อทางธุรกิจ การร่วมกิจกรรมทางศาสนา พิธีแต่งงาน หรือนัดรวมญาติ แต่คนกลุ่มนี้จะเพิ่มกิจกรรมที่อยากทำเข้าไปด้วย

ความหรูหราแห่งอนาคต

ลูกค้าหรูทั้ง 3 กลุ่มหลักข้างต้น สามารถแบ่งแยกย่อยเป็นพลพรรคนักเดินทางนิยมหรู (Luxury Traveller Tribes) ได้อีก 6 ประเภท ซึ่งว่ากันว่า จะมีบทบาทอย่างมากในธุรกิจท่องเที่ยวอนาคต โดยนิยามตามพฤติกรรม ความสนใจ และระดับความมั่งคั่งที่แตกต่างกัน

1.หรูตลอดกาล (Always Luxury) มีสัดส่วนราว 4% เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับคนหรูเผ่านี้ เพราะความหรูหราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมเข้ามา พวกเขาจะนั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สต์คลาสหรือเครื่องบินส่วนตัว พักในห้องที่ดีที่สุดของโรงแรม และปล่อยให้มืออาชีพมาช่วยจัดตารางการเดินทาง คนกลุ่มนี้แตกต่างกับกลุ่มอื่นตรงที่จะไม่เปลี่ยนใจและไม่เปลี่ยนไปอยู่กลุ่มอื่น

Luxury Travel

2.หรูในโอกาสพิเศษ (Special Occasion) มีสัดส่วน 20% กลุ่มนี้แม้จะฐานะดี แต่ก็ต้องการ “Wow Factor” พวกเขาอาจจะใช้แต้มสะสมในการอัพเกรดที่นั่งโดยสาร มองหาประสบการณ์ดินเนอร์สุดพิเศษ และปรนเปรอตัวเองด้วยสปาหรู แต่ก็พร้อมจะลดความสะดวกลงหากจำเป็น เพื่อแลกกับประสบการณ์ล้ำค่า

Luxury Travel

3.เที่ยวหรูควบคู่ทำงาน (Bluxury) เป็นการผนวกระหว่างธุรกิจกับการพักผ่อนแบบหรูหรา มีสัดส่วน 31% เพราะความอาวุโสและเงินเดือนที่มากพอ จะขยายให้ทริปเดินทางติดต่อธุรกิจกลายเป็นทริปพักผ่อนสุดหรูได้ด้วย เช่น เดินทางติดต่อธุรกิจที่กรุงไนโรบีของเคนยาพร้อมกับพาครอบครัวไปเที่ยวซาฟารี

4.รวยเงิน-จนเวลา (Cash-rich, Time-poor) มีสัดส่วน 24% แผนของกลุ่มนี้มักเปลี่ยนไปในนาทีสุดท้าย เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ดังนั้นพวกเขาจึงซื้อตั๋วแบบปรับเปลี่ยนได้และมักพึ่งพามืออาชีพมาช่วยวางแผนการเดินทาง

Luxury Travel

5.รวยออกสื่อ (Strictly Opulent) มีสัดส่วน 18% กลุ่มนี้คัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดและประสบการณ์เดินทางสุดอลังการ ที่สำคัญ การแชร์เรื่องราววันหยุดสุดหรูบนโลกโซเชียลเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์ที่คนกลุ่มนี้ต้องการออกสื่อ

6.รวยแบบไม่ผูกมัด (Independent & Affluent) มีสัดส่วนราว 3% คนกลุ่มนี้จะเลือกเดินทางหรูก็ต่อเมื่ออยากปรนเปรอตัวเอง หรือลองอะไรใหม่ๆ และการไม่ผูกมัดกับอะไร ก็ทำให้มีอิสระที่จะเลือก อยากเดินทางคนเดียวหรือไปกับเพื่อนสนิทแค่ไม่กี่คน พวกเขาอาจมองหาจุดหมายปลายทางที่เหมาะสำหรับนักเดินทางคนเดียว และตัวเลือกที่ช่วยให้พบปะผู้คนใหม่ๆ

Luxury Travel

การท่องเที่ยวหรูหรายุคใหม่จะดึงดูดให้ภาคธุรกิจเข้าใจบทบาทของตัวเองท่ามกลางวงจรการเดินทางของลูกค้า รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความรู้สึกและความต้องการของลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนิยมหรูที่มีความต้องการแตกต่างกัน


ที่มา : รายงาน Shaping the Future of Luxury Travel Future Traveller Tribes 2030

Tags: