About
TRENDS

เซินเจิ้นนิวลุค

เซินเจิ้น นิวลุค จากเมืองก๊อปสู่เมืองเก่งในเทคและดีไซน์

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ Date 27-08-2021 | View 4425
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • จากการเป็นชาติที่โดดเดี่ยวกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลกชาติหนึ่ง ในระยะเวลาเพียง 40 ปี จีนเริ่มใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดให้มีเส้นทางการค้าและมีเงินลงทุนไหลเข้าประเทศ ส่งผลให้ประชากรหลายร้อยล้านคนไม่ยากจนอีกต่อไป
  • ที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ หรือปักกิ่ง คือเมืองใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดีของผู้คนทั่วโลก แต่วันนี้ ‘เซินเจิ้น’ กลายเป็นอีกเมืองที่ไม่ควรมองข้าม เพราะตอนนี้กำลังถูกเปลี่ยนภาพลักษณ์จากเมืองประมงสู่เมืองเศรษฐกิจสำคัญของจีน
  • นอกจากความตื่นตาตื่นใจกับภาพเมืองใหม่ที่ฉายแววมหานครไฮเทคแล้ว
    เซินเจิ้นยังมุ่งเป้าหมายพาตัวเองไปสู่เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design)  จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับเซินเจิ้น ในศตวรรษที่ 21 ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘Sillicon Valley of China’

• Open Door เปิดเมืองเปิดประเทศ

จีนในอดีตกับจีนทุกวันนี้ เปลี่ยนไปแล้ว!! และหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวว่า ไม่มีเมืองไหนในโลกเติบโตเร็วเท่ากับเซินเจิ้นอีกแล้ว ภาพจำของ ‘เซินเจิ้น’ แห่งแดนมังกรในอดีตถูกลบจาก ​‘เมกะแห่งการเลียนแบบ’ ไปอย่างสิ้นเชิง

ท่ามกลางโลกแห่งการแข่งขัน ทุกอย่างเติบโตอย่างก้าวกระโดด สายตาหลายคู่จากทั่วโลกพากันมองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นราวกับล้างไพ่ ใครๆ ต่างพากันส่องสปอตไลท์ไปที่เมืองเซินเจิ้น เพราะนี่คือ ผลจากการขยับนโยบาย ปรับโฉม คิดใหม่ ทำใหม่ พร้อมวางโครงสร้างรีแบรนด์เมืองใหม่ทั้งหมด

Z 2

แน่นอน…เซินเจิ้นมุ่งหน้าสู่มหานครไฮเทค ติดอันดับหนึ่งในเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ก้าวสู่อาณาจักรซึ่งเต็มไปด้วยเศรษฐีใหม่ มีตลาดหลักทรัพย์เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่แหล่งรวมนวัตกรรมและบริษัทชื่อดังระดับโลก กระทั่งทุกวันนี้ ‘เซินเจิ้น’ ผงาดขึ้นจนได้ชื่อว่า ติดท็อปเท็นการจัดอันดับมากมายในเอเชียไปจนถึงในระดับโลก แถมยังเป็นเมืองแห่ง ‘Creative Design’ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

Z 7

• เมืองประมงเก่า กับ ความทรงจำสีซีเปีย

เซินเจิ้น ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง เมืองชายแดนทะเลทางใต้ของจีน ในอดีตเมืองนี้เคยเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงผู้คนพึ่งพาทรัพยากรจากท้องทะเล หาเลี้ยงชีพด้วยการทำนาเกลือและผลิตผงปรุงอาหาร คนไทยบางคนที่เคยไปเยือนสมัยก่อน เล่าว่า เมื่อก่อนเมืองนี้แทบไม่มีอะไรเลย เท่าที่จำความได้คือ มีแค่อาคารก่ออิฐถือปูนอยู่ 3-4 หลังเท่านั้น

จุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปี 1978 เมื่อรัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ อาศัยความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นเมืองท่าและอยู่ติดกับเกาะฮ่องกง ทำให้เมืองประมงแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Shenzhen Special Economic Zone) แห่งแรกของจีน สิ่งนี้ราวกับเข็มทิศใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนภาพของเมืองจากทุ่งนาและวิถีประมงสู่โรงงานรับจ้างผลิตสินค้าและขึ้นแท่นเมืองศูนย์กลางผลิตอย่างเต็มรูปแบบ

เซินเจิ้นได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงของ Greater Bay Area ซึ่งมีความหมายทั้งด้านภูมิศาสตร์ และการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของจีนใต้ ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของ Greater Bay Area มีมูลค่าราวๆ 1.34 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2030 คาดว่าจะเพิ่ม 3 เท่าเป็น 4.6 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

Z 5

• อัพเกรดสู่มหานครไฮเทคแห่งโลกตะวันออก

แน่นอนว่าระหว่างทาง…ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ผลลัพธ์จากการส่งเสริมเศรษฐกิจซึ่งมีภาคการผลิตขนาดใหญ่มหึมามายาวนาน ทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองไม่ค่อยดีนัก แถมเส้นทางดังกล่าวทำให้ผู้คนรู้จักเซินเจิ้นในภาพลบๆ บ้างก็ว่าเป็นดินแดนแห่งสินค้าก็อบปี้ สินค้าเกรดบีไม่มีคุณภาพ

ปี 2008 ‘เซินเจิ้น’ รื้อนโยบายปรับทิศปรับทางใหม่ ขยับไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจการบริการเชิงสร้างสรรค์ (Creative Industry) ทั้งด้านอุตสาหกรรมไฮเทค ศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ และการพัฒนากับวิจัยและการพัฒนาวัฒนธรรมในเชิงสร้างสรรค์ และแล้วเส้นทางเส้นใหม่นี้ พาเมืองก้าวสู่เมืองเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เต็มไปด้วยอาคารสมัยใหม่

เซินเจิ้นในช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา มีทั้งศูนย์การค้า ร้านค้าแบรนด์เนม มีอาคารสำนักงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม เป็นฐานการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงของโลก เป็นบ้านของ Tech Company ชั้นนำมากมาย เช่น บริษัท Huawei บริษัท ZTE บริษัท Tencent เจ้าของแพลตฟอร์มเกมส์ออนไลน์ชื่อดัง บริษัท DJI ผู้ผลิตโดรนและเทคโนโลยีทางอากาศ บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Foxconn ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิปเซ็ตประมวลผล และคอมพิวเตอร์ ฯลฯ รวมทั้งก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลจีนประกาศทดลองใช้เงินดิจิทัลสกุลหยวน เซินเจิ้นก็เป็นหนึ่งใน 4 เมืองนำร่องใช้เงินสกุลนี้ แถมยังเป็นหนึ่งในจุดทดลองใช้สัญญาณ 5G ที่แรกของโลกอีกด้วย

9

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของธนาคารยีนแห่งชาติ (China National Gene Bank : CNGB) แห่งแรกและแห่งเดียวของจีน บริหารโดยบริษัท Beijing Genomics Institute (BGI) ซึ่ง CNGB ได้เก็บรวบรวมตัวอย่างยีนของมนุษย์ พืช สัตว์และจุลินทรีย์ไว้มากถึง 11.3 ล้านตัวอย่าง สอดคล้องกับศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ระบุว่า ปัจจุบันเซินเจิ้นมีจำนวนบริษัทเทคโนโลยีระดับสูงกว่า 16,900 บริษัทมากเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากกรุงปักกิ่งเท่านั้น

หลังจากเซินเจิ้นเริ่มตื่นตัว จากเมืองผลิตสินค้าก็อปปี้สู่อุตสาหกรรมนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี พลังงานสะอาด เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร ช่วงหนึ่งเมืองก็มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะดึงดูดนักเทคโนโลยีหลายสาขาทั่วโลกมากองรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นมาร์เทค ฟินเทค บล็อกเชน ฯลฯ รวมไปถึงการคิดค้นวัสดุใหม่ เฉพาะธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งสามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับเมืองเซินเจิ้นถึง 40% โดยใช้งบประมาณด้านงานวิจัยและพัฒนา (R&D) สูงกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย R&D ในเมืองจีน และกลายเป็นเมืองที่มีการจดสิทธิบัตรสูงสุดในประเทศ

Z 3

• จากฮับการผลิตสู่เมืองเศรษฐกิจและการออกแบบ

เซินเจิ้นยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเมืองแห่งการออกแบบ หรือ City of Design  ในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ ‘UNESCO Creative Cities Network’ (UCCN) ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ครอบคลุม 7 สาขาสร้างสรรค์ อาทิเช่น ศิลปะพื้นบ้าน สื่อศิลปะ ภาพยนตร์ การออกแบบ การทำอาหาร วรรณกรรม และดนตรี นับว่าเจ๋งสุดๆ เพราะเป็นเมืองแรกของประเทศจีนที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองแห่งการออกแบบ รวมทั้งเป็นเมืองลำดับที่ 6 ของโลก ด้วยความสามารถบริษัทออกแบบและนักออกแบบในเมืองเซินเจิ้น ขยับขึ้นมาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดโลก

ทุกวันนี้เมืองเซินเจิ้นจึงเป็นที่ตั้งบริษัทด้านการออกแบบมากกว่า 6,000 แห่ง มีผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเกือบ 200,000 คน แถมทำเงินสร้างมูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมด้านการออกแบบต่อปีราวๆ 23,000 ล้านหยวน (ประมาณแสนกว่าล้านบาท) สอดคล้องกับข้อมูลของเว็บไซต์ไทยบิซไชน่าดอทคอม ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของเมืองเซินเจิ้น ซึ่งติดอันดับการพัฒนานั้น มีอัตราการโตของดัชนีความสร้างสรรค์ของเมือง (Urban creativity index) สูงที่สุดในจีนติดต่อกันมาทุกปี จนผู้คนต่างขนานนามการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ว่าเป็น ‘ปาฏิหาริย์แห่งเซินเจิ้น’ (The Shenzhen Miracle)

• สร้าง DNA ด้วยครีเอทีฟ ดีไซน์และเทคโนโลยี

เซินเจิ้น มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการหยิบจับเอามิติสร้างสรรค์มาสร้างเป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาเมือง ควบคู่ไปกับงานด้านการออกแบบและดีไซน์ที่สร้างมิติใหม่ๆ เป็นตัวชูโรงให้กับเมืองในแต่ละด้านในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน เมืองให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยสนับสนุนให้รถสาธารณะทุกคันในเมือง

ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์หรือรถแท็กซี่ ล้วนเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงปีละ 440,000 ตัน มีการวางผังเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวกระจายอยู่ทั่วไป มีสวนสาธารณะที่ประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ถนนสองข้างทางมีต้นไม้ใหญ่ทำให้ร่มรื่นน่าเดิน สะท้อนแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development)

Z 11

ในการเป็นเจ้าภาพจัดอีเวนต์ใหญ่ๆ ที่ผ่านมา มีการจัดงานด้านการออกแบบ เช่น Shenzhen Design Week (SZDW) ซึ่งเป็นงานสัปดาห์การออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในเมือง รวมถึง Shenzhen Global Design Award (SDA) งานมอบรางวัลด้านการออกแบบ รวมทั้งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการแลกเปลี่ยนระหว่างนักออกแบบจีนกับนักออกแบบจากต่างชาติ โดยเมื่อปี 2020 มีนักออกแบบจาก 30 ประเทศและเขตพื้นที่เข้าร่วม และมีผลงานส่งเข้าประกวดราวๆ 5,000 ชิ้น ซึ่งงานเหล่านี้ล้วนได้รับการสนับสนุนจาก UNESCO ทั้งสิ้น

 

Z 4

นอกจากนั้น ยังมีงานนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง Urbanism\Architecture Bi-city Biennale (UABB) ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยมีการกำหนดแนวคิด และเชิญชวนคนมาจัดแสดงงานตามสถานที่ต่างๆ ภายในเมือง รวมถึงการผลักดันให้เกิดการจัดงานแฟร์ใหญ่ๆ ด้านต่างๆ หมุนเวียนอยู่เสมอ

ด้านคมนาคม ภาพของสนามบินเซินเจิ้น ซึ่งรองรับปริมาณผู้โดยสารต่อปีในจำนวนมากกว่า 50 ล้านคน ก็มีการพัฒนาอยู่ตลอดโดยเฉพาะในด้าน Big Data มุ่งเน้นพัฒนาแพลตฟอร์มสร้างสนามบินอัจฉริยะ และระบบนิเวศแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่สำหรับการผสานรวม IoT, Big Data, AI, คลาวด์สำหรับวิดีโอ, GIS และ ICP เข้าด้วยกัน และเมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมายังเพิ่งเปิดตัวเฮลิคอปเตอร์แท็กซี่รับส่งระหว่างท่าอากาศยานเซินเจิ้น เป่าอันและเขตฝูเถียนซึ่งเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมือง เรียกว่าสร้างความฮือฮาในวงการนี้ไม่เบา

1

• สู่ความเป็นที่สุดที่มาพร้อมแลนด์มาร์ก

ในวงการศิลปะและสถาปัตยกรรม เซินเจิ้นมีสตูดิโอ งานอาร์ต งานภูมิสถาปัตย์ สถานที่ท่องเที่ยวและเดสติเนชั่นที่โดดเด่นไม่เบา ประเดิมด้วยมีร้านหนังสือขนาดยักษ์อยู่กลางเมือง ชื่อว่า ‘Shenzhen Book City’ ซึ่งเคยมีการเคลมกันว่าเป็นร้านหนังสือแบบให้บริการตนเองที่ใหญ่ที่สุดจีนแถมยังใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมใหม่ของเมืองเซินเจิ้นในเขตหลงกัง ผลออกแบบโดย ‘Mecanoo’ บริษัทออกแบบสัญชาติดัตช์ ประกอบด้วยอาคารหลัก 4 อาคาร ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์เยาวชน และอาคารร้านหนังสือ Book Mall ที่ว่านี้ โดยอาคารร้านหนังสือซึ่งมีความสูงถึง 7 ชั้น จัดพื้นที่ชั้นหนึ่งไว้เป็นร้านหนังสือแบบให้บริการตนเองและเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

8

สายฮิปเตอร์ก็ต้องไม่พลาดแหล่งฮิปของเมืองที่ OCT Loft รับรองว่าสลัดลืมภาพของเมืองจีนแบบเดิมๆ อย่างที่เคยดูในหนังได้เลย เพราะ OCT Loft คือรูปแบบของโครงการพัฒนาเมืองใหม่ที่เนรมิตแปลงโฉมย่านอุตสาหกรรมผลิดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เดิมนามว่า OCT หรือ Oversea Chinese Town ให้กลายเป็นเมืองครีเอทีฟสร้างสรรค์สุดโมเดิร์นบนเนินเขา เต็มไปด้วยคาเฟ่ ร้านรวงและสถานที่ต่างๆ แบบครบวงจรตั้งแต่ที่พักอาศัย สวนสนุก มหาวิทยาลัย ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

10

 

สิ่งที่น่าสนใจต่อมาคือ โครงการ Shenzhen Bay Super Headquarters Base Tower C กำลังจะมาเติมเต็มเส้นขอบฟ้าของเมืองให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้น ผลงานการออกแบบโดยบริษัท Zaha Hadid Architects โดยออกแบบให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ ใช้วัสดุรีไซเคิล หรือมีคาร์บอนฟุตปริ้นต์ต่ำ เน้นการให้แสงธรรมชาติช่วยเรื่องการประหยัดไฟ และมีพื้นที่จอดจักรยานขนาดใหญ่พิเศษที่เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน กระตุ้นให้ชาวเมืองใช้จักรยานและขนส่งสาธารณะ

โครงการที่ว่านี้ไม่ได้สร้างแค่ตึกออฟฟิศ แต่ยังมีศูนย์ประชุมและจัดนิทรรศการ ที่อยู่อาศัย ฮับขนส่ง สวนสาธารณะ และพื้นที่สาธารณะริมน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมพื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินของประเทศ ซึ่ง Tower C จะเป็นแหล่งรวมออฟฟิศโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการเงิน หากมีการสร้างเสร็จทั้งหมดราวปี 2027 คาดว่าจะมีคนทำงานในโครงการนี้ราว 3 แสนคนเลยทีเดียว

Z 6

ด้านแลนด์มาร์กใหม่ชวนจับตามอง ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ การออกแบบชวนตะลึงจากฝีมือสถาปนิกชื่อดัง ‘Sou Fujimoto’ ชาวญี่ปุ่นกับสถาปัตยกรรมตึกสูงตระหง่านกว่า 268 เมตร ประกอบด้วยหอคอยย่อยๆ กว่า 99 ชั้น ตั้งอยู่ที่ อ่าว Qianhai สะท้อนความหลากหลายของสังคมยุคสมัยใหม่ มองจากด้านบนราวกับอาคารนี้ลอยอยู่เหนือน้ำ โดยไอเดียที่ว่านี้ผู้ออกแบบต้องการสร้างเป็นเป็นเสมือนแลนด์มากใหม่ของเมือง หวังให้เป็นจุดหมายปลายทางที่พลาดไม่ได้สำหรับใครก็ตามที่มาเยือนเมืองนี้

เซินเจิ้นจะยังคงเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นต้นแบบของเมืองในการสร้างประเทศ ‘สังคมนิยมสมัยใหม่ของจีน’ โดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macau Greater Bay Area) หรือ GBA โดยรัฐบาลจีนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเมืองเซินเจิ้นให้เป็น “ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและความสร้างสรรค์” อีกด้วย เรียกได้ว่า เมื่อเศรษฐกิจของเมืองพัฒนาก็สร้างสีสันและความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนที่อาศัยในเมืองนี้กลายเป็น ‘Urban Lifestyle’ เช่นเดียวกับมหานครใหญ่ของโลกหลายแห่งภายในระยะเวลาไม่นาน

ส่วนอนาคตในระยะยาว เซินเจิ้นได้วางแผนเมืองเอาไว้อย่างชัดเจน โดยตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2035 รายได้ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านหยวน มีการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต และนำการออกแบบของเซินเจิ้นสู่การเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีอิทธิพลต่อวงการออกแบบแนวหน้าของโลก เหมือนเป็นการบอกโดยนัยว่า เซินเจิ้นคือเมืองไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมหยุดก้าว และไม่มีวันที่จะหยุดพัฒนา


อ้างอิง

http://www.eyeshenzhen.com/content/2021-05/18/content_24223261.htm
https://en.unesco.org/creative-cities/shenzhen
https://thaibizchina.com/article/sz
https://hr.tcdc.or.th/en/Articles/Detail/Shenzhen-CEA-Forum-2019
https://www.dezeen.com/
www.xinhuathai.com

Tags: