About
DETOUR X Phetchabun

ศรีเทพไกด์

จากเพชรบูรณ์ถึงกรุงเทพฯ 10 ไฮไลต์เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย

เรื่อง พิชามญชุ์ พูนสวัสดิ์พงศ์ ภาพ Annetology Date 20-10-2023 | View 4642
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • มาทำความรู้จักเมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทยผ่าน 10 โบราณสถานและวัตถุโบราณที่เกิดจากการผสานวัฒนธรรมทวารวดี-เขมร พร้อมอ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ควบคู่กับกิมมิกสนุกๆ ที่อาจทำให้คุณแปลกใจ

ตามอุ้ม-นภัษ เกียรติไกรกุล ผู้ช่วยนักโบราณคดีไปฟังเกร็ดประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งที่ 7 ของประเทศไทย อุ้มทั้งพาไปดูโบราณสถานกับหลุมฝังศพในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ รวมถึงแนะนำให้ไปตามรอย 4 วัตถุโบราณชิ้นสำคัญจากนครศรีเทพที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

แม้ประวัติศาสตร์ศรีเทพจะไม่พบในหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ไหน เพราะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์กับสมัยประวัติศาสตร์ แต่หลักฐานบ่งชี้ว่าเมืองนี้ได้รับอิทธิพลจากสมัยวัฒนธรรมทวารวดีกับเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-18 ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ จนที่ประชุม UNESCO ต้องสนใจ

คอลัมน์ Detour เลยนำ 10 ไฮไลต์พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากวงในมาบอกต่อให้ทุกคนรู้

ศรีเทพ

• ปรางค์ศรีเทพ

ปรางค์ศรีเทพเริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 มีลักษณะตามศาสนาฮินดูรูปแบบขอม คือมีทางเข้าด้านหน้าทางเดียว ส่วนประตูอีกสามด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก แถมปรางค์องค์นี้เป็นศาสนสถานที่สร้างทับฐานเดิมของอาคารเก่าสมัยทวารวดี สังเกตได้จากลักษณะชั้นดินที่ขุดลงไปเจอแล้วพบว่ารอบๆ ปรางค์ศรีเทพถูกถมดินประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อยกปรางค์องค์นี้ให้สูงขึ้น

ทางด้านหน้าของปรางค์ศรีเทพมีสระน้ำโบราณ กรุผนังด้วยศิลาแลงทำเป็นขั้นบันไดลงไปในสระ คาดว่าเป็นสระสำหรับใช้ทำพิธีกรรมก่อนเข้าไปในตัวปรางค์ และมีอาคารเล็กๆ อยู่รอบๆ ซึ่งน่าจะเป็นบรรณาลัยหรือสถานที่เก็บคัมภีร์ ฐานสำหรับประดิษฐานเทวรูปไม่ก็ศิวลึงค์ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู

ศรีเทพ

• ปรางค์สองพี่น้อง

ปรางค์สองพี่น้องเป็นศาสนสถานร่วมสมัยกับปรางค์ศรีเทพ สร้างโดยได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดูจากวัฒนธรรมเขมร สังเกตได้จากที่ปรางค์องค์นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ต่างจากศาสนสถานของศาสนาพุทธในสมัยทวารวดีที่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และยังมีทับหลังรูปอุมามเหศวรหรือพระศิวะที่มีพระอุมาประทับนั่งบนตัก ทั้งสององค์นั่งอยู่บนโคนนทิที่เป็นพาหนะของพระศิวะ ทำให้รู้ว่ามีการนับถือไศวนิกาย

ชื่อปรางค์สองพี่น้องมาจากปรางค์องค์ใหญ่กับองค์เล็กตั้งอยู่ข้างกัน แต่แท้จริงแล้วปรางค์สององค์นี้ไม่ได้สร้างพร้อมกัน เพราะว่าปรางค์องค์น้องตั้งทับกำแพงแก้วขององค์พี่ กำแพงแก้วคือกำแพงกำหนดขอบเขตของศาสนสถาน จึงคล้ายๆ กับว่าปรางองค์น้องสร้างทับกำแพงวัดนั่นเอง

ศรีเทพ

• หลุมหมา

หลุมศพชุมชนของศรีเทพมีการฝังสุนัขลงไปกับคนด้วย กระดูกที่พบเป็นกระดูกสุนัขข้างศพมนุษย์ผู้หญิง เชื่อว่าถ้าไม่ใช่เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรัก ก็ฝังไว้เป็นวิญญาณนำทางในโลกหลังความตาย นอกจากนั้นคือกลุ่มหม้อดินเผาที่บรรจุเมล็ดพืช กระดูกวัวบ้าง กระดูกหมูบ้าง หลุมนี้ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารการกินของผู้คนสมัยนั้น

ศรีเทพ

อีกทั้งศพมนุษย์หญิงมีลักษณะถูกมัดปลายเท้า แสดงว่ามีการมัดตราสังข์ให้ศพ ใกล้ๆ กันนั้นมีศพมนุษย์ผู้ชายและกลุ่มหม้อเก้าใบวางซ้อนกันอยู่ ในกลุ่มหม้อนั้นมีใบที่บรรจุกระดูกมนุษย์เป็นการฝังศพครั้งที่สอง หลุมนี้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของศรีเทพว่าการฝังศพเริ่มมีพิธีกรรมมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

ศรีเทพ

• หลุมช้าง

หลุมช้าง เป็นหลุมศพที่พบกระดูกช้างโดยที่ช้างหันหัวไปทางทิศเหนือและมีลักษณะนอนตะแคง รอบๆ กระดูกช้างยังพบกลุ่มภาชนะดินเผา และระดับความลึกของช้างเท่ากับความลึกของโบราณสถานข้างๆ แถมยังหันหัวไปทางนั้นด้วยเลยสันนิษฐานว่าช้างมีความสำคัญและถูกฝังแบบมีพิธีกรรม

ศรีเทพ

ในหลุมนี้ยังเจอลูกปัดหินแพนนาเลียนคู่กับศพมนุษย์หญิง หินชนิดนี้ไม่ได้มีแหล่งในศรีเทพ ดังนั้นเจ้าของจะต้องเป็นบุคคลมีร่ำรวยหรือมีฐานะทางสังคมแน่นอน แต่กระดูกมนุษย์ในหลุมนี้เป็นของจำลองที่วางตามตำแหน่งที่พบ ส่วนของจริงถูกเก็บรักษาไว้ในคลัง

ศรีเทพ

• เขาคลังนอก

เขาคลังนอกเป็นศาสนสถานแรกเริ่มของพุทธศาสนา และเป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยทวารวดี ขนาดกว้างด้านละ 64 เมตร สูงถึง 20 เมตร เขาคลังนอกตั้งอยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพ ฐานเป็นฐานบัวแบบทวารวดี มีบันไดขึ้นลงทั้งสี่ด้าน และตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายมหายาน โบราณสถานนี้เป็นศูนย์กลางของแผนผังแบบมณฑลจักรวาล โดยเขาคลังนอกตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของแกนทิศทั้งสี่และมีเจดีย์ตั้งเรียงเป็นเส้นตรงทิศละ 3 องค์

ศรีเทพ

นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานว่ามีการปรับเขาคลังนอกให้เป็นไปตามแนวคิดศาสนาฮินดูที่รับจากวัฒนธรรมเขมร โดยทางขึ้นสามด้านของเขาคลังนอกถูกปิดในภายหลัง ให้เหลือแต่ด้านทิศตะวันตกด้านเดียว แล้วถ้าขึ้นไปเขาคลังนอกก็จะมองเห็นเขาถมอรัตน์จากด้านบน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เขาคลังนอกสร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ 14 และใช้งานยาวต่อเนื่องถึงพุทธศตวรรษที่ 19

ศรีเทพ

ศรีเทพ

• พระสุริยเทพ

พระสุริยเทพหรือพระอาทิตย์ เป็นเทพของลัทธิเสารัก ลัทธิหนึ่งในศาสนาฮินดู รูปเคารพสุริยเทพของศรีเทพมีเอกลักษณ์อยู่ที่เทคนิคลอยตัว ปกติแล้วรูปเคารพที่มีมือยื่นออกมาจะมีวงโค้งเป็นเกือกม้าอยู่ด้านหลังเพื่อยึดมือเอาไว้ แต่พอเข้าสมัยศรีเทพกลับไม่มีวงกลมนั้นแล้ว ถือเป็นเทคนิคลอยตัวอย่างสมบูรณ์ที่แซวกันว่าช่างกล้าทำขึ้นมา รูปเคารพอื่นๆ ที่เจอในศรีเทพก็ใช้เทคนิคเดียวกัน ยกตัวอย่าง พระวิษณุ 4 กร ซึ่งนอกจากจะลอยตัวแล้วยังเอียงตัว 3 ส่วนคือขา เอว และไหล่ด้วย

ศรีเทพ

รูปเคารพเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า ศรีเทพได้รับอิทธิพลด้านศาสนาจากอินเดียด้วยเหมือนกัน และสุริยเทพบางองค์ก็ถูกขุดเจอที่ข้างปรางค์สองพี่น้อง เนื่องจากเวลาคนสมัยก่อนเลิกนับถืออะไร จะนำของศักดิ์สิทธิ์มาฝังทิ้งไว้ ไม่ได้ทำลายทิ้ง

ศรีเทพ

• คนแคระ

คนแคระเป็นที่นิยมมากสำหรับสลักประดับฐานของศาสนสถานในสมัยทวารวดี ลายคนแคระนี้ได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้ ซึ่งความจริงแล้วตั้งใจให้เป็นยักษ์ที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาศาสนสถาน แต่พอสลักออกมาเป็นคนตัวเล็กมีพุงพลุ้ยเลยเรียกกันว่าคนแคระ นี่ยังเป็นไฮไลต์ของศรีเทพที่นำมาทำเป็นไอติมลวดลายคนแคระที่ขายอยู่ทางเข้าอุทยานด้วยนะ

จุดเด่นของคนแคระคือสวมหมวกทรงกระบอกหรือผ้าโพกหัว ใส่ตุ้มหูใหญ่ มีสร้อยคอ ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าสั้นมีชายผ้าด้านหน้า สีหน้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรียกว่าเป็นความสนุกของช่างที่แสดงผ่านการออกแบบ และนอกจากคนแคระหน้าคนแล้วยังมีหน้าสัตว์ด้วย ทั้งช้าง ลิง วัว ควาย และสิงโต ซึ่งสัตว์ชนิดสุดท้ายไม่ได้มีในบริเวณนี้เมื่อ 1,400 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน คาดว่าอาจเกิดจากช่างชาวอินเดียที่มาช่วยสร้างหรือช่างศรีเทพสร้างตามคำบอกเล่าอีกที

ศรีเทพ

• เศียรพระพุทธรูปเขาถมอรัตน์

ถ้ำเขาถมอรัตน์เป็นศาสนสถานประเภทถ้ำ ตั้งอยู่บนเขาถมอรัตน์ซึ่งเป็นเขาลูกโดด ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูที่นับถือศิวลึงค์ เลยมองว่าเขาลูกนี้เหมือนเป็นศิวลึงค์ธรรมชาติ และคำว่าถมอรัตน์มาจากภาษาเขมรแปลว่าภูเขาศักดิ์สิทธิ์

ศรีเทพ

ภายในมีรูปสลักพระพุทธรูปกับพระโพธิสัตว์อยู่ที่ผนัง แต่รูปสลักถูกทำลายเสียหายจากกลุ่มคนที่นำเศียรพระพุทธรูปไปขาย ปัจจุบันนี้มีเศียรพระพุทธรูปเขาถมอรัตน์ 3 เศียรจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และล้วนเป็นเศียรพระพุทธรูปที่นายจิม ทอมป์สัน นำมามอบให้

ศรีเทพ

• จารึกบ้านวังไผ่

จารึกบ้านวังไผ่ พบที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จารึกนี้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยปักหมุดยุคสมัยศรีเทพลงบนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ เพราะในทางประวัติศาสตร์ถ้าเราจะพูดว่าเป็นสมัยประวัติศาสตร์จะต้องบอกว่าเจอหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรในที่นั้นๆ และอ่านออกได้ แต่ข้อมูลของทวารวดีในพื้นที่ศรีเทพก็พบแต่จารึกบ้านวังไผ่ ทำให้ระบุได้ว่าศรีเทพนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนสมัยประวัติศาสตร์

จารึกนี้กล่าวถึงกษัตริย์แห่งศรีเทพ ผู้เป็นเครือญาติกับพระเจ้าปฤถิวีนทรวรมัน กษัตริย์ผู้มีพระราชอำนาจเทียบเท่ากษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละ ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับกษัตริย์แห่งศรีเทพองค์นี้น้อยมาก ถือเป็นบุคคลลึกลับในหน้าประวัติศาสตร์ของศรีเทพที่แม้แต่ชื่อก็ยังไม่ทราบ แม้ว่าจะเป็นถึงกษัตริย์ก็ตาม

ศรีเทพ

• ธรรมจักรศรีเทพ

ธรรมจักรศรีเทพคือธรรมจักรที่ไม่มีกวางหมอบ ยิ่งถ้าตามไปดูห้องเก็บธรรมจักรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้วจะยิ่งเห็นตัวเปรียบเทียบว่าธรรมจักรที่พบในนครปฐม ราชบุรี และอู่ทองมีกวางหมอบกันทั้งนั้น ยกเว้นธรรมจักรของศรีเทพ

ศรีเทพ

ธรรมจักรศรีเทพในพิพิธภัณฑ์เป็นธรรมจักรศิลาที่ขุดขึ้นมาได้แบบเต็มวง ส่วนธรรมจักรที่ตั้งอยู่ที่อุทยานศรีเทพเป็นหินครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งเป็นซีเมนต์ที่หล่อขึ้นมาเพื่อจำลองธรรมจักรเต็มวง และธรรมจักรนี้ไม่มีที่มาด้วยซ้ำ เพียงแต่มีคนนำมามอบให้ทางอำเภอ แล้วธรรมจักรก็ถูกส่งต่อให้อุทยานศรีเทพใน พ.ศ. 2527 เลยถูกจัดแสดงไว้ที่นั่น

Tags: