- การขึ้นไปอวกาศแล้วมองกลับมายังโลก นักบินอวกาศกล่าวว่าจะได้เห็น ‘ลูกแก้วสีฟ้าที่ลอยอยู่กลางผืนฟ้าสีดำกับชั้นบรรยากาศบางๆ เหมือนเปลือกหัวหอม’
- ภาพโลกจากที่มองจากอวกาศสร้างให้เกิดความตระหนักรู้ภายในอย่างลึกซึ้ง มีชื่อเรียกว่า ‘Overview Effect’ หรือผลกระทบจากการเห็นภาพรวม
- ไม่ต้องเป็นนักบินอวกาศก็สัมผัส Overview Effect ได้โดยการนั่งสมาธิ จองตั๋วไปท่องอวกาศ ใส่แว่น VR หรือออกเดินทาง
เดือนเมษายนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว Yuri Gagarin นักบินอวกาศชาวโซเวียตเป็นมนุษย์คนแรกที่ออกไปสัมผัสอวกาศ และในปี 1968 ยาน Apollo 8 พามนุษย์กลุ่มหนึ่งไปถึงดวงจันทร์ นับแต่นั้นมามีมนุษย์อีกราวๆ 600 คนที่ได้หันกลับมามองโลกในมุมมองที่คนอีกกว่า 7,000 ล้านคนไม่เคยเห็นกับตาด้วยตัวเป็นๆ ซึ่งทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Overview Effect ที่เปลี่ยนแปลงมุมมองต่อโลกและชีวิต
เมื่อเราได้เห็นโลกจากมุมมองพระเจ้า
ลูกแก้วสีฟ้า
“พอมองลงมาที่โลก คุณจะเห็นกลางวันเคลื่อนตัวข้ามผืนโลกไปเป็นกลางคืนอย่างช้าๆ
เห็นพายุที่ขอบฟ้าไกลโพ้นที่ก่อให้เกิดเงาทะมึนในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตก
แล้วโลกก็มีชีวิตอีกครั้ง เมื่อไฟฟ้าสว่างวาบตามเมืองน้อยใหญ่
ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าที่นั่นที่นี่เหมือนกับการแสดงแสงสีตระการตา
แสงเหนือสีเขียวเริงระบำ
ยากนักจะอธิบายถึงสีสันและความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ ขณะที่เห็นภาพเหล่านี้บนโลก”
Ron Garan ซึ่งเคยใช้เวลา 178 วันในอวกาศและเดินทาง 71 ล้านไมล์ระหว่างโคจรรอบโลก 2,842 รอบ และบินไปมาระหว่างกระสวยอวกาศของสหรัฐกับยานอวกาศ Soyuz ของรัสเซียบรรยายเอาไว้
รอนก็เป็นเช่นเดียวกับนักบินอวกาศอีกหลายร้อยคนที่รู้สึกทึ่งกึ่งเศร้าเมื่อเห็นภาพ ‘ลูกแก้วสีฟ้าที่ลอยเคว้งกลางผืนฟ้าสีดำกับชั้นบรรยากาศบางๆ เหมือนเปลือกหัวหอมที่ปกป้องโลกจากภยันตรายในอวกาศ’
โลกที่เคยคิดว่ายิ่งใหญ่กลับดูเล็กจ้อยและเปราะบาง
ประเทศ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ ความเชื่อ สีผิว เพศ หรือใดๆ ก็ตามที่เรากำหนดว่าเป็นเส้นแบ่ง – ล้วนไม่มีอยู่จริง
“ขณะมองโลกอันงดงามตรงหน้า ผมก็อดคิดไม่ได้ว่ามีผู้คนหลายพันล้านคนที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้ มีอีกกี่คนที่หลับไหลพร้อมกับท้องอันหิวโหยทุกวันคืน ไหนจะยังความอยุติธรรมในสังคม ความขัดแย้งและความยากจนที่แผ่กระจายไปทั่วโลก” รอน แกแรน บรรยายความรู้สึกในหนังสือ The Orbital Perspective ซึ่งเรียกว่า Overview Effect ที่เกิดจากการเห็นภาพกว้างหรือภาพใหญ่
เมื่อเห็นภาพใหญ่
Jeffrey Kluger นักเขียนนิยายแนวอวกาศเรื่อง Hold Out เปรียบเทียบเอาไว้ว่า พื้นที่ที่เราอยู่เป็นตัวกำหนดความเป็นตัวเราเหมือนดั่งเช่นองุ่นไวน์ เราหยั่งรากลงไปในเขตแดนของเรา ผืนแผ่นดินที่เราอยู่จะเป็นตัวให้รสชาติชีวิตและหล่อหลอมชีวิตของเรา กระทั่งเรากลายเป็นสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งในที่สุดก็ยากที่จะกลายไปเป็นหรือแม้แต่จะเข้าใจสิ่งอื่นได้ เมื่อเราอยู่และมองเห็นภายในขอบเขตที่จำกัด
แต่เมื่อออกไปสู่อวกาศและมองกลับมาเห็นโลกทั้งใบ เราจะมองเห็นโลกเป็นก้อนเดียวกัน เป็นระบบหนึ่งเดียว หรือที่นักบินอวกาศบอกว่าโลกเหมือนระบบสิ่งที่มีชีวิตที่สิ่งต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นอย่างโยงใยกันและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
Frank White นักปรัชญาอวกาศ กล่าวว่า ความตระหนักรู้ที่เกิดจาก Overview Effect คล้ายกับความตระหนักรู้ในศาสนาของโลกตะวันออกในเรื่อง ‘Oneness’ หรือความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีภายนอก-ภายใน สรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีอะไรคงอยู่อย่างเดิมอยู่อย่างนั้น หรือ ‘ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง’ แฟรงค์ กล่าวว่า นักบินอวกาศจำนวนไม่น้อยพยายามจะอธิบายความตระหนักรู้นี้เป็นคำพูด “มันเหมือนกับว่าโลกกลายเป็นสถานที่อันคุ้นเคยแต่ว่าไม่เคยหมดความมหัศจรรย์
“ถ้าเมื่อวานเรามองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นทวีปอเมริกาเหนือ วันนี้เรามองออกไปอีกครั้ง แต่มันไม่ใช่อเมริกาเหนือที่เหมือนเมื่อวาน วันนี้มีพายุทอร์นาโด เฮอร์ริเคน น้ำท่วม มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นอยู่เสมอบนโลกนี้”
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องออกไปอวกาศ เราก็รู้ได้จากการอ่านหนังสือ เรียนวิชาปรัชญาหรือฟังพระเอาก็ได้มิใช่หรือ แฟรงค์ กล่าวว่า “การรับรู้ด้วยสมองกับการรับรู้ด้วยหัวใจนั้นต่างกัน การรู้อย่างหลังคือประสบการณ์ตรง มันจึงสร้างความตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งได้”
Edgar Mitchell มนุษย์คนที่ 6 ที่เคยเหยียบดวงจันทร์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วประสบการณ์ทุกอย่างเป็นสิ่งเดียวกัน แต่คนเรามีปฏิกิริยาต่อประสบการณ์นั้นแตกต่างกัน จึงทำให้เหมือนกับว่า ชีวิตมีเรื่องราวมากมาย มีประสบการณ์หลากหลาย อย่างนักบินอวกาศที่ไปสัมผัสประสบการณ์ Overview Effect มาเหมือนกัน เมื่อกลับสู่โลกก็มีวิธีการแสดงออกต่อประสบการณ์เดียวกันที่แตกต่างกันไป บางคนแสดงออกมาในแนววิทยาศาสตร์ บ้างก็แสดงออกในเชิงศิลปะ อย่างตัว Edgar เองก็กลับมาก่อตั้ง Institute of Noetic Sciences ส่วน Nicole Stott วิศวกรที่เคยไปอวกาศในปี 2009 ก็กลับมาเป็นศิลปิน เช่นเดียวกับ Alan Bean ที่เคยบินไปกับยาน Apollo 12 ในปี 1969 ก็กลับมาเป็นศิลปินที่ใช้ฝุ่นที่ไปเก็บมาจากดวงจันทร์มาเพนต์รูป เป็นต้น
Over Effect ในแง่ส่วนบุคคลนั้นสร้างความตระหนักรู้ภายใน และในมุมที่กว้างขึ้น นักบินอวกาศส่วนใหญ่กล่าวว่า การได้เห็นโลก เห็นชั้นบรรยากาศ เห็นแสงไฟตามเมืองต่างๆ เห็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง เห็นกลางวันและกลางคืน จะทำให้คุณตั้งคำถามว่า โลกซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบางปรวนแปรตลอดเวลา แต่ก็ยังมอบทุกสิ่งทุกอย่างนี้ให้กับเรา แล้วเราทำอะไรให้กับโลกบ้าง เราจะทำอะไรให้กับลูกแก้วสีฟ้านี้ได้บ้าง
สร้างประสบการณ์มองโลกจากอวกาศ
นักปรัชญาอวกาศ Frank White กล่าวว่า เราอยู่ในช่วงเวลาที่น่าสนใจเมื่อคนทั่วไปก็สามารถเดินทางสู่อวกาศได้ มีนักธุรกิจหลายคนที่ขะมักเขม้นสร้างเที่ยวบินพาณิชย์ออกนอกโลก อาทิ Virgin Galactic ของ Sir Richard Branson, Blue Origin ของ Jeff Bezos และ SpaceX ของ Elon Musk จากที่แต่ก่อนมีแค่นักบินอวกาศซึ่งเป็นลูกจ้างรัฐที่ได้สิทธิ์นี้ และเมื่อกลับมาสู่โลก โดยมากก็ทำได้แค่เขียนหนังสือหรือไปพูดเล่าประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น
แต่ถ้าเที่ยวบินพาณิชย์ไปอวกาศเกิดขึ้นจริงล่ะ คนที่ซื้อตั๋วหลายแสนดอลลาร์ได้จะต้องเป็นคนมีเงิน ซึ่งก็เป็นคนมีเครือข่าย มีทรัพยากร ต้องจับตาดูว่าเมื่อเศรษฐีเหล่านี้เกิดความตระหนักรู้หลังได้เห็นโลกจากอวกาศแล้ว จะกลับมาต่อยอดทำอะไรได้บ้าง
สำหรับคนที่ไม่มีเงินซื้อตั๋วท่องอวกาศ แต่อยากสัมผัส Overview Effect แบบประหยัดกว่า Frank กล่าวว่า อย่างเรียบง่ายที่สุดแต่ว่าไม่ได้ทำได้ง่ายๆ คือนั่งสมาธิ ซึ่งถ้าจิต (หรือคลื่นสมอง) สงบนิ่งถึงจุดหนึ่งแล้ว บางคนจะเกิดประสบการณ์คล้ายถอดจิตออกร่างได้ เป็นการทำสมาธิแบบ TM (Transcendental Meditation) ที่ชาวตะวันตกยุค 70 ชอบไปตามหากูรูในอินเดียก็เพื่อจะเข้าถึง TM นี้
การทำจิตบำบัดก็เป็นการที่นักบำบัดพยายามช่วยให้เราออกมาจากตัวของเรา เพื่อจะพิจารณาชีวิตของเราจากมุมมองภายนอก เพราะถ้าเรายังอยู่ในพื้นที่เดิมก็คล้ายกับเส้นผมบังภูเขา Frank ยังร่วมพัฒนาโครงการมองโลกจากอวกาศผ่านเทคโนโลยี VR ซึ่งแตกต่างจากการเสพสื่อผ่านหน้าจอ เพราะ VR จะพาให้เราเข้าสู่โลกเสมือนจริง เท่ากับว่าเราจะรู้สึกเหมือนได้ออกไปนอกโลกแล้วหันกลับมามองโลกด้วยมุมมองพระเจ้า
อีกวิธีหนึ่งที่ Frank แนะนำ ก็คือแพ็กกระเป๋าแล้วเดินทางซะ ซึ่งทำให้เราออกจากพื้นที่เดิม แล้วเราจะเปรียบเทียบประสบการณ์ที่คุ้นเคยกับประสบการณ์ใหม่ไปเอง เช่น อาหารที่นี่ไม่เหมือนอาหารบ้านเราเลย แต่การเดินทางสาธารณะที่นี่ดีกว่าประเทศเรานะ คนเมืองนี้ค่อนข้างเย็นชา คนบ้านเราเป็นกันเองกว่า คนเมืองหนาวอาจจะเฉยๆ กับลานหิมะขาวโพลนบนภูเขา แต่ตื่นเต้นกับการได้ออกไปนอนอาบแดดสีทองร้อนๆ ขณะที่คนเมืองร้อนไม่เข้าใจว่ามันน่าปีติตรงไหน เป็นต้น
เราสร้างประสบการณ์คู่ขนานกับการมองโลกจากอวกาศได้ แม้ว่าเท้าจะยังเหยียบพื้นโลกอยู่ก็ตาม
ที่มา
https://www.nasa.gov/johnson/HWHAP/the-overview-effect
https://time.com/6084094/overview-effect/
https://www.businessinsider.com/overview-effect-nasa-apollo8-perspective-awareness-space-2015-8
https://vimeo.com/