About
DETOUR X Chiang Mai

ปลูกผักเปลี่ยนคน

ทักทาย ‘แม่ทา ออร์แกนิค’ ผู้ปลูกผักเพื่อเปลี่ยนใจคน ให้หลงรักวิถีอินทรีย์

แฟนคลับอาหารคลีนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ แม่ทา ออร์แกนิค ผู้ผลิตผักปลอดสารพิษ ที่ส่งขายทั้งในห้างใหญ่อย่างท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต เลมอนฟาร์ม และตลาดเจเจมาร์เก็ต เชียงใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อนี้เป็นมากกว่าเครื่องหมายรับประกันของอาหารปลอดภัย เพราะเบื้องหลังของ แม่ทา ออร์แกนิค เต็มไปด้วยพลังของชุมชนที่สามารถเปลี่ยนวิถีเกษตรเคมีให้เป็นเกษตรอินทรีย์ได้ ‘ทั้งตำบล’

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • แม่ทา ออร์แกนิค คือ กลุ่มเกษตรกรในตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทำเกษตรแบบอินทรีย์มากว่า 30 ปี จำหน่ายอาหารปลอดภัย และเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของไทย
  • เกษตรกรรุ่นใหม่หรือคนที่มุ่งมั่นอยากทำเกษตรอินทรีย์ สามารถเรียนรู้และลงมือทำจริงได้ที่ ‘ข่วงชีวิต วิถียั่งยืน แม่ทา’ ห้องเรียนกลางแจ้งที่จะได้ทดลองทำเองในทุกกระบวนการจากเกษตรกรตัวจริง
  • เรียนรู้เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท เชียงใหม่ เมล็ดพันธุ์เล็กๆ แต่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

ตำบลแม่ทา อยู่ในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนท่ามกลางขุนเขาอยู่ติดกับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน (ชื่อแม่ทาเหมือนกัน มีพื้นที่อยู่ติดกัน แต่ไม่ใช่ที่เดียวกัน) ชาวบ้านที่นี่ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ในปี 2529 หรือตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ของกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กำลังสานต่ออยู่ในปัจจุบัน

แม่ทา ออร์แกนิคตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันหลายรูปแบบ ทั้งสถาบันพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา วิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค และสหกรณ์เกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา ทั้งยังมีการร่วมมือกับหลายองค์กร ทำให้เกิดเป็นโครงการต่างๆ เช่น ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท เชียงใหม่ โครงการพื้นที่วิถีชีวิตที่ยั่งยืนแม่ทา ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเรียกว่า ข่วงชีวิต วิถียั่งยืน แม่ทา รวมไปถึงการรวมตัวกันเองของชาวบ้านเปิดเป็น ร้านแม่ทา ออร์แกนิค คาเฟ่ และเพจผักออร์แกนิคแม่ทา ที่เป็นช่องทางขายผักออนไลน์ผักเกษตรอินทรีย์ฟังแล้วอาจสับสน สรุปแล้วศูนย์กลางของ แม่ทา ออร์แกนิค อยู่ที่ไหนกันนะ อย่างไรก็ดี ชื่อกลุ่มอาจไม่ใช่หัวใจสำคัญ เพราะสมาชิกในทุกกลุ่ม ทุกโครงการ ล้วนเป็นชาวบ้านในตำบลแม่ทา และทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกัน จึงสามารถเรียกรวมๆ อย่างที่พวกเขามักเรียกตัวเองมาตลอดว่า ‘กลุ่มแม่ทา ออร์แกนิค’

รุ่นหนึ่ง : หว่านเมล็ด

การก่อตั้ง แม่ทา ออร์แกนิค ต้องยกเครดิตให้ พ่อพัฒน์ อภัยมูล ผู้นำเกษตรยั่งยืนของชุมชนแม่ทา ได้ปรับเปลี่ยนจากวิถีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีมาสู่วิถีการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยเริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยนในช่วงปี 2529 ใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี จึงประสบผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ถือเป็นจุดเริ่มให้คนอื่นๆ เริ่มปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับในอดีตชาวบ้านใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในการทำเกษตร จนมีการตรวจพบสารพิษในเลือด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ เมื่อปัญหาส่งผลรุนแรงและชัดเจน ชาวบ้านจึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร ทั้งเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน และเลิกใช้สารเคมีมาปลูกแบบอินทรีย์แทน

ถั่วออร์แกนิค

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่เกษตรกรรุ่นลูกได้รับไม้ต่อจากพ่อแม่ แถมมีการนำความรู้และไอเดียใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้

ทำให้ตอนนี้กลุ่มแม่ทา ออร์แกนิค ไม่ใช่เพียงผู้ปลูก แต่ยังเป็นผู้ขายส่งตรงถึงผู้บริโภค และไม่ได้ขายแค่ผักผลไม้ แต่ยังขายอาหารเมนูสุขภาพ ที่สำคัญ ได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อยากกลับบ้าน เพื่อสานต่อและพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง

 

รุ่นสอง : งอกงาม

แม่ทากลายเป็นห้องเรียนชีวิต และกลุ่มแม่ทา ออร์แกนิค ก็กลายเป็นผู้ส่งต่อความรู้ให้คนที่สนใจ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้านไปทำเกษตรด้วยตัวเอง โดยมีศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่ ข่วงชีวิต วิถียั่งยืน พื้นที่เกษตรขนาด 9 ไร่ หากไม่มีคนมาเรียนรู้ พื้นที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งเพาะปลูกของกลุ่ม ปลูกพืชผักตามฤดูกาล และขายผลผลิตนำเงินมาพัฒนาพื้นที่

แต่หากมีคนมาเรียนรู้ ที่นี่จะกลายเป็นสนามเรียนรู้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิคการปลูกข้าว ผัก ผลไม้ การเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา การทำปุ๋ยอินทรีย์ การใช้ธรรมชาติไล่แมลง การจัดการน้ำ การแปรรูป และการเก็บเมล็ดพันธุ์ นำไปสู่การพึ่งพาตัวเองและความมั่นคงทางอาหารแม่ทา ออร์แกนิคนอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ถูกจัดสรรในรูปแบบของ Land Trust คือ ให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนที่สนใจทำการเกษตร แต่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง หรือมีไม่เพียงพอ เข้ามาใช้ที่ดินแบบระยะยาวโดยไม่เสียค่าเช่า แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำเกษตรอินทรีย์เท่านั้น เน้นการบริโภคในครอบครัว หรือถ้ามีผลผลิตเหลือจะต้องจัดการผลผลิตผ่านวิสาหกิจชุมชน

อั๋น-อภิศักดิ์ กำเพ็ญ สมาชิกกลุ่มแม่ทา ออร์แกนิค และผู้ประสานงาน ‘ข่วงชีวิต วิถียั่งยืน’ ย้ำว่า สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ เขาหวังให้เกษตรกรรุ่นใหม่เป็นคนเริ่มต้น และเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นต่อๆ ไปเหมือนที่ตัวเขาได้รับมาอั๋นกับปุ้ยเช่นเดียวกันกับ ปุ้ย-มัทนา อภัยมูล ลูกสาวพ่อพัฒน์ ผู้เป็นตำนานแห่งแม่ทา วันนี้เธอกลายเป็นผู้จัดการศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท เชียงใหม่ (ศูนย์คือบ้านของเธอเอง) เจาะลึกเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน ที่เป็นพันธุ์ผสมเปิดจากระบบเกษตรอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์เล็กจิ๋วแต่มีคุณค่ามหาศาล โดยเธอได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ

นอกจากนี้ยังเป็นผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคะน้า ผักโขมสีแดง บวบหอม ถั่วพูสีม่วง กระเจี๊ยบมอญสีแดง มะเขือยาวสีขาว กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ฯลฯ

สิ่งที่เธอทำถือว่าเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้าน โดยการรวบรวม คัดเลือก และผลิตเมล็ดพันธุ์เปิด ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต เป็นลู่ทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างความยั่งยืนให้ระบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงทำให้ครัวเรือนมีผักสารพัดชนิดให้กินตลอดปี ตามมาด้วยสุขภาพแข็งแรงปลอดภัย ซึ่งสิ่งนี้เองคือ ความมั่นคงทางอาหาร และเป็นนิยามใหม่ของคำว่า ‘ร่ำรวย’ อย่างแท้จริง

มาถึงตรงนี้อาจฟังเหมือน แม่ทา ออร์แกนิค มีแต่เรื่องเรียน แต่ถ้ายังไม่อยากเรียน แค่อยากรู้จักหน่อยได้ไหม ให้ไปที่ แม่ทา ออร์แกนิค คาเฟ่ ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โดยวัตถุดิบส่วนใหญ่นำมาจากชุมชนและเครือข่ายออร์แกนิค อย่างเมล็ดกาแฟจากเครือข่ายเลพาทอ (Lapato Organic Coffee) ที่ได้มาจากกาแฟใต้ร่มไม้ในป่าใหญ่ของอำเภอแม่วางคาเฟ่แม่ทาส่วนเมนูอาหารจะเน้นผักและผลผลิตในชุมชน เช่น ข้าวยำบ้านทา ใช้น้ำปู๋ที่ได้จากปูนาในนาข้าวออร์แกนิค เฟรนช์ฟรายบ้านทา (ข้าวโพดอ่อนชุบแป้งทอด) ใช้ข้าวโพดอ่อน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในชุมชน ตามมาด้วยคั่วแคผักพื้นบ้านหมูย่าง สลัดซีซาร์เต้าหู้ย่าง ผัดเต้าหู้อินทรีย์ และอีกสารพัดใครจะรู้ ชีวิตอาจเปลี่ยนไปเพราะอาหารจานเดียว ! ที่สำคัญ แรงบันดาลใจของ ‘แม่ทา ออร์แกนิค’ แห่งนี้ อาจทำให้คนบางคนอยากหันมาลองทำการเกษตรอินทรีย์วิถีใหม่ แล้วกลับไปสร้างกลุ่ม … ออร์แกนิค ในชุมชนของตัวเอง

ข่วงชีวิต วิถียั่งยืน แม่ทา
โทร. 08-7191-5595 (อภิศักดิ์ กำเพ็ญ)

ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท เชียงใหม่
โทร. 08-5032-6642 (มัทนา อภัยมูล)
เฟซบุ๊ก Greennet Organic Center

แม่ทา ออร์แกนิค คาเฟ่ เปิดทุกวัน 10.00-17.00 น.
เฟซบุ๊ก Maetha Organic

จำหน่ายผลผลิตอินทรีย์ของชุมชนแม่ทา
เฟซบุ๊ก ผักออร์แกนิคแม่ทา

Note to know

  • ผักผลไม้จากกลุ่มแม่ทา ออร์แกนิค วางจำหน่ายในเชียงใหม่ที่ ตลาดเจเจมาร์เก็ต ข่วงอินทรีย์ ตลาดสันป่าข่อย ตลาดหนองหอย ท็อปส์ซูเปอร์มาเก็ต และส่งจำหน่ายที่ ร้านเลมอนฟาร์ม ในกรุงเทพฯ
  • อั๋น-อภิศักดิ์ กำเพ็ญ เปิดร้านเบเกอรีและบาร์เล็กๆ ในสวน บรรยากาศสบายๆ แบบโฮมมี่ ขายขนมปังโฮมเมด และอาจมีเมนูใหม่ๆ จากการแปรรูปพืชผักในชุมชน พูดคุยได้ที่ เฟซบุ๊ก Maetha Organic Bar & Bakery
  • ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนทเป็นเสมือนธนาคารเมล็ดพันธุ์ของชุมชน มีเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านมากกว่า 20 ชนิด
Tags: