About
Leisure

Wine & Vibe

OUR wine club ไวน์บาร์จากตึกแถวเก่าย่านท่าแพ ที่อยากเป็นคอมมูนิตีไว้ชิลล์หลังเลิกงาน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • OUR wine club ไวน์บาร์จากตึกแถวอายุกว่า 100 ปี ในย่านท่าแพ จ.เชียงใหม่ ต้อนรับทุกคนด้วยบรรยากาศแสนเป็นมิตร และอยากเป็นคอมมูนิตีให้ได้พักกาย คลายใจ แลกเปลี่ยนบทสนทนา และเพลิดเพลินไปกับไวน์ ทั้งก่อนดื่ม ระหว่างดื่ม และหลังดื่ม

‘OUR wine club’

ไวน์บาร์ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดมหาวัน เยื้องจากประตูวัดมานิดหน่อย ซึ่ง ดอย-กุลชนา บอกเราพร้อมเสียงหัวเราะว่า เพื่อความสบายใจของทุกคน โดยเฉพาะเธอ ก่อนทำร้านจึงนิมนต์พระไทย เรียนเชิญพระจีน สอบถามซินแสแล้วว่าสามารถทำได้ใช่หรือเปล่า ซึ่งคำตอบคือ โอเค

เมื่อไม่มีปัญหาอะไร ดอยเริ่มวางแผนรีโนเวตตึกแถว 1 ห้อง อายุอานามกว่า 100 ปี ที่แต่เดิมเคยเป็นบ้านเก่าฝั่งตระกูลคุณพ่อให้กลายเป็นบาร์ที่เธอลงรายละเอียดและตั้งใจกับทุกภาคส่วน

ตั้งแต่ ‘คอนเซปต์’ ร้านที่ต้องการให้ทุกคนที่มารู้สึกถึงความเป็นมิตร (Friendly Vibes) และสามารถมานั่งพักกายผ่อนคลายใจได้ทุกเมื่อเชื่อวัน

‘ชื่อ’ ของร้านที่ออกแบบให้คำว่า OUR ตัวพิมพ์ใหญ่ติดชิดกัน และคำว่า club ที่หมายถึง Community เพราะเธออยากให้ร้านนี้เป็นพื้นที่ที่สามารถคุยกับเพื่อนใหม่ หรือจะนั่งสังสรรค์กับเพื่อนเก่าก็ได้ตามสะดวก

‘การออกแบบ’ คงไม้เดิม โครงเดิม และเหล็กดัดเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เลือกใช้โทนสีอบอุ่น จนคนที่เดินผ่านไปผ่านมาระหว่างก่อสร้างนึกว่าจะเปิดคาเฟ่ แต่ถ้าเข้าไปถามว่า เธอกำลังจะทำอะไร คำตอบของเธออาจได้ใจความประมาณว่า

เธออยากดึงความทรงจำสมัยเด็กที่เคยมีต่อบ้านหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ใช้ความผูกผันที่มีต่อถนนท่าแพซึ่งไม่เคยเงียบงันแห่งนี้เป็นทัศนียภาพเคียงเครื่องดื่ม พร้อมกับสร้างความอบอุ่นให้ทุกคนที่มา ทั้งก่อนดื่ม ระหว่างดื่ม และหลังดื่มเสร็จ

OUR wine club

บ้านหลังเก่า บาร์หลังใหม่

“ตึกนี้เป็นตึกเก่าอายุกว่า 100 ปีแล้วของทางตระกูลคุณพ่อ และมีบ้านไม้เรือนไทยของคุณย่า น้องของคุณปู่อยู่ด้านหลัง เรามีความทรงจำวัยเด็กกับตรงนี้ วิ่งเล่นอยู่ตรงนั้น เมื่อก่อนเขาชอบมาทำอาหารกินกัน เรารู้สึกว่ามันเป็นตึกของครอบครัวที่อยากเก็บรักษาไว้ เคยมีคนมาขอทำเป็น Hostel เราก็ไม่อยากจะให้เขาทุบเท่าไหร่ และด้วยความเป็นไม้สักสมัยก่อน ข้างในเลยยังดูดีมากๆ ตอนเราเข้ามาทำ ชั้น 2 แทบจะไม่ได้รื้อไม้อะไรออกเลย บันไดก็เก็บไว้ มีแค่ชั้นล่างที่ต้องทำเพดานให้สูงขึ้น” ดอยเล่าถึงตัวอาคาร

ถึงอย่างนั้นก่อนจะมาเป็น OUR wine club ตัวอาคารบนถนนสายวัฒนธรรมหลังนี้ก็เคยผ่านธุรกิจมามากมาย ล่าสุดเป็นร้านสูทที่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ซึ่งเช่าที่มากว่า 20 ปี จนกระทั่งโควิด-19 เริ่มระบาด เจ้าของร้านจำเป็นต้องกลับบ้านเกิด แล้วกลับมาประเทศไทยไม่ได้เสียอย่างนั้น ดอยจึงเข้ามาพร้อมความคิดอยากเปิดเป็นร้านอาหารที่มีบาร์ข้างใน

OUR wine club

แต่ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ของตึกที่ถึงจะมีความยาวพอสมควร แต่มีความกว้างไม่มากนัก การต่อท่อจึงเป็นเรื่องยากลำบาก ซึ่งเมื่อมองในระยะยาวแล้วคงไม่เป็นการดีสักเท่าไหร่ ไหนจะความเก่าของระบบน้ำไฟ ดอยเลยต้องจำใจตัดตัวเลือกในการเป็นร้านอาหารออก และเหลือไว้เพียงแค่บาร์ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการวางคอนเซปต์ ตั้งชื่อ ก่อสร้าง และเปิดร้าน

“หลักๆ เราให้พื้นที่ของบาร์ใหญ่มาก ลูกค้าจะได้มีที่นั่งยาวๆ อยากให้พนักงานยืนอยู่หลังบาร์เพื่อจะได้พูดคุย เลือกใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก ทั้งพื้น หน้าต่าง ประตู ตัวระเบียงเหล็กดัดก็เก็บของเดิมไว้ เพราะเมื่อมองขึ้นไปจากข้างหน้าร้าน ยังให้ความรู้สึกของการเป็นตึกเก่าได้อยู่ อ้อ ใช่ เราไม่ทำให้ร้านมืดเกินไปด้วย” ดอยเล่าถึงการออกแบบที่พยายามให้มีความรู้สึกโฮมมี่ที่สุด และคงความเป็นตึกอาคารเก่าไว้ให้ได้มากที่สุดเช่นกัน

OUR wine club

อีกโจทย์หนึ่งของดอยในฐานะคนที่อยู่ในสายงานการตลาดมาเกือบ 10 ปี คือการจะนำเสนอไวน์ของเธออย่างไรในเชียงใหม่ที่มีบาร์ไม่น้อยแห่งประจำการอยู่หลายพื้นที่

“เครื่องดื่มที่เป็นไวน์ ทุกคนมี ทุกร้านมี เราจะดึงอะไรให้ไวน์ของเรามีสตอรี เพราะฉะนั้นคอนเซปต์ ชื่อ การออกแบบ และเราจะต่างกับคนอื่นยังไง มันเลยต้องเป็นเรื่องราวเดียวกันทั้งหมด”

OUR wine club

ธรรมชาติของคน ถนนสายวัฒนธรรม และสถานที่แสนเป็นมิตร

ความตั้งใจอย่างหนึ่งของดอยคือ เธอไม่ได้อยากทำร้านที่คนมาเพียงเพื่อหามุมกดชัตเตอร์ เช็กรูป แล้วกลับไปแบบไม่กลับมาอีก เธออยากให้ร้านนี้เป็นสถานที่ที่คนสามารถกลับมาได้เรื่อยๆ จนถึงตลอดเวลา นั่นจึงทำให้เธอเลือกใช้ธรรมชาติของคนเชียงใหม่ (รวมถึงตัวเธอเองที่เป็นคนที่นี่) มาใช้ในการวางคอนเซปต์ให้ตรงกัน และสามารถเดินขนานไปด้วยกันได้ ซึ่งนั่นคือ ความเชื่องช้าของผู้คน

“ถ้าให้เราไปเปิดที่กรุงเทพฯ คู่แข่งคงเยอะมาก ขณะเดียวกันคนก็คงจะไม่ชิลล์เท่าที่เชียงใหม่นี้ เพราะเราก็เป็นเด็กที่เกิดและโตที่เชียงใหม่ เรารู้อยู่แล้วว่าสังคมเชียงใหม่เป็นยังไง นอกจากความแคบ (หัวเราะ)”

OUR wine club

แม้ทีแรกความตั้งใจนั้นจะเริ่มโคลงเคลงไปบ้าง จนเธอเองก็เริ่มคิดว่า เอ๊ะ หรือเราควรมีจุดหนึ่งเป็นมุมให้คนได้ถ่ายรูป แต่เมื่อได้ฤกษ์ลองเปิดร้าน กลับกลายเป็นว่า ลูกค้าไม่ได้มาเพื่อถ่ายรูป แต่ทุกคนมาเพื่อนั่งพัก ดื่มกิน และแลกเปลี่ยนบทสนทนาตามความตั้งใจของเธอ

OUR wine club

จากคำบอกเล่าของแขกชาวต่างชาติ ทุกคนต่างพากันบอกว่า ไม่ว่าจะตัวร้าน พนักงาน หรือผู้คน ทุกอย่างดูเป็นมิตรชวนให้เข้าถึงง่ายเหลือเกิน

OUR wine club

OUR wine club

“เราเทรนพนักงานให้เหมือนคุยกับเพื่อน และพยายามไม่ทำให้การมานั่งดื่มไวน์คนเดียวเป็นเรื่องแปลก อยากทำให้ทุกอย่างในร้านเป็นมิตรกับทุกคนที่มา เป็นคอมมูนิตีสำหรับทุกคน จะนั่งคนเดียวก็ได้ จะหันซ้ายหันขวาไปคุยกับคนอื่นก็ได้เลย หรือตรงข้ามเองก็มีพนักงานพร้อมคุยเหมือนกัน” ดอยบอกกับด้วยท่าทียิ้มแย้มเมื่อร้านของเธอแสดงความเป็น Friendly Vibes ออกมาตามที่อยากได้ และชื่อร้านที่เธอตั้งใจตั้งก็สามารถสื่อถึงฟังก์ชันของสถานที่ได้อย่างครบถ้วนตามที่ต้องการ

OUR wine club

อีกส่วนหนึ่งที่ดอยมองว่าเป็นข้อได้เปรียบของร้านเธอคือ การตั้งอยู่บนถนนสายวัฒนธรรมของเชียงใหม่ที่เอาเสาไฟฟ้าลงดินหมดแล้ว ส่วนชั้น 2 ของร้านที่มีพื้นที่เหลือเฟือให้ลูกค้าสามารถขึ้นไปนั่ง จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการดื่มไวน์ชมวิวในวันที่อากาศดี หรือจะเป็นวันงานเทศกาลที่แสงสีนั้นเรียงรายเป็นสีสันอยู่บนถนนก็ชวนให้ม่วนอ๊กม่วนใจเหลือเกิน

OUR wine club

“ได้ยินเพื่อนพูดมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า เราโชคดีมากที่มีบ้านอยู่บนถนนเส้นนี้เลย แล้วถนนท่าแพเป็นศูนย์กลางของเชียงใหม่ เป็นถนนวัฒนธรรมที่จะถูกปิดเพื่อทำอะไรสักอย่างในทุกเทศกาล อย่างร้านเราเองก็โชคดีมากๆ ที่พอถนนท่าแพไม่มีเสาไฟฟ้าแล้ว เลยสามารถมองเห็นวิวได้สุดลูกหูลูกตาจากชั้น 2 ตอนช่วงลอยกระทง ทุกคนก็ขึ้นไปเพื่อดูขบวนแห่กัน” ดอยเล่า

อีกอย่างหนึ่ง แม้ตอนนี้ชั้น 2 จะยังพร้อมเปิดแค่ส่วนระเบียง แต่ดอยเปรยว่าด้วยการออกแบบที่วางไว้ ต่อให้จะอยู่ในร้านหรือนอกระเบียงก็ยังสามารถคุยกันได้แน่นอน

OUR wine club

ความโชคดี และไวน์ที่ดี

แม้เราอาจพูดเรื่องรสชาติไวน์ไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะพูดถึงความพิเศษของไวน์ในร้านของดอยไม่ได้

เธอยอมรับว่า ตนไม่ใช่สายไวน์ขนาดที่จะสามารถให้ความรู้กับทุกข้อสงสัยของลูกค้าได้ พื้นฐานอาจตอบได้ แต่ลงลึกไปอาจยาก แต่เธอก็พยายามสืบเสาะคัดเลือกไวน์ที่ดีที่สุดมาให้ลูกค้าในร้านได้ดื่มอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้หุ้นส่วนของเธอ หรือก็คือแฟนหนุ่มที่อยู่ในวงการคราฟต์เบียร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หน้าที่ตรงนี้จึงไม่เป็นภาระให้กับความไม่รู้ของเธอมากนัก

ขณะเดียวกันความโชคดีก็มีส่วน

OUR wine club

“เราหา Distributor (ผู้จัดจำหน่าย) หลายเจ้ามาก ซึ่งโชคดีมากที่ได้ไปเจอกับร้านร้านหนึ่งที่ทั้งขายให้นั่งดื่ม และขายแบบซื้อกลับด้วย ทีแรกเราอยากสั่งไวน์กับทางเขา แต่เขาบอกว่ายังไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ เลยแนะนำอีกเจ้าหนึ่งที่เป็นเพื่อนกันมาแทน สุดท้ายก็เป็นความโชคดีอีกนั่นแหละ ร้านที่ได้มาคือ Fin – Fabulous is Needed ในแง่ชื่อเสียงแล้วเป็นร้านที่ดีมากๆ เพราะเขาส่งไวน์ให้กับ Mandarin Oriental ให้ Four Seasons และให้ร้านระดับมิชลินหมดเลย” ดอยเล่าถึงความโชคดีเหล่านั้น

ที่โชคดีไม่แพ้กันคือการที่ดอยทำงานอยู่ในแวดวงเครื่องหอม แม้เธอจะไม่ได้มีความรู้เรื่องไวน์ระดับผู้เชี่ยวชาญ หรือเทียบเท่าแฟนที่อยู่ในแวดวงเครื่องดื่ม แต่อย่างน้อยๆ เธอก็สามารถสัมผัส รับรู้ และจำแนกเหล่ากลิ่นที่ซ่อนอยู่ของตัวไวน์ได้ไม่แพ้ใคร ซึ่งนั่นดูจะสร้างความประทับใจให้กับทาง Fin ไม่น้อยเลย การตกลงจับมือทางธุรกิจจึงผ่านไปได้ด้วยดี

OUR wine club

OUR wine club

OUR wine club

แน่นอนว่าเครื่องดื่มเองก็เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของดอยที่ไม่อยากจะให้ไวน์ของทางร้านสร้างความรู้สึกไม่คุ้มค่า ไม่เพลิดเพลิน และไม่อร่อยให้ลูกค้า

“พอมีพื้นที่ให้ทุกคนได้นั่งแล้ว ก็อยากมีเครื่องดื่มที่โอเคให้ทุกคนด้วยเหมือนกัน เราอยากให้คนเอ็นจอยทั้งตอนดื่มและหลังดื่ม มีความสบายในช่วงเวลานั้น ค่อยๆ ละเมียดได้แบบไม่ต้องรีบ ไม่รู้สึกปวดหัวเมื่อตื่นขึ้นมาในอีกวันหนึ่ง ที่สำคัญคือต้องรู้สึกอร่อยกับเงินที่เสียไป”

OUR wine club

OUR wine club

ส่งออกและส่งต่อ

“เราว่าเราได้เห็นระบบนิเวศของการท่องเที่ยวในเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น เพราะเราชอบคิดว่า ถนนท่าแพจะมีคนต่างชาติสายแบ็กแพ็กเกอร์เป็นส่วนใหญ่ แต่กลายเป็นว่ามีทั้งคนยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม เลยทำให้เราสนุกมากกับการได้คุยกับลูกค้าต่างชาติ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” ดอยตอบคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำร้านแห่งนี้

OUR wine club

แม้เธอจะได้เรียนรู้และได้เห็นถึงการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ไปบ้างแล้วจากระยะเวลา 5 เดือนที่เปิดร้านมา แต่นั่นก็ใช่ว่าความตั้งใจของเธอจะหยุดอยู่กับที่ถนนท่าแพเพียงแค่นี้

OUR wine club

ในอนาคต อาจจะมีการเพิ่มเสริมเติมแต่งพื้นที่ภายในร้านในเร็วๆ นี้ รวมถึงการเปิดใช้พื้นที่ชั้น 2 ที่กำลังจะมาถึงในเร็ววัน

นอกเหนือจากพื้นที่ถนนท่าแพ ดอยมีความคิดอยากขายส่งในจังหวัดโซนภาคเหนือ กระจายไวน์ออกไปยังผู้คนที่สนใจ ในอีกมุมหนึ่ง การร่วมมือกับโรงแรมเพื่อส่งไวน์ให้แขกที่ต้องการเครื่องดื่มขณะพักผ่อนในห้องพัก ก็เป็นโปรเจกต์ที่น่าลองใช้บริการ

“เราก็คงจะพยายามหาอะไรสนุกๆ ทำมากขึ้น พยายามมองหาว่าเราสามารถทำอะไรกับใครได้อีกบ้างที่คอนเซปต์ไปด้วยกันได้ และไม่โดดกันเกินไป” ดอยพูดถึงความตั้งใจของเธอ

OUR wine club

เวลาเปิด-ปิด: 17:00 – 00:00 (ปิดทุกวันพุธ)
IG: our_wineclub
ที่อยู่: 336 1 ถ. ท่าแพ ต.ช้างม่อย อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50300
Google Maps: https://maps.app.goo.gl/ryouF11M5sgH32jc9

Tags: