About
TRENDS

Museum of Life

ถอดโมเดล ‘หม่อเส้งมิวเซียม’ รับเทรนด์ชุบชีวิตตึกเก่าเล่าใหม่ให้มีคุณค่าและยั่งยืน

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 28-03-2023 | View 1933
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • หม่อเส้งมิวเซียม (Moh Seng Museum) และโรงแรมหวู (WOO Gallery & Boutique Hotel) คือผลงานการอนุรักษ์เตี้ยมฉู่ หรือตึกแถวอายุ 150 ปีในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่รักษาองค์ประกอบดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน จนคว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ.2563-2564 จากสมาคมสถาปนิกสยาม
  • เผด็จ วุฒิชาญ ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ต่อลมหายใจให้กับตึกเก่าที่เคยเป็นร้านขายนาฬิกานำเข้า ด้วยแนวคิดการอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์ และเชื่อมโยงยุคสมัยในอดีต เพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตคนภูเก็ตได้อย่างลึกซึ้ง

ถ้าอินเทอร์เน็ตคือประตูสู่โลกกว้างของยุคนี้ อาคารเก่าก็คงเปรียบเสมือนพยานสู่ประวัติศาสตร์ที่สร้างเอกลักษณ์ของเมือง และจิตสำนึกร่วมของชุมชน (Sense of Community)

โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมโบราณไม่เพียงสะท้อนรากเหง้าของวัฒนธรรม แต่ยังทำให้เราเข้าถึงจิตวิญญาณของพื้นถิ่น เชื่อมโยงกับอดีตและวัฒนธรรมของเมือง บ้างอาจเป็นตัวแทนของยุครุ่งเรือง เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ไม่ก็เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมเฉพาะ ที่มีองค์ประกอบทรงคุณค่าที่หาได้ยากในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันเราเริ่มให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แทนการทุบทำลายกันมากขึ้น เห็นได้จากเทรนด์การพลิกฟื้นตึกเก่าบ้านโบราณให้กลายเป็นพื้นที่ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ ที่พัก อาร์ตแกลอรี หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์ กำลังเบ่งบานอยู่ทั่วทุกหนแห่ง

เราเลยอยากชวนคนรักตึกเก่ามาถอดบทเรียนไปกับ เผด็จ วุฒิชาญ ผู้ต่อลมหายใจให้อาคารเก่าสไตล์ชิโน-ยูโรเปียนอายุกว่า 150 ปี จนกลายเป็นหม่อเส้งมิวเซียม (Moh Seng Museum) และโรงแรมหวู (WOO Gallery & Boutique Hotel) ที่ยังรักษาองค์ประกอบดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน และคว้ารางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ.2563-2564 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมบอกเล่าวิถีชีวิตของคนภูเก็ต เพิ่มเรื่องราวให้ย่านเมืองเก่าให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น

Museum of Life

คุณค่า

ก่อนจะมาทำหน้าที่เป็นพยานทางประวัติศาสตร์อย่างทุกวันนี้ เตี้ยมฉู่ หรืออาคารตึกแถวแห่งนี้เคยเป็นร้านขายและซ่อมนาฬิกานำเข้าในชื่อ ‘หม่อเส้งแอนด์โก’ ของนายหงอเลียดฉ่าน ชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาจากมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ผู้เป็นปู่ของเผด็จ

หม่อเส้ง ในภาษาจีนแปลว่า รุ่งอรุณหรือตะวันฉาย ขณะเดียวกันก็หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนโก ก็มาจากคำว่า company ซึ่งนอกจากนาฬิกาแล้วยังมีนำเข้าเฟอร์นิเจอร์และสินค้าอื่นๆ ด้วย

“ยุคนั้นหม่อเส้งเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าใหญ่เลย ขายนาฬิกาโดยเฉพาะ มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังเท่าที่มีหลักฐานจากจดหมายเหตุ 107 ปีมาแล้ว เป็นจดหมายที่คุณปู่ผมส่งไปยังกงสุลที่ปีนัง ถามเรื่องการนำสินค้าเข้าและการจ่ายภาษี ลงวันที่ไว้ 29 ธันวาคม 1915” เจ้าของคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 กล่าว

Museum of Life

แต่ตัวอาคารเก่าแก่ยิ่งกว่านั้น เพราะคุณปู่ซื้อต่อมาจากเจ้าของเดิมอีกที หลังแต่งงานสร้างครอบครัวกับคุณย่าตันสิ่วฮ่อง เมื่อศึกษาจากโครงสร้างพบว่า แบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ อาคารเก่าแก่ที่สุดอยู่ด้านหน้า คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี ดูจากโครงสร้างเป็นผนังดินอัดทั้งหมด ไม่มีส่วนของเหล็กหรือคอนกรีตเลย ขณะที่อาคารรุ่นที่สองอายุประมาณ 120-130 ปี เป็นอาคารที่มีการต่อเติมในยุคโบราณ มีการใช้เสาและคานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

เผด็จยังเล่าว่า ตึกแถวแห่งนี้ยังได้รับการออกโฉนดเป็นแห่งที่สองของประเทศไทย จากหลักฐานการระวางแผนที่ ร.ศ.129 ซึ่งออกในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือ พ.ศ.2453 ส่วนแห่งแรกคือบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

ร้านหม่อเส้งดำเนินกิจการกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ภูเก็ตเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ จึงต้องปิดกิจการในที่สุด ลูกหลานก็แยกย้ายกันไปทำอย่างอื่นและปล่อยบ้านให้เช่าเรื่อยมา

อนุรักษ์

จวบจนเมื่อ 20 ปีก่อนในกงสีมีความคิดจะขายอาคารแห่งนี้และนำเงินมาแบ่งกัน แต่เผด็จต้องการเก็บรักษาไว้ เพราะเป็นบ้านของบรรพบุรุษ มีคุณค่าทางใจ เลยทยอยซื้อหุ้นเรื่อยๆ จนได้เป็นเจ้าของในที่สุด

Museum of Life

เผด็จ วุฒิชาญ

 

ความคิดในการอนุรักษ์เกิดขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว หลังเขาเริ่มสนใจเรื่องตึกเก่าและงานสถาปัตยกรรมในภูเก็ต ผนวกกับอาคารอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างมาก จึงอยากบูรณะให้กลับมามีชีวิต และเพื่อต่อลมหายให้บ้านโบราณสไตล์นี้ได้คงอยู่สืบไป แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะพัฒนาในรูปแบบใด

“ถ้าแค่บูรณะมาเพื่อการอนุรักษ์อาคารทั่วไป ก็ไม่เกิดรายได้อะไร มีแต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลในทุกๆ เดือน มีค่าซ่อมแซมเพิ่มเติมในทุกๆ ปี มันอยู่ลำบาก หากไม่มีเงินสนับสนุน เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้งานอนุรักษ์ในเมืองไทยไปได้ไม่ไกล และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าของเอกชนต้องการเอาพื้นที่ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า”

สิ่งแรกที่เขาทำคือการตัดสินใจว่าจะอนุรักษ์บ้านหลังนี้ไปในแนวทางไหนเพื่ออะไร?

เผด็จอธิบายว่า การอนุรักษ์นั้นมีหลายรูปแบบ เช่น การอนุรักษ์แบบคงสภาพเดิม 100% และการอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งเขาเลือกอย่างหลัง เพื่อให้มีรายได้เข้ามาดูแลบ้านหลังนี้ต่อไป โดยฝั่งถนนถลางที่เดิมเป็นร้านหม่อเส้งและอาคารเก่าแก่ที่สุดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนอีกฝั่งปรับเป็นโรงแรม

Museum of Life

“จากข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่มีอยู่ของตระกูล จะช่วยให้เชื่อมโยงกับยุคสมัยนั้น ได้เรียนรู้ว่าเมื่อ 100 ปีที่แล้ว วิถีชีวิตคนภูเก็ตเป็นอย่างไร ทำอะไรกันบ้าง ใช้อะไร มีความเป็นอยู่อย่างไร บางอย่างเป็นของเก่าแก่ที่หาดูได้ยากแล้ว” เผด็จ กล่าวถึงแนวคิดในพัฒนาเป็นหม่อเส้งมิวเซียม

Museum of Life

สำรวจ ศึกษา เข้าใจ

เมื่อได้ข้อสรุปเรื่องรูปแบบการพัฒนา เขาจัดการยกเลิกสัญญาเช่าและเริ่มดำเนินการจากการสำรวจอย่างละเอียดยิบ ด้วยการทำรังวัดลักษณะรูปแแบบอาคาร เก็บรายละเอียดตำแหน่งจุดต่างๆ ที่ต้องปรับปรุงซ่อมแซม เพื่อเป็นหลักฐานก่อนที่ทุกอย่างจะถูกรื้อออกไป

Museum of Life

“ผมถ่ายรูปไว้เป็นหมื่นรูป แยกประเภทตั้งแต่พื้น คาน หลังคา ทุกอย่างเก็บดีเทลไว้ทั้งหมด เพื่อการปรับปรุงซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด ระหว่างนั้นผมก็ศึกษาหาข้อมูลจากหลายๆ ที่ไปด้วย ย้อนไปดูงานอนุรักษ์ถึงปีนัง สิงคโปร์ และมะละกา ได้รู้จักกับกลุ่ม Penang Heritage Trust ทำให้ได้ความรู้กลับมาเยอะมาก”

Museum of Life

ไม่ใช่แค่ความรู้ทางสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน แต่ยังรวมถึงความรู้เกี่ยวกับวัสดุ อุปกรณ์ ที่มาที่ไปของข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ตลอดจนความหมายที่อยู่ในรูปภาพหรือลวดลายของยุคนั้น

ทำไมข้าวของเครื่องใช้ต้องเป็นนกฟีนิกซ์หรือนกเฟิ่งหวง ทำไมภาพ 4 ฤดูถึงต้องมีข้างละ 4 สองข้างรวมกันเป็น 8 คำตอบเพราะเป็นเลขมงคล หรือต้องแขวนเรียงอย่างไรให้ถูกต้อง ทำไมถึงมีนกยูงเซรามิกอยู่หน้าบ้าน เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ก่อตั้งหม่อเส้งมิวเซียมบอกว่า เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องอธิบายได้หมด

Museum of Life

เขาใช้เวลาศึกษาอย่างละเอียดถึง 5 ปีกับอีก 3 ปีในการปรับปรุง ซ่อมแซมและตกแต่งอาคารยาว 106 เมตร เชื่อมถนน 2 เส้น ด้านหน้าฝั่งถนนถลางที่เดิมเป็นร้านหม่อเส้งยังคงเก็บรูปแบบดั้งเดิมไว้ทั้งหมดเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนฝั่งถนนพังงาที่เคยเป็นห้องครัวและสวนนั้น ตัดสินใจรื้อสร้างใหม่เป็นโรงแรม 3 ชั้นขนาด 12 ห้อง โดยทั้งสองต้องให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในยุคเดียวกัน

Museum of Life

“การอนุรักษ์ตึกเก่าไม่จำเป็นต้องใช้ของเก่าทั้งหมด เพราะวัสดุบางอย่างไม่สามารถหาได้แล้ว ต้องสร้างขึ้นใหม่ แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างอย่างไรให้เป็นยุคสมัยของเขา ต้องไม่มีอะไรที่ผิดยุคผิดสมัยเข้ามา และของทุกชิ้นที่นำมาวางต้องอธิบายได้ว่าคืออะไร มีที่มาอย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญ”

Museum of Life

คืนชีพตึกเก่า

เมื่อถามว่าการบูรณะที่ยังคงเอกลักษณ์กว่า 100 ปีไว้แทบทุกกระเบียดนิ้วเช่นนี้มีความลำบากในการหาช่างฝีมือหรือไม่ เผด็จตอบทันทีว่า “ไม่เลย เพราะช่างที่ผมใช้ล้วนเป็นช่างรุ่นใหม่ เป็นช่างพม่าด้วยซ้ำไป ไม่ได้มีความรู้ด้านอนุรักษ์เลย แต่อยู่ที่วิธีการบอกให้เขาทำ”

ยกตัวอย่างสนามกีฬารังนกในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ของจีน คนคิดคือสถาปนิกกับวิศวกร ส่วนคนทำคือช่างเชื่อมช่างเหล็กทั่วไป แค่มีแบบให้ บอกว่าต้องทำอย่างไร พวกเขาก็ทำออกมาได้อย่างสวยงาม

Museum of Life

“อยู่ที่เรามากกว่า ถ้าเรามีองค์ความรู้มากพอ มีตัวอย่างให้เขาดู ทำอย่างไร ต้องเข้าไม้แบบไหน ช่างไม้สมัยใหม่เขาทำได้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ก็ทำได้ อันนี้คือสิ่งสำคัญมากกว่า”

อยู่ร่วม (สมัย) อยู่รอด

แนวคิดที่ทำให้หม่อเส้งมิวเซียมและโรงแรมหวูเดินทางเข้าสู่ปีที่ 5 อย่างมั่นคง เปิดประตูต้อนรับแขกผู้มาเยือนไม่ขาดสาย คือการเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ไม่ใช่สถานที่เก็บของเก่า

Museum of Life

“เวลาเราไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่ไปเดินดูเดินอ่านเองมันค่อนข้างน่าเบื่อ แต่ถ้ามีคนบรรยายไปด้วย ได้ฟังเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสารพัด เพิ่มความสนุกให้กับการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เป็นเหตุผลว่า ทำไมหม่อเส้งถึงต้องมีคนบรรยาย” เผด็จกล่าวถึงการแก้ปัญหา pain point ของพิพิธภัณฑ์

Museum of Life

ทายาทรุ่น 3 ของตระกูลหวู ยังเผยถึงหัวใจสำคัญอีกอย่างคือการอนุรักษ์ที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย มีความร่วมสมัยเพื่อโอกาสในการอยู่รอดว่า บางอย่างอนุรักษ์มากเกินไปก็ไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตยุคปัจจุบัน อย่างเช่นโคมไฟ ถ้ายึดตามของเก่ามีแค่ 1-2 ดวงก็คงมืดตึ๊ดตี๋อ หรือห้องน้ำหากคงคอนเซ็ปต์ในอดีตก็คงไม่เหมาะนัก

“การอนุรักษ์ตึกเก่าให้มีคุณค่ามากที่สุด จะต้องเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันได้”

Museum of Life

นอกจากพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงแรมแล้ว หม่อเส้งมิวเซียมมักปรับเปลี่ยนพื้นที่รองรับการใช้งานให้ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ เวิร์กช้อป งานแถลงข่าว หรือการประชุมวงเล็ก พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายจัดกิจกรรมสร้างสรรค์เป็นสเปซแห่งการเรียนรู้

ต่อลมหายใจด้วยทรัสต์

หากให้นึกภาพหม่อเส้งในอนาคต เราเห็นภาพการพัฒนาต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่ในแง่ของวัตถุ หากแต่เป็นเรื่ององค์ความรู้ด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ ที่เจ้าตัวบอกว่ากำลังมีแผนจะจัดนิทรรศการเรื่องฟิล์มกระจก ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คาดว่าจะร่วมมือกับทางมิวเซียมสยาม

แม้การอนุรักษ์ตึกเก่าจะมีคุณค่ามากมาย ทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สุนทรียภาพ เศรษฐกิจ การศึกษา และพลังงานที่ช่วยลดการก่อมลพิษจากการก่อสร้างใหม่ แต่เราก็ยังเห็นตึกเก่าที่ถูกทุบทำลายพร้อมกับการเติบโตของเมือง เกี่ยวกับเรื่องนี้เขาบอกว่าอันนี้ต้องเข้าใจด้วยว่าเจ้าของอาจไม่มีกำลังที่จะอนุรักษ์

“อย่างที่บอกว่าการอนุรักษ์ตึกเก่าต้องใช้เงิน ถ้าให้ดีรัฐควรเข้ามามีบทบาท เช่น เคยเสนอให้ตั้งเป็นทรัสต์หรือสถาบันการเงินที่สามารถกู้เงินเพื่อการอนุรักษ์โดยมีดอกเบี้ยพิเศษ หรือมีแผนช่วยเหลือในลักษณะช่วยหาทางออกให้เจ้าของบ้านว่าสามารถสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง โดยไม่จำเป็นต้องรื้อถอนหรือขายต่อ”

เผด็จทิ้งท้ายถึงคนรักตึกเก่าว่า “การอนุรักษ์เป็นเรื่องดี แต่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร สำคัญที่สุดตอบโจทย์คุณจริงๆ หรือไม่ ไม่ใช่แค่ตามกระแส เพราะหากเป็นแบบนั้นก็อาจไม่ยั่งยืน”

หม่อเส้งมิวเซียม
ที่อยู่ : 78 ย่านเมืองเก่า ถ.ถลาง ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000
โทร : 076-353-719
เวลาเปิด-ปิด : 10.00 – 17.00 ปิดทุกวันจันทร์
FB : Moh Seng Historic House Museum
        WOO Gallery & Boutique Hotel,The Old Town, Phuket

Tags: