

The Circle of Friends
Madi bkk ไลฟ์สไตล์คาเฟ่จากซากตึกเก่าที่เนรมิตใหม่จนกลายเป็น Circle of Friends
- Madi bkk คาเฟ่ที่เริ่มจากความชอบ และเซนส์ความรู้สึกแรกของสองสาวเพื่อนสนิท ต่อยอดเป็นธุรกิจแรกด้วยคอนเซ็ปต์ Circle of Friends ภายใต้ความเชื่อที่ว่า คนที่ชื่นชอบแบบเดียวกันจะดึงดูดเข้าหากันได้ดี
- ชั้นสองของคาเฟ่ คือโซน Creator Hub พื้นที่ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ ทั้งคู่ตั้งใจเปิดโอกาสให้คนที่อยากจัดแสดงศิลปะไม่ว่ารูปแบบใดก็ได้ลุกขึ้นมาครีเอท ทดลองพื้นที่ส่วนนี้เพื่อพรีเซนท์ความเป็นตัวเองได้เต็มที่
การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ถ้าความรู้สึกแรกมันบอกว่า ใช่! แถมโอกาสดันปูทางว่า ได้! เสียงกระซิบในใจฟ้องว่า ถึงเวลาแล้วนะที่จะทำสิ่งที่ชอบ ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์นี้ คุณจะเลือกไปต่อหรือถอยหลัง
เราขอพาทุกคนย้อนเวลากลับไปยังช่วงล็อกดาวน์โควิดช่วงแรกๆ ในประเทศไทยกันสักหน่อย จำได้ว่าธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มต่างปรับรูปแบบการขายให้เป็นเฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น กิจการหลายแห่งกลับต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย ใครๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงนั้นไม่เหมาะที่จะเสียเงินก้อนโตไปกับการลงทุน
แต่แล้ว… หนึ่งสิ่งที่สวนทางกับคำพูดนั้นคือ การเกิดใหม่ของคาเฟ่เล็กๆ ปากซอยเจริญกรุง 43 ที่เพิ่งสร้างเสร็จในช่วงนั้นพอดีนามว่า ‘Madi’ หรือ ‘มาดิ’ ความอึ้งจึงบังเอิญ เพราะนอกจากจะกล้าเปิดร้านในช่วงนั้น นี่ยังเป็นการทำธุรกิจครั้งแรกของสองสาวเพื่อนสนิท จี๊ป-สาธิยา ศิริพจนากร และ เมย์-เมธิกานต์ ขวัญเมือง ที่จับมือออกจากงานประจำทั้งคู่มาต่อยอดทำคาเฟ่ ถ่ายทอดทุกความชอบของพวกเธอทั้งหมดไว้ที่นี่ที่เดียว ("กล้ามาก" เมย์แซวไปหัวเราะไป)
เพราะอะไรที่ทำให้ Madi bkk ยืนหยัดท่ามกลางสถานการณ์นั้นๆ มาได้ มาฟังเรื่องราวของคาเฟ่ผ่านคู่ซี้จี๊ปและเมย์กัน

จี๊ป-สาธิยา ศิริพจนากร และ เมย์-เมธิกานต์ ขวัญเมือง
‘ความรู้สึกแรก’ บอกว่าใช่!
ช่วงสถานการณ์โควิดระบาดใหม่ๆ เป็นช่วงที่ทั้งคู่ออกจากงานประจำแล้ว จี๊ปและเมย์นั่งคุยกันด้วยความรู้สึกว่า อยากทำอะไรที่ยังไม่เคยทำ ซึ่งข้อสรุปออกมาเป็นความคิดเห็นตรงกันว่า อยากเปิดคาเฟ่แกลเลอรี

จี๊ป-สาธิยา ศิริพจนากร
“เราอยากเปิดเป็นไลฟ์สไตล์คาเฟ่ เพราะเวลาไปต่างประเทศ พวกเราชอบแวะไปคาเฟ่กันอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช่แบบร้านกาแฟจ๋าๆ ก็เป็นร้านที่มีไลฟ์สไตล์ด้วย เราก็เลยอยากเปิดคาเฟ่ที่มีไลฟ์สไตล์ มีโปรดักส์ ข้างบนโชว์งานศิลปะ มันเต็มไปด้วยความกลมกล่อมที่พวกเราชอบ” จี๊ปเริ่มต้นบทสนทนา
จี๊ปและเมย์เดินหาโลเคชั่นแถวเอกมัย เมย์เล่าว่าตอนไปเห็นเหมือนใจเธอและจี๊ปบอกว่าที่นี่ยังไม่ใช่ กระทั่งมีคนแนะนำให้มาดูแถวเจริญกรุง มาดูที่นี่ สภาพในตอนนั้นคือตึกและซากปูนเก่าที่อยู่มา 10 ปี ทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ช่วงระหว่างที่ทั้งคู่ยืนดูอยู่นั้น ภาพในหัวของเมย์และจี๊ปกลับมองเห็นร่องรอยว่าที่คาเฟ่ของพวกเธอ ช่วงวินาทีนั้นเองที่ฟิลลิ่งแรกของทั้งคู่ตะโกนออกมาพร้อมกันว่า ใช่! พวกเธออยากทำคาเฟ่ที่นี่
มาดิคาเฟ่ ตกแต่งในสไตล์สแกนดิเนเวียน ผสมผสานความเป็นนอร์ดิกกับมินิมอลเป็นหลักที่มาจากความชอบของคู่ซี้เพื่อนสนิท โดยค่อยๆ ปรับปรุงและเติมใส่ลงไปเรื่อยๆ จนกว่าฟิลลิ่งทั้งคู่จะบอกว่าใช่! พวกเธอจะหยุดทันที
“เพราะเราต้องมาร้านทุกวัน เราเลยต้องรู้สึกว่า ที่นี่คือที่ๆ เป็นของเรา เราชอบ เรามาอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ” จี๊ปบอกด้วยรอยยิ้ม
คนแบบเดียวกันจะเข้าหากัน
คอนเซ็ปต์ของมาดิ คือ Circle of Friends ทั้งจี๊ปและเมย์พูดพร้อมกันว่า “มันเริ่มจากพวกเรากันก่อน” ด้วยความที่เป็นเพื่อนกัน พวกเธอเชื่อว่าคนที่ชอบแบบเดียวกันมักจะถูกดึงดูดให้เข้าหากันจนเป็นเพื่อนกัน
จี๊ปเล่าให้ฟังว่า “ตอนสร้างร้าน พวกเราก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ทั้งในส่วนของบาร์และกาแฟ หรือแม้แต่ตอนได้อินทีเรียร์ที่มาช่วยดึงไอเดียจนออกมาเป็นตัวพวกเราได้ขนาดนี้ ก็มาจากเพื่อนเราที่แนะนำกันมา เราเลยเชื่อในวงกลมของเพื่อน เพื่อนในแบบเดียวกัน มันต่อยอดกันได้”
“ตั้งแต่เปิดร้านมาลูกค้าที่เข้ามาประจำๆ ตอนนี้ก็กลายเป็นเพื่อนเราไปแล้ว” เมย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่นี่ล้วนเกิดจากความชอบของพวกเธอ และเพื่อนๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือจนทำให้มาดิคาเฟ่มีตัวตนมาถึงทุกวันนี้

แด่ว่าที่ศิลปินและศิลปิน…
สิ่งที่ทำให้เราสะดุดตาจนต้องถามออกไปคือคำว่า Creator Hub ที่แปะบนผนังกำแพงพื้นขาวหน้าทางขึ้นไปยังพื้นที่ปลดปล่อยงานศิลปะชั้นสองของคาเฟ่ เราถามทั้งคู่ว่าคำนี้แตกต่างจากคำว่า แกลเลอรี อย่างไร
จี๊ปเล่าว่า “แกลเลอรี เป็นคำที่มีขอบเขตและหน้าที่ชัดเจนในตัวของมันอยู่แล้ว เลยเหมือนเป็นการบล็อคไอเดีย แล้วยังเป็นคำที่ให้ความรู้สึกสงบ ซึ่งต่างจากเนเจอร์ของเรา Creator Hub จึงเกิดจากความต้องการและความเชื่อที่ว่า คนเราสามารถครีเอทอะไรก็ได้ เปลี่ยนแปลงพื้นที่นี้ให้เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ จะเป็นพื้นที่เวิร์กช็อป หรือเปิดเป็นตลาดขายของเก่าก็ได้” เธอและเมย์ยังรู้สึกว่าคำๆ นี้สามารถเรียกคนสายครีเอทแบบเดียวกันมาจอย หรือคนชอบแบบเดียวกันมาพบเจอกันได้
พื้นที่นี้เป็นของทุกคน ทั้งคู่บอกว่า ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง ทุกคนก็สามารถจัดแสดงงานได้ จี๊ปและเมย์มองว่าประเทศไทยมีพื้นที่ให้กับศิลปินที่มีชื่อเสียงเยอะมาก ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ๆ ให้ความสนใจต่องานศิลปะมากขึ้นทุกวัน พวกเธอจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดพื้นที่ให้ใครก็ตามได้มาจัด
“เพราะเราเชื่อว่าตัวงานมันไม่มีไม่ดีหรอก มันมีแต่ดี”
จี๊ปเสริมอีกว่า พื้นที่ชั้นสองนี้เราสามารถสร้างสรรค์ เพื่อพรีเซนท์ความเป็นตัวเองได้เต็มที่ และแม้พื้นกำแพงจะเป็นโทนขาวทั้งหมดก็อย่าบล็อกความคิดตัวเอง ทดลองทุกอย่างตามสบาย ถ้ามันไม่ fin it ก็แค่เปลี่ยน

เมย์-เมธิกานต์ ขวัญเมือง
มาดิคาเฟ่ เปิดรับศิลปะทุกแขนง เพียงแค่เข้ามาพูดคุย พวกเธอจะเลือกจากความชอบและความเชื่อ “พวกเรายึดแนวคิดนี้ตั้งแต่เริ่มทำคาเฟ่
คือถ้ามันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบจริงๆ เราจะขายยังไงล่ะ เราขายคนอื่นไม่ได้หรอก กับผลงานศิลปะชั้น 2 ถ้าเราไม่ได้รู้สึกอะไร เราจะมาพูดให้คนเข้ามาดูมันก็…เชียร์ไม่ได้นะ” เมย์เล่าเสริมถึงการเลือกผลงานให้เราได้มองเห็นแนวคิดของพวกเธอมากขึ้น ซึ่งเรารู้สึกว่า นี่คือความจริงใจที่ทำให้เราเชื่อว่า ทุกอย่างพวกเธอใส่ใจมากจริงๆ
ต้นทุนอย่าได้แคร์!
แม้แต่เครื่องดื่มและเบเกอรี่ก็เช่นกัน ถึงจะเป็นฝีมือจากเพื่อนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่พวกเธอต้องขอชิมก่อนเพื่อใช้ความชอบตัดสินอีกเช่นกัน ดังนั้นทุกเมนูในร้านพวกเธอจะลงทุนเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ดีแม้ราคาสูงก็ตาม เพราะกินแล้วอร่อย เลยอยากให้ทุกคนที่มาได้ลิ้มรสอร่อยไปด้วยกัน

Truffle Mushroom Pie (135 บาท)
จี๊ปและเมย์ยกเมนูพายสองอย่างซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของร้านมาเสิร์ฟ อย่างแรกคือ Truffle Mushroom Pie (135 บาท) สิ่งที่ทำให้พายชิ้นนี้โดดเด่นไม่เหมือนใครคือ ตัวไส้เห็ดทรัฟเฟิล ที่มีกรรมวิธีการปรุงในแบบเฉพาะของร้าน จึงสามารถดึงรสชาติตัวเห็ดออกมาได้เข้มข้น กลมกล่อม เข้ากันได้ดีมากกับแป้งพาย

Giant Sausage Pie (135 บาท)
Giant Sausage Pie (135 บาท) ตัวไส้กรอกเนื้อแน่น หนังกรอบ รสชาติเข้มข้น จี๊ปบอกว่า พวกเธอเน้นใช้วัตถุดิบอย่างดี ไส้กรอกตัวนี้จึงเป็นเกรดคุณภาพส่งออกญี่ปุ่นซึ่งรสชาติดีมากๆ อยากให้ได้ลอง และที่น่าประทับใจสุดคือตัวแป้งพายของทั้ง 2 เมนู ซึ่งกรอบมากๆ แถมยังส่งกลิ่นหอมเนยที่เราว่าใครได้กินจะต้องรู้ทันทีว่าเป็นเนยที่มากคุณภาพ
มาในส่วนของกาแฟ มาดิคาเฟ่เลือกใช้เมล็ดกาแฟเบลนด์คุณภาพ เพื่อนำมาชงเป็นกาแฟนมก็ดี ทำกาแฟดำก็ปัง เป็นความตั้งใจของจี๊ปและเมย์ที่อยากให้เมล็ดกาแฟของร้านสามารถนำไปชงแบบไหนก็ได้ อย่างเมนู Madi Culture Coffee (120 บาท) เมย์บอกว่าใช้นมราคาสูงเพราะสามารถช่วยชูกลิ่นอโรม่าของเมล็ดกาแฟได้หอม กลมกล่อม และนุ่มนวล
Yuzu Americano by MR.B (150 บาท) สูตรกาแฟดำผสมน้ำส้มยูซุที่เพื่อนของจี๊ปและเมย์คิดค้นขึ้นเอง แถมยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มยอดฮิตของร้านด้วย สำหรับสายกาแฟที่ต้องการความเฟรช แก้วนี้ตอบโจทย์สุด
นอกจากนี้ทางร้านยังมีไวน์บาร์ และดีเจอีกด้วยนะ ซึ่งก็ต่อยอดมาจากความช่างพูดคุยของพวกเธอกับเพื่อนๆ ลูกค้าและผู้คนใหม่ๆ รวมถึงความชอบของพวกเธอเองด้วย เป็นคาเฟ่ที่ครบรสครบเครื่องมาก
ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ มาดิคาเฟ่เดินทางมาถึง 1 ปี 5 เดือน นับเป็นธุรกิจแรกที่สร้างความสุขให้กับทั้งคู่แม้ว่ารายได้จะไม่มากเท่างานเก่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้คาเฟ่อยู่ตัวได้ถึงทุกวันนี้ อย่างแรกคือความสัมพันธ์ ‘เพื่อน’ ที่ดีต่อกันระหว่างจี๊ปและเมย์ พวกเธอบอกกับเราว่า สิ่งสำคัญของการเป็นเพื่อนกันคือ การเปิดใจพูดคุยแบบไม่ปิดบังกัน ฟัง สังเกต และต้องแคร์ต่อกัน
ส่วนอย่างที่สอง คือแนวคิดของพวกเธอเองที่ให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะความเชื่อว่า ‘ไม่มีอะไรที่ลองไม่ได้’ ถ้าลองแล้วไม่ใช่แนวก็อย่าฝืน หรือลองแล้วรู้สึกใช่ ก็ลุยต่อ เพราะชีวิตมันสั้น อะไรที่เป็นความสุขทำไปเถอะ
เส้นทางของมาดิคาเฟ่ก็เช่นกัน จี๊ปและเมย์รู้สึกว่ายังสามารถต่อยอดได้อีกไกล และในวันข้างหน้า พวกเธอจะใช้ความรู้สึกแรกและความเชื่อ นำพากิจกรรมหรือไอเดียแปลกใหม่เข้ามาในร้านแน่นอน
Madi bkk คือคาเฟ่ที่ให้ความรู้สึกเซฟโซนและดีต่อใจ แถมยังมอบความเฟรนด์ลีจากงานศิลปะ ขนม เครื่องดื่ม บาริสต้า รวมถึงรอยยิ้มเจ้าของร้านที่เรารู้สึกถึงความเป็นมิตร นี่ล่ะที่เรามองว่าคือจุดยืนของ Madi bkk คาเฟ่ของเพื่อนเพื่อเพื่อนและเป็นที่ที่เราจะได้เพื่อนกลับไป…รับประกันด้วยคำชมมากมายจากทุกคนที่เคยมาแล้ว

Madi bkk
ปากซอยเจริญกรุง 43 แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ
เปิด-ปิด : 10:00-17:00 น. ปิดวันจันทร์
Madi Wine Bar เปิด วันอังคาร-วันอาทิตย์ 18:00-00:00 น.