- โมทนา เซรามิก ออกแบบงานเครื่องเคลือบดินเผาได้ทันสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายท้องถิ่นผ่านสีและลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องสังคโลกและทองสุโขทัย
- มีจัดเวิร์กช็อปให้นักท่องเที่ยวได้ลองเขียนลายและปั้น เพื่อเรียนรู้งานสังคโลกและคุณค่าของศิลปะ
- เปิดสอนการทำเซรามิกสำหรับผู้สนใจนำไปทำเป็นอาชีพ โดยสอนทุกขั้นตอนแบบละเอียดยิบไม่มีกั๊ก
โลกของ ‘โมทนา เซรามิก’ หมุนโคจรไปด้วยความรัก และกำลังดึงดูดคนที่มีใจเดียวกันเข้าหากัน ขอเชิญร่วมเดินทางไปสำรวจโลกของพวกเขา กลางสวนฝรั่งที่จังหวัดสุโขทัย
พื้นที่แสนร่มรื่นและเงียบสงบของโมทนา เซรามิก มีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ สร้างขึ้นจากความรักของ อู๊ด-เฉลิมเกียรติ บุญคง และ ไก่-อณุรักษ์ บุญคง ผู้เป็นภรรยา อู๊ดเป็นชาวสุโขทัย มีสำเนียงพูดเหน่อแบบชาวเมืองเก่า ชอบปั้นดินน้ำมันกับลูกสาว ส่วนไก่เป็นคนลำปาง มีแพสชั่นเรื่องเครื่องปั้นดินเผาเป็นทุนเดิม
ทั้งคู่เริ่มจริงจังกับงานเซรามิกหลังเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากลำปางมาที่สุโขทัย โดยเริ่มสร้าง ‘โมทนา’ ตั้งแต่ พ.ศ.2542 ค่อยๆ เติมแต่งไปตามพละกำลัง จนกลายเป็นสถานที่เรียนรู้งานเซรามิกแบบครบวงจร มีทั้งศาลาทำดิน ห้องปั้น ห้องเขียนลาย ศาลาเคลือบ เตาเผา ห้องเวิร์กช็อป พิพิธภัณฑ์ และร้านค้า
เป้าหมายของทั้งสองคน ไม่ใช่ลูกค้าแต่คือลูกศิษย์ เพราะใจต้องการถ่ายทอดความรู้งานเซรามิก เพื่อรักษาภูมิปัญญาสังคโลกสุโขทัยให้คงอยู่ต่อไป แม้ในอนาคตจะไม่มีโมทนาแล้วก็ตาม
เริ่มต้นด้วยความรัก…สานต่อด้วยความรู้
ก่อนจะมาลงหลักปักฐานที่จังหวัดสุโขทัย ครอบครัวของเขาเคยอยู่เหนือสุโขทัยขึ้นไปอีกหน่อย นั่นคือจังหวัดลำปาง ทำงานเป็นผู้รับเหมาระเบิดหินและอาศัยอยู่ในโรงโม่ จนกระทั่งเมื่อลูกสาวเกิดและเติบโตมาในสภาพแวดล้อมของฝุ่นหิน พร้อมอาการภูมิแพ้ ทั้งคู่จึงตัดสินใจย้ายบ้านและมาเริ่มต้นใหม่ที่สุโขทัย สร้างที่ทำงานกลางสวนฝรั่ง และทำในสิ่งที่ชอบเหมือนกัน นั่นคืองานเครื่องปั้นดินเผา เริ่มด้วยการหาความรู้ โดยไปร่ำเรียนแบบเจาะลึกทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทำดิน ปั้น เขียนลาย เคลือบ และเผาที่เกาะคา จังหวัดลำปาง
“เราใช้ใจทำก่อน เพราะเชื่อว่าถ้ามีทุนใจ ยังไงก็ทำได้” ไฟในตัวของทั้งคู่เป็นเชื้อเพลิงชั้นเยี่ยม ยิ่งเมื่อศึกษาจนค้นพบดินคุณภาพดีจากเกาะตาเลี้ยงในสุโขทัย แล้วปรับสูตรปรุงดินกลายเป็นสูตรเฉพาะของเราเอง เราทำน้ำเคลือบได้หลากสี และพัฒนาเทคนิคต่างๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของโมทนา”
ลดทอนบางอย่าง เพิ่มเติมบางสิ่ง
สองสามีภรรยาเห็นตรงกันว่า เครื่องเคลือบดินเผาของโมทนาต้องรักษาภูมิปัญญาและรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเมืองสุโขทัยไปพร้อมกัน จึงนำแรงบันดาลใจจาก “เครื่องสังคโลก” เข้าไปอยู่ในลวดลาย เช่น ลายปลา ลายพรรณพฤกษา ลายดอกไม้ รวมถึงนำ “ทอง” สุโขทัยมาใช้ในชิ้นงาน ดึงจุดเด่น 2 อย่างของสุโขทัยให้อยู่ในชิ้นงานเดียว
“เราดึงส่วนสำคัญของเครื่องสังคโลกออกมาแต่ไม่ทั้งหมด บางอย่างตัดทอนลง บางอย่างเติมเข้าไป เพื่อให้เหมาะสมกับชิ้นงานแต่ละชิ้น เรียกว่าเป็นการจัดองค์ประกอบใหม่ เพื่อสร้างงานใหม่ เพิ่มจุดขายใหม่ และเพิ่มความทันสมัยแต่ยังคงรากเหง้าของวัฒนธรรมเดิม เราเรียกมันว่า การรักษาและต่อยอด คือรักษาลวดลายเครื่องสังคโลก และต่อยอดทองสุโขทัยให้อยู่ในรูปแบบใหม่ที่จับต้องได้ง่ายขึ้น”
นอกจากนี้ ทั้งสองคนยังช่วยกันคิดสูตรดินให้สามารถเผาในอุณหภูมิสูง พัฒนาน้ำเคลือบให้มีหลายสี ทั้งสีแดง (Copper Red) สีน้ำเงิน (Cobalt Oxide) และสีฟ้าเทอร์คอยซ์ คิดค้นวิธีการทำดินด้วยถุงผ้าที่ดัดแปลงมาจากถุงทำขนมตาล รวมถึงฝึกฝนเทคนิคการปั้นให้บาง เพื่อให้ชิ้นงานมีน้ำหนักเบาและใช้งานสะดวก
ปัจจุบันงานส่วนใหญ่ของ โมทนา เซรามิก จะผลิตเครื่องใช้ เช่น ถ้วย จาน ชาม แจกัน ของตกแต่งบ้าน รวมไปถึงของที่ระลึกชิ้นเล็กๆ และผลิตตามออเดอร์ กระนั้นเป้าหมายที่แท้จริงของโมทนาไม่ใช่เพียงการผลิตงานเพื่อลูกค้า แต่ต้องการมี “ลูกศิษย์” ที่อยากเรียนรู้และนำความรู้ด้านงานเซรามิกไปใช้ประโยชน์จริงๆ
เพิ่มลูกค้า สร้างลูกศิษย์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าชิ้นงานที่วางอยู่ในร้าน ไม่ได้เป็นแค่งานศิลปะแต่เป็นสินค้า และปัจจัยหนึ่งในการสร้างสรรค์งานศิลปะก็เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทว่าในห้วงเวลาเดียวกัน อู๊ดและไก่ยังมีเป้าหมายให้ที่นี่เป็นโรงเรียนสำหรับคนที่ต้องการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ว่ากันตั้งแต่กระบวนการแยกน้ำออกจากดิน นวด ปั้น ขึ้นรูป เขียนลาย เคลือบ ไปจนถึงเทคนิคการเผา โดยจะสอนทุกรายละเอียด ถ่ายทอดทุกเทคนิคจากประสบการณ์ที่ทั้งคู่ทดลองมา หวังให้นำไปสร้างอาชีพ สร้างประโยชน์ และสร้างโอกาสให้คนอื่นต่อไป แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งคู่หวังใจว่า ภูมิปัญญาความรู้ของโมทนา เซรามิก จะช่วยรักษาจิตวิญญาณของเครื่องสังคโลกสุโขทัยไว้ แม้ในอนาคตจะไม่มี โมทนา เซรามิกแล้ว แต่สังคโลกสุโขทัยจะยังมีคนอื่น แบรนด์อื่น และชิ้นงานอื่นรับช่วงในการส่งต่อภูมิปัญญาบรรพบุรุษต่อไปไม่รู้จบ
นอกจากการเรียนแบบเจาะลึกที่อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงแรมเดือน ที่นี่ยังมีเวิร์กช็อปสำหรับนักท่องเที่ยวให้ได้ลองทำเครื่องเคลือบดินเผาโดยใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง เช่น เวิร์กช็อปเขียนลาย นวดดิน หรือขึ้นรูปบนแป้นหมุน อาจไม่ลงลึกทุกขั้นตอนแต่ก็ทำให้เห็นวิธีการ เห็นคุณค่าของงานศิลปะ และเห็นความมุ่งมั่นของศิลปิน ที่สำคัญคือจะสร้างความสุข แม้เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่เชื่อว่าช่วยบำบัดจิตใจได้อย่างดี
Contact
ที่ตั้ง เลขที่ 9 หมู่ 12 ริมถนนทางลัดบ้านสวน-ศรีสำโรง ตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย
โทร.09-4714-6145
Note to Know
- พี่อู๊ด พี่ไก่ อธิบายความแตกต่างระหว่างเครื่องสังคโลกและเครื่องเคลือบดินเผา ว่า
เครื่องสังคโลก คือ เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตที่เมืองสวรรคโลก ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นลักษณะของลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผา ส่วนเครื่องเคลือบดินเผา คือ งานปั้นที่ผ่านกระบวนการจุ่มน้ำเคลือบก่อนนำไปเผา ซึ่งมีความหมายเดียวกับเซรามิก ในภาษาอังกฤษ หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับการเรียก เครื่องเคลือบดินเผาเป็นเครื่องปั้นดินเผาก็ได้ ไม่ว่ากัน - สำหรับเวิร์กช็อปเขียนลาย คือ การออกแบบลวดลายบนจาน โดยจะใช้ลวดลายสังคโลกเป็นตัวอย่าง หรือวาดตามจินตนาการตัวเอง เมื่อวาดเสร็จจะนำไปเคลือบและรอเข้าเตาเผาพร้อมชิ้นงานอื่น จากนั้นจะจัดส่งไปให้ถึงบ้าน