Made by Heart
ต้อย MBH ครูวัยเกษียณผู้ออกแบบคลาสศิลปะให้เด็กพิเศษและผู้ปกครองเรียนไปพร้อมกัน
- ครูต้อย MBH Made by Heart ครูสอนศิลปะวัยเกษียณ ผู้ใช้ศิลปะบำบัดเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ออกแบบคลาสเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และความสามารถด้านการเข้าสังคมของเด็ก โดยมีนักเรียนเป็นเด็กพิเศษกับผู้ปกครองของเด็กเอง
ปกติแล้วพอเกษียณคนจะทำอะไรกัน พักผ่อนที่บ้าน ท่องเที่ยว หรือทำสิ่งที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำเมื่อตอนยังเด็ก
สำหรับต้อย-นฤมล ตันติสัจจธรรม เธอเลือกที่จะต่อยอดอาชีพครูสอนศิลปะไปเริ่มบทบาทใหม่ในช่วงชีวิตวัยเกษียณ เพื่อจะใช้ศิลปะบำบัดคน เธอเลือกที่จะทำงานกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Special Needs Children) ด้วยความตั้งใจที่จะดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาให้คนอื่นได้เห็นความพิเศษในตัวเด็กๆ อย่างที่เธอเห็น
ศิลปะไม่ใช่สิ่งเดียวที่ต้อยให้ความสำคัญ เพราะความพิเศษของเด็กที่เธออยากให้สังคมรับรู้ ไม่ใช่แค่ความอัจฉริยะแบบเด็กฉลาดเกินมนุษย์อย่างที่เราเห็นกันในภาพยนตร์ เธอแค่อยากให้ผู้คนเข้าใจว่า เด็กพิเศษกลุ่มนี้มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นกลุ่มคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจมากๆ ก็เท่านั้น
บทใหม่วัยเกษียณ
ต้อยนิยามตัวเองว่าเป็นมือปืนรับจ้าง เธอเป็นครูสอนศิลปะอิสระที่เปลี่ยนงานทุก 3 ปีจนถึงวัยเกือบเกษียณ ต้อยเก็บเกี่ยวประสบการณ์และผู้คนจากหลากหลายวงการมาตลอดช่วงการทำงานของเธอ แล้วในปีที่เธอมีอายุ 59 ต้อยก็ได้รับคำชวนจากนักจิตวิทยาท่านหนึ่งให้ไปสอนศิลปะกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง
ในตอนที่เริ่มสอนที่มูลนิธิได้สักพักดันเกิดวิกฤตโควิด-19 เธอเลยตัดสินใจลาออกแล้วย้ายกลับไปอยู่บ้านที่เชียงราย และด้วยเสียงเรียกร้องจากผู้ปกครองและนักเรียนที่ติดใจการสอนของเธอ สุดท้ายต้อยจึงเปิดสอนศิลปะออนไลน์สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และสอนศิลปะเด็กกลุ่มนี้มา 5 ปีแล้ว ซึ่งถือว่านานมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่เปลี่ยนงานทุก 3 ปี และจากที่มีคนเรียนด้วยแค่คนสองคน นักเรียนก็เยอะมากขึ้น
แน่นอนว่าผลกระทบของโรคระบาดส่งผลต่อครอบครัวของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสังคม แล้วพอเครียดก็ต้องหาทางปลดปล่อย สำหรับผู้ปกครองและเด็กๆ กลุ่มนี้ ศิลปะเป็นเหมือนทางออกของพวกเขา
“ศิลปะช่วยให้คลายเครียดได้อย่างเงียบๆ เราระบายความเครียดได้โดยที่ไม่ต้องส่งเสียง เหมือนเราได้พูดกับตัวเองในแบบที่สนุกขึ้น” ต้อยพูดถึงอิทธิพลของศิลปะต่อจิตใจของคน นั่นเลยทำให้เรารู้ว่า นอกจากศิลปะจะเป็นทั้งตัวตน ความชอบ และอาชีพของต้อยแล้ว เธอยังดีใจที่ได้ใช้ศิลปะบำบัดเพื่อผู้อื่นด้วย
MBH Made by Heart เลยถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ต้อยคาดหวังว่าเธอจะทำให้เด็กๆ รู้สึกดีกับตัวเอง และดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาให้คนภายนอกรับรู้ผ่านงานศิลปะ รวมไปถึงช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็กด้วย
คลาสศิลปะเพื่อเด็กและผู้ปกครอง
คลาสเรียนของต้อยไม่ได้โฟกัสเฉพาะที่เด็ก แต่จะให้ผู้ปกครองมาเรียนด้วย เพื่อช่วยกันดูแลและสื่อสารกับเด็กอย่างใกล้ชิดระหว่างคลาสออนไลน์ โดยต้อยจะส่งวิดีโอให้ล่วงหน้าเพื่อที่เด็กและผู้ปกครองจะได้ทำความเข้าใจเรื่องที่จะเรียนและเตรียมอุปกรณ์มาให้พร้อม ส่วนช่วงเวลาในคลาสก็เป็นการถามตอบหรือให้คำแนะนำกัน โดยแต่ละคลาสจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น
“แม่กับลูกจะเรียนไปพร้อมกัน แต่กฎของครูคือ หนึ่งห้ามจับมือลูก สองห้ามวาดให้ลูก สามจะต้องพูดจาดีๆ กับลูก พูดลบๆ ไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้เด็กบางคนไม่วาดอีกเลย”
“ครูจะเน้นบอกกับผู้ปกครองว่า ถ้าวาดไม่เหมือนครูไม่เป็นไร เพราะทุกครั้งที่เขาเรียนมันคือการสั่งสมฝีมือ” ต้อยมักให้คำแนะนำกับผู้ปกครองเรื่องวิธีการพูดกับเด็กๆ เสมอ และให้เวลาเขาเสริมสร้างความมั่นใจจนดึงศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด นี่จะทำให้พวกเขาได้นิสัยใจเย็นนี้ไปจากผู้ปกครองด้วย
ประสบการณ์ของต้อยบอกให้รู้ว่า เด็กเป็นกระจกสะท้อนพฤติกรรมของผู้ปกครอง และคำพูดของผู้ปกครองมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็กมาก นั่นเลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมต้อยถึงให้เด็กกับผู้ปกครองเรียนคู่กัน แต่คลาสของต้อยเป็นคลาสสอนทีละคู่เท่านั้น หมายความว่าไม่ให้เด็กและผู้ปกครองจากหลายบ้านเรียนพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบ
“แม่อาจจะพูดว่า ทำไมคนนั้นเขาทำได้แบบนั้น เด็กก็จะรู้สึกกดดัน ครูระวังเรื่องนี้มากๆ และครูจะสอนให้เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ใครถนัดอะไรก็เน้นทักษะนั้น เด็กคนนี้อาจจะถนัดใช้สี คนนี้อาจจะถนัดวาดเส้นก็ได้ ต่อให้สอนเด็กปกติ ครูก็จะสอนแต่ละคนแตกต่างกัน ครูไม่ใช่ครูที่เขียนอะไรขึ้นกระดานแล้วให้เด็กทำเหมือนกันหมด”
“ผู้ปกครองบางคนก็หาว่าครูอวยลูกเขา แต่เด็กบางคนเรียนแค่เดือนสองเดือน ความสามารถเขาก็พุ่งขึ้น วาดรูปได้ และผลงานเขาก็ขายได้ด้วย อย่างเสื้อลายแมวหลายสีนี้ขายได้หลายร้อยตัวเลยนะ” ต้อยพูดไปยิ้มไปพร้อมชี้ไปทางผลงานของลูกศิษย์อย่างภูมิใจ
ต้อยให้ความสำคัญกับการสื่อสารมากและเธอไม่ได้สอนวาดรูปเพียงอย่างเดียว แต่สอนให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็กก็เลยดีขึ้นตามไปด้วย จากที่เคยทะเลาะกันบ่อยๆ พวกเขาเปลี่ยนมาสื่อสารกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเด็กบางคนที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อคนรอบข้าง ก็เริ่มมีปฏิริยาในทางที่ดี ยิ้มบ่อยขึ้น หัวเราะบ่อยขึ้น
“ครูรู้สึกดีมากๆ ที่ได้เห็นศิลปะบำบัดคน ครูก็เลยเลิกสอนไม่ได้และจะสอนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสอนไม่ไหว”
Walking Gallery
งานนิทรรศการของ MBH ส่วนใหญ่จัดที่โรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งสนับสนุนพื้นที่สำหรับติดตั้งผลงาน
พร้อมให้ศิลปินคนพิเศษไปวาดรูปโชว์สดๆ รวมถึงพื้นที่ขายสินค้าที่มีลายรูปวาดของเด็กๆ โดยผู้ผลิตสินค้าไม่ใช่โรงงานที่ไหน แต่เป็นพี่สาวของต้อยนี่เอง เธอมีชื่อว่าติ๋ม-มาลินี สงวนสัตย์
ติ๋มเคยทำงานในบริษัทผลิตผ้าลูกไม้มาก่อน บวกกับความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับงานแฮนด์เมด เลยมีความรู้และเครื่องมืออยู่แล้ว เธอทั้งออกเงินทุนและผลิตเสื้อกับกระเป๋าที่เป็นสินค้าของ MBH หลักร้อยชิ้นด้วยตัวเองคนเดียว
“เรายังตื่นเต้นเวลาเห็นงานใหม่ๆ ของเขาอยู่เลย เวลาได้รูปมาก็อยากรู้ว่าถ้าเอาไปลงสินค้าจะเป็นยังไง” ติ๋มพูดถึงงานผลิตสินค้าที่ถึงแม้จะเหนื่อย แต่เพราะทำด้วยใจรักเลยยังกระตือรือร้นที่จะทำต่อไปได้
เราสังเกตเห็นว่าสินค้าบางชนิดอย่างกระเป๋าผ้ามีคำว่า “Walking Gallery” อยู่ด้วย นั่นเพราะว่าติ๋มตั้งใจกระจายผลงานสู่สายตาคนให้ได้มากที่สุด โดยมีลูกค้าสะพายกระเป๋าเดินไปทุกที่
“เราขายภาพ ส่วนกระเป๋าเป็นของแถม” พี่ติ๋มบอกตาเป็นประกาย เธอตั้งเป้าเอาไว้ด้วยว่า สักวันหนึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าเป็นอาชีพของผู้ปกครองของเด็กๆ ที่ต้องการรายได้เสริมด้วย
การจัดนิทรรศการเปิดโอกาสให้หลายครอบครัวที่มีเงื่อนไขในชีวิตเหมือนกัน ได้มาพบปะพูดคุยกัน ไม่ว่าจะรู้จักกันมาก่อนหรือไม่ก็ตาม พวกเขาก็เปิดใจหากันได้ง่ายดายและให้กำลังใจกันเต็มที่ ส่วนคนทั่วไปที่บังเอิญผ่านมาเห็น ก็มีแปลกใจกันบ้างตอนที่รู้ว่าผลงานน่ารักๆ เหล่านี้เป็นของกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ยกตัวอย่างงานนิทรรศการ “รอยยิ้มกับศิลปะนอกกรอบ” ซึ่งจัดขึ้นที่ MRT พหลโยธิน กิมมิกคือรูปวาดเป็นรูป 3 มิติที่ให้คนเข้าไปถ่ายรูปเล่นได้แบบสนุกๆ
“ครูอยากได้ยินคนพูดออกมาว่า เฮ้ย เด็กพิเศษพวกนี้มีอะไรพิเศษจริงๆ เพราะสำหรับครูคำว่าเด็กพิเศษก็เหมาะสมแล้ว”