About
RESOUND

The Merman

‘ทราย สก็อต’ Merman หนุ่มผู้หวังปลุกพลังอนุรักษ์ด้วยหนังสั้น

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 14-07-2022 | View 2655
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ทราย สก็อต นักอนุรักษ์ทะเลผู้ทำหนังสั้นเรื่อง ‘Merman – Ocean Pollution Film’ เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเจ็บปวดของสัตว์น้ำและทรัพยากรที่เสื่อมโทรมจากฝีมือมนุษย์ พร้อมสวมบท ‘เงือกหนุ่ม’ เสี่ยงชีวิตลงถ่ายใต้ทะเลลึก 20 เมตรด้วยตัวเองทุกขั้นตอน
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อมสำหรับเขาคือเรื่องใกล้ตัวมากๆ มีสถิติอย่างหนึ่งที่น่าสนใจบอกว่า ในแต่ละปีทุกคนบนโลกนี้จะกินพลาสติกเท่ากับบัตรประชาชนหนึ่งใบ ซึ่งพลาสติกเป็นสารก่อมะเร็ง โดยมีองค์กรใหญ่ๆ และรัฐบาลเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหา

หลายปีมานี้เราได้เห็นนักอนุรักษ์ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะการรณรงค์ลดใช้พลาสติก กิจกรรมเก็บขยะชายหาด เปลี่ยนขยะเป็นงานศิลปะหรือรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ล่าสุดมีการส่งสารให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นผ่านหนังสั้นเรื่อง 'Merman- Ocean Pollution Film' ที่ถ่ายทอดเรื่องจริงใต้ท้องทะเลผ่าน ‘เงือกหนุ่ม’ ผู้พยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากปัญหาขยะอันเกิดจากฝีมือมนุษย์อย่างน่าเศร้า

ทราย 6

หนังสั้นเชิงอนุรักษ์เรื่องนี้ผลิตโดย ทราย-สิรณัฐ สก็อต นักอนุรักษ์ทางทะเลผู้ลงทุนควักกระเป๋าตัวเองกว่า 6 แสนบาท (เฉพาะการถ่ายทำ) และรับบทชายเงือกตัวเอกในเรื่อง มีผู้เข้าชมทาง YouTube มากกว่า 1.5 แสนครั้งในเวลา 2 เดือนครึ่งนับตั้งแต่เปิดตัว

เขาเป็นทายาทเจเนอเรชั่นที่ 4 ของตระกูลใหญ่ระดับประเทศอย่าง สิงห์ คอร์เปอเรชั่น เป็นหลานตาของจำนงค์ ภิรมย์ภักดี ปัจจุบันรับผิดชอบงานด้านความยั่งยืนของสิงห์ เอสเตท โดยจบด้านแอนนิเมชั่นเกี่ยวกับภาพยนตร์มาจาก California Institute of the Arts จากสหรัฐอเมริกา แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มี CG แม้แต่ฉากเดียว

ทุกฉากคือการถ่ายทำใต้ทะเลจริง สภาพแวดล้อมจริง เล่นจริงไม่มีสแตนอินใดๆ บางช่วงต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต!

เพราะอะไรต้องลงทุนเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงขนาดนั้น ทะเลมีความสำคัญกับเขาอย่างไร ทำไมถึงสนใจงานอนุรักษ์มากกว่าธุรกิจ…เราได้คุยกับทรายในหลากหลายเรื่องที่เอ่ยถึง

จากสายแอนนิเมชั่นมาเป็นนักอนุรักษ์ได้ยังไง?

เราเป็นนักศิลปะมาระยะหนึ่งแล้วรู้สึกเหมือนไม่ตอบโจทย์ตัวเอง ทำแล้วไม่มีความสุข เลยลองเปลี่ยนประสบการณ์ไปเป็นพนักงานขายของที่ร้านเสื้อผ้า และค้นพบว่าตัวเองชอบทำงานกับผู้คน มีความสุขกับการช่วยเหลือคน หลังจากนั้นกลับมาเมืองไทยช่วงก่อนโควิดเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทุกวันที่ลงว่ายน้ำในทะเลไม่มีวันไหนที่ไม่เจอขยะ ด้วยความเป็นนักว่ายน้ำในทะเลเปิดและโตมากับทะเลเพราะบ้านอยู่หัวหิน เราไม่อาจมองข้ามได้และเห็นว่ามันเป็นปัญหาใหญ่เพราะหลายคนไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาใหญ่

ทำไมถึงคิดแบบนั้น?

ครั้งหนึ่งตอนเดินเก็บขยะบนชายหาด คนรอบข้าง คนที่อยู่ที่นั่นทำเหมือนมองไม่เห็นเรา เหมือนสร้างความอึดอัดให้พวกเขา มันเป็นอะไรที่แปลกมากทั้งที่มันคือปัญหาตรงหน้า นั่นเหมือนเป็นแรงกระตุ้น ไม่อยากให้พวกเขารู้สึกนิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ เราไม่อยากปล่อยหรือรอเวลาให้ใครมาทำเพื่อให้สภาพทะเลดีขึ้น เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครพยายามจะทำอะไรเยอะขนาดนั้น

ทราย 7

ทราย 9

ในบทบาทนักอนุรักษ์ ก่อนหน้านี้ทำอะไรมาบ้าง?

3 ปีที่แล้วหลังจากเริ่มมีคนเห็นและสนใจในสิ่งที่เราทำนั่นคือการเดินเก็บขยะในเส้นทางต่างๆ เลยตั้งเป็นโครงการ Sea You Strong เพื่อเป็นช่องทางในการติดตามและร่วมกิจกรรม เริ่มจากการจัดกิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะชายหาดในประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นก็ลงพื้นที่สำรวจชุมชนต่างๆ ร่วมกับโรงเรียนชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมเก็บขยะ เวิร์กช็อปแยกขยะ สร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมในโครงการสิงห์อาสา Sea Sand Strong รวมไปถึงการดำน้ำเก็บกู้อวนและมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ โดยได้ลง National Geographic Thailand 2 รอบ

ทราย 4

เบื้องหลังการถ่ายทำ Merman

รู้สึกอย่างไรในตอนนั้น?

รอบแรกจำได้ว่าร้องไห้เลย เพราะสิ่งที่เราทำมันไม่ได้มีโครงสร้างหรือเป้าหมายว่าจะต้องไปจุดไหน แค่ทำเพราะอยากทำด้วยใจ เมื่อมีคนเห็นคุณค่า เป็นการตอกย้ำว่าเราทำถูกต้องแล้ว ใช้ชีวิตแบบนี้ดีแล้ว ตอนนั้นเป็นเรื่องเก็บขยะในชุนชนที่กระบี่ ซึ่งมีคนที่ไม่เห็นด้วยและชอบพูดว่าจะเก็บไปทำไมเก็บไปขยะชายหาดก็ไม่มีวันหมด แต่เราไม่ได้เก็บเพราะมันจะแก้ปัญหาทันทีทันใด เราอยากให้คนในชุมชนรู้ว่ามือของเขาสามารถเปลี่ยนปัญหาที่อยู่หน้าบ้านได้ เอามือเขาไปเปลี่ยนวิธีสัมผัสสิ่งที่เขาใช้อยู่ได้ จากสองมือที่หิ้วถุงพลาสติกออกจากเซเว่นมาใช้มือหยิบถุงพลาสติกบนชายหาดแทน มันอาจเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสิ่งแวดล้อมกับสิ่งที่ใช้ของเขา นี่ต่างหากคือความตั้งใจในเก็บขยะ ส่วนอีกเรื่องคือการดำน้ำเก็บกู้อวน

ไอเดียสร้างหนังสั้น Merman มาได้ยังไง?

ระหว่างไปทำงานเก็บกู้อวนเมื่อปีที่แล้ว 4 เดือนก็คิดว่าจะสื่อสารยังไงดีว่า มันเป็นพลาสติก มีผลกระทบต่อท้องทะเล เพราะมันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพประมง แต่การใช้แบบผิดวิธีสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการัง ช่องทางที่มีก็ไม่เพียงพอจะสื่อสารได้อย่างเข้าใจ จึงตัดสินใจทำให้ทุกคนเห็นภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงผ่านเรื่องราวของตัวเงือก เพราะเมื่อพูดถึงตำนานตัวละครที่สื่อทะเลจะมีอยู่ไม่กี่ตัว ปีศาจทะเล เทพทะเล และเงือก ซึ่งมีความลึกลับและสวยงามเหมาะจะเป็นตัวแทนสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดของสัตว์ใต้ทะเลและให้ความสำคัญต่อชีวิตพวกเขาและทรัพยากรธรรมชาติ

ทราย 5

ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์สั้น Merman

สิ่งที่เห็นในหนังนั้นใช้งานแอนนิเมชั่นที่เรียนมา?

ทุกอย่างคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในท้องทะเลที่กระบี่และภูเก็ต ขยะทุกชิ้นก็อยู่ที่นั่นอยู่แล้ว ยกเว้นเศษอวนที่อาจจไม่ได้อยู่จุดนั้นแต่ก็มาจากการเก็บกู้ในทะเลเหมือนกัน และสวมชุดเงือกลงไปว่ายน้ำใต้ทะเลจริงๆ ตอนแรกเราถ่ายแบบฟรีไดรฟ์วิ่ง แต่ช่วงฉากที่มีปลาสีเหลืองเยอะนั้นเป็นความท้าทายมาก ต้องลงไปอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 20 เมตร ซึ่งไม่ง่ายกับการต้องขึ้นมาหายใจแล้วกลับลงไปใหม่ อีกทั้งพอไม่ได้ใส่หน้ากากและปลาก็ไม่ได้อยู่เฉย ทำให้มองไม่ชัด ไม่สามารถไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการได้ จึงตัดสินใจใช้วิธีการหายใจจากอุปกรณ์จากคนอื่นใต้น้ำ ซึ่งถือเป็นวิธีที่เสี่ยงมาก เพราะจะไม่มีการขึ้นไปจนกว่าไดรฟ์จะจบ 1 ชั่วโมง คือตอนถ่ายก็ว่ายในชุดเงือก พอพักก็มีคนเอาอุปกรณ์มาให้หายใจและจับตัวไว้อยู่ใต้น้ำจนกว่าจะเปลี่ยนฉากหรือเข้าช็อตใหม่ ซึ่งต้องใช้ทักษะในการดำน้ำพอสมควร

ทำไมต้องทุ่มเทถึงขนาดเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงขนาดนั้น?

เพราะทะเลคือชีวิตของเรา เราว่ายน้ำทุกวัน ทะเลทำให้เรารู้สึกสงบ มีความคิด เหมือนเป็นคนที่คอยดูแลเรามาตลอด กับไม่ลืมว่าชีวิตวัยเด็กเติบโตมากับการได้รับความรักความอบอุ่นจากคนดูแลที่เป็นป้าแม่บ้านลุงคนสวนอย่างไรทั้งที่เขาลำบากกว่ามาก มันทำให้เรานึกถึงคนอื่นอยู่ตลอด เคยไปเห็นชุมชนที่ต้องทำมาหากินกับหาดที่มีแหล่งน้ำเน่าเสียที่ไม่ได้รับความสนใจ เลยอยากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตพวกเขา มันเป็นการทำเพื่อสิ่งที่เรารักทั้งสองอย่างคือทะเลและผู้คน ที่สำคัญอยากใช้ความทุ่มเทและความรักในทะเลเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองด้วยว่าโลกยังสวยอยู่

ทราย 2

หนังเรื่องนี้มีอะไรพิเศษอีกไหม?

หนังสั้นเชิงอนุรักษ์จะทำลายสิ่งแวดล้อมเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างการเพนท์หน้าหรืออะไรที่ใช้แต่งหน้าต้องย่อยสลายในน้ำได้ อุปสรรคที่เจอคือเราใช้กากเพชรไม่ได้เพราะเป็นพลาสติก ต้องใช้ชิมเมอร์แทน หรือมีเซ็ตที่มีการเอาขยะมารวมกันบนหาดเพื่อถ่ายทำ แล้วถูกคลื่นซัดขยะออกไป ทีมงานทุกคนกำลังอินกับภาพที่ถ่ายอยู่ แต่เราลุกขึ้นทันทีและยกเลิกเซ็ตนั้นเลย เพราะมันไม่โอเคสำหรับเรา

ปัจจุบันคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมักเรียกตัวเองว่านักอนุรักษ์ ส่วนตัวจะอธิบายคำนี้ว่า…

ใครๆ ก็เป็นนักอนุรักษ์ได้ทั้งนั้น แค่ต้องมีใจต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ ที่ผ่านมาเคยเจอนักวิชาการ นักธุรกิจที่เรียกตัวเองว่านักอนุรักษ์จากการพูดข้อมูลอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วแค่รู้ข้อมูลมันไม่พอ ต้องเอาข้อมูลเหล่านั้นมาปฏิบัติในชีวิตจริงได้ด้วย นำไปสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจและกล้าที่จะนำทางพวกเขาได้จริง เช่น ถ้าเห็นเพื่อนใช้หลอดพลาสติกต่อหน้า กล้าเตือนว่าสิ่งที่เขาใช้อยู่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร นั่นคือนักอนุรักษ์สำหรับเรา มันคือแอ็กชั่นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทำให้คนเข้าใจถึงผลกระทบ กล้าเปิดบทสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

เราต้องมีความสุขก่อน ดูแลตัวเองได้ก่อนถึงจะดูแลสิ่งแวดล้อมได้ เพราะ…

จริงๆ การมาทำงานนี้ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเปลี่ยนชีวิตส่วนตัวก่อน เมื่อก่อนใครพูดอะไรไม่ดีก็จะเก็บมากดตัวเองไว้ แต่เมื่อโยนสิ่งเหล่านั้นทิ้งไป มุมมองต่อโลกก็เปลี่ยนไปด้วย จิตใจดีขึ้นทำให้กล้าจะพูดถึงสิ่งแวดล้อม ปกป้องสิ่งที่หวงแหนได้ดี ทุกวันนี้ไม่ใช่เขาไม่รู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่อาจเพราะในชีวิตมีอะไรที่คิดและดิ้นรนมากกว่า เราจึงเชื่อว่าก่อนที่จะทำเพื่อคนอื่นได้ต้องดูแลตัวเองได้ก่อนและไม่อยากให้ทำเพราะโดนบังคับ

บางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าเหตุผลที่มีพวก Toxic ในวงการเพราะเขาไม่มีความสุข ไม่ดูแลตัวเอง ทำให้งานอนุรักษ์กลายเป็นเรื่องเครียดและจัดกันเอง บางคนเห็นว่าเรามาจากครอบครัวใหญ่ พยายามกินเงินเราให้มากที่สุดก็มีทั้งที่ทำงานอนุรักษ์ด้วยกัน มันทำให้เห็นบางคนไม่ได้ทำด้วยใจอนุรักษ์จริงๆ แต่ทำเพื่ออำนาจและผลประโยชน์แอบแฝง

ทราย 3

โปรเจกต์ในอนาคตจะมีอีกไหม?

ตอนนี้ขอกลับไปเก็บอวนและเก็บขยะกับเด็กๆ ในชุมชนต่อก่อน ขอกลับไปเข้าใจอารมณ์ ความคิดเห็นของคนอื่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร แต่ก็มีความตั้งใจว่าจะทำช่องยูทูบ สื่อให้คนเห็นโลกในมุมที่เราเห็นและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม อาจไปนอนกับเจ้าหน้าที่อุทยานบนเกาะแล้วถ่ายทอดว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ

ความท้าทายในการทำงานด้านนี้คืออะไร?

จะไปต่อแนวทางไหนดี เพราะการแก้ปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้ มีตัวแปรสำคัญอยู่ที่องค์กรใหญ่ซึ่งเป็นผู้ผลิตสิ่งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลที่เป็นผู้ตั้งระบบออกกฎหมายควบคุมดูแล ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเห็นองค์กรใหญ่ๆ วางความสำคัญให้กับทรัพยากรที่ใช้พร้อมให้ข้อมูลว่าใช้อะไรบ้าง สร้างเยอะขนาดไหนและพยายามจะทำอะไรที่จะช่วยโลกใบนี้ อย่างเช่นเนสท์เลที่ลงข้อมูลว่าซองนี้รีไซเคิลได้ อยากเห็นองค์กรใหญ่ๆ ทำแบบนั้น อย่าหลีกเลี่ยงที่จะคุยเรื่องนี้กัน

ทราย 1

วางเป้าหมายของงานอนุรักษ์ไว้ยังไง?

การมาทำงานด้านนี้ไม่ได้ตั้งเป้าหมายหลักอะไร แค่ทำในสิ่งที่อยากทำและรู้สึกอิ่มใจทุกวัน ณ วันนี้รางวัลตอบแทนคือความมั่นใจในตัวเอง และการได้รับความเห็นอกเห็นใจจากผู้คนรอบข้าง เช่น ตอนเดินเก็บขยะชายหาดที่ภูเก็ต มีแม่ค้าเรียกไปเอาถุงขยะ แม้จะเป็นแอ็กชั่นเล็กมากๆ แต่มันรู้สึกได้ว่าเขามองเห็นปัญหาและเจตนาของเรา มันคือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตนี้คุ้มค่า

หากเป้าหมายวัดจากความสำเร็จ ความสำเร็จนั้นคือความสุขจากการที่ทุกคนเห็นสิ่งที่เราทำและพร้อมจะเดินไปด้วยกัน

ทราย 10

ปัจจุบันเราเห็นความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่บางคนอาจยังมองเป็นเรื่องไกลตัว จะบอกเขาอย่างไร?

มันเป็นเรื่องโคตรใกล้ตัวมากๆ มีสถิติอย่างหนึ่งที่น่าสนใจบอกว่าในแต่ละปีทุกคนบนโลกนี้จะกินพลาสติกเท่ากับบัตรประชาชนใบหนึ่ง ซึ่งพลาสติกเป็นสารก่อมะเร็ง ขณะที่ในปี 2050 จะมีจำนวนพลาสติกในทะเลมากกว่าปลา ฟังดูแล้วโหดมากๆ ลองนึกภาพว่าถ้าบนโลกเราที่มีเกือบ 8,000 ล้านคนพร้อมใจกันเอาขยะที่ใช้ใส่ถุงดำไปทิ้ง ขยะจะไปไหนถ้าไม่ลงทะเลหรืออยู่ในหลุมฝังกลบ เพราะเราไม่มีที่พอจะรับขยะมากขนาดนั้นหากไม่มีการจัดการขยะที่ดีพอ สุดท้ายสิ่งที่เรากินกับทิ้งก็อยู่ในระบบเดียวกัน กลับมาทำร้ายตัวเราเอง

ทราย 8

ตอนนี้ทุกคนอาจจะคิดถึงการทำมาหากินเพื่อปากท้องมากกว่า แต่อนาคตเราอาจไม่มีปลาให้กินหรือไม่ก็เป็นมะเร็งเพราะมีพลาสติกในร่างกายเยอะ มันคือสุขภาพและห่วงโซ่อาหารของทุกคน เรามาถึงจุดนี้เพราะทุกคนบนโลกไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่ง

คุณไม่จำเป็นออกมาทำเหมือนกัน แต่หากร่วมด้วยช่วยกันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มจากตัวเองและสิ่งที่ทำได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่เพิ่มความทุกข์ในชีวิต

ใครที่อยากชมผลงานหนังสั้นเชิงอนุรักษ์เรื่องแรกของ ทราย ‘Merman- Ocean Pollution Film’ สามารถติดตามได้ทาง YouTube

Tags: