About
RESOUND

Play and Learn

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส ‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • “โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้” เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สร้างสรรค์ เพื่อให้คนทุกวัยสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น และการประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุธรรมชาติ มีแนวคิดคือ ‘สร้างพื้นที่เล่น รักษาของเล่นเก่า และพัฒนาของใหม่’
  • ‘ของเล่น’ เป็นเหมือนเพื่อนผู้ให้ความเพลิดเพลิน สร้างความสุข เสริมสร้างปัญญา พัฒนาทักษะทางร่างกาย จิตใจ สังคม ให้กับผู้เล่นทุกๆ คนในโลกนี้ และนั่นคงเป็นคุณค่าอย่างแท้จริงที่ทำให้พวกเรายังจดจำและนึกถึงช่วงเวลาเหล่านั้นอยู่เสมอ
  • ปุ๊- วีรวัฒน์ กังวานนวกุล เชื่อว่าของเล่นสร้างการเรียนรู้ และการเล่นทำให้เกิดการค้นพบใหม่ๆ ได้ จึงผันตัวเองเป็นนักการศึกษาหรือนักการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาต่อยอดของเล่นและทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ของเล่นมากมายมีความทรงจำถูกสะกดไว้จนเกือบล้นทะลัก เรื่องราวที่อัดแน่นกลับกลายเป็นเสน่ห์น่าค้นหาให้เราได้ย้อนวันวานพูดถึงเรื่องเก่าๆ ยิ่งถ้าเป็น ‘ของเล่นพื้นบ้าน’ ยิ่งแฝงไว้ซึ่งเรื่องราว วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้เล่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่น่าเศร้าที่นับวันของเล่นพื้นบ้านกลับค่อยๆ เลือนหายและลบเลือนไปจากความทรงจำ

วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ปุ๊- วีรวัฒน์ ถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงในวงการของเล่นผ่านมุมมองของเขา ไปจนถึงแนวคิดในการพัฒนา ‘ของเล่นพื้นบ้าน’ สู่พิพิธภัณฑ์และพื้นที่การเรียนรู้หรือพื้นที่เล่นใน อ.แม่สรวย จ.เชียงรายที่ชื่อว่า ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’

“เราเชื่อว่าการเรียนรู้มีหลายอย่าง ฟังพูด อ่าน เขียน แลกเปลี่ยนลงมือทำ เราไม่ได้บอกว่าอย่างใดอย่างหนึ่งดีที่สุด มันอาจเป็นกระบวนการ Design Thinking ก็ได้” เสียงสะท้อนจาก ปุ๊- วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ชายผู้มีใจรักในการเรียนรู้ พัฒนา และเชื่อว่าการเล่นจะทำให้เราค้นพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ “ถ้าโรงเรียนทำหน้าที่ให้ความรู้ โรงเล่นของเราก็จะทำหน้าที่ชวนผู้คนออกไปหาความรู้” เขาพูดเสริม

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

• เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการมาทำตรงนี้ให้ฟังหน่อย

“เราตั้งคำถามเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไป ว่าทำไมความเหลื่อมล้ำมันถึงสูง? แต่มากกว่านั้นเราอยากหาวิธีการแก้ปัญหา เพราะเราสนใจหลายเรื่องทางสังคม เราเลยตั้งคำถามต่อว่ามันเป็นหน้าที่ของใคร แล้วจะแก้ปัญหานี้ยังไง เราไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่ที่เรามาทำตรงนี้เพราะว่าเราเชื่อว่าตัวปัญหาต่างๆ ถ้ามันไม่มีพื้นที่เชิงปฏิบัติการมันแก้ปัญหาจริงไม่ได้ เราเลยทดลองทำพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ทุกคนทุกเพศทุกวัยในชุมชนได้มีโอกาสมาใช้พื้นที่ตรงนี้

บวกกับเรามีความคิดว่ามันควรจะมีสื่อดีๆ ให้เด็กดู มีพื้นที่ให้เด็กได้ลองทำ มีวงปลายเปิดที่ให้เด็กได้แลกเปลี่ยน เราคิดว่าเรื่องพวกนี้มันส่งเสริมให้เกิดจินตนาการได้ เพราะฉะนั้นพื้นที่จากโรงเล่นเลยทำหน้าที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ ‘ลงมือคิด ลงมือทำ’”

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

• ทำไมลงเอยที่พิพิธภัณฑ์?

“เพราะเรามองว่าพิพิธภัณฑ์มันเป็นหน้าที่แรกในการศึกษา เก็บรวมรวม บันทึกข้อมูล และรักษารากฐานให้แข็งแรง วันหนึ่งพอผ่านกาลเวลาและประสบการณ์ มันก็จะเกิดการต่อยอดพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

• แต่ที่นี่เป็นมากกว่าพิพิธภัณฑ์?

“อีกมิติหนึ่งเราเชื่อว่าเราเป็น ‘นักการศึกษา’ เราถอดรหัสของเล่นเพราะเราเชื่อว่าความรู้ที่ดีต้องส่งต่อได้ เราคิดว่าถ้าเราอยากจะแก้ปัญหาในสิ่งที่เราเชื่อหรืออยากจะส่งเสริมการเรียนรู้ มันต้องเป็นพื้นที่อิสระและปลอดภัยพอ แล้วก็เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน เหมือนที่เราให้นิยามของโรงเล่นไว้ว่า ‘รักษาของเก่า พัฒนาของใหม่ และสร้างพื้นที่เล่น’”

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

• มีกระบวนการถอดรหัสของเล่นยังไงบ้าง?

“เราต้องทำความเข้าใจ ขั้นแรกเรารู้ว่า ‘ของเล่นพื้นบ้านทำมาจากวัสดุธรรมชาติ’ เราเลยเริ่มปลูกป่าปลูกไม้หลากหลายชนิด ผ่านมาถึงตอนนี้ 10 ปี เราไม่ต้องกังวลเลยว่าจะเอาวัตถุดิบที่ไหนมาทำของเล่น ต่อมาคือเราให้ความสำคัญกับ ‘เครื่องมือ’ เพราะถ้าเรามีเครื่องมือที่หลากหลายมันก็พัฒนาเด็กได้ สุดท้ายคือ ‘เราจะสอนเด็กยังไงให้เกิดจินตนาการ’ อันนี้เป็นคำถามสำคัญ เราเลยมีหน้าที่หาคำตอบด้วยการชวนผู้เรียนออกไปหาคำตอบผ่านการเรียนรู้ ตอนแรกเราก็ไม่มั่นใจว่าโรงเล่นสอนเรื่องจินตนาการได้ แต่พอผ่านมาถึงวันนี้เราสร้างของเล่นเอง สร้างโฮโลแกรมเอง แล้วเราพบว่าจินตนาการมันเจ๋งจริงๆ”

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

• ทำไมนิยามตัวเองเป็นนักการศึกษา?

“จริงๆ เรานิยามตัวเองหลายอย่าง จะเรียกเราว่า ‘นักการเรียนรู้’ ก็ได้ เพราะเราอาจเคยติดกับดักตัวเองว่าเรารู้แล้ว เราเก่งแล้วเราเจ๋งแล้ว หรือติดอัตตาของตัวเองว่าเราทำตอนนี้สำเร็จ เราเคยรู้สึกว่าเราสอนเด็กทำของเล่นอย่างที่ผู้เฒ่าทำได้เป็นสิ่งที่เจ๋งมาก แต่พอผ่านไปสักพักหนึ่ง เราคิดได้ว่าถ้าเราไม่เป็นนักการศึกษาต่อ เราก็จะจมอยู่แค่อีโก้ตัวเองที่เราเป็นนักทำของเล่น

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

ถ้าเราหยุดเรียนรู้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันจะมีแต่ของเล่นพื้นบ้าน มันจะมีแต่พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาของ แม้มันจะดีในยุคนั้นแต่มันไม่พอ เพราะมันรวบรวมเพื่อให้คนมาดูแล้วโหยหาอดีต แต่เรายังไม่เห็นอนาคตกับปัจจุบัน เพราฉะนั้นถ้าเราขยายผลให้คนเห็นปัจจุบันได้ชัดขึ้นผ่านความเข้าใจอดีต อนาคตจะไม่มีปัญหา ตอนนี้โรงเล่นก็ยั่งยืนด้วยตัวเองระดับหนึ่ง แล้วมันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งเหล่านี้มาจากการที่เราไม่หยุดยั้งที่จะศึกษาหรือว่าเรียนรู้”

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

• เพราะอะไรจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาชิ้นงาน?

อย่างที่บอกว่าเราสอนให้เด็กทำของเล่นได้ก็จริง แต่ถ้าทำแบบนี้อยู่แค่ 10 ปี มันไม่ใช่นวัตกรรม มันก็แค่ทำซ้ำการผลิตซ้ำความรู้ ถ้าเราไปติดกับดักว่าเราต้องอนุรักษ์ไว้โดยที่เราไม่พัฒนาหรือไม่เข้าใจบริบทที่มันเปลี่ยน เราก็จะจมอยู่กับอดีตอย่างเดียว แต่ถ้าเราเข้าใจอดีตแล้วปรับใช้กับยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป สิ่งที่เราทำมันจะยิ่งมีคุณค่า

เราเลยมักพูดอยู่เสมอว่า ศูนย์การเรียนรู้พอเรียนรู้ไปครั้งหนึ่ง สุดท้ายมันก็ต้องเรียนรู้ต่อ เพราะระยะเวลาเปลี่ยนสถานการณ์เปลี่ยนถ้าเราไม่เติมความรู้ใหม่ๆ เข้าไป ไม่รู้จักปรับตัวมันก็อยู่ลำบาก

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

• เวลาทำของเล่นขึ้นมาสักชิ้น เรานึกถึงอะไรเป็นหลัก

“เราจะเน้นให้คนเล่นรู้สึกสนุก เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยความไม่สนุกมันก็ตันอยู่ที่ตรงนั้น ให้เขารู้สึกผูกพัน แล้วมันจะค่อยๆ พัฒนา แต่ละคนเขาจะค้นพบไม่เหมือนกัน บางคนอาจรู้สึกอิ่มเอมใจ บางคนอาจนึกถึงวัยเด็กของตัวเอง มันอิสระมากๆ แล้วมันต่อยอดไปได้หมด

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

เรามักบอกทุกคนว่า เวลาทำของเล่นหนี่งชิ้นก็จะได้แค่ 1 ชิ้น แต่เวลาทำของเล่น 10 ชิ้นจะเกิดความเข้าใจ หรือเวลาทำของเล่น 100 ชิ้นจะเกิดเป็นทักษะ อย่างที่คนเฒ่าหลายคนสามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้ ถ้าคนที่เข้ามาหรือผู้เล่นสามารถบอกเราได้ว่า สนใจเรื่องอะไร มีเวลาเท่าไหร่ เขาเปิดใจแค่ไหน อันนี้แหละมันจะพาให้ตัวผู้เล่นที่เข้ามาแต่ละคนก้าวเข้าไปสู่พรมแดนใหม่ๆ ก้าวข้ามความเป็นไปได้แบบเดิม เช่น บางคนมาจากกรุงเทพบอกทั้งชีวิตชั้นไม่เคยเลื่อยไม้ ถ้าคุณไม่เปิดใจ คุณก็จะทำไม่เป็น แต่ถ้าคุณลองเปิดใจ จะพบว่ามันไม่ยากอย่างที่คิด…เพียงแค่ทำให้ถูกวิธี

สำหรับที่นี่ คุณอยากเข้ามาลองทำของเล่นเอง ทำให้ลูกหลานเล่น ทำเป็นอาชีพ ทำเพื่อสนองความต้องการวัยเด็ก หรือทำเพื่อเพิ่มศักยภาพเพิ่มทักษะที่ขาด มันได้หมด แล้วสิ่งที่เราทำคือ เราจะพยายามให้กำลังใจ คอยบอกเสมอว่า ‘มันเป็นไปได้ถ้าคุณลงมือทำ’”

• สิ่งที่อยากให้คนมาโรงเล่นได้กลับไปคืออะไร?

“เราอยากให้คนมาเล่นแล้วสนุก อันนี้เป็นอันดับแรก สองคือเกิดการค้นพบ การค้นพบคนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่าเป็นความรู้ แต่สิ่งที่สำคัญพอๆ กัน คือ ‘ความไม่รู้’ เมื่อไหร่ที่คุณเข้ามาแล้วค้นพบว่า ไม่ถนัดอะไร ไม่มีทักษะด้านไหน นั่นไม่ผิด (เขาเน้นเสียง)

เพราะถ้าพื้นที่แห่งการเรียนรู้ดี Learning Space ดี มันจะทำให้เด็กที่ค้นพบความชอบ สามารถไปต่อได้ทันที ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เด็กที่ค้นพบความไม่ถนัด ไม่หมดความมั่นใจ และมีความพยายามที่จะขวนขวายหาความรู้ต่อ เราอยากให้พื้นที่เราเป็นแบบนั้น…ไม่จำเป็นว่าทุกคนคนเข้ามาแล้วต้องเป็นอัจฉริยะ เรื่องไหนที่เราไม่รู้มันก็ไม่แปลก เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่เมื่อไหร่ที่คุณเกิดความรู้สึกที่อยากจะเรียนรู้ คุณหาความรู้ได้จากเรา”

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

• ของเล่นสร้างประสบการณ์ร่วมได้ใช่ไหม?

“ใช่ เราขอยกตัวอย่างของเล่นชิ้นหนึ่งที่เราประทับใจอุ้ยมากคือ ‘โมเดลการตำข้าว’ เรื่องนี้ถ้าจะไปเล่าให้เด็กรุ่นใหม่ฟังเฉยๆ ก็คงนึกภาพตามไม่ออก ท่านเลยพยายามทำของเล่นมาเป็นเครื่องมือในการเล่า มากกว่านั้นมันเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างวัยกับคนหนุ่มสาว เราเห็นคนทำเบื้องหลังเขามีความสนุก เวลาเขาได้นั่งทำของเล่นหนึ่งชิ้น แล้วเขาได้เล่าให้ลูกหลานฟัง มันก็เกิดประสบการณ์ร่วมกัน”

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

• คิดว่าการเล่นสำคัญกับผู้ใหญ่ยังไง?

“ผู้ใหญ่เองพอมาถึงวัยหนึ่งที่สภาพสังคมหลายๆ อย่างมันบีบรัด มันก็ต้องเผชิญกับความเครียด แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราอยู่ในสภาวะแห่งการเล่น เราจะได้ปลดปล่อยทุกอย่างเหมือนกลับหวนไปในความทรงจำวัยเด็กอีกครั้ง นอกจากอินเนอร์มันมา อะดรีนาลีนมันก็หลั่ง มันอาจลืมความเครียดหรือความขัดแย้งในจิตใจต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนั้น แล้วเราเชื่อว่าพอการเล่นมันไปถึงจุดที่ผ่อนคลาย มันจะค่อยๆ คลี่คลายและลดปัญหาที่แต่ละคนสะสมมา” (เขายิ้ม)

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

• วาดฝันให้กับโรงเล่นไว้ยังไงบ้าง?

“ผมคิดว่าฝันของเราสูงสุดไม่ต้องการให้คนมาที่นี่ แต่ต้องการให้คนกลับไปทำ ถ้าเราทำจากสองมือเราได้…คุณก็ทำได้ เพราะฉะนั้นเราเลยถอดรหัสของเล่นให้เห็น เราเชื่อว่าความรู้ที่ดีต้องส่งต่อได้ เราสร้างพื้นที่เล่นก็จริง แต่เราไม่ได้สร้างแค่ที่นี่อย่างเดียว เราขายไอเดียให้กับทุกพื้นที่ที่อยากทำ สุดท้ายแล้วไม่ต้องมาที่นี่ก็ได้…แต่กลับไปพัฒนาตำบลหรือชุมชนของคุณ”

• อยากให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้แบบไหน?

“อยากเห็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ตอบสนองกลุ่มคนทุกวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยปรับใช้ทุนทางสังคม ในบริบทที่ชุมชนนั้นๆ มี เราเชื่อว่าทุกชุมชนมีอยู่แล้ว แค่ต้องหามันให้เจอ เมื่อไหร่ที่มองเห็นทุนซึ่งเป็นทรัพยากรท้องถิ่น แล้วคนในท้องถิ่นเห็นประโยชน์และช่วยกันสร้าง มันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน”

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล นักการเรียนรู้ ผู้ถอดรหัส‘ของเล่น’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

ปุ๊ทิ้งท้ายบทสนทนากับเราไว้ว่าอยากให้ทุกคนที่เข้ามายังโรงเล่นได้รับความรู้สึกอบอุ่น ความรู้สึกเป็นมิตร และความรู้สึกผ่อนคลายกลับไป เพราะพื้นที่ตรงนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง ใครอยากจะนั่งเล่นเพลินๆ ก็มานั่งได้ ใครอยากจะเรียนทำของเล่นก็นัดหมาย ใครอยากมาอ่านหนังสือหรือมีหนังสือดีๆ พกมานั่งอ่านมุมใดมุมหนึ่ง สถานที่แห่งนี้ก็พร้อมเปิดรับ

ลองนึกดูว่าจะมีสักกี่ที่ที่พาเราย้อนเวลากลับไปยังห้วงความทรงจำในวัยเด็กได้อย่างสุขใจ ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ คือสถานที่แห่งนั้น…

  • โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ตั้งอยู่ที่บ้านสันโค้ง ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เปิดเฉพาะเสาร์และอาทิตย์  09.00 – 16.30 น. เข้าฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ถ้าใครมาเป็นกลุ่ม แนะนำว่าควรติดต่อล่วงหน้า
  • นอกจากมีพื้นที่ให้เล่นสนุก สร้างการเรียนรู้แล้ว ยังมีช็อปเล็กๆ ให้เราได้อุดหนุนสินค้าที่ระลึกเป็นของเล่นจากพ่ออุ้ยแม่อุ้ยในชุมชนกันอีกด้วย…มาเล่นกันเถอะ!
Tags: