About
RESOUND

พนมนครรามา

พนมนครรามา พื้นที่คนรักหนังอิสระหนึ่งเดียวที่ตั้งใจฉายหนังดีๆ ให้คนนครพนมดู

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘พนมนครรามา’ เรียกตนว่าคือ ‘พื้นที่ฉายหนังอิสระ’ ที่แรกของนครพนมที่ฉายหนังนอกกระแสเป็นโปรเจกต์ที่เริ่มต้นขึ้นด้วยใจรักการดูหนังของ ธีร์ – ธีรยุทธ์ วีระคำ ผู้เชื่อว่า หากพื้นที่อื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ สามารถจัดฉายหนังแล้วมีคนพากันมาดูได้ แล้วทำไมเขาจะสร้างพื้นที่เล็กๆ จัดฉายหนังในนครพนมบ้างไม่ได้ล่ะ

ไม่แน่ใจว่านี่คือความบังเอิญหรือพรหมลิขิต ก่อนมานครพนม เราคุ้นตา ‘พนมนครรามา’ มานานเกือบปี ตั้งแต่ได้เห็นโปรเจกต์นี้ผ่านเพจเฟสบุ๊ก เปิดตัวพร้อมประเดิมฉายหนังครั้งแรกอย่าง Drive My Car ภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นของ ‘มุราคามิ’ นักเขียนผู้มักพานักอ่านท่องราตรีไปกับห้วงความรู้สึกอยู่เสมอ

นึกย้อนไปตอนนั้นก็คล้ายจำได้ว่า เราดีใจแค่ไหนที่ได้เห็นใครอีกคนใช้ความรักห่อหุ้มสารพัดหนังนอกกระแสไปฉายในจังหวัดของตน เพราะถ้าให้พูดกันตามความจริง พื้นที่ทางเลือก งานศิลปะเริ่มกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองกรุงมากเกินไป เป็นข้อเสียของคนอยู่ต่างจังหวัดที่ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเต็มที่เลย

พนมนครรามาเปิดตัวในครั้งนั้น น่าเสียดายที่ไม่สามารถไปได้ กลับเข้าปัจจุบัน ขณะนั่งรถเข้าจังหวัด เราเห็นว่าพนมนครรามาจะฉายหนัง Aftersun พอดี จังหวะนี้ล่ะเหมือนเปลวไฟที่ค่อยๆ ลุกในตัว ก็มาถึงถิ่นแล้วทำไมจะไม่ไปล่ะ

พนมนครรามา

ความทรงจำของคนรักหนัง

การได้ตกหลุมรักใครสักคนคงจะมาจากการได้รู้จัก หรือใครคนนั้นมีบางสิ่งที่น่าค้นหา เหตุผลคงต่างกันออกไป การตกหลุมรักหนังก็น่าจะคล้ายกัน เริ่มแรกคงเป็นการก้าวเข้าโรงหนัง ปล่อยอารมณ์เป็นอิสระให้เนื้อเรื่องเข้ามาโอบรับความรู้สึก แล้วนำพาเราไปสำรวจภาพและเสียง แต่บางครั้ง แค่สัมผัสบรรยากาศในโรงก็มากพอให้ตกหลุมรักแล้ว

พนมนครรามา

“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ตอนเด็กๆ ผมไปดูหนังในโรงกับแม่เสมอ สมัยนั้นโรงหนังสแตนด์อโลนในกรุงเทพฯ มีเยอะมาก ตั๋วหนังราคา 30-50 บาทเอง แต่พวกเราไม่ได้มีเงินเยอะหรอก พอหนังเริ่ม ผมกับแม่ที่นั่งโซนหน้าๆ เห็นว่าคนน้อย เราก็จะแอบเปลี่ยนที่ ไปนั่งดูโซนหลังกัน” ธีร์ – ธีรยุทธ์ วีระคำ นึกย้อนถึงบรรยากาศในความทรงจำ อันเป็นจุดเริ่มต้นการตกหลุมรักหนัง ก่อนเล่าเพิ่มว่า เพราะดูหนังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้มองเห็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของกระแสหนังในแต่ละยุค นับเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เขาชื่นชอบ หากจะให้ mention ถึงหนังในดวงใจ ธีร์ครุ่นคิดอย่างหนักก่อนตอบเสียงฉะฉาน “หลายเรื่องเหลือเกิน”

พนมนครรามา

ที่เดียวในนครพนม

ปัจจุบันธีร์เป็นนักทำหนังสารคดีอิสระให้หน่วยงานต่างๆ ช่วงที่อยู่กรุงเทพฯ เขานึกอยากดูหนังเมื่อไหร่ก็เดินเข้าโรงหนังได้ทันที ก็อย่างที่ว่ากัน ชีวิตเมืองกรุงเราสามารถเสพสิ่งบันเทิงได้เพียงพริบตา พอต้องย้ายมาใช้ชีวิตกับครอบครัวที่นครพนม การเข้าถึงหนังในกระแสเริ่มเข้าถึงยาก หนังนอกกระแสนั้นยิ่งไกลพ้น

ด้วยความอยากดูหนังเป็นทุนเดิม เพิ่มเติมคืออยากเห็นพื้นที่พูดคุยเพื่อคนคอหนังที่นี่บ้าง ที่ผ่านมาธีร์เห็นคนทำพื้นที่อิสระในต่างจังหวัด ให้ความสนใจเรื่องการจัดฉายหนังนอกกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นไอเดียที่น่าสนใจ คำถามก็คือ การจัดฉายหนังในพื้นที่ต่างจังหวัดจะเกิดขึ้นได้จริงกับทุกพื้นที่ไหม “ถ้าผมจะฉายหนังนอกกระแสสักเรื่อง จัดฉายในพื้นที่เล็กๆ โปรเจกต์นี้จะไปรอดไหม เออ! ถ้างั้นก็ลองสร้างดูสิ แล้วลองพิสูจน์ไปพร้อมกัน”

ความโชคดีเริ่มเข้าข้างความตั้งใจ ธีร์รู้จักกับ หมู – สุภาพ หริมเทพาธิป และ ธิดา – ผลิตผลการพิมพ์ แห่ง Documentary Club และ Doc Club & Pub มานาน วินาทีจะเริ่มโปรเจกต์จึงรีบขับรถเข้ากรุงเทพฯ เล่าความตั้งใจให้ทั้งสองฟัง

พนมนครรามา

“พี่หมูกับพี่ธิดานอกจากเขาจะทำ Doc Club & Pub แล้ว เขายังจัดฉายหนังในพื้นที่อื่นๆ ใครที่ชอบดูหนังและมีความตั้งใจอยากเอาหนังไปฉาย พี่ๆ เขาจะซัพพอร์ตมาก ผมเห็นความตั้งใจในการจะขับเคลื่อนหนังมาโดยตลอด ผมไปคุยกับเขาด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าเอาหนังมาฉายในนครพนมยังไงก็มีคนดู ต้องลองดู ไม่ลองก็ไม่มีทางรู้ เขาสนับสนุนเราเต็มที่เลยนะ เหมือนเปิดประตูให้เราได้ทำตามความตั้งใจได้แบบไม่ต้องกังวลอะไรเลย”

โปรเจกต์ ‘พนมนครรามา’ จึงได้เริ่มขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2565 ฉายหนัง ‘Drive my car’ เป็นเรื่องแรกที่ ‘Boonhome Cafe’ เราถามถึงผลตอบรับ เขาบอกว่า สำหรับเมืองเล็กๆ อย่างนครพนมถือว่าดีเกินคาด และอาจเพราะกระแสของหนังเรื่องนี้เลี้ยงตัวมาดี ทำให้วันนั้นมีคนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม “พอเห็นแบบนั้น มันแบบ เฮ้ย แสดงว่ามีคนที่ต้องการอะไรแบบนี้เหมือนกันกับเรานี่” แววความตื่นเต้นปะปนกับความหวังปรากฏขึ้นที่ใบหน้าธีร์ทันที

พนมนครรามา

ผู้คน โลกใหม่ จะเจอะเจอ เมื่อหนังเริ่มฉาย

หนังหรือภาพยนตร์ก็เหมือนกระจกสะท้อนความคิด ถ้าเลือกดูเพียงประเภทเดียว คงรู้จักโลกเพียงด้านเดียว เสน่ห์ของการดูหนังคงเกิดจากการได้รับชมหลากหลายประเภท เพื่อให้เราได้ชิมรสชาติใหม่ๆ พบปะโลกอื่นๆ ที่กว้างขึ้น คุณอาจถอดบทเรียนชีวิต แตกแขนงแง่มุมใหม่ได้จากตัวละครที่มีประสบการณ์แตกต่างกันออกไปก็ได้

เหมือนครั้งที่พนมนครรามาจัดเทศกาลหนังสารคดีอเมริกันร่วมกับเมืองนครพนม มีนักศึกษาและคนรุ่นใหม่กว่า 90 คนมานั่งดูหนังด้วย เกิดวงสนทนาหลังหนังจบ ความคิดแรก ธีร์นึกว่าจะพูดถึงเนื้อหาตามอย่างปกติ

ปรากฏว่าวงสนทนาพูดคุยลึกล้ำไปถึงเบื้องหลังการทำหนังและวิธีการสร้าง ธีร์ยกมือทาบอก อุทาน เฮ้ย! เขาบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้น่าสนใจ ชี้ชัดว่าคนรุ่นใหม่นอกจากสนใจในเรื่องเทคโนโลยีและการสื่อสารแล้ว พวกเขายังมองหาสิ่งที่ลึกลงไปอีก “มันมีพื้นที่หรือทิศทางของมันอยู่นะ ความท้าทายก็คือ มันอยู่ที่ไหนล่ะ เราจะหากันเจอได้ยังไง” ไม่แน่ว่าการมีอยู่ของโปรเจกต์นี้ล่ะคือคำตอบ

“ยังมีเรื่องที่เหนือความคาดหมายอีกนะ มีเด็กปั่นจักรยานเพื่อมาดูหนัง เราถามทำไมมาคนเดียว คำตอบคือ ยายไม่ให้มา ที่มาคนเดียวเพราะหนูไม่มีเพื่อน เราเลยพูดคุยถามไถ่เขาต่อเรื่อยๆ ไม่คิดเลยว่าสิ่งที่เราทำจะทำให้ได้เจอคนใหม่ๆ แง่มุมใหม่ๆ ที่มาแลกเปลี่ยนชีวิตกัน นอกเหนือไปจากหนังที่ดูร่วมกันด้วย”

แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดมวลมิตรภาพใหม่ๆ แบบนี้ทุกครั้ง เพราะในเทศกาลครั้งนั้นเช่นกัน บางรอบฉายกลับไม่มีผู้ชมเลย แล้วทำอย่างไรล่ะ? เขาตอบกลับอย่างไม่ลังเล “ก็ฉายหนังตามโปรแกรมที่วางไว้ แล้วนั่งดูคนเดียว” แม้ในใจเราอยากบอกว่า คำตอบคุณเท่มาก ก็ดูจะไม่เหมาะเท่าไหร่ ส่วนเหตุผลที่รอบนั้นไม่มีใคร ธีร์คาดการณ์ว่าอาจเพราะสถานที่จัดฉายเป็นพื้นที่นอกเมือง ทำให้เดินทางไกล แต่ก็มีอีกปัจจัยคือเพราะเป็นม้วนหนังสารคดี จัดอยู่ในหมวดที่มีความเฉพาะตัว เลยทำให้ไม่ตรงกับความสนใจมากเท่าที่ควร

พนมนครรามา

หากมาดูเพียงแค่คนสองคน ธีร์ก็จะจัดฉายอยู่ดีใช่ไหม? เขาพยักหน้าพร้อมรอยยิ้ม “ผมทำเพราะใจรักหนัง” แม้ลึกๆ เขาอยากให้ผู้คนพากันมาดูหนัง ทว่าหากในจำนวนที่มา กลับไม่เห็นความสำคัญของหนัง จำนวนคนดูแค่ไม่กี่คนแต่ตกผลึกถึงคุณค่าหนังเรื่องนั้น ธีร์ก็ขอเลือกอย่างหลังดีกว่า

พนมนครรามา

พนมนครรามา

พนมนครรามา

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

รอบฉายหนัง Aftersun ครั้งนี้จัดฉายที่ ‘สามัคคีชุมนุม’ พื้นที่ของ กาย – สุทธิเกียรติ ศิริวรเดชกุล ที่ทำให้ธีร์ได้มาฉายหนังที่นี่ถึง 2 รอบ มีเวลาได้นั่งพูดคุย ก็พบว่า กายตั้งใจอยากให้สามัคคีชุมนุมเป็น Creative Hub Space ของนครพนม ให้คนที่ทำงานสร้างสรรค์ได้มาพบปะกัน ครั้งที่ธีร์ติดต่อขอใช้พื้นที่ฉายหนัง คนคอหนังอย่างเขาตอบตกลงแทบทันที

พนมนครรามา

พนมนครรามา

แม้โปรเจกต์นี้จะดูไปได้ดี แต่ธีร์บอกเราว่าคงไม่คุ้มนักถ้าทำเป็นงานหลัก เพราะเขาไม่ได้มีรายได้จากการจัดฉายหนังเลยสักนิด พูดไปก็หัวเราะไป ถึงจะเป็นอย่างนั้น หากนึกถึงฟีดแบ็กตลอดการทำโปรเจกต์มาตั้งแต่ต้น แม้จะไม่ค่อยมีหน่วยงานใดเข้าใจเจตนารมณ์ ผู้คนก็ยังตั้งใจซื้อตั๋วมาดูหนัง บางคนซื้อแล้วแต่มาไม่ได้ แม้ธีร์ยินดีคืนเงิน พวกเขากลับส่ายหน้าพร้อมพูดประโยคทำนองว่า ‘อยากเห็นคุณทำต่อไป’ และอีกหลายคำพูดมากที่เป็นกำลังใจชั้นดี กึกก้องในใจให้ทำต่อไปด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้คนเมืองนครพนมต้องการสิ่งเดียวกันกับเขา และลึกๆ ธีร์อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในเมืองนครพนมเช่นกัน แต่ความต่อเนื่องของการฉายหนังคงต้องขึ้นอยู่กับตัวเขา เพราะนอกจากจะทำโปรเจกต์เพียงคนเดียวแล้ว เขาต้องแบ่งเวลาส่วนใหญ่ให้กับงานประจำอีกด้วย

พนมนครรามา

ภาพหนังยังฉายต่อเนื่อง มีเสียงสะอื้นแผ่วเบาจากผู้ชมร่วมเดินทาง บรรยากาศเต็มไปด้วยคนอินหนัง วงสนทนาหลังจากนั้นจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเราแลกเปลี่ยนความคิดกัน ถามไถ่ทำไมตัวละครถึงเลือกกระทำแบบนั้น คำตอบไร้ความตายตัว เพราะเราฟังเสียงความคิดที่แตกต่างกัน

พนมนครรามา

วงสนทนาจบลงพร้อมการร่ำลา พวกเราเพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นเองว่า หนึ่งในคนที่มาดูหนังร่วมกันเป็นคนต่างเมือง ธีร์ยิ้มก่อนหันมาบอกเราว่า แม้เป้าหมายของเขาไม่ได้ใหญ่โต แต่ถ้าได้เห็นประเทศเพื่อนบ้าน หรือผู้คนจากเมืองใกล้เคียงพร้อมใจกันทางเดินมานั่งดูหนังด้วยกัน ได้พูดคุยรสหนังหลังฉากจบ ก่อนแบกหิ้วความรู้สึกอิ่มเอมใจกลับบ้าน คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง

Tags: