About
Leisure

Dig - Sip - Listen

ประสบการณ์ “Dig” กองไวนิลที่ ‘Nusantara’ คาเฟ่ชา ร้านขายเเผ่นเสียงหลากวัฒนธรรมในสงขลา

เรื่อง สุทธิดา หทัยศรัทธา ภาพ Annetology Date 13-11-2024 | View 609
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • รู้จัก ‘ปอ-ไพโรฒ ดำคง’ และ ‘ยูโกะ-Yugo Tham’ คู่รักนักบุกเบิกธุรกิจแผ่นเสียงในจังหวัดสงขลา และร้านใหม่ของพวกเขา ‘Nusantara’ เดสทิเนชันคนรักไวนิลที่ไร้พรมแดนทางวัฒนธรรม

เราเดินทางมาถึงชั้นแรกของตึกแถว 1 ห้องใจกลางย่านเมืองเก่าสงขลา ก่อนจะเปิดประตูสีเขียวทึบเข้าไปพบกับแผ่นเสียงจำนวนมาก วางเรียงรายอยู่บนชั้นไม้ในมุมหนึ่งของร้าน แผ่นหนึ่งกำลังวิ่งหมุนอยู่บนเครื่องเล่นตรงเคาน์เตอร์บาร์ เปล่งเสียงดนตรีชวนผ่อนคลายผ่านลำโพง ในขณะที่พนักงานยืนชงเครื่องดื่มรสผลไม้

ที่นี่คือ ‘Nusantara’ อาณาจักรเสียงเพลงเเห่งที่ 3 ในสงขลา ของ ‘ปอ-ไพโรฒ ดำคง’ และ ‘ยูโกะ-Yugo Tham’ คู่รักผู้ก่อตั้งร้านแผ่นเสียงที่รวบรวมเพลงนิชๆ มาจากทั่วโลกอย่าง ‘Baa Records’ และเจ้าของบาร์ในสงขลาที่พูดชื่อไป ใครก็ต้องร้อง “อ๋อ!” อีกถึง 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่ ‘22 Nakhonnok Listening Bar’ และ ‘Poco Loko’ โปรเจกต์ค็อกเทลคราฟต์ และ Music Lifestyle Bar

มาพูดคุยกับฟันเฟืองสำคัญในวงการครีเอทีฟสงขลาถึงคอนเซปต์เบื้องหลังร้านขายแผ่นเสียงไม่กี่แห่งในจังหวัด ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ถูกเชื่อมโยงผ่านดนตรี เสน่ห์ของการสะสมไวนิลที่ไม่ได้เข้าถึงยากอย่างที่คิด รวมไปถึงคอมมูนิตีคนรักแผ่นเสียงเล็กๆ ที่อยากชวนให้ทุกคนมาจอยกัน

Nusantara

Get to Know Nusantara

“ ‘Nusantara (นูซันตารา)’ จริงๆ แล้วเป็นภาษาอินโดนีเซีย หมายถึงเกาะ แต่พูดโดยรวมมันเป็นเหมือนโซนของประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมลายูด้วย อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย แล้วก็ทางภาคใต้ของไทย” ปอ เจ้าของร้าน หรือที่รู้จักกันในวงการเพลงด้วย AKA ‘Man Eat Sunshine’ อธิบายที่มาของชื่ออาณาจักรเสียงเพลงแห่งใหม่ล่าสุดของเขา ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาให้เราฟัง

Nusantara

“เพลงที่เป็นสไตล์ของนูซันตาราก็มีนะ คือมันจะมีความเป็นเกาะ ความทรอปิคัล เมโลดีก็จะ Hawaiian หน่อยๆ อาหารนูซันตาราก็มี ยกตัวอย่างเช่น อาหารไทยมุสลิม คำคำ นี้เลยเป็นเหมือนร่มคันใหญ่ที่ครอบวัฒนธรรมนึงเอาไว้” เสริมโดยยูโกะ แฟนสาวชาวมาเลเซียของปอ ผู้ร่วมบุกเบิกธุรกิจนี้ด้วยกันมา

Nusantara

การที่คู่รักสายดนตรีสองคนนี้จะตั้งชื่อร้านว่า ‘Nusantara’ จึงไม่ได้ตอบโจทย์แค่ความเท่ แต่มีไว้เพื่อเชื่อมโยงความเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ด้วย เพราะแม้สงขลาจะเป็นเพียงจังหวัดเล็กๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีคนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ และยังเป็นเดสทิเนชันยอดฮิตของประเทศเพื่อนบ้านตอนใต้ของไทย โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีชายแดนติดกับสงขลา ใครอยากช้อปแผ่นเสียงคุณภาพก็ข้ามมาแบบวันเดย์ทริปได้สบายๆ ไม่ต้องไปถึงกัวลาลัมเปอร์

“บางครั้งการมีร้านดีๆ ก็เป็นพอยต์ในการตัดสินใจมาเที่ยวพอสมควรเหมือนกันถูกไหม” ปอย้ำ สเปซที่ดีเป็นหัวใจสำคัญของคอมมูนิตี และคอมมูนิตีดนตรีที่แข็งแรงก็อาจนำพาให้คนแวะมาเยี่ยมเยียนสงขลามากขึ้นด้วยเช่นกัน

Nusantara

นอกจากนี้ อีกความพิเศษของ Nusantara ที่ไม่เหมือน ‘22 Nakhonnok Listening Bar’ และ ‘Poco Loko’ คือฟังก์ชันของร้านที่ทำมาเพื่อรองรับเเขกในช่วงกลางวันเป็นหลัก เน้นเสิร์ฟขนมหวานและชาผลไม้สดชื่นๆ ดับร้อน แถมยังเป็นร้านขายแผ่นเสียงแบบเป็นกิจจะลักษณะที่ภาคใต้หายากและสงขลาแทบไม่มี! ต่างจากอีก 2 ร้านที่เป็นบาร์นั่งฟังเพลงชิลล์ๆ

Nusantara

Digging Experience

ว่าแต่ ร้านแผ่นเสียงสำคัญแค่ไหนกับซีนดนตรี?

นอกจากการได้พบปะพูดคุยกับผู้คนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน อีกสิ่งที่ร้านขายแผ่นเสียงให้ได้ ซึ่งไม่ซ้ำกับที่ไหนอย่างแน่นอน ก็คือประสบการณ์ ‘Digging’ หรือการ “ขุด” นั่นเอง

ปอเล่าว่า การขุดที่ว่า ก็คือการค่อยๆ พลิกหาแผ่นเสียงที่เราว่าน่าฟังไปเรื่อยๆ นี่แหละ อาจจะเป็นการหาจากศิลปินที่สนใจ หรือปกที่เตะตาก็ได้ เพราะบางแผ่นเห็นปกแปลกๆ เพลงดันเพราะซะงั้น ซึ่งในโปรเซสนี้เราจะได้ทั้งสัมผัส มองดีเทลของอาร์ตเวิร์กบนปก และดมกลิ่นของสลีฟกระดาษ ถ้าโชคดีก็อาจจะได้ค้นพบศิลปินใหม่ๆ ที่น้อยคนจะรู้จัก!

Nusantara

ยูโกะเดินไปหยิบแผ่นเพลงสีสันฉูดฉาดของศิลปินที่ไม่เคยผ่านตาเราเลย จากล็อกไม้ที่ถูกตั้งชื่อว่า ‘Baa Records Select’ มาให้ดู 2-3 แผ่น ในมือเธอมีทั้งเพลงอาหรับ และเพลง Cantonese Pop (ป๊อปจีนกวางตุ้ง)

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Baa Records’ ธุรกิจขายแผ่นเสียงออนไลน์ของปอและยูโกะ ที่เน้นหาเพลงนิชๆ มานำเสนอ พร้อมทั้ง Re-Issue บางแผ่นด้วย โดยทั้งคู่เล่าว่า กลุ่มลูกค้ามักจะเป็นกลุ่มคนทำเพลง ดีเจ คนที่ฟังเพลงลึกจริงๆ หรือ คอลเลกเตอร์ที่ตามเก็บเพลงที่หาฟังไม่ได้บนแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อสะสม หรือนำไปมิกซ์ ยังไงก็ตาม ด้วยความที่เชื่อว่าคงมีคนอีกไม่น้อยที่สนใจลองฟังเพลงพวกนี้ ทั้งคู่เลยเอามาวางขายที่หน้าร้านด้วย

ความชำนาญวงการของปอและยูโกะ ทำให้ทั้งวัยรุ่น นักท่องเที่ยว และขาประจำของ Nusantara สามารถพบได้ทั้งเพลงมาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น อินเดีย อาหรับ ฯลฯ รวมไปถึงเพลงในหมวด ‘World Music’ ที่ทั้งคู่ชอบ แบบควอลิตีไม่แพ้ร้านในกรุงเทพฯ เลย และอาจจะหลากหลายกว่าด้วย เพราะอีกหนึ่งข้อดีของการอยู่ติดกับชายแดนคือการหาแผ่นเสียงต่างประเทศได้มากขึ้น

Nusantara

ใครสนใจแผ่นไหน ไปหยิบมาให้ร้านเปิดให้ฟังดูก่อนได้ ระหว่างนั้นก็ชิมเมนูเด็ดอย่าง ‘Homemade Longan Black Tea’ ชาลำไยสดชื่นๆ ‘Matcha Coconut Nectar’ มัทฉะน้ำมะพร้าวหอมเตะจมูก และกิน Burnt Cheesecake เนื้อเนียนๆ รอ ส่วนจะฟังแล้วอินไม่อินก็ค่อยว่ากันอีกที ขอแค่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากวัฒนธรรมใหม่ๆ ผ่านเสียงเพลงก็พอ อย่างที่ยูโกะบอกว่า… “Music is not about language ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไรหรอก”

Nusantara

Music & Collection

“ความพิเศษของแผ่นเสียงคือมันเป็น ‘Music & Collection’ เหมือนเราได้เก็บงานศิลปะที่จับต้องได้ และเป็นรูปธรรม” ปอตอบ เมื่อเราถามถึงความพิเศษของแผ่นเสียง ในยุคที่ใครๆ ก็ฟังเพลงได้เพียงแค่ขยับปลายนิ้ว

เขาเล่าในฐานะพ่อค้าแผ่นเสียงที่อยู่มาตั้งแต่สมัยแผ่นเสียงถูกขายทิ้งแบบถูกๆ เพราะโดนแทนที่ด้วยซีดี ว่านอกจากคนที่สะสมเพราะความวินเทจ หรือความลึกของดนตรีแล้ว คนทั่วไปมักมองว่าแผ่นเสียงเป็นของเก่าแก่ที่แพง แถมวิธีใช้และเก็บรักษาก็ยุ่งยาก ซึ่งไม่จริงเลย! เพราะถ้าสังเกตกันให้ดี ศิลปินสมัยนี้ก็ยังคงผลิตอัลบั้มของตัวเองออกมาในรูปแบบแผ่นเสียงอยู่เรื่อยๆ นักร้องป๊อปสตาร์อย่าง ‘Billie Eilish (บิลลี ไอลิช)’ เอง ก็ผลิตอัลบั้ม ‘Happier Than Ever’ ของเธอออกมาเป็นเเผ่นเสียงถึง 6 สีด้วยกัน!

Nusantara

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ‘ทำไมคนรุ่นใหม่บางกลุ่มถึงยังซื้อแผ่นเสียงกันอยู่?’ อาร์ตเวิร์กบนปกหรือดีไซน์ของแผ่นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ เนื่องจากตอบโจทย์คนที่กำลังมองหาของแต่งบ้าน หรือคนที่กำลังอยากสนับสนุนศิลปินคนโปรดแต่ไม่รู้จะซื้ออะไรมาเก็บไว้ดี

ไซซ์ที่ใหญ่เตะตาของปกแผ่นไวนิลเองก็เช่นกัน “เป็นเครื่องเตือนความทรงจำที่ดี ทำให้เราจำได้ว่าแผ่นนี้ใครให้มา หรือเราไปซื้อมาจากที่ไหน ได้มาในวันเกิดปีไหน ไม่ต่างอะไรจากงานศิลปะสักชิ้น” ปอเสริม

หรือสำหรับบางคน ความสำคัญในการสะสมอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับมูลค่าทางวัตถุเลยก็ได้นะ เราได้เห็นตัวอย่างกับตาในวันที่มาพูดคุยกับปอและยูโกะที่ Nusantara… วัยรุ่นกลุ่มนึงเดินเข้ามาในร้านพร้อมกับยื่นแผ่นเสียงโปรดในมือให้พนักงานเปิดเล่น ทุกคนนั่งฟังอย่างจดจ่อ และซึมซับประสบการณ์นี้ไปพร้อมๆ กัน

ทั้งที่จะเปิดฟังจากแอปสตรีมมิงบนมือถือก็ได้ และยิ่งว้าว! เมื่อรู้ว่าแท้จริงแล้ว หนึ่งในกลุ่มนั้นซื้อแผ่นเสียงเป็นของตัวเอง ทั้งที่ไม่มีเครื่องเล่นที่บ้าน เพราะการพกแผ่นเสียงไปให้ร้านต่างๆ เปิด คือวิธีที่จะพาให้เขาไปรู้จักเพื่อนใหม่

เรียกได้ว่า เป็นเสน่ห์จากสิ่งประดิษฐ์ยุคอนาล็อกที่เราคงไม่ได้เห็นกันได้ง่ายๆ อีกแล้ว

Nusantara

The Legacy Lives On

ใครได้มาเยือน Nusantara ก็คงจะได้เห็นเสื้อยืด หมวกแก๊ป กระเป๋า และสติกเกอร์ลายนางเงือกไอคอนประจำเมืองสงขลา วางเรียงรายอยู่ไม่น้อย นี่เป็นอีกหนึ่งดีเทลเล็กๆ ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะนอกจากการยึดโยงให้ผู้คนมาพบปะกันในสเปซนี้ผ่านเสียงเพลงเเล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ปอและยูโกะทำมาเสมอเพื่อให้คอมมูนิตีนี้กว้างขวางและแข็งแรงขึ้น คือการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้โชว์ฝีไม้ลายมือ และความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ผ่านการเป็นดีเจให้ร้านของพวกเขาบ้าง หรือออกแบบสินค้าเท่ๆ ภายในร้าน

ปอเชื่อว่า Nusantara จะนำพาผู้คนและประสบการณ์ใหม่ๆ มาให้เด็กวัยรุ่นในเมืองได้สัมผัส “เรามีโอกาสได้ไปอยู่เมืองใหญ่ ได้ไปเรียนรู้ เจอเพื่อนๆ พี่ๆ ร่วมวงการที่น่ารัก เราก็อยากส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้คนที่นี่ ถ้าเราไม่ทำ Nusantara น้องๆ เขาก็คงไม่รู้ว่ามีวัฒนธรรมแบบนี้เกิดขึ้น ว่ามีการพูดคุยกันระหว่างเราอย่างในวันนี้อยู่ด้วย”

Nusantara

ในอนาคต ทั้งปอและยูโกะมองว่า ร้านขายแผ่นเสียงกึ่งร้านชาแห่งนี้ยังเป็นอะไรได้อีกมากมาย โดยทั้งคู่มีแพลนคร่าวๆ ว่า ภายในปีหน้าอยากจะนำ ‘Record Store Day’ หรือ ‘วันแผ่นเสียงโลก’ ซึ่งจัดกันอยู่ทั่วทุกมุมโลก มาลองจัดกันที่สงขลาดูสักครั้ง “เราอาจจะรวบรวมลูกค้า นักสะสมรุ่นใหม่ๆ ที่เคยซื้อแผ่นไปแล้วทั้งในประเทศไทยหรือต่างประเทศ มาเปิดเพลงที่ตัวเองอยากจะแชร์ อยากจะลองจัดเล็กๆ ดู” ปออธิบาย ไอเดียของเขายังไม่ชัดเจนมากนัก เทศกาลดนตรี หรือการแสดงดนตรีก็เป็นอีกหนึ่งความคิด

Nusantara

แต่ที่แน่ๆ งานเหล่านี้จะเกิดขึ้นในจังหวัดนี้แน่นอน เพราะนอกจากจะอยากสร้างกิจกรรมดีๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านเกิดตัวเองเเล้ว วงการสร้างสรรค์ในสงขลาเองก็กำลังเติบโตแบบขีดสุด ทำให้เขาและยูโกะอยากเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ผลักดันความ “มีของ” ของที่นี่ไปข้างหน้า

ก่อนจะลากันไป เราเดินไปคุ้ยแผ่นเสียงอีกครั้ง พลิกแผ่นเสียงไปมาในหมวดแจ๊ซอยู่นาน

ก่อนจะเลือกอัลบั้ม ‘The Art of Tea’ ของ Michael Franks ติดไม้ติดมือกลับไป

เชื่อว่าน้ำเสียงเบาๆ ลอยๆ ของไมเคิลในเพลง ‘I Don’t Know Why I’m so Happy I’m Sad’ ที่ฟังแล้วชวนนึกถึงวันสบายๆ ในหน้าร้อน ต้องทำให้คิดถึงทริปนี้เป็นแน่!

Nusantara Songkhla https://g.co/kgs/UYT4j8t
Instagram: nusantara.ska
Facebook: Nusantara Songkhla
หรือ โทร.082-290-6047

และข่าวดีสำหรับชาวกรุงเทพฯ! สามารถเข้าไปชม Selection ของ Baa Records ได้ที่ Entertainment Project เจริญกรุงฯ https://g.co/kgs/vFTBkWX

Tags: