About
RESOUND

สรรสรางค์

ณัฐชยา สุขแก้ว กับ ‘สรรสรางค์’ ห้องแนะแนวที่เติมการใช้ชีวิตมีศิลปะของชาวนครศรีฯ

เรื่อง สุธาสินี สุทธะโส ภาพ Annetology Date 05-11-2023 | View 2937
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ ต๊ะ – ณัฐชยา สุขแก้ว ถึงเรื่องราววัยเด็กที่ต้องพึ่งพาตัวเองปราศจากความช่วยเหลือ สู่การเปิด ‘Sansarang Gallery’ หรือ ‘สรรสรางค์ แกลเลอรี’ พื้นที่แนะแนวเน้นเรื่องสุขภาพจิต ศิลปะ และเวิร์กช้อปเรื่องๆใหม่ๆ โดยอิงจากความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อหวังจะเป็นสเปซสร้างสรรค์และพื้นที่ปลอดภัยให้คนนครศรีฯ ได้แชร์เรื่องราวและความคิดร่วมกัน

‘สรรสรางค์ แกลเลอรี่’ ถ้าตัดสินกันแค่ด้านหน้า เราคงนึกว่าเป็นแกลเลอรีแปลกใหม่ของนครศรีธรรมราชที่มีห้องสมุด ห้องฉายหนัง และเวิร์กช้อปศิลปะให้หย่อนก้นนั่งเพลินๆ แต่ถ้าเดินครบทั้ง 3 ชั้น ก็จะรู้ว่าที่นี่ไม่ใช่แค่พื้นที่สร้างสรรค์ แต่หัวใจหลักคือเป็นสเปซฟูมฟักสุขภาพจิตใจ และคอยเสิร์ฟสารพันความรู้นอกห้องเรียนให้คนในพื้นที่ได้ค้นหาตัวตนและปลดปล่อยสารพัดอารมณ์

ถ้าวัยเด็กเราขาดอะไร โตขึ้นเราจะพยายามเติมเต็มสิ่งนั้นกับตนเองและกับผู้อื่น นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดบ้านเกิดของ ต๊ะ - ณัฐชยา สุขแก้ว ซึ่งครั้งหนึ่งยิ่งอยู่ยิ่งรู้สึกแปลกแยก เธอกลับมาที่นี่อีกครั้งในรอบ 10 ปีเพื่อทริปเที่ยวเปลี่ยนมุมมองชีวิต ทำให้ต๊ะสร้างสเปซแห่งนี้ขึ้นมาโดยมีภาพชีวิตวัยเด็กของเธอเป็นแรงผลักดัน

สรรสรางค์

ต๊ะ – ณัฐชยา สุขแก้ว

เป้าหมายที่ (ไร้) ฝัน
ทดแทนสิ่งที่เคยขาด

เราสองคนเดินมาหยุดอยู่ที่ห้องสมุดห้องหนึ่งบนชั้น 2 ของสรรสรางค์ และเรื่องราวของต๊ะก็เริ่มต้นขึ้น ครอบครัวต๊ะมีปัญหาทางการเงิน เธอจึงต้องอาศัยความถนัดทางด้านภาษาอังกฤษรับสอนพิเศษเลี้ยงดูตนเองมาตั้งแต่เด็ก และด้วยชีวิตขาดทุนทรัพย์และปัจจัย 4 ต๊ะต้องขออาศัยนอนบ้านคนอื่นอยู่บ่อยครั้ง ที่นอนเลยมีบทบาทแค่ที่ซุกหัวนอน เพราะเธอไม่เคยรู้สึกปลอดภัยเลยแม้แต่น้อย

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือแต่ไม่กล้าขอใคร แม้ในวันที่มีปัญหามากๆ ก็ตาม มันจะมีโซ่กับตัวเองว่า เฮ้ย เราไม่ได้มีเงินเหมือนคนอื่น เรารู้สึกขาดอยู่ตลอด ทำให้รู้สึกด้อยกว่าคนอื่น”

สรรสรางค์

ช่วงที่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ได้พบกลุ่มเพื่อนที่มาจากหลากหลายสังคม ทำให้ต๊ะกล้าที่จะเล่าเรื่องราวของตนเองออกไป แต่ทุกครั้งที่เล่า เธอกลับไม่เคยร้องไห้จนเข้าขั้นไม่มีความรู้สึกกับความลำบากของตนเองเลย “นักจิตวิทยาบอกเราเลยว่า เนี่ย คุณยังไม่หายดี ชีวิตคุณมันหนักมากเลยนะ เราก็เออว่ะ ที่ไม่รู้สึกอะไรเพราะที่ผ่านมาเราต้องกดความรู้สึกเยอะมากๆ เพื่อที่จะต้องไปโรงเรียนและไปทำงาน”

นี่ไม่ใช่ปัญหาข้อแรกที่ทำให้ต๊ะเริ่มที่จะรับรู้สภาวะอารมณ์อีกด้านในตัว อีกข้อที่ตามมาคือ ต๊ะในวัยทำงาน IT ดิ้นรนกับอาชีพเพื่อเป้าหมายสำคัญคือ ต้องเก็บเงินซื้อคอนโดทดแทน ‘บ้าน’ ที่หายไปในวัยเด็ก “พอซื้อแล้ว เอาของเข้าคอนโดก็แล้ว เราก็ได้แต่ถามตนเอง เรามีงานที่ดี มีเงินเดือนที่ดี แล้วยังไงต่อวะ ตกลงชีวิตเราคืออะไร แค่ทำงานกลับมานอนแล้วก็ผ่อนคอนโดไปเรื่อยๆ แบบนี้เหรอ เราทำงานมาตลอดจนไม่ได้เอ็นจอยกับชีวิตรอบข้าง สกิลการเที่ยวก็ไม่มี นี่มันไม่ใช่ชีวิตที่อยากได้เลย”

สรรสรางค์

เปลี่ยนมุมมองจากสีดำ
ลองมองให้เทาขึ้นนะ

อะไรไม่ได้เงินจะไม่ทำและสิ่งที่ไม่ใช่งานคือสิ่งไร้สาระ นี่คือสิ่งที่ต๊ะเคยคิด ทำให้หลังตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อขอพัก 1 ปีเต็ม ต๊ะก็เอาแต่นอนมองเพดาน เพราะไม่รู้ว่าจะลุกขึ้นมาทำอะไร

“การมองชีวิตเราคิดเป็นขาวดำไปหมด นักจิตบำบัดเลยแนะนำให้ลองมองสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสีดำให้มันเทาขึ้น เช่น ถ้าการนอนติดเตียงคือสีดำ มองให้เทาขึ้นคือลุกมากระโดดตบหรือทำอะไรก็ได้นิดๆ หน่อยๆ ให้มันสว่างขึ้นแล้วจะกลับไปนอนต่อก็ได้ ทำอยู่ 2 วีกจนลุกขึ้นมานั่งได้ เราก็เลยขอลองทำอะไรที่เราเคยคิดว่ามันไร้สาระดูบ้าง” ได้ข่าวว่าดาราที่ชอบจะมาจังหวัดบ้านเกิด จุดนี้ล่ะคือถนนสายแรกของการเปลี่ยนแปลง

ต๊ะกลับนครศรีธรรมราชในรอบกว่า 10 ปี ตั้งหมุดหมายว่านี่คือทริปเที่ยวเพื่อเปลี่ยนสีดำให้เป็นเทา เปลี่ยนความคิดเรื่องไร้สาระเป็นลองทุกอย่างที่ครั้งหนึ่งเด็กหญิงต๊ะไม่เคยได้ทำ “พอใช้เวลาไปกับการทำอะไรสักอย่าง เราเริ่มลดความคิดเห็นที่มีต่อตนเองเชิงที่ว่า สิ่งนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ แต่มันแทนมาด้วยคำว่า เอาสิ ทำไมจะไม่ได้ล่ะ!”

ต๊ะในวันนี้มีพลังสดใสกว่าแต่เก่า ที่แม้เราจะเพิ่งรู้จักเธอก็ยังสัมผัสได้ ต๊ะบอกว่าถ้าไม่ได้เข้ารับการบำบัดก็คงมองไม่เห็นว่า ลึกๆ แล้วสภาพจิตใจของตนเป็นอย่างไร ต๊ะอาจเป็นคนเฮฮาในสายตาคนอื่น แต่อาจเฉยชาต่อภาพอดีตโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้

สรรสรางค์

‘สรรสรางค์’ ห้องแนะแนวของนครศรีธรรมราช

การเข้าบำบัดสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องแปลกและเป็นเรื่องสำคัญที่ในชีวิตนี้ เราควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้พูดคุยเพื่อเรียนรู้ความรู้สึกและทำความเข้าใจตนเองตั้งแต่ยังเด็ก นี่คือสิ่งที่ต๊ะคิดมาตลอด หลังเที่ยวนครฯ ตามหาชีวิตเกือบครบ 1 เดือนเต็ม สาวไฟแรงคนนี้ก็ตกลงเช่าตึกครูคลับ 3 ชั้นแห่งนี้ แล้วนัดสัมภาษณ์เด็กๆ จากสถานศึกษารวมถึงคนวัยทำงานเพื่อเก็บ Insight คนในพื้นที่ หลักๆ เธอพบว่าทุกคนมีความเครียดและไม่มีพื้นที่ให้ปลดปล่อยหรือได้พบปะแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ กับผู้คน อีกทั้งยังมีผู้ปกครองและผู้ใหญ่บางคนมองว่า การเข้ารับการบำบัดเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ผิดปกติ

สรรสรางค์

สรรสรางค์

“สรรสรางค์จึงจะเป็นพื้นที่แนะแนวที่เปลี่ยนธีมทุกเดือนเพื่อที่จะได้เรียกคนเข้ามาได้ตลอด โดยเน้นการรีเสิร์ชความต้องการของคนนครฯ เราจะโฟกัส Mental Health and Healing และมีสเปซให้เข้ามาพักผ่อนได้ มีโซนศิลปะ บอร์ดเกม มีพื้นที่ให้เวิร์กช้อปสกิลใหม่ๆ ทุกๆ เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ รู้จักอาชีพต่างๆ ได้อย่างเท่าทันสังคมปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้คนวัยอื่นๆ ได้เข้ามาพัฒนาทักษะแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกัน”

สรรสรางค์

ว่าด้วยเวิร์กช้อปที่มีทั้งการเงิน การทำธุรกิจ การตลาด และการลงทุน มีสอนทำแบรนด์และคอนเทนต์สายต่างๆ ไปจนถึงคลาสเรียนบาร์เทนเดอร์และอื่นๆ โดยไม่คิดค่าเวิร์กช้อป แถมยังมีห้องพักของศิลปินจัดเตรียมไว้ให้ใครก็ตามที่อยากมาร่วมจัดเวิร์กช้อปหรือมาแชร์เรื่องราวให้คนอื่นก็มาได้เลย

สรรสรางค์

สรรสรางค์

ที่น่าสนใจคือห้องสมุด 4 ห้องชวนเปิดโลกการท่องเที่ยว โลกวรรณกรรม หรือเน้นเรื่องความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียม และห้องสมุดที่ทีมงานสรรสรางค์และนักอ่านอยากแนะนำ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เราร้องอ๋อทันทีว่า ทำไมต๊ะถึงนิยามสรรสรางค์ให้เป็นมากกว่าแค่แกลเลอรี

สรรสรางค์

จากความชอบ
มองให้เป็นธุรกิจของเมืองนครฯ

วันนี้สรรสรางค์เข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว แม้จะเติบโตมาด้วย Passion วัยเด็กของต๊ะ แต่ถ้าอยากให้ที่นี่อยู่ต่อไปได้นานๆ ต๊ะบอกว่า คงถึงเวลาต้องเปลี่ยนความชอบให้กลายเป็นเรื่องธุรกิจ “ตั้งแต่ทำสรรสรางค์เรามีความหวังมากๆ เพราะได้เจอ Support System ในฐานะผู้ประกอบการที่ดี และจากการที่เราได้เที่ยวและพูดคุยกับคนอื่นๆ ก็เห็นเลยว่าคนในพื้นที่ก็อยากจะผลักดันให้นครศรีธรรมราชไปข้างหน้า”

สรรสรางค์

Based on Research และ รับฟีดแบ็กเพื่อปรับแก้อยู่ตลอด เป็นแนวคิดหลักต่อการทำโมเดลธุรกิจของสรรสรางค์ที่เริ่มขยับขยายขึ้นเรื่อยๆ อย่างล่าสุดต๊ะกับเพื่อนของเธอ 2 คนร่วมกันเช่าตึกแถว 3 ชั้นไม่ไกลจากกัน โดยชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายเสื้อผ้ามือสองในชื่อ Hongtel เพื่อสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมและประเด็น Fast Fashion ผ่านการซื้อขายกับคนในพื้นที่และลูกค้าออนไลน์

สรรสรางค์

“ตอนเราเปิดมีคนสนใจอยากเอาของมือสองมาขายด้วย ที่นี่เลยอาจขยับทำเป็นห้างขายของมือสองในอนาคตได้ ถือเป็น Eco System ส่วนหนึ่งของสรรสรางค์เลย เพราะเราอยากทำให้คนอื่นเห็นว่า เราสามารถเอาสิ่งที่มีอยู่มาทำเงินได้ โมเดลธุรกิจของเรา หยิบเอาไปใช้ในพื้นที่อื่นและในจังหวัดอื่นๆ ก็ได้นะ”

สรรสรางค์

คอนเซ็ปต์ในระยะยาวของพื้นที่แนะแนวแห่งนี้ “ถ้าผู้ใหญ่มาเสพอาร์ตที่นี่เรื่อยๆ เราจะรันสรรสรางค์ให้เป็นโรงเรียนเพื่อให้เด็กๆ ได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ในทุกๆ เดือนได้ฟรีๆ เลย”

สรรสรางค์

แม้ว่าการสร้าง Sansarang Gallery สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบที่ต๊ะต้องการ แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดเต็มอิ่มขึ้นมาจริงๆ เธอจะเดินออกมาแล้วให้คนที่รักในสิ่งนี้รับช่วงต่อ เธอพูดด้วยรอยยิ้มก่อนจะเฉลยที่มาของคำว่า ‘สรรสรางค์’ เมื่อเราสองคนเริ่มโบกมือร่ำลากัน

สรรสรางค์

“สรรสรางค์ เป็นชื่อที่เคยคิดจะใช้เป็นนามปากกาถ้าเขียนหนังสือ (ปรับมาจากคำว่าสรรสร้าง ที่หมายถึง ก่อให้เกิด) แต่สุดท้ายเลือกเอามาเป็นชื่อแกลเลอรี่ เพราะมันมีความ feminine ซึ่งเราอยากเพิ่มส่วนนี้ให้กับนครศรีธรรมราช”

Sansarang Gallery
ที่อยู่ : 828 สรรสรางค์แกลเลอรี่ 21 ถ.ศรีปราชญ์ ต.คลัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000
เปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 09.30 – 20.30 น.
โทรศัพท์ : 098-923-6374
Facebook : Sansarang Gallery สรรสรางค์ แกลเลอรี่ และ Instagram : @sansaranggallery

Tags: