- ชวนคุยกับครูเอ๋-ณรงค์พัชร์ โตษยานนท์ ครูสอนดนตรี ผู้ก่อตั้งวง Rare Item วงอูคูเลเล่ของคนรุ่นใหญ่วัยเกษียณ วงแรกของประเทศไทย ซึ่งดนตรีก็เปรียบได้กับยาวิเศษ ที่สร้างพลังบวกให้ผู้สูงวัย ทั้งยังส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจได้อย่างมหัศจรรย์
เคยคิดเล่นๆ กันไหมว่า ถ้าวันหนึ่งชีวิตถึงวัยเกษียณ เราจะเป็นยังไงนะ?
จะเป็นคนสูงวัยที่ยังมีไฟ อยากลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ หรือจะยังสนุกที่ได้ออกไปเจอเพื่อนเก่า เล่าเรื่องราวสมัยหนุ่มๆ สาวๆ อยู่หรือเปล่า
แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น เราอยากพาไปรู้จักกับกลุ่ม Rare Item นักดนตรีอูคูเลเล่สูงวัยที่มารวมตัวกันเพื่อมอบความสุขให้กับผู้คนผ่านเสียงเพลง โดยสมาชิกส่วนใหญ่ของวงเป็นคุณตาคุณยายวัยเกษียณ และเป็นคนรุ่นใหญ่ ที่ทำให้เรารู้ว่า คนวัยนี้ก็มีอะไรสนุกๆ ให้ทำมากกว่าที่คิด
เรื่องราวของวงดนตรี Rare Item มีจุดเริ่มมาจากคุณแม่ของ ครูเอ๋-ณรงค์พัชร์ โตษยานนท์ ครูสอนดนตรี และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Rare Item เมื่อกลางปี 2565
ทำไมจึง Rare Item
“ช่วงโควิดผมต้องลงไปทำงานที่กรุงเทพฯ เลยพาคุณแม่ไปด้วย พอดีเป็นช่วงที่โควิดระบาดหนัก ทำให้ออกไปไหนไม่ได้ ไปเจอเพื่อนก็ไม่ได้ ตอนนั้นเราสังเกตว่าคุณแม่เริ่มเหงา ดูหงอย และเก็บตัว เลยชวนให้เล่นดนตรี โดยเริ่มจากเปียโนไฟฟ้า เราก็สอนเป็นโน้ตตัวเลขแบบง่ายๆ หรือบางทีก็เล่นคาลิมบา (Kalimba) บ้าง” ครูเอ๋ ย้อนเล่าถึงคุณแม่ ผู้เป็นต้นเรื่อง
“พอกลับมาเชียงใหม่ เลยชวนคุณแม่ลองเล่นอูคูเลเล่ไหม เพราะสมัยก่อนเป็นเครื่องดนตรีที่ฮิตมาก และเกือบทุกบ้านจะต้องมีอูคูเลเล่ ก็บอกคุณแม่ให้ลองชวนเพื่อนๆ มาหัดเล่นด้วยกัน โดยจะสอนให้ฟรี เป็นกุศโลบายของตัวเอง เพื่อให้แม่ได้เล่นดนตรีและได้เจอเพื่อนทุกอาทิตย์”
หลังจากรวมสมาชิกในช่วงแรกได้ทั้งหมด 4 คน การเปิดบ้านเพื่อสอนอูเลเล่ให้ผู้สูงวัยจึงเกิดขึ้น “การสอนดนตรีให้กับกลุ่มแม่ๆ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลาและความอดทน ตอนแรกจะสอนให้จับคอร์ดเปลี่ยนคอร์ดประมาณ 2-3 คอร์ด จนกว่าจะจำได้ จากนั้นจึงเริ่มต่อเพลง โดยใช้เวลาประมาณสัปดาห์ละ 2 บรรทัด พอเล่นได้เพลงแรก เขาก็จะเริ่มมีกำลังใจ ยิ่งพอเริ่มจับคอร์ดได้มากขึ้น จังหวะเริ่มได้ ก็ไปได้เร็วขึ้น”
บทเพลงที่เลือกมาสอน ล้วนเป็นเพลงเก่าคลาสสิกสมัยรุ่นคุณตาคุณยายยังเป็นหนุ่มสาว เช่น เพลงชะตาชีวิต ริมฝั่งน้ำ ฯลฯ ครูเอ๋ใช้พื้นที่ในรั้วบ้านที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางและร่มรื่น เปิดเป็นโรงเรียนสอนดนตรีสำหรับคนทุกวัย ทั้งดนตรีแจ๊ส กีตาร์ เปียโน อูคูเลเล่ ร้องเพลง และแต่งเพลง ส่วนทุกบ่ายวันอังคารจะเป็นช่วงเวลาของการฝึกซ้อมกับกลุ่มแม่ๆ
อูเคเลเล่คือคำตอบ
อูคูเลเล่ตัวจิ๋ว เครื่องดนตรีที่มีต้นกำเนิดมาจากฮาวาย และคนรุ่นใหม่เคยฮิตในช่วงเวลาหนึ่ง ตอนนี้กลายเป็นเครื่องดนตรีที่คนรุ่นคุณตาคุณยายหยิบมาเล่นได้ง่ายๆ และดูน่ารักไปอีกแบบ แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมต้องเป็นอูคูเลเล่ เป็นเครื่องดนตรีชนิดอื่นไม่ได้เหรอ
“อูคูเลเล่ง่ายที่สุด ทั้งเรื่องการพกพา และความเป็นสากล ถ้าเป็นกีตาร์จะเล่นยากกว่า เพราะตัวใหญ่และเจ็บนิ้ว แต่สายอูคูเลเล่เป็นไนลอนทำให้ไม่เจ็บนิ้ว และด้วยเสียง สาย สำเนียงของอูคูเลเล่ เสียงจะไม่บอดเหมือนกีตาร์ มันจะดังป๊อกแป๊กๆ มีความน่ารัก คนสูงวัยเอามาเล่นก็น่ารักดี แล้วคุณแม่ผมเล่นได้ ซึ่งเขาไม่มีพื้นฐานทางดนตรีมาก่อน แต่เล่นได้ นับจังหวะได้ เลยคิดว่าคนอื่นๆ ก็น่าจะเล่นได้” ครูเอ๋บอกถึงเหตุผล
“ส่วนชื่อวง Rare Item นั้น มาจากความ Rare Item ของทุกท่านที่เป็นผู้สูงอายุ” ครูเอ๋เฉลยที่มาของชื่อ Rare Item ซึ่งหมายถึง เป็นของหายากหรือมีน้อย “วงอูคูเลเล่ในเมืองไทยยังไม่เคยมี แต่เคยเห็นในต่างประเทศอยู่เหมือนกัน เลยคิดว่าตั้งชื่อว่า Rare Item ดีกว่า ซึ่งก็เป็นอะไรหายากจริงๆ นักร้องนำของเรา 81 ปีแล้ว ส่วนใหญ่อายุเกือบเลข 7 กันหมด น้อยสุดคือ 40 กว่า”
ปัจจุบันวง Rare Item มีสมาชิกประจำทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย นักร้องนำและนักดนตรี และทุกๆ เดือนวงดนตรีกิตติมศักดิ์กลุ่มนี้จะไปจัดแสดงดนตรีที่ กาดต๋องตึง บ้านริมน้ำ จ.เชียงใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และมอบความสุขผ่านบทเพลงให้ผู้คน
ดนตรีบำบัดใจ
เราเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า คนจะเสพงานศิลปะได้ ท้องต้องอิ่มก่อน แต่สำหรับดนตรีนั้น กลับไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อจำกัด ดนตรีคือความไพเราะ งดงาม และคนทุกวัยเข้าถึงได้ ที่สำคัญดนตรียังส่งผลต่อจิตใจ และร่างกายอย่างน่าอัศจรรย์
“ผมให้คุณแม่เป็นเคสทดลองเกี่ยวกับดนตรีมาหลายอย่าง เช่น การเล่นคาลิมบา (เครื่องดนตรีสัญชาติซิมบับเว จัดอยู่ในประเภท Lamellophone บางครั้งถูกเรียกว่า ‘เปียโนมือ’ ) ในทางวิทยาศาสตร์พบว่า มีผลเรื่องคลื่นเสียง และคลื่นเสียงของคาลิมบาช่วยให้ผู้สูงวัยนอนหลับได้เร็วขึ้น ผมเคยลองให้คุณแม่เล่นคาลิมบาก่อนนอน เขาหลับสบาย และผ่อนคลายขึ้น”
ครูเอ๋ยังเคยทดสอบการเล่นคาลิมบาในกลุ่มเด็กสมาธิสั้น เพื่อลดการเสพติดหน้าจอ ซึ่งเป็นหลักสูตรในงานวิจัยที่ทำมาก่อนหน้า “ตอนนี้เด็กๆ ในกลุ่มงานวิจัยหันมาพกคาลิมบาแทนจอมือถือแล้ว ด้วยขนาดที่เล็กเหมือนกัน และเด็กๆ สามารถนั่งเล่นเวลารถติดได้ ซึ่งข้อดีของคาลิมบาคือ เสียงไม่ดัง ทำให้ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนข้างๆ”
สำหรับอูคูเลเล่ เครื่องดนตรีน้ำหนักเบา และใช้นิ้วในการกดจับเพียง 1-3 นิ้วนั้น ครูบอกว่า ยังช่วยบริหารนิ้วมือได้ดี เพราะได้ยินกลุ่มแม่ๆ คุยกันว่าหายจากอาการนิ้วล็อกกันแล้ว
“ผมคิดว่าการเล่นดนตรีในผู้สูงวัย จะช่วยชะลอความเสื่อมต่างๆ ความเสื่อมของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เรื่องความจำ ประสาทสัมผัสทั้งหลาย เพราะเวลาเล่นดนตรี สมองทั้งสองข้างทำงานไม่เหมือนกัน ทั้งต้องจำคอร์ด และนับจังหวะไปด้วย”
ครูเอ๋บอกเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อกายดี ใจก็ดีตามไปด้วย “ดนตรีช่วยให้เกิดความสุขและความรื่นรมย์ทางใจ ทำให้เราไม่ต้องคิดมาก และทำให้คนสูงวัยรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ผู้สูงวัยบางคนไม่ได้ทำงานแล้ว อาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ยิ่งถ้าการออกไปเล่นดนตรี ได้ส่งความสุขให้กับคนอื่นๆ ด้วยนั้น เขาจะรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายมากขึ้น”
จิตอาสาเพื่อผู้สูงวัย
อย่างไรก็ตาม กว่าที่ครูเอ๋จะมาทำงานกับผู้สูงวัยนั้น เขาทำงานจิตอาสาเพื่อเด็กๆ ซึ่งมีทั้งเด็กปกติ เด็กพิเศษ และคนตาบอดมาก่อน อาทิ เป็นผู้ริเริ่มโครงการพลังจิ๋วไม่ง้อจอ โดยการแต่งเพลงเพื่อรณรงค์ให้เด็กๆ เลิกเสพติดหน้าจอ รวมไปถึงออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อลดเวลาอยู่หน้าจอสำหรับให้คุณครู ผู้ปกครองและเด็กๆ นำไปใช้ต่อ นอกจากนี้ ยังเป็นครูสอนดนตรีแจ๊สที่มูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอด และเป็นผู้ก่อตั้งวงแจ๊สของคนตาบอด วงแรกของประเทศไทยที่ชื่อว่า ‘Let’s Fin’ อีกด้วย
ส่วนการทำงานกับผู้สูงวัยนั้น ครูเอ๋บอกว่า ไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรไว้เลย “ผมแค่อยากให้คนวัยนี้มีความสุขกับดนตรี และได้ออกไปให้ความสุขกับคนอื่นๆ โดยที่เขารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง ที่คิดไว้อีกอย่าง คืออยากให้เขามีอัลบั้มเป็นของตัวเอง กำลังคิดจะแต่งเพลงให้ เป็นเพลงของ Rare Item เลย หรือไม่ก็ทำเพลงที่เป็นเพลงสำหรับสอนเด็กเล็กๆ หรือคุณยายสอนหลาน” ครูเอ๋ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
ใครมีโอกาสไปเชียงใหม่ แวะไปให้กำลังใจนักดนตรีวง Rare Item ได้ที่กาดต๋องตึง บ้านริมน้ำ ทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือน