Plant Pleasure
Plant Workshop Cafe สวนในตึกแถวที่ผนวกพื้นที่สีเขียวเข้ากับชีวิตคนเมืองอย่างแนบเนียน
- Plant Workshop Cafe คาเฟ่ต้นไม้ที่แนบเนียนไปกับย่านกลางเมือง ชะลอไลฟ์สไตล์อันเร่งรีบด้วยจุดพักสายตาสีเขียว ส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยอากาศสดชื่นเต็มปอด และเป็นโรงทดลองปลูกต้นไม้ของคนเมืองที่แสดงให้เห็นว่า รูปแบบของพื้นที่สีเขียวมีมากกว่าสวน
การปลูกต้นไม้ในอาคารไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และก็ไม่ยากอย่างที่คิดด้วย เราเชื่อว่า เราไม่ใช่คนเดียวที่ถูกไลฟ์สไตล์คนเมืองฉุดรั้งจากการเพิ่มสีเขียวสบายตาในมุมห้อง เพราะไหนจะพื้นที่จำกัด ไม่มีเวลาดูแล กังวลปัญหาความสะอาด แถมยังมีภาพจำเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวในรูปแบบ ‘สวน’
Plant Workshop Cafe ก้าวข้ามอุปสรรคและมายาคติเหล่านั้นมาหมดแล้ว โดยต้อม-กฤษฎา พลทรัพย์ และ ออม-ดร.มนสินี อรรถวานิช เปลี่ยนโฮมออฟฟิศใกล้ BTS ราชเทวีเป็นสวนในตึกแถวกลางเมือง หลังจากทดลองปลูกซ้ำๆ และเลี้ยงต้นไม้ในอาคารมาตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด
หากคุณมีใจอยากปลูกต้นไม้ก็ถือว่าได้เริ่มแล้ว และ Co-working Space แห่งนี้จะเป็นบันไดให้คุณก้าวสู่ขั้นลงมือทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมั่นคงในทุกสเต็ป
Plant For People Not Price
ก่อนจะเปิดเป็นพื้นที่ทำงานของคนเมืองทั่วไป Plant Workshop Cafe เคยเป็นโฮมออฟฟิศ โดยชั้นบนใช้ทำงาน ส่วนชั้นล่างเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่บนโต๊ะตัวยาวที่ใช้นั่งเล่นระหว่างวัน ก่อนเหล่าพนักงานจะพ่ายแพ้แก่บรรยากาศสบายๆ แล้วย้ายงานลงมาทำใกล้ชิดกับต้นไม้
“เรารู้สึกสบายใจที่ได้อยู่กับธรรมชาติ เพราะต้นไม้มีหน้าที่ดูดซับคาร์บอน มันเป็นเรื่องระบบนิเวศของเมือง และการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมแบบนี้ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ออมเผยความรู้สึกที่มีต่อธรรมชาติ และเน้นย้ำการมุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนเมือง ซึ่งห่างเหินจากต้นไม้จนน่าใจหาย
“แรกๆ เราอยากได้ไม้ดอกให้ตื่นมาแล้วเฟรช แต่มันปลูกยาก เลยลองปลูกไม้อวบน้ำที่มีหลายสี มันก็ไม่ง่ายนะ ลองปลูกกระบองเพชรก็ไม่ได้อีก ทดลองหลายแบบจนเรารู้สึกว่า ปลูกนอกบ้านค่อนข้างยาก เพราะระเบียงร้อนมาก เราเลยทดลองปลูกในบ้าน จุดสำคัญคือเราไปต่างจังหวัดแล้วกลับมาต้นไม้ตายหมด แล้วกลายเป็นว่า เราไม่ยึดติดกับสูตร แต่เป็นความเข้าใจมากกว่า” ออมเล่า
ทั้งคู่โตมากับบ้านที่มีสวน กินเสร็จก็แค่โยนเมล็ดลงดินแล้วต้นอ่อนก็โผล่ขึ้นมา แต่การปลูกต้นไม้ในเมืองเจออุปสรรคทั้งด้านวิธีการและวัสดุอุปกรณ์ และเมื่อสารพัดสูตรในอินเทอร์เน็ตไม่สามารถรักษาชีวิตต้นไม้ของออมได้ เธอจึงหาทางด้วยตัวเอง จากนั้นต่อยอดเป็นเวิร์กช็อป โดยยังยืนยันว่า ทั้งสองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกต้นไม้
“สวนขวดเป็นการทดลองที่ดี ชั้นหินหยาบต้องอยู่ล่าง ต้องมีระดับน้ำเท่านี้เพื่อควบคุมความชื้น ถ้าต้นไม้ตายก็กลายเป็นปุ๋ย เราเข้าใจกลไกของระบบนิเวศเล็กๆ ของมัน สวนขวดของเราไม่เหมือนของคนอื่น ไม่มีตุ๊กตา เราเน้นความอยู่รอดมากกว่าความสวย”
“เวิร์กช็อปในบริบทนี้เป็นเหมือนโรงทดลอง มันเป็นอีกชุดความรู้หนึ่ง ต่างจากความรู้ของนักจัดสวนหรือเกษตรกร นี่คือการปลูกในกระถาง ในห้องแอร์ ใจเราอยากสอนว่า เรียงชั้นหินยังไง ทำยังไงถึงจะไม่เน่ามากกว่าให้จ่ายเงินเอาต้นไม้กลับบ้าน” ต้อมเสริม
“ผักบุ้งสวยนะครับตอนมันย้อย สำหรับผม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นเอาดีไซน์ไปจับกับต้นไม้ ข้อดีคือเราไม่ได้สนใจศักดิ์ศรีของมัน เราไม่สนราคา เราเอาต้นไม้ถูกๆ มาจัดคอมโพสิชัน วางปุ๊บสวยก็พอใจแล้ว อย่างต้นไม้ในร้านยืดเพราะไม่ได้แดด คนเล่นต้นไม้เรียกว่า พิการ แต่ถ้ามองอย่างนั้นเราจะหาทางให้เขาได้แดด มันเป็นภาระ ส่วนนี่ ภาระเดียวคือรดน้ำต้นไม้ มันอยู่มา 3-4 ปีแล้วยังไม่ตาย”
ต้อมกับออมทดลอง ‘ชำน้ำ’ กับพืชหลายพันธุ์ จากนั้นเลี้ยงโดยใช้กระถางมีรูหย่อนในโหลแก้ว ซึ่งบรรจุน้ำในระดับที่รากหยั่งถึง ส่วนดินคือองค์ประกอบที่ไม่จำเป็น วัสดุแทนที่คือป๊อปเปอร์หรือดินเผาเม็ดกลม ด้วยวิธีนี้โหลแก้วจะปราศจากคราบตะไคร่ ไม่ต้องกลัวน้ำเน่า แถมน้ำใส มองดูแล้วสวยงามกว่าใช้ดิน วิธีนี้เลี้ยงง่าย สบายคนปลูก
ผักบ้านๆ กับไม้เลื้อยที่ดูเหมือนคอตกอาจไม่ถูกใจนักเก็งกำไรต้นไม้ แต่เมื่อมองอีกทีมันกลับเป็นของตกแต่งอย่างดีสำหรับผนังขาว แนวทางการปลูกต้นไม้ของต้อมกับออมจุดประกายเราอย่างน้อยคนหนึ่งให้ทบทวนคุณค่าของต้นไม้ใหม่ ผ่านโจทย์การเลือกพันธุ์ วิธีปลูก ไปจนถึงสถานที่ปลูก
Green Neighborhood, Green City
ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ธรรมชาติกลายเป็นความพิเศษ และการเข้าถึงต้นไม้กลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดา
“เราแปลกใจเหมือนกันนะ เพราะอยู่กับมันทุกวันจนชิน แต่ใครเข้ามาก็แปลกใจ ใครเดินผ่านก็ต้องหยุดดู” ต้อมบอก
เมืองมีต้นไม้น้อยกว่าที่คิด ไม่ว่าจะกระถางเล็กขนาดไหนก็ไม่ได้มีให้เห็นเยอะ กระทั่งการเกิดขึ้นของ Plant Workshop Cafe ดึงดูดเจ้าของต้นไม้มาพูดคุยกัน บ้างก็เอาต้นไม้มาฝากเวลาไปต่างจังหวัด ไปจนถึงสิ่งเล็กๆ ที่น่าประทับใจยิ่งกว่าคือร้านแว่นที่อยู่ติดกันหาต้นไม้มาวางหน้าร้าน ชัดเจนเลยว่า พื้นที่สีเขียวไม่จำเป็นต้องเป็นสวน
“พื้นที่สีเขียวมันเป็นคำที่กว้างครับ ตอนนี้เมืองไม่สามารถหาพื้นที่สีเขียวใหญ่ๆ ได้อีกแล้ว แต่ถ้าหาพื้นที่สาธารณะแทรกต้นไม้เข้าไป แทรกไปกับทางด่วนหรืออะไรก็ได้ แล้วไม่ต้องเรียกมันว่า สวนสาธารณะได้ไหม”
“ช่วง Bangkok Design Week ผมทำ Pocket Garden บนฟุตบาท กรุงเทพฯ ไม่มีที่ให้หยุดครับ ทางเดียวที่จะหยุดได้คือเข้าห้างฯ ร้านกาแฟ ประเด็นคือริมทางนั่งไม่ได้ด้วย มันร้อน แต่พอเราทำเป็น Pocket Garden ก็มีคนมานั่ง”
Pocket Garden คือพุ่มต้นไม้ที่แทรกบนฟุตบาทกว้าง 8 เมตร โดยมีที่นั่งขนาดกะทัดรัดให้นั่งเล่น นับว่าเป็นไอเดียย่นระยะห่างระหว่างคนเมืองกับต้นไม้ที่เห็นผล ใช้พื้นที่ในเมืองอย่างคุ้มค่าสุดๆ และเพิ่มตัวเลือกจุดพักให้คนเมืองด้วย นี่คือตัวอย่างอันเป็นที่ประจักษ์ว่า สวนสาธารณะไม่ใช่คำตอบเดียวของโจทย์เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง
คราวนี้มาสำรวจพื้นที่ใกล้ตัวกันสักนิด ต้นไม้จะอยู่ตรงไหนได้บ้าง ในเมื่อป่าคอนกรีตผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดจนจำกัด ‘พื้นที่สาธารณะ’ แทบไม่เหลือ ฉะนั้นเรามาหาวิธีแทรกสีเขียวใน ‘พื้นที่ส่วนตัว’ กันดีกว่า และถ้าหากไม่รู้จะเริ่มยังไง บทความนี้ก็เพิ่งแนะนำกูรูให้คุณแวะมาปรึกษาแล้วเจ้าหนึ่ง
ใครใคร่มานั่งทำงานก็มีปลั๊กมีกาแฟให้ ใครใคร่มานั่งดื่มด่ำกับธรรมชาติก็ย่อมได้ ใครใคร่มาลองปลูกต้นไม้ก็ยิ่งดี แล้วอย่าลืมเช็กคิวเวิร์กช็อปกับทางร้านก่อนนะ
Plant Workshop Cafe
Open Hours: 10.00 – 19.00 น. (ปิดทุกวันอาทิตย์)
Map: https://maps.app.goo.gl/urTmFji3aw7eso998
ใครขับรถยนต์ส่วนตัวมา จอดรถได้ที่ โคโค่วอล์ค หรือ โรงแรมเอเซีย มีค่าจอด 20 บาท/ชั่วโมง
Facebook: Plant Workshop Cafe