About
CRAFTYARD

SARNSARD Says

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • “ทำไมคนไม่ค่อยรู้จักเตยปาหนัน เหมือนงานสานจากวัสดุธรรมชาติชนิดอื่น” ดูท่าว่าความสงสัยที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขาเริ่มหาคำตอบตั้งแต่วันนั้น ‘สานสาด’ จึงเกิดขึ้นจากความสนใจ ความสงสัยใคร่รู้ ควบคู่ไปกับความต้องการจะสืบสานงานหัตถกรรม สร้างความภาคภูมิใจให้ช่างสานในชุมชนกลับมาเห็นคุณค่าในงานจักสานท้องถิ่นอีกครั้ง
  • หลายคนน่าจะจดจำสานสาดได้จาก ลวดลายงานสานที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ความฟิวเจอร์คราฟต์ที่ดูเหมือนงานกราฟฟิกสามมิติ บวกกับสีสันเสริมให้สินค้าดูมีความเก๋และโมเดิร์น พอรวมเข้ากับคาแรคเตอร์เฉพาะตัวของเตยปาหนันยิ่งทำให้งานมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

‘สานสาด’ เกิดจากความตั้งใจของ กุ๊กไก่-มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ และเป็ด-วิศรุต ทวีวรสุวรรณ ที่อยากสืบสานงานหัตถกรรมดั้งเดิมของชุมชน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ช่างสานในชุมชนกลับมาเห็นคุณค่าในงานจักสานท้องถิ่นอีกครั้ง

‘ถ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นและงานฝีมือได้รับการชุบชีวิต ชุมชนก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน’ เธอและเขาไม่ได้เอ่ยขึ้น แต่บทสนทนาระหว่างเราบอกแบบนั้น

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

เตยปาหนัน

ชุมชนมุสลิมเล็กๆ ในจังหวัดตรัง คือสถานที่ที่พบรักเตยปาหนันในครั้งนั้น

เตยปาหนัน หรือเตยทะเล เป็นพืชตระกูลปาล์ม พบมากในภาคใต้ มักขึ้นตามริมชายหาด ชายทะเล ลักษณะใบมีสีเขียว ยาว มีหนามรอบริมขอบใบ คุณสมบัติพิเศษคือ มีความเหนียว เมื่อเอาหนามออกและนำไปลนไฟ เส้นใยจะนุ่ม มีความยืดหยุ่น มันเงา ไม่มีเชื้อรา จึงเหมาะที่จะนำมาทำงานจักสาน

ความเงาเป็นสิ่งแรกที่ชวนสะดุดตา ก่อนจะตามมาด้วยความประทับใจในผิวสัมผัสนุ่มมือ ไม่หยาบกร้าน และน้ำหนักเบา นี่แหละความเจ๋งของเตยปาหนันที่เป็ดพูดถึง เป็นเสน่ห์ที่ลบภาพจำเดิมๆ ว่า งานสานใช้ไปนานวันจะแตก กรอบ ไม่คงทน เพราะเตยปาหนันมีคุณสมบัติที่สวนทางทั้งสิ้น

แต่คำถามคือ ทำไมเตยปาหนันถึงไม่เป็นที่นิยมในพื้นที่…ก็เพราะช่างสานเริ่มวางมือไปหยิบจับอาชีพอื่นเลี้ยงปากท้องน่ะสิ แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น…ก็เพราะเม็ดเงินที่ได้ไม่สามารถส่งเสียเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้มากพอไงล่ะ

ยิ่งย้อนกลับไปหาเหตุผลยิ่งน่าเสียดายหากสองสิ่งนี้จะค่อยๆ เลือนหายไปจากวัฒนธรรม ในมุมของคนที่ชอบทั้งงานคราฟต์และวิถีชุมชนพวกเขาไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ทั้งเป็ดและกุ๊กไก่จึงนำความรู้เรื่องดีไซน์มาพัฒนาชิ้นงานและต่อยอดอาชีพให้กับชุมชุน

แม้จะเห็นภาพความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการรีเสิร์ชข้อมูลและลงพื้นที่อย่างจริงจังร่วมปีกว่า

“เราเริ่มจากการลงไปดูต้นน้ำ ว่าเขาเลือกยังไง เก็บยังไง มีขั้นตอนวิธีการอะไรบ้าง ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ความยากอยู่ที่ตรงไหน” ทั้งสองเข้าไปใช้ชีวิตในพื้นที่คลุกคลีกับผู้คน วัฒนธรรม และทำความรู้จักกับใบไม้ที่ชื่อว่าเตยปาหนันจนสนิทสนม

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

ลายบ้า

จากนั้นพรหมลิขิตก็เริ่มทำงาน…การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ได้เจอกับลายโบราณอย่าง ลายดอกจันทร์ ลายตีนช้าง ลายเกร็ดเต่า “ไม่อยากให้มันหายไป” เป็นสิ่งที่กุ๊กไก่ย้ำกับเรา แม้ลายโบราณจะใช้ระยะเวลาสานนานกว่าลายปกติธรรมดาถึงสามเท่า แต่สานสาดยังคงยืนยันในจุดยืนที่อยากสืบสานลวดลายเหล่านี้เอาไว้

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

“โต๊ะ(ยายในภาษาใต้)เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วมันเรียกว่าลายบ้า เพราะสานแล้วจะเป็นบ้า(หัวเราะ) ด้วยลายค่อนข้างละเอียด เวลาสานแล้วลายตา ยิ่งเมื่อก่อนสานแบบสีเดียวเขาเลยเรียกกันแบบนั้น” ทั้งสองบอกกับเราว่าปัจจุบันขอกลับไปเรียกตามเดิมว่า ‘ลายบ้า’ หรือ ‘MAD WEAVE’

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

แม้จะดูไม่เพราะเหมือนชื่อที่ตั้งขึ้นมาใหม่ แต่หลังจากผ่านอะไรต่ออะไรมามากมาย พวกเขาตัดสินใจแล้วว่าถ้าอยากให้เรื่องราวและเรื่องเล่าถูกส่งต่อจริงๆ ก็ขอเริ่มต้นความจริงด้วยการกลับมาใช้ชื่อนี้อีกครั้ง…นับเป็นปีที่แบรนด์ได้กลับมาทบทวน เรียนรู้ และเติบโตขึ้นอีกขั้น

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

สิ่งที่ช่างสานทุกคนกำลังทำมีคุณค่าอย่างมากในสายตาของเขาและเธอ ทุกชิ้นงานไม่เพียงทำเพื่อแลกรายได้ประทังชีวิต กลับกันมันคือการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญา ทั้งยังสามารถทำเป็นอาชีพหลักเพื่อเลี้ยงชีพได้จริง

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

สานสาด

‘สานสาด’ ความหมายที่แฝงอยู่บอกเจตนารมณ์ของแบรนด์ไว้แล้วอย่างชัดเจน

สาน หมายถึง สืบสาน สาด เป็นภาษาท้องถิ่นใต้ หมายถึง ‘เสื่อ’ ซึ่งเป็นของใช้ในบ้านที่ยึดโยงอยู่กับวัฒนธรรมของคนในชุมชนมุสลิมทั้งในชีวิตประจำวัน วันสำคัญและพิธีกรรมทางศาสนา จึงเหมือนเป็นสื่อกลางของวัฒนธรรมที่สานสาดต้องการจะสืบสาน

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

‘งานสานที่ดูไม่เหมือนงานสาน’ คาดว่าหลายคนคงโดนตกด้วยเหตุผลเดียวกัน ความฟิวเจอร์คราฟต์นี้เองทำให้เรายอมควักเงินในกระเป๋าแลกสินค้ามาไว้ในครอบครอง แน่นอนลายที่ดูเหมือนกราฟฟิกและสีสันชวนสะดุดตา เป็นสิ่งที่ดึงดูดลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสาย

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

“เรามีความเชื่อว่าครีเอทีฟอยู่ได้ทุกแขนง และความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะทำงานสาขาไหน” ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาสานสาดใช้ดีไซน์เพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับงานหัตถกรรมได้อย่างที่ตั้งใจ นำเสนอผ่านผลงานไลฟ์สไตล์ เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย กระเป๋าคลัช สายคล้องกล้อง สายคล้องแว่นตา และอื่นๆ ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ชูความเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน และแพทเทิร์นที่ออกแบบให้เข้ากับบริบทของคนสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

ความพิเศษอีกหนึ่งอย่างคือ ความเงาที่สะท้อนกับแสงได้ดีทำให้เตยปาหนันเปลี่ยนบุคลิกของสีไปตามแสงนั้นๆ และถ้าใช้งานไปเรื่อยๆ สีก็จะเฟดเหลือบไปเป็นอีกเฉดหนึ่ง ราวกับว่ากาลเวลากำลังย้อมความทรงจำในแต่ละช่วงของเราไปเรื่อยๆ เช่นกัน

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

สถานีปลายทาง

“ทุกวันนี้เราดีใจที่มีกลุ่มของเราเอง ถึงมีน้อยแต่ค่อยๆ พัฒนาไปแบบยังยืนดีกว่า ค่อยๆ สร้างงาน สร้างคน และปลูกฝังเด็กๆ ไปเรื่อยๆ” รอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าของกุ๊กไก่ทุกครั้งที่เธอพูดถึงกลุ่มคนข้างหลัง

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

“เราไม่ใช่ลูกจ้างนายจ้าง เราเป็นทีมเดียวกัน ช่วยกันทำคนละครึ่งทางคอยเกื้อหนุนกัน เราเป็นฝ่ายหน้าที่ทำตลาด ทำโปรดักส์ ส่วนเขาเป็นฝ่ายต้นน้ำที่มีทุนเป็นฝีมือ”เป็ดพูดเสริม แน่นอนในอนาคตทั้งสองอยากให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในสากลมากขึ้น แต่หลักๆ แล้วสถานีปลายทางที่พวกเขาวาดไว้คือ การมีสตูดิโอที่ตรังให้เด็กๆ ในพื้นที่ได้มาฝึกงาน

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

“เราจะบอกเขาเสมอว่า เราสองคนไม่รู้ว่าจะทำไปได้อีกนานแค่ไหน ถ้าเขาได้ฝึกเร็ว ได้ลงมือเร็ว ก็อาจจะมาอยู่ในจุดนี้ได้แทนเราได้ สานสาดก็จะอยู่ไปเรื่อยๆ โดยที่มีเราสองคนเป็นแค่ผู้ก่อตั้ง” สุดท้ายแล้วพวกเขาอยากเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่ง ที่จะคอยขับเคลื่อนความฝัน และผลักดันชีวิตความเป็นอยู่ให้คนในพื้นที่มีชีวิตที่ดีขึ้น

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

ตลอดระยะเวลาชั่วโมงกว่าของการพูดคุยมันสัมผัสได้เลยว่า…พวกเขาได้ถ่ายทอดหัวใจลงไปในแบรนด์ตั้งแต่วันแรกที่ได้เริ่มทำแล้ว

สานสาด ชุบชีวิตเตยปาหนัน สู่งานดีไซน์สร้างสุขให้ชุมชน

ติดตามดีไซน์สวยงามของ ‘สานสาด’ ได้ที่
Facebook: SarnSard
Instagram: sarnsard

Tags: