About
RESOUND

เสียงสะท้อนจากภูเก็ต

ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ภูเก็ต เมื่อไหร่ปัญหาแท็กซี่จะหมดไป เมื่อไหร่เมืองนี้จะดีได้จริงๆ

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพประกอบ ANMOM Date 09-02-2022 | View 2261
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ปัญหาแท็กซี่ภูเก็ตเรื้อรั้งมานาน เหมือนรอคอยวันปะทุ และทุกครั้งที่มีนักท่องเที่ยวบ่นเรื่องราคาไม่สมเหตุผลของค่าแท็กซี่ ปัญหานี้ก็จะถูกยกมาเป็นดราม่าในสังคม โดยที่ความคืบหน้าของการแก้ปัญหายังคงเป็นศูนย์
  • ไม่เพียงแท็กซี่เท่านั้น แต่ระบบโครงสร้างอื่นๆ ของภูเก็ตก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เมืองนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างแท้จริง จะมีเพียงก็แต่ความสวยงามของชายหาด สีเทอร์ควอยซ์ของทะเลอันดามัน ที่ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก
  • เราชวนคนรุ่นใหม่ในแวดวงท่องเที่ยวของภูเก็ตมาร่วมคุยกัน เพื่อสะท้อนว่าทิศทางของภูเก็ตนั้นควรเดินไปอย่างไรในสายตาพวกเขา

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีพานพบมากี่วิกฤต ภูเก็ตยังถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอยู่เสมอ หลังมีชื่อติดอันดับ 8 ในการจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2564 ของ US New&World Report จากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ คะแนนโหวตจากผู้อ่านและแนวโน้มในปัจจุบัน รวมทั้งติดท็อป 10 สถานที่ยอดนิยมที่สุดในเอเชียจากการประกาศรางวัล Travellers’ Choice Best of the Best Awards 2022 โดย Tripadvisor เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุดภาพลักษณ์ของเมืองราคาแพงและเต็มไปด้วยอิทธิพลถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง จากกรณี เฆวินทร์ พล บุตรชาย ของหมอสุนิล พล มีเหตุโต้เถียงกับแท็กซี่ท้องถิ่นด้วยเรื่องราคาค่าบริการที่สูงเกินงามท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ONCE ถือโอกาสนี้ชวนไปเปิดมุมมองจากคนรุ่นใหม่ภูเก็ตในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวว่าพวกเขาคิดอย่างไร และอยากเห็นภูเก็ตเป็นแบบไหน?

N 1

ภัสราวรรณ ทองประจง เจ้าของโรงแรมปาริภัส ป่าตอง รีสอร์ท

การคมนาคมขั้นพื้นฐานที่ดี

“การขนส่งและโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ดีมันควรจะมีได้แล้วในเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างนี้” ภัสราวรรณ ทองประจง เจ้าของโรงแรมปาริภัส ป่าตอง รีสอร์ท พูดถึงภาพลักษณ์ของภูเก็ตในความต้องการ

ด้วยชื่อเสียงและปริมาณนักท่องเที่ยวหลายล้านคนต่อปี เธอมองว่ารัฐบาลควรพัฒนาให้การคมนาคมพื้นฐานสามารถเดินทางได้สะดวกเหมือนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหรือรถราง โดยมีแท็กซี่เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีกำลังจ่าย หรือต้องการความรวดเร็วและความเป็นส่วนตัว ซึ่งควรมีมาตรฐานราคาในรูปแบบของการกดมิเตอร์ แม้ปัจจุบันจะมีภูเก็ตสมาร์ตบัสแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอและค่อนข้างใช้เวลารอนานไม่สะดวกสำหรับคนที่ต้องการความรวดเร็ว

“เข้าใจในมุมของผู้ให้บริการว่าด้วยภูมิประเทศที่เป็นเขา มีความลาดชันอาจมีค่าซ่อมแซมมากกว่า มีค่าครองชีพสูงกว่า แต่หากรัฐแก้ไขด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ดี นักท่องเที่ยวก็สามารถเลือกได้ตามความต้องการของตัวเอง ส่วนคนที่มีกำลังและต้องการความรวดเร็วก็อาจเลือกใช้บริการแท็กซี่ได้

แต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้ยังมีเพียงแท็กซี่เป็นหลัก ไม่มีทางเลือกมากนัก จึงอยากเห็นโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาไปไกลกว่านี้ ทั้งถนนหนทาง ทางเดินเท้า จุดจอดรถ และขนส่งสาธารณะ มันจะตอบโจทย์การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีทุกอย่างเลย”

N 2

วิทิตา ลีลาสุธานนท์ ช่างภาพอิสระเจ้าของ Witita.workspace

สอดคล้องกับความเห็นของ วิทิตา ลีลาสุธานนท์ ช่างภาพอิสระเจ้าของ Witita.workspace ที่อยากเห็นการพัฒนาอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่กองอยู่เฉพาะในกรุงเทพเพราะทุกจังหวัดล้วนเสียภาษีเหมือนกัน ยิ่งภูเก็ตสร้างรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศยิ่งควรมีการพัฒนาที่ดีกว่านี้ เช่นเดียวกับการควบคุมดูแลให้ราคาค่าบริการเป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด

“คนท้องถิ่นเองก็อยากได้ระบบขนส่งที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน สองแถวและแอร์พอร์ตบัสที่มีอยู่ตอนนี้ต้องรอกันนาน ไม่สะดวกในการเดินทาง จริงๆ แล้วการพัฒนามันควรจะกระจายอย่างทั่วถึง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีระบบขนส่งพื้นฐานที่ดีจนมีผลกระทบต่อเป็นทอดๆ ในทางตรงกันข้ามหากมีระบบขนส่งที่ดี ภูเก็ตก็ยิ่งจะถูกพูดถึงในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่น่ามาเยือน เพราะมีครบในทุกด้านไม่ว่าจะซิตี้ไลฟ์ สตรีทฟู้ด ธรรมชาติที่สวยงามหรือวิถีชุมชน” วิทิตา กล่าวพร้อมเชื่อว่าหากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลรับผิดชอบคิดจะแก้ปัญหาอย่างจริงจังย่อมทำได้แต่ไม่ได้ทำต่างหาก

N 3

ทิพย์สุดา ขันชัยจตุวิทย์ เจ้าของร้านกินกับอี๋

เขตบริหารพิเศษ

ทิพย์สุดา ขันชัยจตุวิทย์ เจ้าของร้านกินกับอี๋ ยอมรับว่ารู้สึกแย่ทุกครั้งที่มีภาพด้านลบเกิดขึ้นกับภูเก็ต เพราะคนภูเก็ตจริงๆ ย่อมอยากให้เมืองพัฒนาไปได้ไกล ดูดีในสายตานักท่องเที่ยว แต่เรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญหามานาน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจต้องโทษการบริหารจัดการของภาครัฐที่ไม่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนเรื่องค่าครองชีพหรือเบื้องหลังเบื้องลึกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องแบกภาระเพิ่มเข้ามา

“เราอยากให้คำว่าภูเก็ตเป็นเกาะสวรรค์กลับมา สมัยก่อนนักท่องเที่ยวหลายคนยินดีจ่ายแพงกว่าราคาจริงถ้าพอใจ มันเป็นยุคของใจบริการไม่ใช่การเอาเปรียบกัน แต่ยุคนี้ผู้ให้บริการไม่จริงใจ นักท่องเที่ยวไม่ดีก็มี กลายเป็นว่าทุกคนต่างมีเกราะป้องกันตัวเองจากการโดนเป็นผู้ถูกกระทำแล้วมาทำต่อจนเป็นวงจรอุบาทว์ ไม่มีจิตสำนึกในการทำมาหากินระยะยาว เพื่อความยั่งยืน เอาจริงๆ ถ้าทุกคนกินดีอยู่ดีไม่โดนรังแกด้วยระบบบางอย่างก็คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ อย่าว่าแต่ภูเก็ตเลยเวลาไปสนามบินดอนเมืองเราก็ไม่สามารถเรียกแกร็บข้างนอกมารับได้เช่นกัน ต้องไปดูปัญหาจริงๆ ว่ามันคืออะไร ทำไมถึงให้แค่แท็กซี่ในพื้นที่เท่านั้น เบื้องลึกเบื้องหลังมันเป็นอย่างไร”

นอกจากเรื่องแท็กซี่แล้ว การบริหารจัดการโดยรวมก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในวัย 29 ปี มองว่าควรทำได้ดีกว่านี้

ในเมื่อภูเก็ตแทบจะเป็นเส้นเลือดหลักของประเทศในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สุดท้ายแล้วหากรัฐไม่มีความสามารถในการพัฒนาในให้ไปไกลกว่านี้ได้ก็ปล่อยให้ภูเก็ตดูแลจัดการตัวเองในรูปแบบเขตบริหารพิเศษดีกว่า

“ถ้าจะรื้อก็ต้องรื้อใหม่หมด ปกครองแบบฮ่องกงไปเลย อาจต้องใช้เวลาในช่วงแรก แต่หากในครอบครัวพ่อแม่ให้ค่าขนมเราเพียงพอ เราก็คงไม่ไปขโมยหรือไม่ต้องขยันทำงานภายใต้การโดนกดขี่จนต้องไปเอารัดเอาเปรียบคนอื่นต่ออีกทอด มีการควบคุมดูแลต้นทุนอย่างเท่าเทียม มีการปลูกฝังการทำธุรกิจแบบยั่งยืนไม่ใช่ขายผ้าเอาหน้ารอดคำนึงแต่กำไรวันนี้ไม่สนวันหน้า ทุกอย่างก็จะดีขึ้นและพัฒนาไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่”

N 4

ศรานต์จิต ถิรวิริยาภรณ์ Assistant Front Office Manager โรงแรม Trisara

เท่าเทียมทั้งคนไทยและต่างชาติ

“ชินแต่ไม่ใช้” คือคำตอบจาก ศรานต์จิต ถิรวิริยาภรณ์ Assistant Front Office Manager โรงแรม Trisara เมื่อเราถามถึงอัตราค่าบริการแท็กซี่สำหรับคนภูเก็ต

ชิน เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แม้จะมีการปรับราคาลงเล็กน้อยในช่วง 3-4 ปีที่แล้วแต่ก็ยังแพงไปสำหรับคนท้องถิ่นที่จะใช้บริการ เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวคนไทยที่จะเลือกเช่ารถมากกว่า ยกเว้นชาวต่างชาติที่ยังพอรับได้เนื่องด้วยความจำเป็นต้องใช้บริการเพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้ออำนวย

“ทุกอาชีพล้วนมีต้นทุนหมด ต้องรับให้ได้และกำหนดราคาที่เหมาะสม เพราะเทรนด์ลูกค้าเปลี่ยนไปแล้ว เขาจะหาข้อมูลและเลือกในสิ่งที่ไม่โดนเอาเปรียบเกินไป หากเป็นไปได้อยากให้ภูเก็ตเป็นเมืองที่มาเที่ยวได้ทั้งชาวต่างชาติและคนไทยในราคาที่เท่าเทียมกัน เดินไปด้วยกันได้ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ในความรู้สึกมันอาจจะค่อนข้างยากนิดหนึ่งแต่เริ่มได้จากทุกคนด้วยการมองนักท่องเที่ยวเป็นลูกค้า เป็นญาติ เป็นเพื่อน ใช้วิธีการสื่อสารที่ดี ยกระดับการบริการด้วยใจ เรียกเอกลักษณ์ความเป็นมิตรของคนไทยกลับมาไม่คิดถึงธุรกิจมากเกินไป อยากให้นักท่องเที่ยวมาถึงแล้วรู้สึกอบอุ่น เหมือนมาบ้าน เชื่อถือได้ไม่มีความระแวง แล้วพวกเขาจะกลับมาทุกปี”

 

เช่นเดียวกับ ดลทิชา เตชาดำรงนนท์ ผู้อำนวยการบริษัททัวร์ Thai Luxe Charter และมาย อีเวนท์ ออร์แกไนเซอร์ ที่อยากเห็นการจัดการที่เป็นระบบระเบียบไม่ใช่แค่เรื่องของแท็กซี่ แต่รวมถึงภาคการบริการด้านอื่นๆ ซึ่งผู้ให้และผู้ใช้บริการมีความรู้ ความเข้าใจตรงกันทั้งในเรื่องราคา ระยะทางและระยะเวลาที่ไปด้วยกันอย่างเหมาะสม

“ไม่อยากให้คิดเหมารวมว่าภูเก็ตเป็นแบบนี้ทั้งหมด แค่อาจเจอแจ็กพ็อตที่อาจมีแรงกดดันหรือเหตุผลอะไรบางอย่างให้ทำแบบนั้น ทางที่ดีส่วนกลางควรลงมาดูแลและแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เราควรจะมีระบบการจัดการที่ดีได้แล้ว มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับนักท่องเที่ยว ควรใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งคนไทยและต่างชาติ

ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ยิ่งอยากให้คนไทยมาเที่ยวกันเยอะๆ ผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยวที่ดีมีมาตรฐานยังมีอีกมากในภูเก็ต บางอย่างในมุมของนักท่องเที่ยวอาจมองว่าราคาสูงแต่ลืมมองเรื่องคุณภาพ ขณะที่ของถูกบางครั้งก็ไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ การเลือกใช้จึงต้องอยู่ในจุดที่พอใจทั้งสองฝ่าย”

N 5

ดลทิชา เตชาดำรงนนท์ ผู้อำนวยการบริษัททัวร์ Thai Luxe Charter, มาย อีเวนท์ ออร์แกไนเซอร์

ในนามเอเยนต์ทัวร์ ดลทิชา บอกว่าราคาบางอย่างถูกกำหนดมาจากต้นทาง แต่ใช้การจัดการที่ดีเพิ่มเรื่องคุณภาพและการบริการเข้าไปเพื่อให้เหมาะสมกับราคาทำให้ลูกค้าพอใจ ซึ่งมองในแง่ดีการเกิดประเด็นแท็กซี่นี้ขึ้นมาอาจนำไปสู่การปรับปรุงและออกจากมุมมืดที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขในที่สุดก็เป็นได้

N 7

พศิน มณีศรี ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติงานบริษัท แอมติจูดสเตย์ จำกัด

เปลี่ยน Mindset ก่อนเปลี่ยนระบบ

“มันเป็นแบบนี้มานานแล้วแต่เราเปลี่ยนมันไม่ได้ เพราะวิธีคิดแบบนี้กลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว แต่ถามว่ากระทบท่องเที่ยวมากแค่ไหน ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะทำการบ้านหาข้อมูลมาก่อนและใช้ทางเลือกอื่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้บริการนี้” พศิน มณีศรี ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติงานบริษัท แอมติจูดสเตย์ จำกัด ธุรกิจ แบรนด์ Blu monkey hotels, Foto hotel, Brand consultant, Hotel management กล่าวถึงประเด็นดราม่า

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์กับลูกหมอฟันคนดัง พศิน คือคนหนึ่งที่ต่อต้านเรื่องนี้มาตลอด เพราะอยากเห็นมาตรฐานราคาที่ทุกคนรับได้และเคยตกอยู่ในสถานการณ์ลูกค้าไปขึ้นรถแล้วโดนปิดล้อมส่งผลกระทบต่อโรงแรม อาจไม่ถึงกับเป็นมาเฟียอย่างที่ใครหลายคนคิดแต่กึ่งอิทธิพลที่ไม่อยากมีปัญหาด้วย โดยเชื่อว่าที่ผ่านมาภาครัฐพยายามจะเข้ามาแก้ไขในเรื่องนี้ เช่น โครงการสมาร์ต ซิตี้มีรถบัสวิ่งรอบเกาะ แต่ตราบใดที่ Mindset ของคนยังไม่เปลี่ยนก็ยากจะแก้ปัญหาได้

“ระบบจะเปลี่ยนได้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนก่อน ก่อนหน้านี้ภูเก็ตเคยโดนล้างระบบมาแล้วรอบหนึ่ง แต่สุดท้ายมันก็กลับมาเหมือนเดิมเพราะคนจะมองถึงประโยชน์ที่ฉาบฉวย มองแค่สิ่งที่เขาควรได้ในเวลานั้น ซึ่งพื้นฐานดั้งเดิมมันโดนคิดมาแบบนั้น”

อย่างไรก็ตาม บิ๊กบอสแบรนด์ Blu monkey บอกว่าการเกิดโควิดทำให้คนส่วนมากเปลี่ยนวิธีคิดและปรับธุรกิจหลายอย่างเข้าสู่ระบบวิน-วินทั้งคู่ค้าและผู้ค้า เพื่อรองรับตลาดในราคาที่สมเหตุสมผลและอยู่กันได้ เปลี่ยนมุมมองไปพอสมควร โมเดลที่เห็นได้ชัดคือ พีพี ที่ถูกมองเป็นเมืองฝรั่ง เคยซื้อของในราคา 300 บาทวันนี้สามารถซื้อชิ้นเดียวกันในราคาเพียง 100 บาท โควิดช่วยเปลี่ยนวิธีการมองหมดเลย สถานการณ์ที่ทุกคนยังยึดติดกับวิธีการคิดแบบเดิมๆ มันอยู่ไม่ได้

N 8

สัจจ หงษ์หยก ทายาทบ้านอาจ้อ

เป็นธรรมทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ

หลังจากเปิดกิจการสถานที่ท่องเที่ยวเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้วก่อนเกิดโควิดเพียงแค่ 3 เดือน สัจจ หงษ์หยก ทายาทบ้านอาจ้อ บ้านอังหม่อหลาวอายุ 85 ปี ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ ร้านอาหารและโฮมสเตย์ รับรู้ได้ถึงค่าบริการแท็กซี่ในราคาแพงจากเสียงสะท้อนของลูกค้า หลังมีการเรียกใช้บริการแต่ต่อรองราคากันไม่ได้และไม่สามารถเรียกแท็กซี่ที่เคยใช้บริการไปรับข้ามพื้นที่ได้เพราะมีคิวที่ดูแลอยู่แล้วตามข้อตกลง จึงอาจเป็นเหตุผลให้ราคาสูงเพราะวิ่งขาเดียว

“เชื่อว่าแท็กซี่เองก็คงอยากบริการนักท่องเที่ยวด้วยดี จะดีมากหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นตัวกลางหารือแนวทางกับกลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ทั้งเกาะภูเก็ต ร่วมด้วยช่วยกันหาวิธีปรับลดค่าบริการแท็กซี่ให้อยู่ในราคาที่สมเหตุสมผล กำหนดมาตรฐานให้ชัดเจนมาตรฐานเดียวหรือใช้ระบบมิเตอร์แต่ต้องกำหนดราคาที่เหมาะสมกับพื้นที่”

สัจจ ยอมรับว่าถ้าจะเริ่มต้นจาก 35 บาทเหมือนอย่างในกรุงเทพคงเป็นเรื่องยาก เพราะลูกค้ามีไม่มากพอและบางครั้งวิ่งได้ขาเดียวอีก อาจต้องมีการศึกษาราคาเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้เพื่อกำหนดราคามาตรฐานที่เหมาะสม หรือรัฐต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างไรเพื่อทางออกที่ดีที่สุด

N 9

วิทยา รองสุวรรณ เจ้าของร้าน Drawingroom Coffee and Gallery

ขณะที่ วิทยา รองสุวรรณ เจ้าของร้าน Drawingroom Coffee and Gallery มองว่าภูเก็ตก็ไม่ต่างจากที่อื่นมีทั้งของถูกและแพงปนกันไป อยากเห็นความอะลุ่มอล่วยกันระหว่างผู้มาเยือนกับเจ้าบ้านดีกว่า อะไรยืดหยุ่นได้ก็ยืดหยุ่นสำหรับผู้ให้บริการ ขณะที่ผู้ใช้บริการก็ใช้ความพึงพอใจเป็นตัวตัดสิน

N 10

“ทุกวันนี้ภูเก็ตถือว่าพัฒนาไปในทางที่ดี ทั้งเรื่องถนนหนทาง เรื่องธุรกิจที่มีคนรุ่นใหม่ฝีมือดีเข้ามาสร้างทางเลือกให้มากมาย ทั้งอาหาร กาแฟ การท่องเที่ยว ส่วนเรื่องราคาค่าบริการต่างๆ ก็มีทั้งสองอย่าง ร้านถูกคุณภาพดีก็มี แพงคุณภาพดีก็มี

นักท่องเที่ยวมีสิทธิในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่เหมาะกับตัวเอง โดยใช้ตรรกะง่ายๆ อะไรที่ราคาสูงไปรับไม่ได้ก็ไม่ต้องใช้บริการ ไม่ต้องไปโต้เถียงให้เกิดความขัดแย้ง แต่ไปสนับสนุนผู้ให้บริการที่ดีแทน แต่การวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ผิด เพราะอย่างน้อยก็อาจนำไปสู่การปรับตัวและพัฒนาเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น”

Tags: