About
BALANCE

Park of Happiness

Pocket Park พื้นที่ความสุขของคนเมือง

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ Date 02-06-2020 | View 3150
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ความทันสมัยมีผลทำให้ชีวิตในเมืองใหญ่แห้งแล้งและทำไมพื้นที่สีเขียวเล็กๆ จึงจำเป็นกับผู้คน
  • Pocket Park ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสุข จุดนัดพบและจุดสร้างปฏิสัมพันธ์ใหมๆ มีการรวมตัวและทำกิจกรรมของผู้คน
  • ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่การออกแบบหรือปรับพื้นที่ไร้ประโยชน์ให้กลับมามีชีวิตก็ช่วยเมืองนั้นดีขึ้นทั้งกายและใจ

เวลามีใครสักคนพูดถึง “เมืองแห่งอนาคต” บางคนจินตนาการเป็นภาพเมืองอวกาศ ตึกสูงเสียดฟ้าแบบหนังไซไฟ บ้างก็เป็นสมาร์ทซิตี้ที่เต็มไปด้วยความอัจฉริยะและโซลูชันต่างๆ รองรับเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ในทางตรงกันข้าม…บางคนกลับนึกถึงเมืองเล็กๆ ที่ชวน “หวนคืนสู่ธรรมชาติ” พร้อมแนวทางจัดการคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนและปลอดภัย แวดล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวและอยู่คู่กันกับเทคโนโลยียุคสมัยใหม่อย่างลงตัว ซึ่งอย่างหลังน่าจะเป็นเมืองอนาคตที่คนส่วนใหญ่ปรารถนา

ดังนั้น ท่ามกลางตึกสูงระฟ้าเบียดเสียดใจกลางมหานครทั่วโลก หลายประเทศจึงเริ่มเสนอแนวคิดเรื่อง ‘Pocket Park’ คือการปรับใช้พื้นที่นำไปสู่สวนแห่งการออกแบบที่มอบความอบอุ่นทั้งกายและใจ เพราะบางครั้งสวนสาธารณะเล็กๆ ตรงมุมตึกก็ให้ความหมาย ‘ใหญ่’ มากในแง่ความรู้สึก

ในหนังสือ Pocket Park (1988) ของ ‘Hajime Iwashita’ ได้นิยามความหมายของ Pocket Park ไว้อย่างคิกขุอาโนเนะว่า pocket หมายถึง กระเป๋ากางเกงที่เรามักจะซุกมือเข้าไปรับความอบอุ่น สวนกระเป๋าในเมืองใหญ่จึงเป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่น ปลอดภัยและเป็นพื้นที่พิเศษของเขตเมืองนั้น Pocket Park จึงหมายถึง ‘พื้นที่ทำมือเพื่อความอบอุ่น’ตามความหมายของชาวแดนปลาดิบ

ย้อนไปในปี 2012 สถาบัน Grattan Institute ของออสเตรเลียทำโครงการ ‘The Social Cities’ รายงานไว้ว่า ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนในออสเตรเลียมีเพื่อนและปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อยลง ทางโครงการจึงใช้การออกแบบเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนให้มากขึ้น โดยระบุไว้ว่า เราอาจไม่ต้องแก้ไขด้วยการลงทุนอะไรใหญ่โตมโหฬาร แต่อาจทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ เช่น สร้าง Pocket Park หรือสวนขนาดเล็กจากพื้นที่รกร้าง คล้ายๆ กับการมีพื้นที่จัตุรัสให้ชาวเมือง มีสวนต้นไม้เล็กๆ เป็นพื้นที่หย่อนใจที่ดึงดูดให้คนมาใช้เวลาในพื้นที่เดียวกัน นำไปสู่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากขึ้นเท่านี้ก็พอแล้ว ทว่า สวนจิ๋วเหล่านี้นอกจากทำหน้าที่รวมคนเมืองเข้าหากัน ยังเป็นมุมรับแขกไว้ต้อนรับนักเดินทางที่เข้ามาเพื่อสำรวจแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสัมผัสชีวิตของผู้คนเมืองนั้นๆ ได้อีกด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลให้หลายเมืองใหญ่เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสวนและพื้นที่ทำกิจกรรม อาทิ ในลอสแองเจลิสมีอสังหาริมทรัพย์มากมายที่ถูกปล่อยร้างในช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐ นักวางผังเมืองจึงจัดการเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้างเหล่านั้นให้เป็นสวนเล็กๆ ผลลัพธ์คือทำให้กลายเป็นพื้นที่น่ารื่นรมย์แถมยังส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์โดยรอบสูงขึ้นอีกด้วย

ส่วนที่ ‘Paley Park’ ในนิวยอร์กถือว่าเป็น Pocket Park แห่งแรกของเมือง ตั้งอยู่ย่านกลางเมืองในแมนฮัตตัน ได้รับการออกแบบโดย Zion Breen Richardson Associates สวนจิ๋วที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนโอเอซิสกลางเมืองใหญ่ มีน้ำตก ต้นไม้ และเก้าอี้ให้คนผ่านไปผ่านมาได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจได้

ด้านรัฐเพนซิลเวอร์เนียมีโครงการทำพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่สีเขียวมาตั้งแต่ปี 1999 โดยปรับเป็นสวนแบบเรียบง่าย ใช้งบไม่มาก เริ่มจากการกำจัดขยะ ปูหญ้า ล้อมรั้วไม้ธรรมดา และเน้นให้ดูแลรักษาง่าย ภายหลังจากข้อมูลของกรมตำรวจฟิลาเดลเฟีย พบว่า พื้นที่ร้างที่ปรับสภาพให้สดใสขึ้นนี้ ทำให้บรรยากาศเมืองดีขึ้น ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมน้อยลงด้วย

ข้ามฟากไปย่านชานเมืองของลอนดอนบ้าง มีการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ใช้งานเป็นสวนเพื่อชุมชน ภายในสวนมีบริการและกิจกรรมตั้งแต่การดูนกไปจนถึงการแลกเปลี่ยนสิ่งของ ไม่น่าเชื่อว่าจากเมืองแล้งๆ ที่เต็มไปด้วยพื้นที่ปิดตาย กลายเป็นสวนแห่งความสุขที่เชิญชวนให้ผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกัน ว่ากันว่าบางคู่ก็พบรักกันในงานนี้แหละ เพราะชาวเมืองในย่านนั้นกว่า 4,000 คนพร้อมใจสมัครเป็นสมาชิก

สำหรับฝั่งเอเชียบ้าง Pocket Park ในญี่ปุ่นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแถวหน้าไปโดยปริยาย ใครไปใครมาก็ต้องแวะเช็กอิน ในโตเกียวมีกระจายตัวหลายสวน อาทิ ‘Kotoku Park’ ในย่านอุเอโนะ ‘Takecho Park’ ใจกลางย่านที่อยู่อาศัย ‘Okachimachi Kashiwagi Park’ ที่ย่านธุรกิจชินจูกุ ‘Hachiyama Park’ ที่ชิบูย่า และ ‘Sakurazaka Park’ ย่านรปปงงิ แม้แต่กินซ่าย่านช็อปปิ้งสุดหรูซึ่งที่ดินแพงมาก ก็มี ‘Sukiyabashi Park’ ตั้งอยู่ติดกับตัวสถานีแทรกอยู่เช่นเดียวกัน

สวนญี่ปุ่น

นอกจากนี้ โครงการอสังหาฯ จากภาคเอกชนหลายแห่งมีการเผื่อพื้นที่สีเขียวไว้รอบตัวอาคารและเปิดให้คนทั่วไปเข้าได้ เช่น สวนญี่ปุ่นดั้งเดิม ‘Mori Garden’ ของตึก Roppongi Hills สวน ‘Our Parks’ ข้างหลังตึก Toranomon Hills และบริเวณ Shinjuku Center Building ที่จะเห็นพื้นที่สีเขียวตามแนวถนนใหญ่ มองดูคล้ายเป็นแนวรั้วไปในตัว

สุดท้ายปลายทาง ‘Pocket Park’ นี่แหละ อาจเป็นเคล็ดลับตัวเพิ่ม “พื้นที่สีเขียว” ชั้นดีแก่เมือง ช่วยสร้างระบบนิเวศน์ให้ย่านนั้น ลดทอนความแออัดจากตึกคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ และต้นไม้ในสวนยังช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศ อีกทั้งเสริมภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณนั้นให้สวยงามชวนมอง นี่คือวิธีการออกแบบพื้นที่ของเมืองที่ไม่ต้องยิ่งใหญ่ยุ่งยากอะไรเลย แต่กลับเป็นมุมความสุขอันยั่งยืนที่ช่วยเติมเต็มให้เมืองนั้นไม่แห้งแล้ง เหงาหงอย และชืดชาจนเกินไป

คุณล่ะมีพื้นที่ Pocket Park ที่ไหนในใจบ้างไหม อย่าลืมเล่าสู่กันฟังบ้างนะ…

Tags: