- ชวนเที่ยว NatureTalk บ้านดินเชียงใหม่ ที่พักและคาเฟ่น้องใหม่สไตล์รักษ์โลก ที่เน้นใช้วัสดุจากธรรมชาติ โชว์เสน่ห์ความเป็นงานคราฟต์ที่มีหนึ่งเดียวในโลก
- แนวคิดของการทำบ้านดินหรือที่เรียกว่า Earth House คือการสร้างสิ่งที่ดูไม่มีราคา ไม่มีค่า ให้มีคุณค่า และไม่ทำลายสัจจะของวัสดุเดิม
ในวันที่ผู้คนโหยหาธรรมชาติ และอยากล้มตัวบนฟูกหญ้า ถ่ายรูปกับสวนดอกไม้ นอนฟาร์มสเตย์ และกางเต็นท์แคมป์ปิ้ง คนรุ่นใหม่อย่างเบียร์และนะโม ก็ย้ายตัวเองออกจากความเป็นเมือง ตระเวนหาที่ดินต่างจังหวัด และลงหลักปลูกบ้านดินเพื่อทำเป็นที่พักแบบลองสเตย์ในจังหวัดเชียงใหม่
เริ่มต้นจากศูนย์
NatureTalk คือโปรเจกต์บ้านดิน ที่พักน้องใหม่ในอำเภอแม่ริม ผลงานออกแบบและปั้นเองกับมือของ เบียร์-สุธิศา เกิดท่าพระ และนะโม-ภูเบศวร์ ตันติต้องตา สองหนุ่มสาวที่จบด้านศิลปะ และอยากค้นหาความเป็นตัวเอง โดยเบียร์ จบด้านจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนนะโม หนุ่มมาดเซอร์จบด้านแอนนิเมชัน จากมหาวิทยาลัยรังสิต
พื้นฐานด้านศิลปะที่ร่ำเรียนมา ถูกนำมาประยุกต์ใช้แต่งแต้มสีสัน ละเลงจินตนาการลงบนกระดาษผ้าใบสีขาวหรือพื้นที่ขนาด 4 ไร่ 1 งาน จนออกมาเป็นรูปเป็นร่างของบ้านดินขนาด 3 ชั้น สวยเด่นในสไตล์ยุโรป ดูโอ่อ่า อลังการและเป็นเอกลักษณ์แบบงานแฮนด์เมด โดยชั้น 1 ทำเป็นบาร์หรือคาเฟ่เล็กๆ สำหรับรองรับลูกค้าขาจร ชั้น 2 เป็นห้องพักรับรองแขก ส่วนชั้น 3 เป็นชั้นเดียวที่ทำจากไม้ เป็นโซนพักอาศัยของเจ้าของบ้าน
“เราใช้ชีวิตในเมืองมานาน เมื่อก่อนอยู่คอนโดในกรุงเทพ การจะออกไปสัมผัสกับธรรมชาติคือต้องไปสวนสาธารณะ เรารู้สึกขาดแคลนธรรมชาติ และอยากพาตัวเองเข้าหาธรรมชาติ อยากได้ชีวิตที่เป็นปกติสุขของมนุษย์ จนมาเจอที่ตรงนี้ สาเหตุที่เลือกเชียงใหม่เพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจ ผู้คนโอบอ้อมอารี และเป็นแหล่งงานคราฟท์เยอะ
“ความตั้งใจแรกคืออยากทำสตูดิโอศิลปะ และที่พักระยะยาวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จริงๆ แล้วเดิมทีไม่คิดจะเปิดคาเฟ่ แต่เราคิดว่าศิลปะยืนพื้นด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องหาโจทย์ที่เป็นธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้เข้ามา และให้เรามีเวลาไปทำงานศิลปะด้วย”
นะโม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ NatureTalk ธุรกิจเล็กๆ ที่เริ่มต้นมาจากศูนย์ จากคนที่ไม่เคยทำธุรกิจ ไม่เคยใช้ชีวิตนอกเมืองและไม่เคยปั้นดินมาก่อน
ลงมือปั้น
บ้านดินสีขาวราวกับคฤหาสน์ในการ์ตูน ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง จากการค่อยๆ ร่าง ค่อยๆ ปั้น จนแล้วเสร็จสมบูรณ์และเพิ่งเปิดพื้นที่ให้บริการเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมาอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก่อนหน้านี้ ส่วนคาเฟ่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกในเชียงใหม่ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยก็ลดน้อยลงจนเจ้าของชักหวั่นใจ กระทั่งสถานการณ์เริ่มจะกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เจ้าของเลยเริ่มยิ้มออก
“พื้นที่ในบ้านเราทำกันเอง จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน ทั้งส่วนของผนังดิน และการปั้นทั้งหมด ถือเป็นการลองผิดลองถูกแทบทุกอย่าง ทีแรกเราลองเปิดเป็นร้านขายน้ำ มีอาหารนิดหน่อย เพื่อให้มีเงินเข้ามาก่อน โชคดีมีทุนเดิมอยู่ ทำให้เราคิดฝัน และสร้างสรรค์มันได้อย่างเต็มที่” เบียร์เล่า โดยบ้านดินหลังนี้ใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติเกือบทั้งหมด เช่น ดินสีขาว ไม้ไผ่สำหรับขึ้นโครง บางส่วนใช้เหล็กเพื่อทำโครงสร้างที่แข็งแรง และใช้หินสำหรับทำเคาน์เตอร์ครัว
“แนวคิดของการทำบ้านดิน คือ การสร้างสิ่งที่ดูไม่มีราคา ไม่มีค่า ให้มีคุณค่า และไม่ทำลายสัจจะของวัสดุ เราจึงดีไซน์บ้านเป็นแบบ Earth House จากการเปลี่ยนรูปของดิน เติมแต่งจินตนาการของพวกเราให้มันมีคุณค่ามากขึ้น พยายามใช้วัสดุที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดความรู้สึกแบบ Earth House จริงๆ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ใช้ดินก่อเป็นงานบิวท์อินไปในตัว ถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ก็จะไม่หลุดจากความเป็นไม้หรือหนัง เพื่อโชว์ดีไซน์ที่เป็นดั้งเดิมของวัสดุนั้น”
บ้านดินหลังนี้ ถูกออกแบบให้เข้าถึงบริบทของธรรมชาติรอบตัวมากที่สุด ไม่เน้นใช้แอร์ แต่สร้างเส้นทางภายให้มีลมถ่ายเทสะดวก เปิดช่องไว้ตรงกลางบ้านเพื่อระบายความร้อนขึ้นสู่ด้านบน และเปิดโล่งรับลมภายนอกเข้าสู่ภายใน อีกทั้งยังเป็นช่องแสงเปิดรับแสงสว่างจากภายนอก ทำให้แทบไม่ต้องเปิดไฟในเวลากลางวัน นอกจากนี้ ความชื้นของบ้านดิน ยังช่วยให้พื้นที่ภายในโดยเฉพาะชั้น 1-2 เย็นสบายแม้ในวันที่อากาศร้อนจัด
คราฟต์ทุกอณู
นอกจากจะเป็นที่พักแนวรักษ์โลก เน้นวัสดุธรรมชาติ ปลูกสร้างขึ้นด้วยความใส่ใจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บ้านดินหลังนี้ยังชวนให้เราอินไปกับความเป็นงานคราฟต์ที่ฝากฝังไว้ในทุกๆ รายละเอียด อาทิ โชว์พื้นผิวผนังที่ไม่เรียบ ไม่มีขอบมุม ไม่มีความสมดุลด้านซ้ายขวา การจัดวางหรือการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์เป็นแบบตะวันออกกลาง ที่มีความไร้เดียงสา และเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง
ถัดไปไม่ไกลจากบ้านดิน เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะที่มีชื่อว่า ‘Konfang Studio’ จุดเด่นอยู่ตรงโครงสร้างผนัง ใช้เพียงฟางอัดก้อนและเหล็กมัดรวมให้เป็นมวลเดียวกัน จากนั้นใช้เทคนิคการฉาบดินขาว ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการทำบ้านดิน
สตูดิโอแห่งนี้ ใช้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะ โดยนะโมเน้นงานปั้นที่อิงไปกับธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ ของตกแต่งบ้าน ของตกแต่งสวน และงานปั้นที่มีฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่ใส่คาแรกเตอร์ที่เป็นตัวละครเข้าไปเพื่อให้คนจดจำได้ง่ายขึ้น ขณะที่เบียร์ถนัดสร้างสรรค์งานที่เป็น Art Installation ซึ่งปัจจุบันรับออกแบบและให้คำแนะนำสำหรับผู้สนใจอยากสร้างบ้านดินอีกด้วย
นอกจากนี้ Konfang Studio ยังใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป เปิดสอนงานศิลปะในธีมต่างๆ เน้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติและของรีไซเคิล โดยเปิดโอกาสให้กับคนทุกวัยได้สวมรอยเป็นแวนโก๊ะ สร้างสรรค์จินตนาการได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ถัดไปอีกนิดคือซุ้มดอกไม้แห้ง ที่เป็นไฮไลท์ในการถ่ายรูป ภายในตกแต่งด้วยดอกไม้แห้ง ซึ่งเป็นดอกไม้จากสวนต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เบียร์เล่าว่า เธออยากครีเอทซุ้มดอกไม้แห่งนี้ ให้มีบรรยากาศที่แตกต่างไปจากสวนดอกไม้อื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ จึงลองนำดอกไม้แห้งมาจัดวางใหม่ นอกจากจะดูแปลกและงามตาแล้ว ยังช่วยสร้างราคาให้กับดอกไม้ไร้ค่าเหล่านี้อีกด้วย
ใครปักหมุดเที่ยวเชียงใหม่ช่วงปลายปีนี้ ลองแวะไปทักทายให้กำลังใจเบียร์กับนะโมได้ที่ NatureTalk ส่วนห้องพักอาจต้องจองกันยาวๆ สักหน่อย เพราะมีเพียง 2 ห้องเท่านั้น ได้แก่ ห้องดินโต ราคา 1,900 บาท และห้องดินน้อย ราคา 1,600 บาท (โปรโมชั่นพิเศษเฉพาะห้องดินน้อย ลดเหลือ 800 บาท สำหรับการเข้าพักตั้งแต่วันนี้-31 ตุลาคม 2564)
NatureTalk
ที่อยู่ : ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
เวลาเปิด-ปิด : 09.00-16.30 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
โทร. 091 447 5348
เฟซบุ๊ก : www.facebook.com/Naturetalkthailand