About
RESOUND

Mai of Phimai

ใหม่-พสธร ผู้กำกับผู้ส่งหนังโคราชสู่เวทีนานาชาติและบุกเบิกอาร์ตสเปซในพิมาย

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ใหม่-พสธร คนรุ่นใหม่อนาคตไกลจากเมืองพิมาย ผู้ส่งหนังโคราชสู่เวทีนานาชาติในเนเธอร์แลนด์ ด้วยประเด็นปรัชญาอันเป็นสากล และบุกเบิก Art Space ไว้เป็นพื้นที่ส่งเสริมคุณค่างานศิลป์ ชวนมาพูดคุยกันตั้งแต่เรื่องศิลปะจนถึงอนาคตของคนรุ่นใหม่ในพิมาย

เมืองโบราณอย่างพิมายมีคนรุ่นใหม่ที่ทำหนังอยู่อย่างน้อย 1 คน ใหม่-พสธร วัชรพาณิชย์ คือผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของวงการหนังไทย ใหม่หยิบตำนานท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบสำหรับเล่าประเด็นสากลในหนังได้อย่างลงตัว ซึ่งช่วยชูประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่หล่นหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ที่กำหนดโดยรัฐด้วย

ใหม่ชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของคน ทั้งรากเหง้าของโคราชที่ย้อนไปไกลกว่าประเทศไทย แล้วโคราชเป็นใครในประวัติศาสตร์ไทย คนเราจำเป็นต้องโยงตัวตนเข้ากับพื้นที่ไหม แล้วหากคนรุ่นใหม่ไม่นับตัวเองเป็นคนของบ้านเกิด แต่เป็นพลเมืองโลกล่ะ และใหม่จะหนีร่มเงาของคนทำหนังรุ่นใหญ่พ้นหรือเปล่า เขาจะกลายเป็นเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คนที่ 2 ไหม ใหม่ตามหาคำตอบให้คำถามเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับการทำหนัง จนส่งหนังฉายในเทศกาลหนังนานาชาติ ณ รอตเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้สำเร็จ

ใหม่ยังสวมหมวกอีกใบเป็นภัณฑารักษ์ของ PoonPin แกลเลอรีแห่งแรกในพิมาย แกลเลอรีนี้ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของร้านประจำอำเภอ ร้านกาแฟที่ใหม่เคยไปบ่อยๆ เพื่อพักใจจากแรงกดดันด้านการเรียนต่อมหาวิทยาลัยโดยครอบครัวและตัวเขาเอง แต่เดี๋ยวนี้ใหม่ไปในฐานะคนให้คำแนะนำกับคนรุ่นใหม่ในพิมายบ้างแล้ว

วงการศิลปะเติบโตทั้งในพิมายและในไทย เพราะศิลปินอย่างใหม่ ถึงอย่างนั้นแนวคิดและผลงานของเขาไม่มีสิ่งไหนที่ดีเลิศเกินจะทำตามหรือใช้เป็นแรงบันดาลใจ มาลองเจาะลึกตัวตนของเขาไปพร้อมกัน

พิมาย

New Wave of Phimai

“สมัยก่อนผมมีธรรมเนียมหนึ่งกับพี่ชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง เราไปดูหนังกัน 3 คน พอนั่งรถกลับบ้านก็จะถกกันเรื่องหนัง มันเริ่มตั้งแต่ตรงนั้น เราชอบตรงนั้น”

ความฝันอยากเป็นคนทำหนัง พอพูดในบริบท ‘ต่างจังหวัด’ บางคนอาจถึงขั้นบอกว่าเพ้อฝัน และไม่เพียงภาพยนตร์ แต่ไม่ว่าศิลปะแขนงไหนก็มักถูกมองข้าม จะหาคนที่เห็นคุณค่าในศิลปะเหมือนกันมานั่งคุยกันก็ยาก แต่ใช่ว่าจะไม่มีเลย ใหม่มีพี่ข้างบ้านคอยเติมไฟแห่งความฝันบนเส้นทางศิลปะให้อยู่เสมอในช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมกับมหาวิทยาลัย

พิมาย

“ผมเรียนวิทย์-คณิต แต่จริงๆ อยากทำหนัง แล้วเราไม่รู้จะคุยกับใคร ใกล้ตัวที่สุดก็เจ้าของร้านกาแฟประจำอำเภอ คนหนึ่งเป็นช่างภาพ อีกคนเป็นสถาปนิก ช่วง ม.ปลายเลยมาหมกตัวที่นี่บ่อยๆ”

ถึงอย่างนั้นคำพูดของคนในครอบครัวก็มีน้ำหนักมากกว่า ใหม่จึงเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แต่เรียน 2 วันแล้วก็ลาออก แล้วเข้าคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนี่เองคือจุดตัดสู่ถนนสายใหม่ของผู้กำกับชาวโคราชคนนี้

พิมาย

พิมาย

New Contemporary Area of Phimai

ทางที่ใหม่เลือกกลายเป็นก้าวใหม่ของโคราชในเส้นทางศิลปะด้วยเช่นกัน เพราะหากถามว่าเด็กต่างจังหวัดคนนี้เรียนทำหนังจบแล้วไปไหน เขาก็มุ่งหน้ากลับบ้านเกิดแล้วสร้าง Contemporary Area เป็นพื้นที่สำหรับงานสร้างสรรค์หลายรูปแบบ ทั้งนิทรรศการศิลปะและกิจกรรม Talk คนรุ่นถัดไปจะได้ไม่เหมือนกับเขาที่ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร

พิมาย

พิมาย

พิมาย

ใหม่เปิดแกลเลอรี ‘PoonPin’ บนชั้น 2 ของร้านประจำอำเภอ ซึ่งเติบโตขึ้นจากร้านกาแฟขนาด 4 โต๊ะสมัยมัธยมมาก กลายเป็นร้านประจำอำเภอสมชื่อ ส่วน PoonPin มาจากชื่อคุณตาคุณยายเจ้าของเดิมของบ้านหลังนี้ และภายในเวลาปีกว่า ใหม่เพิ่งจัดนิทรรศการ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน ตรงกับช่วงนิทรรศการเที่ยวพิมาย โดยนิทรรศการแรกคืองานของใหม่เอง ส่วนครั้งที่ 2 คืองานของคนท้องถิ่นชื่อ ‘สายน้ำ ชีวิต ใบปิด ติดแสง’ หรือ ‘River life lives in Phos(ter)’

พิมาย

พิมาย

บนฝาบ้านติดโปสเตอร์หนังตั้งแต่สมัยหลาย 10 ปีก่อนถึงปัจจุบันคู่กับภาพถ่ายเมืองพิมาย เทียบให้เห็นวิวัฒนาการของโปสเตอร์ชัดๆ จากที่มีรายละเอียดเยอะในฐานะสื่อกลางตัวเดียวสำหรับใช้โปรโมตหนัง จนถึงยุคโปสเตอร์มินิมัลที่เป็นเพียงสื่อกลางประเภทหนึ่งนอกเหนือจากคลิป Teaser ที่หาดูได้ทั่วไป ส่วนภาพถ่ายเมืองพิมายฉายภาพเมืองและชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่นในปัจจุบัน

พิมาย

“การรุดหน้าขึ้นของเวลาไม่ได้ทำให้เมืองเป็นเมืองสมัยใหม่ ความเบลอของเส้นเวลามีอยู่ในวิถีชีวิต” ชุมชนพิมายตั้งอยู่ข้างปราสาทอายุพันปีและดำรงคู่กันมาแทนที่เมืองจะกินพื้นที่เก่าแก่ทางประวัติศาสตร์หายไป ส่วนคนพิมายยังมีวิถีชีวิตใกล้ชิดแหล่งน้ำธรรมชาติเหมือนแต่ก่อน ภาพถ่ายจึงถูกเจาะจงให้ปรินต์บนกระดาษคุณภาพต่ำ เพื่อให้ภาพเบลอตามคอนเซปต์นิทรรศการ

พิมาย

ในอีกแง่คือเมืองนี้มีมุมอนุรักษนิยมอยู่ บางคนยกวัดเป็นของสูงที่แตะต้องไม่ได้ แช่แข็งสถานที่จนเก่าแต่ไม่เก๋าไปตามเวลาอย่างน่าเสียดาย เมื่อใหม่เอาภาพถ่ายไปติดบนกำแพงวัด โดยได้รับอนุญาตจากทางวัดก่อนแล้ว จึงเกิดเหตุการณ์ลุ้นระทึกว่ากระแสจะตีกลับมาหาใหม่หรือเปล่า แต่หลายคนก็เปิดใจให้ศิลปะเข้ามาอยู่ในพื้นที่และออกโรงช่วยปกป้องนิทรรศการบนกำแพงวัดนี้

พิมาย

ส่วนกิจกรรม Talk ‘เมืองนี้มีพื้นที่ให้ความฝันหรือเปล่า’ มีนักเรียนมัธยมมาเกือบ 30 คน เกินความคาดหมายของใหม่ที่คิดว่าจะไม่มีใครเข้าร่วม เลยเรียกเพื่อนจากกรุงเทพฯ มาเป็นหน้าม้า บางคนก็เข้าหาเขาเพื่อปรึกษาเรื่องเรียนต่อ ใหม่และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ประทับใจกับผลตอบรับนี้มาก

พิมาย

แต่นักเรียนหลายคนไม่สามารถอยู่จนจบงาน เนื่องจากรถประจำทางที่วิ่งไปต่างอำเภอจะหมดรอบ พวกเขาต้องรีบกลับบ้านก่อนจะติดแหง็กอยู่ในตัวเมือง ชี้ให้เห็นว่าแม้มีคนทำงานศิลปะกับคนเสพศิลปะแล้ว แต่ก็มีอุปสรรคซึ่งตัดการเชื่อมต่อระหว่างคน 2 กลุ่มนี้อยู่ และเป็นปัจจัยที่แก้โดยกลุ่มคนเพียงหยิบมือไม่ได้เสียด้วย

พิมาย

New Movie of Phimai

หนัง 1 เรื่องต้องลงทุนเวลา ทรัพยากร และกำลังคนมากมาย ถ้าอยากเห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นโตในวงการนี้เลยยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เมื่อคนส่วนใหญ่สนใจผลิตคอนเทนต์ Mainstream ให้คุ้มค่าการลงทุน แต่สำหรับใหม่ ‘ศิลปะก็โตได้ในบริบทท้องถิ่น’ ไม่ใช่คำพูดลอยๆ

“สมัยมัธยมเคยดูหนังพี่เจ้ย ปรากฏว่าไม่รู้เรื่องเลย แล้วหาหนังอินดี้ดูมากขึ้น ก็เริ่มเปิดมุมมองว่าในหนังไม่ต้องมีเอเลียนบุกหรือยิงกันในอวกาศ เราทำหนังสเกลที่เข้าถึงง่ายได้นะ เริ่มจากจุดเล็กๆ ได้ ก็เลยคิดจะทำ”

พิมาย

ใหม่เลือกตำนานท้องถิ่นลุ่มน้ำมูลอย่างตำนานท้าวปาจิตอรพิมมาเล่าใหม่ โดยคงพล็อตรักสามเส้าไว้ ผสมกับประเด็นสากลอย่างการเกิดของรัฐสมัยใหม่จนส่งหนังสู่เทศกาลหนังนานาชาติ ณ รอตเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้

ตำนานนี้อยู่คู่วัฒนธรรมโคราชมานับพันปี อายุมากกว่าประเทศไทยเสียอีก บวกกับสถานที่ถ่ายทำในเมืองพิมาย เลยพาให้เห็นพหุวัฒนธรรมในแดนสยามแบบไม่ยัดเยียด ต่ออายุให้ภาษาท้องถิ่นโคราชที่เป็นภาษาไทยเดิมแม้ผู้ชมจะไม่เข้าใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วจุดขายของหนังไม่ใช่อัตลักษณ์ท้องถิ่น แต่คือการตั้งคำถามกับการยึดโยงอัตลักษณ์ของคนกับพื้นที่

พิมาย

“การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่แบ่งคนเป็นชาตินั้นชาตินี้ มันคือการเกิดขึ้นของประเทศ ต้องมีขอบเขต มีวัฒนธรรมหลักชัดเจน คนรุ่นแม่ก็บอกว่าฉันเป็นคนพิมาย ฉันมีภาษาเป็นของตัวเอง ในขณะที่คนรุ่นเรามีสำนึกการเป็นพลเมืองโลก แล้วเราจำเป็นต้องผูกตัวเองกับพื้นที่และประวัติศาสตร์ไหม”

การตั้งคำถามจากประเด็นร่วมของคนทั่วโลกแต่แฝงความเป็นส่วนตัวของใหม่พา มันดาลา (Rivulet of Universe) ไปฉายที่ International Film Festival Rotterdam 2024 สำเร็จ และอันที่จริงหนังเรื่องนี้ต่อยอดมาจากหนังธีสิสของใหม่เอง

มันดาลา

พิมาย

“มหาวิทยาลัยบอกให้ลองครึ่งชั่วโมง กลัวคุมสเกลไม่อยู่ แต่ด้วยความห้าวก็ถ่ายเก็บไว้เยอะ ส่งมหาวิทยาลัยครึ่งชั่วโมง หลังเรียนจบใช้เวลาปีสองปีตัดฉบับยาวชั่วโมงครึ่งส่งประกวด

เราปรึกษาหลายคนเพราะงานภาพติดกลิ่นพี่เจ้ยเกินไป มีทั้งคนที่บอกว่าต้องฉีกไปเลยนะ อย่าเหมือน เพราะเทศกาลไม่ได้ต้องการเจ้ยคนที่ 2 กับคนที่บอกว่าไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะเขาคือแกรมมาร์ของหนังไทย”

พิมาย

ใหม่ครุ่นคิดปรัชญาเรื่องความเป็นปัจเจกตั้งแต่ในจอถึงนอกจอ กระทั่งมีโอกาสเข้าร่วมเวิร์กช้อปกับเจ้ย จึงปรึกษาเรื่องคาใจนี้โดยตรง แล้วได้คำตอบว่า

“อืม สมัยพี่ก็เคยได้ยินแบบนี้นะ” ใหม่พูดโดยเปลี่ยนน้ำเสียงและท่าทางราวกับเจ้ยประทับร่าง พูดเสร็จก็ยิ้มออกมา พอได้รู้ว่าขนาดเจ้ยยังถูกเปรียบเทียบมาก่อน ใหม่ก็เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้

พิมาย

ทั้งกลิ่นอายหนังและตัวตนของใหม่ล้วนมีที่มาที่ไป การหยิบสิ่งที่ซึมซับจากปัจจัยแวดล้อมมาเล่าต่อ ไม่ได้แปลว่าความเป็นปัจเจกของคนคนหนึ่งเลือนหาย ยังไงเสียเราก็เล่าทุกอย่างจากมุมมองของตัวเอง ซึ่งเป็นปัจเจกมากๆ อยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าในฐานะคนโคราช พลเมืองโลก หรือคนทำหนัง ใหม่ก็คือใหม่ แล้วเชื่อว่าแนวคิดของ ‘ใหม่’ จะไร้กาลเวลา เอ่ยถึงเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะไม่ ‘เก่า’ เลย

Poonpin อาร์ตสเปซ

ชั้น 2 ร้านกาแฟประจำอำเภอ
Open Hours: 09.00 – 17.30 น.
Maps: https://maps.app.goo.gl/5YWq5Mf4rnqtjxPB7
Tel: 080-117-8568
Facebook: ร้านประจำอำเภอ

Tags: