About
RESOUND

Colorful Doi

DoiSter กับสารพัดสีสัน จากธรรมชาติบนดอยสูง

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ อรุโณทัย พุทธรักษา Date 19-01-2021 | View 2708
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดของไทย ชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม อาชีพหลักทำการเกษตร ยามว่างนิยมทำงานหัตถกรรมเสริมรายได้
  • ดอยสเตอร์เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่ทำงานด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และร่วมกันทำวิจัยเรื่องสีย้อมธรรมชาติเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์งานผ้าของชุมชนในแม่ฮ่องสอน ให้กลายเป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีมูลค่า
  • หนังสือ “สีสันจากขุนเขา” เป็นการจัดการองค์ความรู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติของคนบนพื้นที่สูง ได้แก่ ชุมชนปกาเกอะญอ และเลอเวือะ เป็นหนังสือภาพที่ใช้การ์ตูนเป็นตัวสื่อสาร เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงได้

แม่ฮ่องสอน จังหวัดที่ยังคงความบริสุทธิ์และไร้เดียงสา ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และความใสซื่อของผู้คน ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านที่นี่ยังคงยึดการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักเนื่องจากเป็นชุมชนป่า เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าสูงถึง 86% (ข้อมูล : สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้) พืชพันธุ์ในป่าที่มีชุกชุม นอกจากใช้เป็นยา อาหาร และเครื่องนุ่มห่มแล้ว ยังใช้ผลิตงานฝีมือเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

ผ้าของชุมชนปกาเกอะญอและเลอเวือะ

ชุมชนปกาเกอะญอ แห่งบ้านห้วยตองก๊อ ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมือง และชุมชนเลอเวือะ แห่งบ้านป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง เป็นสองชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ยังคงทอผ้าและปักผ้าขาย โดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ยึดถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทุกขั้นตอนเป็นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้บางครั้งพบข้อจำกัดสำหรับผลิตเป็นสินค้า เช่น สีย้อมผ้าเป็นสีที่สกัดจากพืชพันธุ์ในป่า ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องของเฉดสี และไม่ได้มีผลผลิตเพื่อนำมาทำสีได้ทุกฤดูกาล

ดอยสเตอร์ เครือข่ายที่ทำงานการท่องเที่ยวชุมชนแม่ฮ่องสอนข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้กลุ่มดอยสเตอร์ (DoiSter) เครือข่ายที่ทำงานด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้ขอทุนสนับสนุนจาก สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) ในการทำวิจัย พัฒนา และจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อยกระดับหัตถกรรมสิ่งทอสองสองชุมชนนี้ ให้เป็นงานฝีมือที่มีอัตลักษณ์ มีคุณค่า และสามารถตั้งราคาได้อย่างเหมาะสม

สามสมาชิกดอยสเตอร์ คนตีนดอยที่ไปทำงานบนดอย

จากคนตีนดอยสู่งานบนดอย

ดอยสเตอร์ (DoiSter) เป็นกลุ่มคนตีนดอย แต่ไปทำงานบนดอยร่วมกับชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 5 คน ได้แก่ สมภพ ยี่จอหอ, จุฑามาศ ประมูลมาก, นันทิยา สุคนธปฏิภาค, จรรยวรรธ สุธรรมา และเลิศศักดิ์ ทองสวัสดิ์วงศ์

ปุ๊หรือสมภพ ยี่จอหอ เป็นผู้ริเริ่มกลุ่มดอยสเตอร์ขึ้น หลังจากทำงานการท่องเที่ยวชุมชนมายาวนาน 10 กว่าปี การคลุกคลีอยู่กับคนบนพื้นที่สูง ทำให้เขามองเห็นศักยภาพการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูง และสามารถซื้อของฝากของที่ระลึกจากชุมชนได้ ถึงแม้ว่าของบางชิ้นจะมีราคาแพงก็ตาม

สมภพ ยี่จอหอ ผู้ก่อตั้งดอยสเตอร์

“เราทำงานในหลายหมู่บ้าน และเห็นว่าผลิตภัณฑ์บางชุมชนยังไม่ถูกตาต้องใจนักท่องเที่ยว ทำให้เสียโอกาสที่จะขายได้ จึงโฟกัสที่การพัฒนาสินค้า งานหัตถกรรมชุมชนนอกเหนือไปจากเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนที่ทำตั้งแต่แรก ช่วงแรกเราทำงานกับชุมชนปกาเกอะญอ และเลอเวือะ ก็มานั่งวิเคราะห์กันว่า ถ้าจะพัฒนาสินค้าขาย จะทำอะไรก่อนดี สุดท้ายมาจบที่งานทอผ้าเพราะมีคนทอผ้าในชุมชนเยอะ ซึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าของแต่ละชุมชนก็จะแตกต่างกัน เช่น รูปแบบผ้าของชาวปกาเกอะญอจะมีสีเข้ม ลายปักเยอะๆ จึงคิดว่าจะสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าของเรา เริ่มจากการวิเคราะห์ว่ากลุ่มลูกค้าของเราคือใคร และเราอยากสื่อสารอะไรกับเขา” ปุ๊เกริ่นเล่า โดยมี อ.จุ๊-จุฑามาศ ประมูลมาก และต่าย- นันทิยา สุคนธปฏิภาค ร่วมวงสนทนาคุย

เป้าหมายคือคนรุ่นใหม่

ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบนพื้นที่สูง ทำให้แต่ละชุมชนมีศิลปวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และมีอัตลักษณ์ของตัวเอง สิ่งที่สะท้อนออกมาจึงเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ภูมิปัญญาดั้งเดิม และงานหัตถกรรมชุมชนที่เปรียบเสมือนมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งควรค่าแก่การรักษาและเผยแพร่ไม่ให้สูญหาย

“กลุ่มคนที่เราอยากบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้คือ คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเมืองและไม่ค่อยได้มาสัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งคนรุ่นใหม่สนใจเรื่อง ECO เราจึงคิดว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราทำได้ รวมทั้งเทรนด์สีธรรมชาติก็กำลังมา เลยมาทำเรื่องสีย้อมธรรมชาติร่วมกับคนในชุมชน

สมภพ ยี่จอหอ ผู้ก่อตั้ง Doister

“โปรเจกต์นี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2559 เมื่อทำไปสักพัก พบข้อจำกัดว่า สีธรรมชาติไม่ได้สดใสเหมือนการใช้สีเคมี และได้เฉดสีที่น้อยกว่า การจะนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดความหลากหลายจึงเป็นเรื่องยาก เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้ได้สีสันที่มากขึ้น จึงขอทุนวิจัยจาก สกสว. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วพากลุ่มแม่บ้านในชุมชนไปเรียนรู้วิธีการย้อมสีธรรมชาติกับ อ.ปรางค์-นุสรา เตียงเกตุ ที่บ้านไร่ใจสุข ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสี ทำให้เราได้เทคนิคใหม่ๆ ในการผลิตสีสันจากธรรมชาติมากขึ้น แต่เทคนิคการย้อมสีที่สืบทอดกันมาของหมู่บ้าน เราก็ไม่ได้ทิ้ง เพียงแต่นำมาผสมผสานกับเทคนิคใหม่ๆ” ปุ๊เล่า

ย้อมผ้า = ต้นทุนธรรมชาติ + ภูมิปัญญาชุมชน

ต้นทุนทางธรรมชาติที่ชุมชนได้รับจากป่าไม้ คือแหล่งวัตถุดิบในการนำมาผลิตเส้นด้ายและสีย้อม สำหรับเส้นใยที่นิยมใช้มากที่สุดคือ ฝ้าย ส่วนวัสดุที่ให้สีจากธรรมชาติ มีทั้งจากพืชและสัตว์ ฯลฯ ส่วนของพืชที่นิยมใช้สกัดสีมีหลายส่วน เช่น เปลือก แก่น ราก หัวหรือเหง้า ดอก ใบ ผล และเมล็ด ส่วนใหญ่มักเป็นพืชป่า ที่ให้สีสันสวยงามน่าทึ่ง เช่น ใบกาแฟให้สีน้ำตาล, เนื้อไม้ฝางให้สีแดง ส้ม น้ำตาลแดง, เปลือกหว้าหรือมะเกี๋ยง ให้สีน้ำตาลอมชมพู, เมล็ดคำแสดให้สีส้ม, ผลของห่อคอเด๊าะหรือปิ้งขาวให้สีฟ้าเทอร์ควอยซ์, รากของยอป่าหรือเคาะ ให้สีน้ำตาลแดง เป็นต้น

นันทิยา สุคนธปฏิภาค หรือต่าย หนึ่งในสมาชิก Doister

นันทิยาหรือต่าย เป็นนักมานุษยวิทยา ที่ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเพื่อนำมาสังเคราะห์ เล่าให้ฟังว่า “เราจะดูก่อนว่าบนพื้นที่นั้น ใช้วัสดุพื้นบ้านอะไรในการย้อม แล้วเอาประสบการณ์ของพวกเราที่ได้จากการเรียนไปแลกเปลี่ยนกับคนท้องถิ่น บางครั้งชุมชนอาจจะคุ้นเคยกับวัสดุที่เคยใช้ ทำให้ไม่กล้าทดลองของใหม่ๆ อย่างเช่นการย้อมโดยใช้มอร์แดนท์ (Mordant) หรือการย้อมโดยใช้สารช่วยติดสี สารนี้จะช่วยให้การยึดติดเส้นใยกับสีย้อมดีขึ้น ซึ่งมอร์แดนท์ที่เราใช้คือสารส้ม และเฟอรัสซัสเฟต (น้ำจากสนิมเหล็ก) นอกเหนือไปจากมอร์แดนท์ธรรมชาติอย่างน้ำขี้เถ้าที่ชาวบ้านใช้กันมาแต่ดั้งเดิม”

ต่าย- นันทิยา สุคนธปฏิภาค

อย่างไรก็ตาม การย้อมสีธรรมชาติของคนบนพื้นที่สูง นิยมใช้การย้อมโดยตรง (Direct Dyeing) และการย้อมโดยใช้สารช่วยให้สีติด (Mordanat Dyeing) ซึ่งมอร์แดนท์ธรรมชาติที่นิยมใช้กัน มีตั้งแต่น้ำโคลน, น้ำขี้เถ้า ได้จากไม้ชนิดต่างๆ, น้ำปูนใส ได้จากการกินกับหมากหรือปูนขาวจากการเผาเปลือกหอย, น้ำสนิมเหล็ก (จากการเผาตะปูเหล็กและเหล็กที่ขึ้นสนิม ซึ่งจะนำไปแช่น้ำแล้วปิดฝาทิ้งไว้ 3 วัน จนน้ำกลายเป็นสีเหลืองจึงกรองมาใช้), น้ำมะขามเปียก, น้ำส้มป่อย ส่วนมอร์แดนท์เคมี เช่น สารส้มหรือเฟอรัสซัลเฟส เป็นสารช่วยย้อมที่หายากบนพื้นที่สูง จึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน

ผสมผสานเทคนิคเก่าใหม่

การทดลองร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัยและเป็นสากล รวมทั้งมีความกล้าที่จะพลิกแพลงวิธีการแปลกใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างหรืออาจได้เฉดสีที่สวยงามเพิ่มขึ้น เช่น ทดลองผสมสีด้วยการนำน้ำสีต่างชนิดมาผสมในหม้อเดียวกัน แล้วจึงทำการย้อม หรือการย้อมเส้นด้ายด้วยสีหนึ่ง เสร็จแล้วตากให้แห้ง จากนั้นนำมาย้อมทับอีกทีด้วยน้ำสีอีกชนิดหนึ่ง ฯลฯ เป็นต้น

อ.จุ๊-จุฑามาศ ประมูลมาก

“การเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องใช้วิธีของเราตลอด เราอยากให้ชุมชนใช้วัตถุดิบที่หาได้ เช่น สารส้มไม่ได้เป็นสิ่งที่ใช้ประจำวัน ก็ใช้ปูนขาวแทน หรือใช้ขี้เถ้าแทนน้ำด่าง หรือใช้ส้มป่อยก็ยังได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาจะได้กลับไปคือเรื่องของทักษะ และกลวิธีที่มากขึ้น

สิ่งทอของคนบนพื้นที่สูง

“จากเดิมมีวัตถุดิบให้สี 10 อย่าง ทำได้ 10 สี พอทดลองด้วยวิธีใหม่ๆ อาจได้สีใหม่ๆ ถึง 100 สีเลยก็ได้ อันนี้คือสิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชุน ที่สำคัญ นอกจากการพัฒนาเรื่องสีสัน ยังจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพ เช่น สวมใส่สบาย และการทำให้สีคงทนเพราะการย้อมด้วยวิธีดั้งเดิม ไม่ได้คำนึงถึงความติดทนของสีเพราะเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน แต่พอเราทำเป็นสินค้าหรือของที่ระลึก คุณสมบัติเหล่านี้คือปัจจัยที่ลูกค้าจะเลือกซื้อ ส่วนเรื่องดีไซน์ เราช่วยกันออกแบบกับชุมชน โดยพยายามคงความ ดั้งเดิม เพียงแต่จัดเรียงลายใหม่ เพราะเราคุ้นกับตลาดมากกว่า รู้ว่าตลาดชอบสีอะไรและถนัดกับการสวมใส่แบบไหน ” อ.จุ๊ เล่า

สิ่งทอของคนบนพื้นที่สูง

รักษาถูกวิธี…สีจะอยู่ได้นาน

เสื้อผ้าโทนสีพาสเทลที่ดูละมุนละไมหลากหลายเฉดสี มีลวดลายปักอันเป็นรูปแบบเฉพาะของชาวปกาเกอะญอและเลอเวือะ แขวนโชว์อยู่เต็มราวภายในบูธของดอยสเตอร์ ที่กาดต่อนยอน โหล่งฮิมคาว จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เสื้อผ้าทุกชิ้นจะมี Tag แนะนำวิธีดูแลรักษาเสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เพื่อยืดอายุการใช้งานสำหรับลูกค้าที่ซื้อไป

อ.จุ๊ อธิบายเรื่องงานผ้า“สีย้อมจากธรรมชาติ จะมีความซีดจางโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เวลาไปออกงานแฟร์ เราต้องอธิบายให้ลูกค้าฟังว่า สีพวกนี้มีระยะเวลาของมัน แต่สามารถยืดอายุได้นะ เช่น อย่าใช้ผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้าแรงๆ ต้องใช้น้ำสบู่หรือสบู่เด็ก อย่าแช่ผ้าเพราะจะทำให้สีไหลและสีตก ควรตากในที่ร่มและกลับด้านในออกตาก เวลาเก็บอย่าพับให้โดนแสงเพราะจะเป็นรอย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นเวลาเราขายของ สิ่งหนึ่งที่เราจะอธิบายลูกค้าคือเราไม่รับประกันว่าของชิ้นนี้จะอยู่คงทนถาวร มันมีอายุขัยและขึ้นอยู่กับว่าการดูแลรักษา” อ.จุ๊ เล่า

“เราพยายามผลักดันให้คนในชุมชนมาออกงานแฟร์ เพราะอยากให้ผู้ซื้อแลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้ผลิตโดยตรง และถ้าเป็นไปได้ ก็พยายามจะจัดเวิร์คช็อปเพื่อให้ลูกค้าทดลองทำจริงและสร้างความเข้าใจว่า สินค้ามีราคาแพงเพราะต้องใช้ระยะเวลาและทักษะ โดยเราสนับสนุนให้แม่บ้านในชุมชนเป็นครูสอน เพราะต้องการยกระดับให้เขาเป็นครู ไม่ได้เป็นเพียงแม่บ้านธรรมดา”

ดอยสเตอร์กับการออกร้านที่กาดต่อนยอน โหล่งฮิมคาว

อย่างไรก็ตาม หากใครสนใจเรื่องการย้อมสีธรรมชาติฉบับคนบนพื้นที่สูง อยากเรียนรู้พืชพันธุ์ไม้ป่าที่ให้สีต่างๆ และเทคนิคการย้อมสีธรรมชาติแบบชาวเขา ปัจจุบัน ดอยสเตอร์ จัดทำหนังสือภาพในชื่อว่า “สีสันจากขุนเขา คู่มือการย้อมสีธรรมชาติของคนบนพื้นที่สูง” ซึ่งมีวางจำหน่ายแล้ว

ทั้งเล่มสื่อสารด้วยภาพการ์ตูน ที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายจากฝีมือวาดภาพของ อ.จุ๊ สำหรับโรงเรียนใดที่สนใจและต้องการรับหนังสือเข้าห้องสมุด ทีมดอยสเตอร์ยินดีจัดส่งให้ฟรีโรงเรียนละ 2 เล่ม เพื่อให้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยและการทำงานร่วมกับชุมชนในครั้งนี้ ไม่สูญหาย และช่วยเผยแพร่ให้เด็กรุ่นหลังได้สืบสานกันต่อไป

หนังสือสีสันจากขุนเขา

สีสันจากขุนเขา คู่มือย้อมสีธรรมชาติฉบับคนบนพื้นที่สูง

สีสันจากขุนเขา คู่มือย้อมสีธรรมชาติฉบับคนบนพื้นที่สูง

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ Facebook.com/doisterwannabe

Tags: