About
BALANCE

The Sand Journey

หลิว – เกวลิน ผู้เดินทางตามหา ‘จุกอุดรูในใจ’ กับการค้นพบโลก ‘การเล่นในถาดทราย’

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 15-01-2024 | View 2819
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับหลิว – เกวลิน ศักดิ์สยามกุล กระบวนกรอิสระที่ครั้งหนึ่งวิถีทุนนิยมทำให้เธอกลายเป็นโรคซึมเศร้า หลังตามหาแนวทางบำบัดและทดลองมาหลายรูปแบบ สุดท้ายคลิกกับ ‘การเล่นในถาดทราย’ (Sand Tray) ปัจจุบันเปลี่ยนบทบาทจากคนเล่นมาเป็นผู้นำกระบวนการเล่น

เส้นทางการเติบโตในหน้าที่การงานตาม Career Path พา หลิว – เกวลิน ศักดิ์สยามกุล วัย 26 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งได้ทำงานด้านการตลาด แม้เป็นงานที่ไกลจากการวาดรูปที่ตัวเองชอบมาตั้งแต่เด็ก แต่ในวันที่เงินเดือนแตะหลักแสน มีคนนับหน้าถือตา ได้โอกาสเรียนรู้งานจากผู้บริหารระดับท็อปๆ ไม่แปลกอะไรที่หลิวจะหลงใหลในความสำเร็จอยู่ช่วงหนึ่ง เข้าทำนอง อายุน้อย เงินเดือนเยอะ ชีวิตดี มีแฟน ทุกอย่างช่างสมบูรณ์แบบ

“แต่ไม่เคยรู้สึกว่าเรามีชีวิตเลย” ประโยคปิดบทคัดย่อชีวิตช่วงหนึ่งของหลิวกระแทกใจคนฟังอย่างจัง

หลิวคนเดิมอัพเดตชีวิตปัจจุบันในวัย 33 ว่า “แต่ชีวิตที่ใช้อยู่ ณ วันนี้ เป็นชีวิตที่หลิวเชื่อว่าหลายคนอยากมี เพราะหลิวได้ทำสิ่งที่อยากทำ แล้วก็แฮปปี้กับมันทุกวัน”

เกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างเหตุการณ์สองช่วงเวลานั้นที่ทำให้สถานการณ์ต่างกันราวฟ้าเหว และเปลี่ยนหลิวไปเป็นคนละคน

ถาดทราย

Wake-up Call

“วันนั้นหลิวไม่สบาย ทำงานหนัก ป่วยจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลตอนตีห้า แต่ต้องออกมาเข้าประชุมตอน 7 โมงเช้า เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่”

นั่นคือเหตุการณ์ที่ทำให้เธอฉุกคิดและทบทวนสิ่งที่ทำอยู่ แต่ในทางปฏิบัติ หลิวยังทำงานแบบเดิมต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น กระทั่งร่างกายส่งสัญญาณเตือนอีกครั้ง ผ่านความรู้สึกเหนื่อย ไม่อยากไปทำงาน สิ่งที่เคยชอบเคยสนุกก็ไม่อยากทำ แต่ที่หนักและน่าเป็นห่วงคือหลิวรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองและสิ่งมีชีวิตรอบข้าง และควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จึงปรึกษาครอบครัวแล้วตัดสินใจไปพบแพทย์ หลังจากนั้นหลิวต้องกินยาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าที่กัดกร่อนจิตใจเธอ โดยที่ภายนอกหลิวยังทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ออฟฟิศหรือในสภาพแวดล้อมที่เธอต้องรักษาบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง หลิวจะจมอยู่กับอีกอารมณ์หนึ่งไปเลย หลิวยอมรับว่าเธอคงไม่สามารถใช้ชีวิตแบบนั้นไปตลอดได้ จึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อไปตามหารูปแบบชีวิตที่อยากใช้

“หลิวไปเรียนต่อปริญญาโทใบแรกที่สวีเดน เรียนด้านการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน Leadership and Organization for Sustainability ที่มหาวิทยาลัย Malmo ตอนนั้นคิดว่าธุรกิจในระบบทุนนิยมเป็นพิษกับทั้งผู้คนและธรรมชาติ มีแต่จะเรียกร้องให้เราตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก มองข้ามตัวตนที่แท้จริงของตัวเองอยู่ตลอดเวลา จึงอยากมองหาวิธีอื่นในการทำธุรกิจ และใช้ชีวิตที่เป็นมิตรทั้งกับตัวเองและโลก”

ตลอดปีกว่าที่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบและเคร่งเครียดเหมือนอยู่เมืองไทย ประกอบกับเป็นช่วงที่หลิวหยุดยาโรคซึมเศร้าแล้ว เธอรู้สึกว่าความคิดของตัวเองมีคุณภาพมากขึ้น และเป็นครั้งแรกที่หลิวสนใจศึกษาเรื่องการฟื้นตัวจากการป่วยด้วยโรคทางสุขภาพจิตอย่างจริงจัง

แม้การอยู่สวีเดนจะทำให้คุณภาพชีวิตหลิวดีขึ้นมาก และเป็นชีวิตในแบบที่หลิวอยากมี แต่สุดท้ายก็ถึงกำหนดที่ต้องกลับเมืองไทย

“พอกลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ แม้จะมีทุกอย่างในชีวิต เงินงานที่ดี สเตตัสที่โอเค เพราะกลับมาทำคอนซัลต์ด้านความยั่งยืนและเป็นอาจารย์สอนการออกแบบเพื่อความยั่งยืนในมหาวิทยาลัย แม้จะไม่ได้เศร้าหรือเครียดมากอย่างแต่ก่อน เพราะรู้ทันอารมณ์ตัวเองมากขึ้น แต่รู้สึกเหมือนในใจมันมีรูโหว่ คล้ายมีบางอย่างยังไม่ถูกเติมเต็ม”

ถาดทราย

เริ่มออกเดินทางสำรวจใจผ่านเครื่องมือหลากหลาย

คราวก่อนหลิวเลือกเดินทางไปสวีเดนเพื่อตามหารูปแบบการใช้ชีวิตที่ใช่ แต่ครั้งนี้เธอเลือกวิธีใหม่ ลองมาเดินทางภายในเพื่อสำรวจจิตใจตัวเอง หลิวลองพาตัวเองไปพบ “ผู้ช่วยในการเดินทางสำรวจจิตใจตัวเอง” มาหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจิต (Mental Health Practitioner) นักศิลปะบำบัด (Art Therapist) นักจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychologist / Counselor) แต่ละคนก็มีวิธีการแตกต่างกันและมีเครื่องมือ (Modalities) ที่ใช้สื่อสารกับผู้ที่เข้ารับการบำบัดที่แตกต่างกันออกไป

หลังจากออกทริปเซอร์เวย์จิตใจตัวเองไปสักระยะหนึ่ง หลิวจึงตกผลึกถึงปัจจัยที่จะมาเติมเต็มความรู้สึกของตัวเองให้ได้ ด้วยการวิเคราะห์หาสิ่งที่สนใจ ชื่นชอบ และมีความสุขที่จะทำ หลิวพบคำตอบแรกที่ชัดเจนว่าตัวเองยังคงชอบวาดรูป ที่อยู่กับเธอมาตั้งแต่เล็ก เธอชอบเล่าเรื่องผ่านศิลปะ ชอบการสื่อสารที่มีกลยุทธ์ ตรงประเด็น ชัดเจน และโน้มน้าวคนได้ ซึ่งเป็นทักษะจากการทำงานด้านการตลาด

ช่วงชีวิตที่สวีเดนและการทำงานด้านความยั่งยืนก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ประกอบสร้างตัวตนให้หลิว ทั้งความเชื่อว่ามนุษย์รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีค่าต่อระบบนิเวศเท่าเทียมกัน เราต่างเชื่อมโยงกันทั้งภายในและภายนอก ทั้งในมิติของเวลา อดีต ปัจจุบัน และอนาคต และมิติของบุคคลกับสังคมที่ใหญ่กว่า และการตระหนักถึงผลกระทบของความเชื่อมโยงนี้นำหลิวมาสู่ประเด็นความสนใจล่าสุดคือเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งหลิวมีประสบการณ์ตรงจากการเป็นอดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

เมื่อได้คำตอบ 4 องค์ประกอบ ชอบวาดรูป ชอบสื่อสาร สนใจด้านความยั่งยืน และการดูแลจิตใจ หลิวพยายามมองหาว่ามีอาชีพไหนบ้างที่ทำให้เธอได้ใช้หรือบริหารจัดการความชอบและความสนใจของตัวเอง เพราะอยากเติมเต็มความรู้สึกตัวเอง อยากอุดรูโหว่ในใจนั้น ที่สำคัญหลิวอยากเข้าใจตัวเองให้มากขึ้น และเครื่องมือที่หลิวเลือกศึกษาเพื่อจะบูรณาการองค์ประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันก็คือ “การเล่นในถาดทราย”

“หลิวลองสารพัดเวิร์กช้อป สารพันเครื่องมือ เพื่อสำรวจว่าแต่ละเครื่องมือทำงานยังไง นักบำบัดมีสไตล์ไหนบ้าง สำรวจไปถึงแนว Spiritual การนั่งสมาธิ การวางแผนการตายโน่นเลย สุดท้ายมาตกหลุมรักการเล่นในถาดทราย เพราะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ได้หมดเลย”

ถาดทราย

โลกของถาดทราย…ทุกอย่างเป็นไปได้

เราถามหลิวถึงความรู้สึกที่ได้ลองเล่นถาดทรายครั้งแรกว่าเธอตั้งโจทย์อะไรไว้ และทำไมถึงโดนถาดทรายตกได้ง่ายๆ ทั้งที่ได้ไปลองมาหลายเวิร์กช้อป เจอมาหลายเครื่องมือแล้ว

“อย่างแรกคงเป็นเพราะเครื่องมือของถาดทรายคือ Figurines หรือตุ๊กตาจิ๋ว ของเล่น ตัวการ์ตูนต่างๆ ความที่เป็นคนชอบอนิเมะ อ่านการ์ตูนอยู่แล้ว เห็นปุ๊บก็รู้จักเลยว่าตัวไหนเป็นตัวไหน ชื่ออะไร จากเรื่องไหน เรียกว่าตอบโจทย์ความบ้าคลั่งการ์ตูนของเรา เลยทำให้เปิดใจตั้งแต่แรก

ส่วนทรายก็ให้ความรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญการเล่นถาดทรายสามารถนำกลับมาเล่นใหม่ได้อีก ต่างจากงานศิลปะอื่นๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นขยะได้ อันนี้ก็ตอบปัจจัยด้านความยั่งยืนที่เราให้ความสำคัญ เพราะยังคงเชื่อว่า มนุษย์จะเติบโตทั้งภายในและภายนอกได้ จำเป็นต้องพึ่งพิงธรรมชาติ เราจึงไม่ควรเลือกเส้นทางการพัฒนาที่เบียดเบียนโลก ในแง่มุมการพัฒนาจิตใจก็เช่นกัน

ถาดทราย

“ส่วนการสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์ที่เป็นทักษะติดตัวมา สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการเยียวยาได้ ในแง่ของการสร้างเรื่องเล่า (Narrative) หลังจากการเล่นหรือจัดถาดทรายเสร็จแล้ว เมื่อเราได้มีโอกาสเล่าถึงผลงาน นั่นคือช่วงเวลาที่จิตใจเราได้สร้างความหมายขึ้นมา เป็นการเชื่อมโยงระหว่างจิตใต้สำนึกที่ทำงานขณะที่เรากำลังเล่น และจิตสำนึกที่เราใช้เล่าเรื่อง

“หลิวสัมผัสได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของเล่นในถาดทราย ช่วยให้เราค้นพบหรือให้ความหมายใหม่กับเรื่องราว เหตุการณ์ หรือผู้คนในถาดทรายของเรา ทุกอย่างของความเป็นถาดทรายตอบโจทย์ทุกองค์ประกอบความชอบและความสนใจของหลิว เลยปักใจว่านี่คือหนึ่งในเครื่องมือหลักที่อยากใช้”

แล้วถาดทรายช่วยอุดรูโหว่ในใจหลิวได้อย่างไร เป็นคำถามที่เราอยากรู้

“เพราะการเล่นเป็นกระบวนการนำเรื่องราวในจิตใต้สำนึกออกมา บางเรื่องเราลืมไปแล้ว บางเรื่องเราไม่คิดว่าสำคัญ แต่พอได้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในถาดทราย เลยได้เห็นรูโหว่ในตัวเองที่ไม่เคยรู้ตัวว่ามีมาตลอดชีวิต การรับรู้มันเจ็บ (หัวเราะ) จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเจ็บอยู่บ้าง และเราอาจต้องอยู่กับความรู้สึกเจ็บๆ คันๆ จากปมที่เกิดในวัยเด็กไปตลอดก็ได้ แต่การรับรู้ก็มอบพลังให้เราสามารถตั้งสติ เลือกให้ความหมายใหม่ เลือกรู้สึกกับเหตุการณ์เดิมในมุมมองใหม่ และไม่ปล่อยให้ปมนำทางชีวิตเรา

“สิ่งที่ดีมากๆ คือทำให้ยอมรับว่า เราไม่มีทางจะเพอร์เฟ็กต์ สวยงาม 100% เช่นเดียวกับทุกคน”

ถาดทราย

เครดิตภาพ : FB : Museum of Mind BKK

จากผู้เล่นมาเป็นคนชวนเล่น

หลังจากคลิกกับการเล่นในถาดทราย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือการทำ Expressive Arts Therapy หลิวตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำเพื่อทุ่มเทให้กับการศึกษาด้านศิลปะบำบัดแบบเต็มเวลาในระดับปริญญาโท Expressive Arts Therapy คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระหว่างที่เรียนหลิวยังเป็นผู้ช่วยจัดกระบวนการถาดทรายแบบกลุ่ม และได้ลองนำกระบวนการเดี่ยวในการเล่นถาดทรายเองด้วย

ทั้งนี้ หลิวย้ำและแจ้งล่วงหน้าสำหรับเวิร์กช้อปที่เธอจัดว่า ไม่ได้ทำเพื่อการบำบัด เพราะเธอจะไม่มีการตีความการจัดถาดทราย แต่จะถามคำถามผู้เล่นในระดับที่เขารู้ตัว หากเกิดความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างขึ้นมาในความรับรู้ของผู้เล่นจากการถามคำถามกันไปมา ก็เป็นประโยชน์ของทั้งคู่ แต่จะเน้นการสร้างความตระหนักรู้ต่อตัวเอง โดยแบ่งกระบวนการเล่นออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ชวนเล่น ชวนเล่า และชวนสะท้อน

ถาดทราย

ว่าแต่กระบวนการเหล่านี้มีขั้นตอนอย่างไร หลิวขยายความในแต่ละช่วงให้ฟัง

“ช่วงชวนเล่น เราอาจเริ่มจากหยิบของเล่นมาสักชิ้นที่เล่าถึงตัวเองได้ เมื่อฟังเรื่องเล่าแล้ว จะพอรู้บางแง่มุมในวิธีการคิดของเขา จากนั้นจะปล่อยให้ได้เล่นถาดทรายอย่างอิสระ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดปริมาณทราย ไม่จำกัดของเล่นที่ใช้ จะเป็น Figurines หรือของอื่นๆ ที่เตรียมไว้ให้ จะเป็นของติดตัวอย่างแหวน ของติดกระเป๋า เช่น ภาพถ่ายในกระเป๋าตังค์ หรือเป็นวัสดุธรรมชาติ ใบไม้ ดอกไม้ หิน กรวดได้หมด จะเป็นของอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นสิ่งที่มีความหมายหรือเชื่อมโยงกับเขา สัญลักษณ์คือสิ่งที่ตาเห็น แต่ความหมายมาจากสมอง ความทรงจำ ประสบการณ์ มันถึงออกมาเป็นโลกภายในของเขา มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย เพราะทั้งหมดคือสิ่งที่เขาเลือก”

ถาดทราย

หลิวยังอธิบายต่ออีกว่า ในทางจิตวิทยาพัฒนาการ การเล่นคือกระบวนการเข้าถึงพื้นที่ในจิตใจที่เรียกว่า Transitional Space “ในทางทฤษฎีจะมีพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่างโลกความจริงกับโลกสมมติ พื้นที่ตรงนี้ชื่อ Transitional Space ในพื้นที่นี้เราจะเหยียบขาข้างหนึ่งในจินตนาการ อีกขาก็เหยียบโลกความจริงไว้ ตอนเราเด็กๆ อาจจะได้จับของเล่น ลงกระบะทราย เล่นในสนามหญ้า ซึ่งช่วยให้เราทานทนต่อความเป็นจริงได้มากขึ้น หรือแม้แต่ชวนให้เราได้เข้าใจความรู้สึกตัวเองต่อชีวิตโดยไม่รู้ตัว แต่พอเราโตขึ้น พื้นที่นั้นก็หายไป”

ขณะที่เรากำลังคิดตามคำอธิบายของหลิว เธอก็ถามกลับมาว่า “จำได้ไหมว่า ครั้งสุดท้ายที่เล่นโดยไม่มีวัตถุประสงค์คือเมื่อไหร่ ถาดทรายจะพาเราย้อนกลับไปในพื้นที่นั้น เพื่อให้ได้ปล่อยความเป็นเด็กในตัวเองออกมา หลิวพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้เล่นรู้สึกปลอดภัย เพื่อให้รู้สึกรีแลกซ์ระหว่างเล่น เป็นโซนอิสระเต็มที่ที่สามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่มีใครมาตัดสิน เป็นการปล่อยให้ตัวเองได้เชื่อมโยงกับความต้องการในใจว่าอยากจะทำอะไร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีไม่มากนักในโลกความจริง”

ถาดทราย

เรื่องเล่าจาก Figurines สู่การเข้าใจตัวเอง

หลายคนอาจยังสงสัยและอยากรู้เหมือนเราว่า แล้วการเล่นถาดทรายทำให้รู้เกี่ยวกับตัวเองได้ยังไง หลิวพยักหน้ารับโจทย์นี้และยิ้มอย่างเข้าใจ แล้วอธิบายว่า

“หลังชวนเล่นเป็นช่วงชวนเล่า ให้เล่าถึงถาดทรายที่จัดไป จะเป็นเรื่องจริง เรื่องแต่ง สั้นยาวได้หมด ซึ่งหลิวจะสังเกตและตั้งคำถามจากพฤติกรรมการเล่นว่า คนนั้นมีปฏิกิริยากับสิ่งของที่ใช้และกับคนอื่นยังไง วิธีการเล่าเรื่องของเขา มีความคิด อารมณ์ ความรู้สึกอะไรซ้อนอยู่ในนั้นไหม เล่าด้วยท่าทางอย่างไร น้ำเสียงที่ใช้ เพราะทุกอย่างที่แสดงออกมาจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่จัดลงในถาดทราย

ถาดทราย

“ถาดทรายจะบอกว่า ตอนเราหยิบสิ่งนี้ เพราะคิดอย่างนี้ ไม่คิดแบบนั้นจริงเหรอ ถ้าไม่คิดแบบนั้นแล้วเป็นแบบไหนเหรอ วิธีการถามของหลิวจะเป็นความสงสัยด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อเป็นกระจกให้เขาได้สะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจออกมาให้เห็นตัวเองชัดเจนขึ้น โดยตุ๊กตาแต่ละตัวล้วนมีความหมายและพูดแทนสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ข้างในที่ช่วยเชื่อมโยงความคิด ความรู้สึก ความคาดหวัง ความต้องการที่อยู่ในใจเรา หรือเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่ฝังในใจ”

ถาดทราย

“เมื่อก่อนตอนเล่นเองเหมือนเราทำงานกับตัวเอง เล่นเสร็จต้องนำประเด็นที่ได้ไปเวิร์กต่อในชีวิตจริง บางครั้งอาจได้โซลูชั่นบางอย่าง แต่พอได้ชวนคนอื่นเล่น เป็นความรู้สึกที่ได้รับการเติมเต็มอย่างบอกไม่ถูก เป็นความรู้สึกเหมือนตอนหลิวเป็นอาจารย์ การได้เห็นใครสักคนได้เรียนรู้และเติบโต เขาไม่ต้องโตแล้วเป็นแบบหลิว ไม่ต้องรู้เรื่องเดียวกับหลิว หรือทำแบบเดียวกับหลิว ขอแค่เขาได้เห็นว่า ข้างในเขามีรูนี้อยู่นะ วันนี้ได้อุดรูนั้นแล้วนะ แม้พรุ่งนี้จุกอาจจะหลุดอีกก็ได้ ไม่เป็นไร แค่ได้รู้ว่ามีรูนี้ อันนี้เติมเต็มความรู้สึกหลิวมาก เพราะหลิวได้เจอจุกที่ใช้อุดรูโหว่ในใจตัวเองแล้ว ทำให้รู้สึกว่าการได้ซัพพอร์ตให้คนอื่น ได้ค้นหารูโหว่ของตัวเองให้เจอ แล้วหาทางหาวิธีอุดให้ได้ นี่คือความจอยของหลิว”

“ช่วงปีนิดๆ หลิวนำกระบวนการเล่นทั้งเดี่ยวทั้งกลุ่มมากว่า 220 ชั่วโมง แต่ก็ยังฝึกฝนอยู่เสมอ จำนวนชั่วโมงที่มากขึ้น ช่วยให้หลิวกังวลน้อยลง เพราะเริ่มวางความคาดหวังที่มีต่อตัวเองลงแล้ว เราอาจดูแลทุกคนอย่างสมบูรณ์แบบไม่ได้ ช่วงแรกที่ทำจะมีความคาดหวังว่า กังวลว่าเราเก่งพอหรือยัง แต่สุดท้ายอยู่ที่ผู้เล่น ซึ่งเป็นคนนำพาเรื่องราวนั้นมา และอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างเราว่าอยู่ในจุดที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขามากพอแล้วหรือยัง”

ถาดทราย

หลังพบรูโหว่ในใจและเจอจุกอุดรูแล้ว ชีวิตเป็นยังไงบ้าง เป็นคำถามสุดท้ายที่เราอยากรู้ก่อนจบบทสนทนาครั้งนี้

“ก็ยังมีวันเฮงซวยเหมือนเดิม (หัวเราะ) ยังมีวันที่เศร้าเหลือเกิน แต่จุดที่ต่างไปก็คือ โอเคเศร้า เศร้าเพราะอะไร สาเหตุที่เศร้านี่เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่อยู่ในหัว ถ้าเป็นเรื่องจริง เราทำอะไรได้บ้าง แล้วโฟกัสเฉพาะสิ่งที่เราทำได้ ซึ่งโปรเซสนี้ไม่เคยมีก่อนที่จะทำงานกับตัวเอง หรือตระหนักรู้กับตัวเอง แต่หลิวก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่องนะ”

ถาดทราย

“ไม่เคยถามคนรอบข้างเหมือนกันว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงของหลิวไหม แต่คิดว่าเขาน่าจะรำคาญเราน้อยลงนะ (หัวเราะ) และเขาน่าจะยินดีกับชีวิตหลิวมากขึ้น เพราะไม่ได้เห็นเราบ่นแต่เรื่องหนักๆ ในโซเชียลมีเดียอีกแล้ว หลิวได้ออกไปทำสิ่งที่อยากทำทุกวัน ต้องบอกว่า ชีวิตที่ใช้อยู่ ณ วันนี้ เป็นชีวิตที่หลิวเชื่อว่าหลายคนอยากมี เพราะหลิวได้ทำสิ่งที่อยากทำ แล้วก็แฮปปี้กับมัน”

ไปทำความรู้จักโลกในถาดทรายสไตล์หลิวมากขึ้น
FB : Museum of Mind BKK
Tel. 094-441-4622

Tags: