มุมลึก ‘ไนจีเรีย’
ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยที่ทำให้เราเข้าใจมุมลึกของ ‘ไนจีเรีย’
- ความชอบผจญภัยทำให้คุณนัทเลือกขีดเส้นทางเดินชีวิตตัวเอง จากการเป็นทหารบกของกองทัพไทยให้ทะยานสู่การเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์และครูสอนการบิน
- ต่อมาคุณนัทตัดสินใจไปทำงานที่ไนจีเรีย ประเทศที่อยู่ไกลถึงทวีปแอฟริกา เขาหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นความภูมิใจและสีสันของครอบครัวรุ่งโรจน์รุ่นต่อไป
- ท่ามกลางความเข้มงวดในการใช้ชีวิตที่ไนจีเรียเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คุณนัทปรับมุมมองและคิดบวกกับความกดดันนี้ ทั้งยังเก็บประสบการณ์ที่เจอมาบอกเล่าผ่านงานเขียนของตัวเอง เพื่อให้คนไทยรู้จักอาชีพนักบินเฮลิคอปเตอร์และประเทศไนจีเรียให้มากขึ้น
หากคุณเป็นหนอนหนังสือที่ชอบอ่านเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตในต่างแดน โดยเฉพาะประเทศที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคยแล้วล่ะก็ คุณน่าจะเคยเห็น เคยได้ยิน หรือเคยอ่านหนังสือเรื่อง ‘สวัสดีไนจีเรีย Nigeria here I come’ กันมาบ้าง
ครั้งนี้เราจะพามาสนทนากับกัปตันนัท - คุณธราพงษ์ รุ่งโรจน์ เจ้าของเพจ ‘นัทแนะ’ และผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าว กับชีวิตไกลบ้านที่ไนจีเรีย
ว่ากันว่า ‘โลกนี้ไม่มีความบังเอิญ’ ถ้าเป็นเช่นนั้น อะไรทำให้ชีวิตคุณก้าวมาถึงจุดนี้ได้
“ผมรับราชการทหารบกจนติดยศพันตรี แล้วก็จับพลัดจับผลูไปเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีคนไทยทำสักเท่าไหร่ ทั้งประเทศมีไม่ถึงร้อยคน ตอนนั้นผมอายุ 28-29 ปี ก็ตัดสินใจลาออกจากกองทัพ เพราะคิดว่าถ้าจะเริ่มต้นอาชีพใหม่ตอนอายุเท่านี้ ยังมีโอกาสเติบโตได้ และการเป็นที่ต้องการย่อมดีกว่าเป็นแค่ตัวเลือก
“ผมได้ทุนไปเรียนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (เฮลิคอปเตอร์) ที่แคนาดาจนได้รับใบอนุญาตนักบินที่นั่น แล้วก็กลับมาสอบใบอนุญาตนักบินของไทย ทำงานให้บริษัทการบินเฮลิคอปเตอร์ในเขตพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันของอ่าวไทย ระหว่างนั้นผมไปสอบใบอนุญาตนักบินของอเมริกาไว้อีกใบ เผื่ออนาคตอยากทำงานต่างประเทศ ช่วงนั้นผมไต่เต้าจากการเป็นนักบินผู้ช่วยจนได้เป็นกัปตัน ตอนนั้นคิดว่าถ้าเป็นกัปตันอย่างเดียวคงจะน่าเบื่อ ความที่ผมประทับใจครูสอนการบินที่ดูเก่งและรอบรู้ ผมเลยตั้งใจสอบเป็นครูการบินด้วย พอได้เป็นครูการบินสมใจ ทำให้ผมรู้ว่านี่คือการเปิดโลกทัศน์ตัวเองเยอะเลย เพราะได้ไปสอนตามประเทศต่างๆ รวมถึงทำให้ผมได้ไปทำงานที่ไนจีเรียด้วย”
คนส่วนใหญ่มักกลัวการเปลี่ยนแปลง
“เมื่อ 3 ปีก่อนตอนที่ผมไปสอนการบินอยู่ที่อเมริกา ได้เจอครูสอนการบินด้วยกันที่ทำงานให้กับบริษัทเฮลิคอปเตอร์ของอเมริกาที่ทำธุรกิจกับบริษัทน้ำมันที่ไนจีเรีย เขาชวนผมไปทำงานด้วยกัน ทีแรกใจก็คิดปฏิเสธ เพราะข่าวคราวของไนจีเรียดูเป็นพื้นที่อันตราย แต่ฟังไปฟังมารู้สึกชักสนุกและน่าตื่นเต้นดี ก็กลับมาปรึกษาครอบครัว
อาจเพราะผมเคยเป็นทหาร ตอนรับราชการก็เคยไปประจำอยู่ต่างจังหวัด คุณแม่ก็ชินกับการที่ผมไม่ค่อยอยู่บ้านอยู่แล้ว “ส่วนภรรยา เราแต่งงานกันตอนผมเป็นนักบินแล้ว ซึ่งผมก็ทำงานต่างจังหวัดอยู่ดี ฉะนั้น การที่ผมจะไปทำงานต่างประเทศก็ไม่ต่างกับการไปทำงานต่างจังหวัด อันที่จริง ยิ่งเราอยู่ไกลกัน กลับได้วิดีโอคอลคุยกันทุกวันด้วยซ้ำไป ขอบคุณที่ครอบครัวเข้าใจว่านี่เป็นอาชีพที่ผมอยากทำ และก็สนับสนุนให้ผมได้ทำ
“เวลาต้องตัดสินใจอะไร ผมจะคิดว่าถ้าอนาคต ผมมองย้อนกลับจะเสียใจไหมกับสิ่งที่ทำลงไป ผมมั่นใจว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า การไปทำงานที่ไนจีเรียจะเป็นความภูมิใจเล็กๆ ของผม เป็นสีสันของครอบครัว
“เหมือนอย่างที่คุณตาผมสมัครเป็นทหารไปรบในสงครามเกาหลี ตอนท่านเสียชีวิต สถานทูตเกาหลีนำธงชาติมาคลุมร่างให้ แม้สิ่งที่ผมทำไม่ได้เป็นวีรกรรมเพื่อประเทศชาติ แต่จะเป็นเรื่องเล่าสนุกๆ ที่น่าสนใจให้ลูกให้หลานฟัง”
ไนจีเรียที่คิดไว้กับที่ไปเห็นจริง
“ตอนไปถึงก็ถามตัวเองทุกวันว่า ‘มาทำอะไรที่นี่’ (หัวเราะ) ต่างจากที่วาดภาพไว้เยอะ ขนาดว่าผมเป็นทหารมา เคยอยู่มาหลายจังหวัด แต่ก็ไม่มีที่ไหนลำบากเท่าที่นี่ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่ผมไม่ได้เตรียมใจมาเลย เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย จริงๆ ไนจีเรียมีพืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ไม่ต่างจากบ้านเรา แต่เป็นกรรมวิธีการปรุงที่ไม่พิถีพิถันเหมือนเรา และรสชาติที่ค่อนข้างเค็มและอมน้ำมัน เลยไม่ค่อยถูกปาก
“ไนจีเรียเป็นประเทศที่ยากจนมากทั้งที่มีน้ำมันดิบเยอะ แต่มีการคอรัปชันสูง แต่ผู้คนค่อนข้างร่าเริงและเป็นมิตรกับคนเอเชีย อาจเพราะเคยเป็นเมืองขึ้นคนผิวขาว เลยจะเปิดใจให้คนเอเชียมากกว่า
“ส่วนเรื่องการลักพาตัวชาวต่างชาติไปเรียกค่าไถ่ ทางบริษัทเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยมาก ปกติเลิกงานแล้วจะกลับแคมป์ จะออกไปข้างนอกเฉพาะตอนไปซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น และจะต้องมีบอดี้การ์ดและรถ convoy กระจกหนาๆ ซื้อของแล้วกลับ จะไม่ให้ออกนอกเส้นทางเลย การไปทำงานที่นั่นเลยไม่มีการเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวเมือง ชมธรรมชาติเลย”
อยู่ให้ ‘สุข’ บนข้อจำกัดต่างๆ
“ผมเป็นคนสบายๆ ไม่ค่อยคิดอะไรมาก ส่วนตัวชอบสังเกต แต่ละวันผมก็จะสังเกต เช่น ถ้าวันไหนออกไปข้างนอก ก็จะดูว่าผู้คนแต่งตัวกันยังไง ถนน กำแพง บ้านเรือนเขาเป็นยังไง ทุกครั้งที่มองออกไปนอกรถ ก็จะเห็นสิ่งที่แตกต่างจากบ้านเราอย่างสิ้นเชิง ความที่ผมชอบเขียนหนังสือ ก็จะนึกว่าวันนี้จะเขียนเรื่องอะไรเล่าให้คนอื่นฟังดีนะ ทำให้มองบวกได้ทุกวัน (หัวเราะ) ถ้าเราทุกข์ ยิ่งอยู่จะยิ่งกดดัน แต่ถ้าเรามองให้สนุกก็จะสนุก คนเราอยู่ที่ไหน ถ้าใจหดหู่มันก็หดหู่ แต่ถ้าอยู่ในที่หดหู่ แต่มองให้สนุก ชีวิตก็มีความสุข”
การไปอยู่ไนจีเรียกับมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อทวีปแอฟริกา
“ผมแทบไม่รู้จักไนจีเรียเลย ความรู้เกี่ยวกับทวีปนี้คือศูนย์ ก่อนไปเพื่อนนักบินฝรั่งพอรู้ว่าผมจะไปไนจีเรียก็มาห้ามว่าอย่าไปเลย เพราะเขาเคยไปมาแล้ว แต่เขารู้ว่าผมอยากผจญภัยสิ่งแปลกใหม่ที่ท้าทายชีวิต เขาเลยบอกผมว่า ‘ถ้าไปที่นั่นแล้ว ผมจะชื่นชมสิ่งที่เมืองไทยเป็น ทีแรกผมก็หัวเราะ คิดในใจว่าอะไรจะต่างกันได้ขนาดนั้น แต่พอได้ไปเห็นไปอยู่จริง มันจริงพันเปอร์เซ็นต์เลยครับ (หัวเราะ)”
ความประทับใจที่สุดจากการใช้ชีวิตที่ไนจีเรีย
“มีวันหนึ่งที่ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ผมซื้อเยอะเขาเลยแถมขนมปังแถวยาวๆ มาให้ 3-4 แถว พอขบวนรถบอดี้การ์ดติดอยู่ตรงประตูทางออก ผมเห็นเด็กอายุ 4-5 ขวบที่นั่งอยู่กับแม่ที่ริมถนน เขาวิ่งมาหยุดข้างรถทำปากเหมือนอยากจะขอกิน ผมจะเปิดหน้าต่างเอาขนมปังให้ ทีแรกบอดี้การ์ดห้าม แต่ผมสงสารเด็ก เขาเลยคอยดูความปลอดภัยให้ พอผมยื่นขนมปังให้ รอยยิ้มเด็กที่ได้รับอาหาร กอดขนมปังวิ่งกลับไปหาแม่ เป็นภาพที่ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดี ในขณะที่เด็กคนนี้ต้องมายืนขออาหารในประเทศที่ควรจะรวยติดอันดับโลก”
สำหรับไนจีเรีย คุณจะชวนคนที่อยากไปว่า
“ผมไม่ชวนครับ (หัวเราะ) ตอนผมเขียนหนังสือเสร็จ มีแฟนเพจส่งข้อความมาขอคำแนะนำ เพราะอยากไปเที่ยวไนจีเรียมาก ที่ผมไม่ชวนให้ไป เพราะที่นั่นยังถือว่าอันตราย ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ต้องปรับตัวมาก ถ้าอยากรู้จัก อยากเห็นไนจีเรีย อ่านหนังสือที่ผมเขียนก็พอครับ อ่านเอาสนุกๆ ก็พอ อย่าถึงต้องมาสัมผัสเองเลยครับ (หัวเราะ)”
ทำไมจึงอยากไปอาร์กติกหรือแอนตาร์กติกา
“ผมเคยดูสารคดีว่ามีเฮลิคอปเตอร์ที่ไปทำงานให้สองทวีป เลยอยากขับเฮลิคอปเตอร์ไปลงธารน้ำแข็งดูบ้าง ถือเป็นเป้าหมายชีวิตของผม ถ้ามีใครให้โอกาสจะรีบสมัครทันที เพื่อนผมที่เคยทำงานที่อาร์กติกเขาบอกว่า มันหนาวมากจนทนไม่ไหว ถึงจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยกว่าไนจีเรีย แต่การใช้ชีวิตลำบากมาก แต่นักบินเฮลิคอปเตอร์เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า พื้นที่ไหนที่จำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์แปลว่าเป็นพื้นที่ที่รถยนต์เข้าไม่ถึง ตอนเป็นทหารผมได้รับการสอนมาว่า ‘เหนื่อยแค่ไหน อาบน้ำก็หาย’ ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ความลำบากเป็นแค่สิ่งที่เราคิดวาดภาพเฉยๆ ถ้าคิดว่าไม่ได้ลำบากอะไรมาก เราก็จะอยู่ได้ครับ ผมเชื่ออย่างนั้น”
ความฝันครั้งนี้จะเป็นจริงหรือไม่ คนไทยจะได้รู้จักดินแดนแห่งน้ำแข็งอย่างแอนตาร์กติกาที่อยู่ขั้วโลกใต้ และอาร์กติกที่อยู่ขั้วโลกเหนือผ่านประสบการณ์ชีวิตครั้งใหม่ของกัปตันนัทหรือเปล่า ต้องคอยติดตามกันต่อไป
เครดิตภาพ : คอลเลกชั่นภาพส่วนตัวของคุณธราพงษ์ รุ่งโรจน์