About
CRAFTYARD

Friendly Pattern

OUKE หยิบใบไม้ในรั้วบ้านมาแปลงเป็นลายผ้ามีสไตล์โมเดิร์นและรักษ์โลก

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ กรินทร์ มงคลพันธ์ Date 02-12-2022 | View 2856
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ผ้าพิมพ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ Eco Print กำลังเป็นเทรนด์นิยมในปีนี้และอาจยาวจนถึงปีหน้า เราจึงอยากชวนไปคุยกับ วิไล ไพจิตรกาญจนกุล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ OUKE ผ้าพิมพ์ลายใบไม้จากเชียงใหม่
  • อุ๊ก เป็นภาษาเหนือแปลว่า บ่ม หรือเร่งผลไม้ให้สุกเร็วกว่าธรรมชาติโดยใช้อุณหภูมิอบอุ่น มันถูกนำมาเป็นชื่อแบรนด์ OUKE โดยใช้กรรมวิธีแบบเดียวกันกับการบ่มผลไม้ แต่เปลี่ยนเป็นบ่มใบไม้ เพื่อถ่ายทอดลวดลายและสีสันลงบนผืนผ้า
  • ผ้าอุ๊กด้วยใบไม้ จะถูกนำไปนึ่งประมาณ 2 ชม. และอุ๊กต่ออีก 1 คืน รวมระยะเวลาประมาณ 2 วัน

วันหนึ่งในฤดูหนาวของเดือนธันวาคม 2560 วันที่มีสายฝนตกโปรยปราย มันได้ทิ้งร่องรอยของใบไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นซีเมนต์ยามฝนซา ปรากฏเป็นสีสันและลวดลายของใบไม้คล้ายผลงานศิลปะจากธรรมชาติ

อาจเป็นความธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นเหมือนทุกที แต่ในปีนั้นกลับสะดุดตาต้องใจ วิไล ไพจิตรกาญจนกุล จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ลวดลายจากใบไม้ลงบนผืนผ้าภายใต้ชื่อแบรนด์ OUKE

OUKE (อุ๊ก) เป็นภาษาเหนือแปลว่า บ่ม หมายถึง การเร่งให้ผลไม้สุกเร็วกว่าธรรมชาติโดยใช้อุณหภูมิที่อบอุ่น วิไลนำชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์เครื่องแต่งกาย แต่เปลี่ยนจากการบ่มผลไม้เป็นใบไม้ ถ่ายทอดลวดลายและสีสันจากใบไม้ ดอกไม้นานาพรรณลงบนผืนผ้านานาชนิด ซึ่งนับเป็นแบรนด์แรกๆ ในเมืองไทยที่ใช้เทคนิคนี้

ONCE ชวนไปคุยกับ วิไล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Bua Bhat (บัวผัด) ของแต่งบ้านแนว ECO และแบรนด์น้องใหม่อย่าง OUKE ผู้ที่เราขอเรียกว่าเป็นครูด้านการย้อมสีจากธรรมชาติ และผู้มีใจรัก(ษ์)สิ่งแวดล้อมจนนำมาเป็นปรัชญาในการทำธุรกิจมาตลอด 35 ปี

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

วิไล ไพจิตรกาญจนกุล

โตมากับเศษผ้า

ย้อนไปในวัยเด็ก วิไลโตมากับกองผ้าเศษที่เหลือจากร้านขายผ้า พ่อของเธอเคยเป็นครูสอนทอผ้ายกดอก ภายหลังเปิดร้านขายผ้าชื่อ ‘บัวผัดพานิช’ ซึ่งเป็นร้านขายผ้ายุคแรกๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ เศษผ้าที่คุ้นตาวิไลตั้งแต่วัยเยาว์ อาจจะผ่านเลยไป หากไม่ได้ ‘แม่อุ้ย’ ญาติผู้ใหญ่ในบ้าน ซึ่งป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ บอกให้เธอนำเศษผ้าเหล่านั้นมาให้เย็บเพื่อคลายเหงา

เศษผ้าที่นำมาเย็บต่อกันด้วยฝีมือแม่อุ้ย เป็นถุงผ้าที่มีเชือกผูกสองด้านตามแบบนิยมของคนสมัยก่อน แม่อุ้ยบอกหลานสาวให้นำไปแขวนขายหน้าร้าน เมื่อพบว่าถุงผ้านั้นขายได้ เด็กหญิงวิไลเริ่มรู้สึกสนุก และทดลองนำเศษผ้าเหล่านั้นมาเย็บเองบ้าง

“ตอนนั้นลองเย็บเป็นเสื้อ เพราะที่โรงเรียนสอนให้เย็บผ้าตั้งแต่ชั้น ป.7 พอเย็บเสร็จก็เอาไปแขวนขายหน้าร้าน ก็ขายได้อีก ทำให้เริ่มเห็นคุณค่าจากเศษผ้าเหลือใช้ ถ้าเรานำมาประดิดประดอย ใส่ดีไซน์เข้าไป มันก็ขายได้” วิไลเล่าความหลัง

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

ก่อตั้ง Bua Bhat Factory

ในยุคนั้นผ้าทอเชียงใหม่เป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะขายดีเป็นพิเศษ ทว่า เมื่อความต้องการซื้อมีมากขึ้น คุณภาพการผลิตกลับต่ำลง แถมดีไซน์ยังคล้ายคลึงเหมือนก็อปปี้กันมา ซึ่งขัดใจวิไลในวัยเยาว์เป็นอย่างมาก

“ตอนนั้นยังเป็นนักเรียน คิดเลยว่าถ้าวันหนึ่งที่เป็นเจ้าของกิจการ จะทำดีไซน์สวยๆ ใช้ผ้าคุณภาพดีๆ และจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูกค้า” เธอปักธงไว้ในใจ กระทั่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัย จึงเปิดโรงงานทอผ้าของตัวเองในชื่อ บัวผัดแฟคทอรี่ เมื่อปี 2530

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

เศษผ้าอุ๊กที่นำมาทำปลอกหมอนอิง ตกแต่งด้วยงานปักมือลวดลายใบไม้

“ตอนมาตั้งโรงงาน ตั้งใจทำเป็นโรงงานทอผ้าเลย เพราะได้แรงบันดาลใจจากโรงงานทอผ้าของพ่อ และนึกถึงอาชีพเก่าของพ่อที่เป็นครูสอนทอผ้า ตั้งชื่อว่า บัวผัดแฟคทอรี่ เพื่อให้เป็นโรงงานสำหรับร้านบัวผัด คอนเซ็ปต์ของเราคือใช้เศษผ้าเป็นหลัก และเศษวัสดุอื่นๆ มาผสมกับผ้า”

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

ของตกแต่งบ้านที่ทำมาจากเศษผ้า แบรนด์ Bua Bhat

บัวผัดแฟคทอรี่ ผลิตของตกแต่งบ้านที่ทำจากเศษผ้าและของรีไซเคิล เน้นส่งออกต่างประเทศโดยเป็น OEM หรือรับจ้างผลิตตามแบบที่ลูกค้าต้องการ การันตีรางวัลที่ได้รับมากมายไม่ว่าจะเป็น PM Award (รางวัลเกียรติยศสูงสุดที่ผู้ประกอบการได้รับจากภาครัฐ) ทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่ พ.ศ 2551, 2555 และ 2561 รางวัล Good Design Award หรือ G-Mark จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2551, 2553 และ 2555 ตลอดจนรางวัล G-Green ระดับประเทศในปี พ.ศ. 2561

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

“เราออกแบบและควบคุมคุณภาพเอง รวมไปถึงย้อมสีให้แตกต่างไปจากเดิม ยึดหลักว่า จะไม่ทำซ้ำคนอื่น สินค้าต้องมีคุณภาพ ดีไซน์ต้องดี และทำจากเศษวัสดุรักษ์โลก รวมไปถึงกระบวนการผลิตจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร” วิไลย้ำหนักแน่น เธอปรับลุคให้กับแบรนด์บัวผัด โดยเปลี่ยนผ้าพื้นเมืองให้ดูโมเดิร์น เน้นสีเอิร์ธโทน สีคลาสสิกที่สามารถมิกซ์แอนด์แมทช์เข้ากับของแต่งบ้านสีอื่นๆ ได้ง่ายดาย ทำให้สินค้าของบัวผัดได้รับความนิยมจากลูกค้าต่างชาติอย่างต่อเนื่องตลอดมา

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

OUKE แบรนด์จากความบังเอิญ

ผลงานทุกชิ้น วิไลเป็นคนออกแบบและเลือกโทนสีเอง แม้ว่าจะเรียนจบจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่พรสวรรค์ด้านศิลปะ กลับฉายแววเด่นมาตั้งแต่เยาว์วัย โดยเฉพาะการผสมสีที่สามารถจับคู่สีให้ออกมาสวยงามกลมกลืน

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

“ตอนเรียนวาดรูปสมัยเป็นเด็ก เราเอาสีหลายๆ สีมาผสมกัน จนออกมาเป็นสีเน่าหรือสีเอิร์ธโทนในปัจจุบัน พอโตขึ้นก็ไปหาความรู้เพิ่มเติมด้านการย้อมสีธรรมชาติที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และไปเรียนกับอาจารย์แสงดา บัณสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องการย้อมผ้าด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น จากเปลือกไม้ กิ่งไม้ ซึ่งเป็นองค์ความรู้เก่า”

ความรู้ที่เก็บสะสมเอาไว้ไม่ได้สูญหาย เมื่อวันหนึ่งถูกนำมาใช้กับ OUKE แบรนด์น้องใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญราว 5 ปีก่อน ขณะที่วิไลเห็นร่องรอยของใบไม้เน่า ปรากฏอยู่บนพื้นซีเมนต์หลังฝนซา “วันนั้นผู้จัดการร้านชี้ให้ดู เราก็โอ้วว ถ้าบนซีเมนต์ ยังทิ้งร่องรอยใบไม้ได้ ก็น่าจะเอารอยใบไม้มาอยู่บนผ้าได้” วิไลตั้งสมมติฐานไว้ในใจ จากนั้นจึงเริ่มทดลองหาวิธีการพิมพ์ลายใบไม้บนผ้าด้วยตัวเอง แล้วจู่ๆ ก็นึกไปถึงภาพคุ้นตาของแม่อุ้ยในอดีต ที่นิยมเคี้ยวเมี่ยงเป็นของว่าง

“น้ำเมี่ยงเมื่อหยดโดนเสื้อนักเรียน จะทำให้ซักออกยาก” เธอเล่า “เราเลยลองนำใบไม้ไปนึ่ง ใช้กรรมวิธีเดียวกันกับการอุ๊กหรือการบ่ม เลยเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ว่า OUKE “ วิไลใช้เวลาลองผิดลองถูกเป็นเวลา 1 ปี เธอบอกว่า พอได้เริ่มต้นทำ ถึงจะยังไม่เห็นชัดเป็นรูปเป็นร่าง แต่เป้าหมายคือจะต้องทำให้เป็นลายใบไม้ชัดเจนให้ได้

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

วิไลนำพื้นฐานความรู้ที่มี ค่อยๆ พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุด ก็สามารถพิมพ์ลายใบไม้ลงบนผืนผ้าได้สำเร็จ โดยจุดเด่นของ OUKE อยู่ตรงที่ลายใบไม้จะมีความคม ลึก ให้สีชัด เน้นเป้าหมายหลักคือคนไทย

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

บรรยากาศการจัดเวิร์คช็อปกระบวนการทำผ้าพิมพ์ลายใบไม้ (ภาพจาก OUKE)

เสน่ห์ของใบไม้

“เราเชื่อว่าต้นไม้ทุกต้น ใบไม้ทุกใบมี Pigment ของสีในนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีดึงสีออกมา เช่น การใส่มอร์แดนซ์หรือสารช่วยติดลงไปอย่างสารส้ม เกลือ น้ำบาดาลจากสนิมเหล็ก (หรือน้ำฮากในภาษาเหนือ) เป็นน้ำที่ไม่ต้องใส่อะไรลงไปเลย ก็จะช่วยดึงสีออกมา

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

บรรยากาศเวิร์กช็อป (ภาพจาก OUKE)

“การให้สีของใบไม้บางชนิดขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น อากาศ ใบไม้ที่ดูเหมือนไม่มีสี พอโดนอากาศ สีจะค่อยๆ ชัดขึ้น ส่วนใบไม้ที่เป็นพืชเลี้ยงคู่ จะดึงสีออกมาง่ายกว่าใบไม้ที่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอย่างข้าว หญ้า แต่เราก็ไม่ได้สรุปแบบนั้นเสียทีเดียว เพราะหญ้าที่เห็นก็ยังเป็นสีเขียวอยู่ มันจึงอยู่ที่เทคนิคในการดึงสีออกมามากกว่า”

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

เลือกใบไม้ก่อนทำลายผ้า (ภาพจาก OUKE)

OUKE เป็นแบรนด์ที่มีนโยบาย ECO Friendly มอร์แดนซ์ที่นำมาใช้ จึงไม่มีการสร้างภาระหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงใบไม้ทุกใบ จะเก็บมาจากสวนในรั้วบ้าน เช่น ใบสัก กาสะลอง เพกา หูกระจง ใบมะเกลือ นอกจากนี้ ยังแซมด้วยรูปทรงและสีสันของดอกไม้ ผลไม้ที่มีสี เช่น มะเฟือง ลูกหม่อน ลูกหว้า เป็นต้น

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

“พอเลือกใบไม้ได้แล้ว เราจะวางลงบนผ้า แล้วนำไปนึ่งประมาณ 2 ชม. และอุ๊กต่ออีก 1 คืน รวมระยะเวลาประมาณ 2 วันจะได้ผ้าอุ๊กที่นึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว” วิไลจดบันทึกสิ่งที่ค้นพบ และความรู้ที่ตกผลึกลงในตำราเวิร์คช็อปสำหรับผู้สนใจที่อยากมาเรียนพิมพ์ลายใบไม้ และเพื่อที่ว่าความรู้เหล่านั้นจะไม่สูญหายไปในวันใดวันหนึ่ง

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

จุดเด่นที่แตกต่าง

ผ้าพิมพ์ลายใบไม้ที่ทำเสร็จแล้ว จะนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า และผ้าพันคอ ส่วนเศษผ้าอุ๊กที่เหลือจะใช้ผลิตเป็นกระเป๋า และของที่ระลึก ปัจจุบัน โรงงาน OUKE ยังสามารถผลิตผ้าผืนใหญ่ที่มีขนาดหน้ากว้าง 2 เมตร และยาวสูงสุด 20 เมตรต่อผ้า 1 ผืน เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อผ้าไปตัดเย็บเอง รวมไปถึงคิดค้นวิธีพิมพ์ลายใบไม้บนผ้าชีฟอง ซึ่งนอกเหนือไปจากผ้าฝ้ายที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปอีกด้วย

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

“ผ้าชีฟองจะย้อมสียากกว่าผ้าฝ้าย แต่ข้อดีคือมันทำให้สีฉูดฉาดกลายเป็นสีที่ดูคลาสสิกไปเลย ล่าสุด เราอุ๊กบนเส้นยืน (หรือด้ายยืนที่ใช้ในการทอผ้า) ไม่ได้อุ๊กบนผืนผ้าแล้วเท่านั้น คิดว่าน่าจะเป็นคนแรกของโลกที่ทำแบบนี้ คงไม่มีใครทำเพราะถ้าเส้นยืนขาดไปเส้นหนึ่ง มันจะแหว่งไปเลย แต่ว่าเราอยากทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น ขอเป็นผู้นำไปสักก้าวหนึ่ง”

OUKE ผ้าพิมพ์ลายจากใบไม้ในรั้วบ้าน ที่เปลี่ยนผ้าพื้นเมือง ให้ดูโมเดิร์น และรักษ์โลก

ในวัยเท่ากันกับวิไล หลายคนเกษียณตัวเองไปพักผ่อนสบายๆ แต่วิไลยังคงสนุกกับการคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ และสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้า Eco Print โดยมิรู้เบื่อ

OUKE
134 ม.8 ต.บวกค้าง อ สันกำแพง จ.เชียงใหม่
โทร. 065-502-5922
FB: OUKE Chiangmai

Tags: