- เรื่องราวของ ‘ปาฎี in the Wild’ คาเฟ่ที่ลงตัวด้วยแพชชันและความถนัดของส้มโอ ปิยวรรณ ศรีสุวรรณ โดดเด่นด้วยอาคารสังกะสีที่เปรียบตัวเองเหมือนข้าวเปลือกและพร้อมเติบโตกลายเป็นต้นข้าวที่แข็งแรง
ในบ้านเราวัฒนธรรมคาเฟ่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปแล้ว ไม่ว่าเมืองใหญ่ เมืองเล็ก ตามแหล่งท่องเที่ยวพลุกพล่าน แม้แต่ท้องทุ่งหรือสวนหลังบ้านก็มักจะมีคาเฟ่เปี่ยมเสน่ห์ซ่อนอยู่…
จากคาเฟ่ในสวนหลังบ้าน
ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีก่อน ในยุคที่คาเฟ่คาแรคเตอร์ค่อยๆ เกิดขึ้นทั่วไทย หมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งของตัวอำเภอเมืองระยองก็มีคาเฟ่ที่ชื่อ ‘ปาฎี’ แทรกตัวอยู่ในสวนเล็กๆ ข้างบ้านสไตล์ ‘English Cottage’
วันดีคืนดี มีตะกร้าปิกนิก ปูเสื่อ วางพร็อบข้าวของกระจุกกระจิกเต็มสนามหญ้า ชวนทุกคนมาถ่ายรูปสนุกๆ ไปพร้อมกับขนมหวาน เครื่องดื่มเย็นชื่นใจ มีสินค้าแฮนด์เมดที่เจ้าของทำเอง เราเลือกซื้อกลับบ้านได้ เป็นคาเฟ่ที่ดึงดูดคนทั้งใกล้ไกล เทใจยอมเดินทางข้ามจังหวัดมาเช็กอินกันเลยทีเดียว
ตั้งแต่นั้นไม่น่าเชื่อว่า…เวลาจะพาเราเดินทางข้ามมาเป็นสิบๆ ปี และคาเฟ่ ‘ปาฎี’ ก็ยังอยู่
แต่เป็น ‘ปาฎี in the Wild’ ในแบบเวอร์ชั่นใหม่ แค่ย้ายไปตั้งบนพื้นที่ใหม่ จะเรียกว่าทุกอย่างเติบโตขึ้นตามเวลาก็ได้
สู่ทำเลใหม่เป็น ‘ปาฎี in the Wild’
ถ้าจะถามถึงที่มาผู้อยู่เบื้องหลังของคาเฟ่และสเปซนี้ คือ ส้มโอ ‘ปิยวรรณ ศรีสุวรรณ’ เจ้าของคาเฟ่วัย 42 ชาวจันทบุรี ที่พาตัวเองกระโดดออกจากลูปมนุษย์เงินเดือน หลังจากเกิดอุบัติเหตุครั้งหนึ่งจากการเดินทาง เธอยอมตัดสินใจเปลี่ยนโหมดชีวิตใหม่ ค่อยๆ ลองผิดลองถูกด้วยการเปิดคาเฟ่ในรั้วบ้านแถมมีคู่ชีวิตที่คอยซัพพอร์ตเธอเป็นอย่างดีทั้งที่เก่าและพื้นที่ใหม่แห่งนี้
ปาฎี…เลยเป็นส่วนผสมของคาเฟ่ที่นำทางด้วยแพชชั่นและความถนัดของเธอและสามี ส้มโอเพิ่มสกิลทำขนมและเครื่องดื่มด้วยการไปเรียนคอร์สสั้นๆ จากหลากหลายสถาบันและนำมาปรับใช้ บวกกับความรักในงานแฮนด์เมดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ใส่ความครีเอทลงไปอีกหน่อย ส่วนสามีมือเย็นปลูกต้นไม้ดอกไม้หลากสี สลับหมุนเวียนไปตามฤดูจนกลายเป็นสวนสวยที่ใครไปใครมาต่างก็ต้องยกสมาร์ทโฟน ยกกล้องถ่ายภาพขึ้นมากดชัตเตอร์ ทั้งยังขยายไปสู่พื้นที่สำหรับถ่ายพรีเวดดิ้งสุดฮอตแห่งหนึ่งในยุคนั้น
คำว่า ‘ปาฎี’ เป็นภาษามลายู แปลว่า ข้าวเปลือก… เอ๊ะ! แล้วความหมายที่ว่า เกี่ยวอะไรกับชีวิตเธอกันนะ น่าจะมีใครหลายคนสงสัยเหมือนเรา…
ส้มโอเฉลยว่า…“สะดุดกับคำนี้ตั้งแต่มีโอกาสเดินทางไปนราธิวาส บ้านเกิดของสามี ตอนที่ได้ยินชื่ออำเภอสุไหงปาดีเก็บความสงสัยมาตลอดว่าหมายถึงอะไร จนได้คำตอบจากคุณพ่อของสามีว่า ปาดี แปลว่า ‘ข้าวเปลือก’ ถึงวันที่ต้องคิดชื่อคาเฟ่เลยปิ๊งคำนี้ขึ้นมา ตั้งใจอยากให้คนที่ได้ยินแอบสงสัยเหมือนเรา (หัวเราะ) แค่เปลี่ยนตัวสะกด จาก ด. เด็กให้ เป็น ฎ. ชฎา เลยเป็น ‘ปาฎี’ ซึ่งเราแอบเก็บความหมายในใจไม่ค่อยได้เล่าใครว่า… จากข้าวเปลือก เราพร้อมจะเจริญเติบโตเป็นต้นข้าวในสักวัน ความหมายคือการเริ่มต้นใหม่ (ยิ้ม) ”
ต้นข้าวที่แข็งแรง
พิกัดที่ตั้งใหม่ของ ‘ปาฎี in the Wild ’ ขยับขยายออกมา หวังใจให้เป็นจุดแวะสำหรับนักท่องเที่ยวก่อนจะลงเรือข้ามไปเกาะต่างๆ หรือแม้แต่คนในพื้นที่เองที่อยากหามุมสบายๆ ร่มรื่น กินข้าวกับครอบครัว นั่งคุยงาน พบปะเพื่อน ฯลฯ
จุดเด่นของที่นี่ที่เห็นปุ๊บรู้ปั๊บเลยว่าเรามาถึงแล้ว คือตัวอาคารที่มีโครงสร้างเลียนแบบโรงนาฝรั่ง หลังคาทรงจั่ว ภายนอกกรุด้วยผนังสังกะสีดิบๆ แต่จริงๆ มันคือตัวบ้านหลังเก่าที่เคยมีอยู่แล้วในที่ดินเก่า แต่ออกแบบใหม่ โดยทุบทั้งหมดจนเหลือแค่เสาแค่ทำผนังครอบทับอีกที
ไอเดียทั้งหมดนี้ก็เป็นของส้มโอเอง อินทีเรียร์ภายใน จัดวางโต๊ะ เก้าอี้ ใช้ผ้าปูโต๊ะลายสดใส แซมด้วยต้นไม้ ดอกไม้สีหวาน ข้าวของประดับกุ๊กกิ๊ก แก้เบื่อด้วยไอเดียใส่คอนเซ็ปต์ตกแต่งล้อไปกับธีมเทศกาลสำคัญๆ อย่างฮาโลวีน คริสมาสต์ ฯลฯ เพิ่มเติมจากที่เก่า คือ ความเย็นสบายจากแอร์คอนดิชั่น ช่วยให้พนักงานทำงานสะดวกสบายขึ้น และตอบโจทย์เพื่อรองรับลูกค้าได้ในฤดูร้อน ในวันที่อากาศแปรปรวนหรือฝนตก
เพราะโลเกชั่นไม่ได้อยู่ใกล้ที่ท่องเที่ยว หรือใกล้ทะเล ส้มโอจึงพยายามออกแบบคาเฟ่ให้เป็นเดสทิเนชั่นไปด้วยในตัว สำหรับต้อนรับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนชอบถ่ายรูป ส่วนด้านนอกตัวคาเฟ่ ยืนยันความชิลจากมุมธรรมชาติบรรยากาศและกลิ่นของสวนที่รายล้อมร่มรื่นปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ชนิดที่ว่ากล้าสูดได้เต็มปอด เพราะด้านหลังคือป่าจริงๆ มีแนวลำธารล้อมรอบ กิ่งไผ่ไหวเอนโยนไปตามจังหวะลม ได้ยินเสียงน้ำไหลเอื่อยๆ มีชุดโต๊ะเก้าอี้สนาม วางกระจายอยู่ตามมุมต่างๆ ไว้ต้อนรับ ส่วนเมนูก็ยังจัดเต็มด้วยเครื่องดื่ม ขนมเบเกอรี่สดใหม่ เพิ่มเติมขึ้นด้วยเมนูชวนอิ่มสไตล์โฮมคุกที่ตกแต่งด้วยความตั้งใจ
เราจะเติบโตไปพร้อมกัน
ท่ามกลางการแข่งขันสูงมากๆ เพราะคาเฟ่ทุกวันนี้เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด การรักษาลูกค้าเก่าเอาไว้ให้มากที่สุดจึงสำคัญ “หลายคนเห็นปาฎีตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกๆ บางคนมีเป็นซีซั่นปีนึงมี 4 ฤดู ก็มาคาเฟ่ทั้ง 4 ฤดู บางคนกลับมาเอารูปเก่ามาเทียบแล้วถ่ายในจุดเดิม บางคนมาตั้งแต่เป็นแฟนกัน แต่งงานก็มาถ่ายพรีเวดดิ้ง จนภรรยาตั้งครรภ์คลอดลูกเป็นเบบี๋จนเดินได้ วิ่งได้ (หัวเราะ)”
ส้มโอ ยังแชร์ประสบการณ์และเคล็ดลับดีๆ จากการทำธุรกิจคาเฟ่ให้อยู่ได้ในยุคนี้ว่า นอกจากจะอยู่นิ่งไม่ได้ งานบริการและความใส่ใจลูกค้าก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เธอใช้คำว่า ‘ความผูกพัน’ ที่เป็นโจทย์ใหญ่ของปาฎี เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกค้ามาแล้วอยากกลับมาอีก
“ในอนาคตจะเป็น ‘ปาฎี’ ในเวอร์ชั่นไหน? ยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่ได้คิดไกลว่าจะทำที่พัก ฟาร์มสเตย์ ขอโฟกัสที่คาเฟ่ตรงนี้ก่อน เพราะน้องพนักงานหลายคนคือคนเก่าๆ ที่อยู่ด้วยกันมา ทุกคนก็เหมือนโตไปด้วยกัน เรารู้สึกดีมากๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์และความผูกพัน ที่สำคัญก็อยากมีเวลาใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ เราเชื่อว่า…เวลาชีวิตมันถูกเติมเต็ม มันมีพลังวิเศษให้เราอยากสร้างสรรค์ อยากครีเอท ทำนั่นโน่นนี่ อีกเยอะแยะเลย”
คาเฟ่…บางแห่ง จึงไม่ใช่แค่จุดแวะพักกินดื่ม ถ่ายรูปอวดในโซเชียล แต่บางทีก็เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้คัดสรร ที่สำคัญต้องไม่หยุดนิ่งที่จะสร้างสรรค์ความแตกต่างและน่าจดจำ ไปจนถึงผู้มอบประสบการณ์ตอบสนองไลฟ์สไตล์และรสนิยมที่หลากหลายของลูกค้าได้อิ่มหนำและอิ่มเอมใจไปในคราวเดียวกัน
ปาฎี in the Wild
ที่ตั้ง 55/8 ม.1 ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง
โทร : 065-635-9452 เปิด 10.00-20.00 น. ปิดทุกวันพุธ
facebook: ร้านปาฎี
แผนที่ https://goo.gl/maps/5hX7gKyNJwpbXFUV7