About
DETOUR X Ayutthaya

มอญสอนผ้า

‘มอญสอนผ้า’ เที่ยวบ้านมอญอยุธยา ชุมชนน่าเที่ยวไม่น้อยแห่งไทรน้อย

เคยได้ยินมาบ้างว่า ‘อยุธยา’ เป็นจังหวัดนานาชาติ เพราะมีบ้านอังกฤษ บ้านฮอลันดา บ้านโปรตุเกส บ้านฝรั่งเศส บ้านจีน บ้านแขก แต่อยุธยายังมีอีกบ้านที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก นั่นคือ ‘บ้านมอญ’

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • อยุธยาไม่ได้มีเพียงอุทยานประวัติศาสตร์ แต่ยังมีชุมชนท่องเที่ยวซ่อนตัวอยู่ไม่ไกลจากเกาะเมือง เป็นชุมชนชาวมอญที่อพยพมาจากเมียนมาตั้งแต่สมัยพระนเรศวร
  • หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย ตั้งอยู่ในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านที่นี่ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมชนเชิงวัฒนธรรม และเปิดโฮมสเตย์ต้อนรับนักท่องเที่ยว
  • ชุมชนมีหลากหลายกิจกรรม เช่น ทำอาหาร ทำขนมไทย ปักผ้าสไบมอญ ทำอิฐมอญ ทั้งหมดล้วนเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมมอญ และวิถีชีวิตท้องถิ่นแบบคนภาคกลาง

เรากำลังพูดถึงชุมชนชาวมอญที่ซ่อนตัวอยู่ใน ตำบลไทรน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงชุมชนชาวมอญธรรมดา แต่ชาวบ้านได้ช่วยกันจัดตั้งเป็น หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย นำโดย พี่แดง-มยุรี ศรีนาค หญิงมอญคนเก่งรับหน้าที่เป็นประธาน

เธอเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันให้บ้านมอญแห่งไทรน้อยเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่นำเสนอวิถีชีวิตชาวมอญดั้งเดิมคู่กับวิถีเกษตรอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มุ่งหวังให้การท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริมจากการทำเกษตรและค้าขาย รวมถึงเป็นหนึ่งวิธี ที่จะอนุรักษ์รากเหง้าของตัวเองไว้ให้คงอยู่ถึงรุ่นต่อๆ ไป

สไบมอญ

มอญไทรน้อยมาจากไหน

ที่มาที่ไปของชาวมอญในอยุธยาต้องย้อนกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา ความที่เป็นเมืองท่าสำคัญในระดับนานาชาติ มีการติดต่อกับประเทศต่างๆ ทางทะเล ทำให้มีกลุ่มต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นชาวฝรั่งเศส โปรตุเกส ฮอลันดา สเปน ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยเฉพาะกลุ่มชาวลาว เมียนมา และมอญ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรชาวสยาม

พี่แดงลงลึกไปอีกว่า ชาวมอญไทรน้อยน่าจะเป็นกลุ่มที่อพยพมาจากกรุงหงสาวดีตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องจากในสมัยพระเจ้านันทบุเรง หงสาทำสงครามพ่ายแพ้ต่อกองทัพพระนเรศวรหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ทรงดำเนินมาตรการกระชับอำนาจ และทรงใช้อำนาจกดขี่ชาวมอญอย่างหนักจนทำให้ชาวมอญจำนวนมากหลบหนีมาพึ่งบารมีกษัตริย์แห่งอยุธยา

นับเป็นเวลากว่า 4 ศตวรรษที่ชาวมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และยังคงมีประเพณีวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งแม้บางเรื่องอย่างภาษาพูดและภาษาเขียนกำลังหล่นหายไปตามกาลเวลา แต่เรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญายังคงฝังแน่นอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน

เข้าครัวมอญ

“เพราะบ้านเราไม่มีทะเล ไม่มีภูเขา ไม่มีน้ำตก เรามีแต่วิถีชีวิตคนมอญ วิถีเกษตรกรรมของคนภาคกลาง และเสน่ห์ของความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เราเลยนำเสนอความเป็นตัวเองให้คนอื่นมาเรียนรู้” พี่แดงพูดถูกต้องทุกประการ เพราะตอนนี้เริ่มอยากรู้อยากเห็นแล้วว่า วิถีแบบมอญเมืองเก่านั้นเป็นอย่างไร

ไม่ทันขาดคำ จานหมี่กรอบสูตรโบราณกลิ่นหอมโชยก็ถูกยกมา พร้อมจานขนมไทยตระกูลทอง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก ก็ถูกวางไว้ให้ชิม พี่แดงเล่าว่า ตั้งใจนำเสนอขนมไทยเพราะต้องการเล่าเรื่องขนมไทยท้าวทองกีบม้า เป็นตัวแทนของยุคสมัยกรุงศรีฯ ส่วนจานหมี่กรอบเป็นอาหารถิ่นที่ชาวบ้านจะมาลงแรงช่วยกันทำในงานบุญ เป็นตัวแทนของความรักความสามัคคีในชุมชน

อาหารมอญ

หากมีนักท่องเที่ยวอยากเรียนทำอาหารหรือขนม เหล่าแม่ๆ จะแต่งตัวทรงเครื่องชุดมอญสีจัดจ้านมาเปิดครัว สอนตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ วิธีการทำ แถมด้วยเคล็ดลับความอร่อย โดยจะมาสาธิตกันที่ศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งก็คือบ้านของพี่แดงที่แบ่งพื้นที่บ้านตัวเองเป็นศูนย์กลาง

ส่วนใครที่พักโฮมสเตย์ด้วยก็จะได้เรียนทำอาหารจากก้นครัวของแต่ละบ้าน โดยเฉพาะเมนูแกงมะขามเทศกับปลาย่าง แกงบอน น้ำพริกมะม่วง และกล้วยบวชชี ที่ถือเป็นจานเด็ดประจำครัวของชาวไทรน้อย

มอญสอนผ้า

อีกอย่างที่พี่แดงไม่ต้องนำเสนอ ก็เชื่อว่าทุกคนต้องถามถึงคือ เสื้อผ้าที่พี่แดงและแม่ๆ สวมใส่ โดดเด่นมาแต่ไกลกับสีสันแสบตาของผ้าถุงสีบานเย็น เขียว เหลือง แสด แดง ฟ้า ม่วง โดยเฉพาะชิ้นที่สะดุดตาเป็นพิเศษอย่าง ‘สไบ’ ที่มีลวดลายสวยงามจนอดยื่นหน้าไปมองใกล้ๆ ไม่ได้ พี่แดงบอกว่า สไบที่เห็นไม่ได้ซื้อแบบสำเร็จรูปมาจากไหน ซื้อมาก็แต่ผ้า เข็ม ด้าย

ผู้หญิงมอญต้องปักผ้าเป็น

ส่วนเจ้าลวดลายบนสไบเกิดขึ้นจากฝีมือของผู้สวมใส่ ซึ่งเป็นการแสดงถึงคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของหญิงชาวมอญที่ว่า ‘ต้องปักผ้าเป็น’

 

การปักผ้าแบบมอญ

หนึ่งในกลุ่มแม่ๆ เล่าให้ฟังว่า ผู้หญิงมอญจะสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าถุงหลากสี และห่มผ้าสไบ ลักษณะการห่มสไบจะมี 2 แบบ คือ พาดสไบบนไหล่ซ้ายเมื่อเข้าวัด และใช้สไบคล้องคอแล้วปล่อยชายสไบทั้งสองข้างลงมาด้านหน้า เมื่อไปร่วมกิจกรรมนอกวัด ส่วนลวดลายบนสไบจะเป็นลายธรรมชาติ เช่น ลายดอกมะเขือ ลายดาวล้อมเดือน ลายดอกไม้ และลายหงส์ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ โดยจะปักไว้ริมขอบผ้าสไบเพื่อโชว์ความประณีต

ผู้หญิงมอญต้องปักผ้าเป็น

แน่นอนว่า นักท่องเที่ยวสามารถแปลงร่างเป็นหญิงมอญเต็มตัวได้ ด้วยการใส่ชุดมอญสีสวย นั่งพับเพียบเรียนปักผ้าสไบมอญกับแม่ๆ (มีปักลายผ้าเช็ดหน้า หรือปักลายบนหน้ากากผ้าให้เลือกด้วย) ระหว่างปักก็ชวนแม่ๆ คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้ไปเรื่อย นับเป็นอีกกิจกรรมที่ได้ลงมือทำจริง ได้ใกล้ชิดชาวบ้าน และได้เรียนรู้ชุมชนแบบเพลินๆ

ทัวร์เมืองมอญ

นอกจากวิชาอาหารถิ่นและเครื่องแต่งกาย พี่แดงยังแนะนำให้ปั่นจักรยานทัวร์หมู่บ้าน พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่าลองไปสอดส่องดูนะว่าบ้านไทรน้อยหน้าตาเป็นยังไง

บ้านอิฐมอญ

อย่างบ้านคุณตาทำอิฐมอญที่แทบไม่เหลือแล้วในไทรน้อย อิฐมอญมีความหมายตรงตัวตามนั้น นับตั้งแต่ชาวมอญย้ายถิ่นฐานเข้ามาได้พกภูมิปัญญาทำอิฐติดตัวมาด้วย เมื่อเข้ามาตั้งรกรากใหม่จึงทำอิฐสร้างบ้าน ต่อมาจึงยึดเป็นอาชีพทำอิฐขายและเรียกว่า อิฐมอญ หลังจากฟังเรื่องเล่า คุณตายังใจดีชวนเก็บอิฐที่ตากแดดมาทั้งวัน แถมด้วยสอนการเรียงอิฐในเตาเผาด้วยเทคนิคพิเศษ และยังไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบราวกับเป็นลูกหลานมาเยี่ยมเยียน

วิธีเรียงอิฐมอญแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม

วิธีการเรียงอิฐมอญแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม

นอกจากนี้ ในชุมชนยังได้เห็นบรรยากาศของนาข้าว สวนกล้วยนานาชนิด ทั้งกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ (เป็นเหตุว่าทำไมกล้วยบวชชีจึงเป็นเมนูของหวานติดบ้าน) รวมไปถึงไร่ข้าวโพด และแปลงผักสวนครัวที่แต่ละบ้านมักปันพื้นที่ไว้ปลูกบริโภคในครัวเรือน

หากถามว่าหน้าตาของบ้านไทรน้อยเป็นยังไง ให้นึกถึงความเขียวร่มรื่น สังคมเกษตร บ้านเรือนไทย สงบ เรียบง่าย และให้ความรู้สึกอบอุ่นคุ้นเคยเหมือนได้กลับบ้านนอกของตัวเอง หรือหน้าตาของ ‘ความสุข’ อาจเป็นประมาณนี้ก็ได้

Note to know

  • หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย มีโฮมสเตย์ให้พัก คนละ 800 บาท รวมอาหารเย็นและอาหารเช้า
  • ชุมชนสามารถรองรับนักเดินทางแบบหมู่คณะได้ถึง 200 คน
  • นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักโฮมสเตย์ หรือทำกิจกรรมชุมชน จำเป็นต้องติดต่อล่วงหน้า
    ติดต่อ พี่แดง ประธานหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย
    โทร. 09-8156-6192
    เฟซบุ๊ก : ศูนย์การเรียนรู้ โฮมสเตย์ไทรน้อย
Tags: