About
Leisure X Udon Thani

ไม้บ้าน

ไม้บ้าน คาเฟ่ไม่บ้านที่ดิบเท่แต่ดูอบอุ่นของงานไม้ ต้นไม้ และเอฟเวอรี่ธิงของไม้

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘ไม้บ้าน’ คาเฟ่กึ่งโชว์รูมไม้ ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เพื่อคนรักไม้เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การมานั่งพักผ่อน พร้อมจิบกาแฟในบ้านไม้ท่ามกลางต้นไม้สีเขียวรายล้อมที่ให้ฟิลเหมือนนั่งชิลล์ในบ้าน ภายในร้านยังจัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้สุดเก๋ โมเดลไม้ตกแต่งบ้านที่ทำจากเศษไม้ทั้งหมดให้เลือกซื้อมากมาย งานฝีมือโดยเจ้าของคาเฟ่อย่าง พี – พีระวัฒน์ เชียงไฝ หรือใครจะมาหาไอเดียแต่งบ้านที่นี่ก็เหมาะมากๆ
  • นอกจากคาเฟ่ไม้คุมโทนสีน้ำตาลอันเป็นเอกลักษณ์สะท้อนเสน่ห์ของไม้แล้ว ที่นี่ยังขึ้นชื่อเรื่องอาหารไทย-อีสาน รสเด็ดจัดจ้าน โดยเมนูอาหารทั้งหมดมีการปรับสูตรมาจากอาหารฝีมือคุณแม่ของพี เพิ่มเติมด้วยการจัดจานสุดครีเอต มีที่ ‘ไม้บ้าน’ ที่เดียวเท่านั้น

แค่ได้ยินชื่อก็สงสัยว่า ทำไมถึงไม่ใช้คำว่า ‘บ้านไม้’ ที่จริงก็เพราะต้องการจะเล่นคำ ‘ไม้บ้าน’ เพื่อบอกเล่าตัวตนคาเฟ่ พร้อมกันคืออธิบายคนที่แวะเวียนเข้ามาไปด้วยว่า คาเฟ่แห่งนี้สร้างจากไม้เก่า หรือไม้ที่ถอดออกมาจากบ้านเก่าทั้งหมด รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์และโมเดลตกแต่งบ้านที่ทั้งวางโชว์และวางขายภายในคาเฟ่แห่งนี้ด้วย

พี - พีระวัฒน์ เชียงไฝ คือสถาปนิกหนุ่มที่ครองตำแหน่งรุ่นบุกเบิกของอุดรธานี เพราะท่ามกลางคนทำอาชีพไม้ย่างเข้าวัยคนเก๋าของที่นั่น พี กลับเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านเกิดมาจับงานไม้ที่เขาถนัดอย่างจริงจัง เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกัน พีก็เริ่มเล่าถึงโลโก้มนุษย์ไม้ให้ฟังก่อน “ที่จริงเป็นตัวแทนของตัวผมเองที่ทำงานไม้ครับ” และนี่คือเรื่องราวของคาเฟ่ที่เราอยากชวนทุกคนขับรถตามมาปักพิกัดที่นี่กัน

ไม้บ้าน

พี – พีระวัฒน์ เชียงไฝ

The Story

“ตอนที่ยังเรียนสถาปัตยกรรม ทางมหาวิทยาลัยเขาเน้นไปที่สถาปัตยกรรมไทย ทำให้ผมได้ซึมซับงานไม้ไปในตัว เรียนจบมีโอกาสไปทำงานที่เขาใหญ่ ได้เห็นงานไม้ ตอนนั้นรู้สึกชอบเลย งานไม้กลายเป็นเรื่องที่ผมถนัดมากที่สุด หลังจากนั้นผมก็ไปขอทำงานไม้ที่เชียงราย และไปทำงานไม้ต่อที่บ้านผือ พยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนจะมาเปิดออฟฟิศที่นี่”

ไม้บ้าน

เปิดออฟฟิศรับงานออกแบบ พร้อมกับขยายพื้นที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ไปในตัวด้วย ลูกค้าที่แวะเข้ามาคุยงาน ก็พลอยได้ลองนั่งเก้าอี้ และก็ได้รู้จักเฟอร์นิเจอร์ของพีไปในตัว ขณะเดียวกันพีเริ่มมองเห็นว่า ออฟฟิศของเขาควรจะมีเครื่องดื่มไว้เสิร์ฟให้ลูกค้าระหว่างคุยงานด้วยน่าจะดี เขาจึงเริ่มทดลองออกแบบโครงสร้างเพื่อเปิดคาเฟ่ในพื้นที่ของตนดู

ไม้บ้าน

“พอทำร้านกาแฟ ด้วยความที่ผมชอบงานไม้ ก็เลยทำกระดานดำตกแต่งร้าน ปรากฏว่าก็มีคนชอบแล้วมาขอซื้ออยู่เรื่อยๆ เราเลยเริ่มมั่นใจละว่า งานไม้ของเราสามารถไปต่อได้ ผมเลยทำเฟอร์นิเจอร์เอาไว้ใช้เองแล้วก็วางขาย ในคาเฟ่ ให้ลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อตามใจชอบเลย” ที่นี่จึงถือเป็นทั้งคาเฟ่และก็ช็อปไม้เพื่อคนรักไม้ไปในตัว

ไม้บ้าน

The Experiment

คาเฟ่แห่งนี้นอกจากจะเป็นออฟฟิศแล้ว ก็ยังเป็นพื้นที่แห่งการทดลองทำงานไม้ของพีไปในตัวด้วย “วันนี้เป็นแบบนี้ แต่เดือนหน้าที่นี่อาจจะเป็นอีกแบบก็ได้ ผมชอบนั่งมองแล้วก็นั่งคิดอยู่ในหัวตลอดว่า ถ้าเราเปลี่ยนสเปซให้เป็นอีกแบบมันจะเป็นอย่างไร อย่างพื้นคานบนชั้นสอง ก่อนหน้านี้ก็คลุมเต็มชั้นเลยนะ วันดีคืนดีก็เหลือคานไม้อยู่แค่ครึ่งเดียวอย่างที่เห็นอยู่ตอนนี้ (หัวเราะ)” การเปลี่ยนแปลงคาเฟ่ทั้งโครงสร้างหรือการตกแต่งร้านอยู่ตลอดเวลา เรากลับมองว่าเป็นเรื่องดีที่จะช่วยสร้างความแปลกใหม่และความน่าตื่นเต้นให้ลูกค้า ทั้งที่เคยมาและไม่ยังไม่เคย ในเรื่องของการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ไม้บ้าน

ไม้บ้าน

ไม้บ้าน

พียังเล่าเสริมอีกว่า ไม้ที่ใช้ในการต่อเติมโครงสร้างหรือของตกแต่งชิ้นต่างๆ ก็มาจากชิ้นส่วนไม้ของที่นี่ด้วย “แค่ถอดไม้ออกแล้วเอามาต่อเติมตามความสร้างสรรค์ใหม่ เศษไม้ผมก็เอาไปสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานอื่นๆ” พีต้องการให้คุณค่าและให้ความสำคัญกับไม้และเศษไม้เหลือทิ้ง ดังนั้นทุกชิ้นส่วนของไม้ พีเชื่อว่าสามารถนำกลับมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้ ชิ้นงานที่วางเรียงรายตามหลบมุมคาเฟ่อย่าง ต่างหู โมเดลบ้านไม้ มนุษย์ไม้ เก้าอี้ หากได้ก้มดูดีเทลก็จะเข้าใจความหมายตามที่พีเล่ามาทั้งหมด

ไม้บ้าน

ไม้บ้าน

พื้นที่ส่วนนอก พีเองก็ตั้งใจออกแบบสวนด้วยการเติมต้นไม้เข้าไป เพื่อขับให้ดูเป็นบ้านไม้ในสวน คอยมอบความร่มเย็น เงียบสงบ เหมาะพาตนเองมานั่งจิบกาแฟ ดื่มด่ำธรรมชาติช่วงบ่ายๆ ก็เพลิดเพลิน ผ่อนคลายดี

ไม้บ้าน

ไม้บ้าน

ไม้บ้าน

The Menus

ไม้บ้านคาเฟ่มีทั้งขนมและเครื่องดื่มให้ชวนชิมหลากหลายเมนู ยังมีอาหารที่มาในคอนเซ็ปต์ ‘อาหารไทย-อีสาน’ เน้นอาหารจานหลัก รสเผ็ดจัดจ้าน แต่ละเมนูพีนำสูตรของคุณแม่มาปรับร่วมกับเชฟประจำคาเฟ่ เพื่อให้ได้รสชาติที่ลงตัว ก่อนจะเพิ่มความครีเอตเรื่องการจัดจานแบบเก๋ๆ ด้วยการเพิ่มกลิ่นอายอีสานเข้าไป ทุกเมนูจะรองด้วยกระจาด มีถ้วยน้ำจิ้มใส่ในขันเงินลายไทย หากนั่งกินในสวนจะได้ฟิลกินข้าวในบ้านจริงๆ นะ ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่กลายมาเป็นซิกเนเจอร์ของที่นี่เลยล่ะ

ไม้บ้าน

ไม้บ้าน

มาเริ่มกันที่เมนูแรก แตงโมปลาแห้ง ( 85 บาท) แตงโมเนื้อฉ่ำ ตัดกับรสชาติปลาแห้งที่มีความเค็มเผ็ด เป็นเมนูดับร้อนได้ดีมาก ต่อมาคือ หมูดาดจิ้มแจ่ว (115 บาท) เนื้อหมูนุ่มติดมันนิดๆ หมักกับข้าวคั่วแบบอีสาน กินคู่กับน้ำจิ้มแจ่วรสเด็ดและข้าวไรซ์เบอร์รีผสมกับข้าวหอม ก็อร่อยเข้ากันมากๆ ยังมี สปาเกตตี้ขี้เมากุ้ง (135 บาท) รสชาติเผ็ดกลมกล่อม แต่ใครไม่กินเผ็ดสามารถบอกเชฟให้ลดระดับความเผ็ดได้นะ

ไม้บ้าน

คาเฟ่เปิดมาได้ 3 ปีกว่าแล้ว นอกจากพีจะมีความตั้งใจอยากให้พื้นที่แห่งนี้เหมาะแก่การมาพักผ่อนสำหรับทุกคน เขายังได้ริเริ่มก่อสร้างโซนใหม่เพิ่ม เพราะในอนาคต พื้นที่ส่วนนั้น พีและเพื่อนๆ ของเขาจะนำโปรดักส์คุณภาพดีของอุดรธานีมาวางขาย ให้ผู้คนที่แวะเข้ามาได้เลือกซื้อ ยังไงรอติดตามความเป็นไปใหม่ๆ ของไม้บ้าน คาเฟ่แห่งนี้กันนะ

ไม้บ้าน
ที่อยู่ : 299/1 หมู่ที่ 6 ซ.ประเสริฐ​ ต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
เปิด-ปิด : เวลา 09:00 – 18:00 น. และปิดทุกวันพุธ
เบอร์โทรศัพท์ : 08-3404-4133
Facebook Page: ไม้บ้าน

Tags: