About
DETOUR X Chiang Rai

บ้านฝรั่งร้อยปี

บ้านฝรั่งร้อยปีกลางเชียงราย สู่สเปซศิลปะ สร้างสรรค์ชุมชน

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ อรุโณทัย พุทธรักษา Date 19-05-2021 | View 2716
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เชียงราย ไม่ได้มีแต่ภูเขา ไร่ชา คาเฟ่ หรือวัดวาอารามที่ตกแต่งเหนือจินตนาการ แต่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ความรู้ด้านภัยพิบัติ และมีแกลเลอรีดีๆ สำหรับจัดแสดงงานศิลปะของคนไทยให้ไปชมกัน
  • บ้านฝรั่งกลางเวียงเชียงราย อดีตเคยเป็นบ้านพักของมิชชันนารี ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้นานนับ 10 ปี บัดนี้ได้รับการบูรณะใหม่ให้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิมดชนะภัย เป็นพื้นที่ส่งเสริมงานศิลปะ และทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชน

บ้านฝรั่งกลางเมืองเชียงราย มีเก๊าไม้ใหญ่ปกคลุมแสนร่มรื่น แต่ใครจะรู้ว่า ที่นี่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวและเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาแล้วถึง 2 ครา ในอดีตเป็นบ้านพักของกลุ่มมิชชันนารี จนถูกเรียกว่า “บ้านยักษ์” บ้าง “บ้านฝรั่ง” บ้าง แต่คนรุ่นหลังรู้จักในชื่อ “บ้านสิงหไคล” สถานที่ทำการของมูลนิธิมดชนะภัย เป็นแกลเลอรีศิลปะ สตูดิโอออกแบบ และมีร้านกาแฟบ้านมดอยู่ด้านหน้าทางเข้า

singhaklai-house

บ้านมิชชันนารีในอดีต

อาคารเก่าสองชั้น ยังคงความงดงามและคลาสสิกในแบบของมัน ถึงแม้ว่าปีนี้จะมีอายุครบ 104 ปีแล้ว (สร้างเสร็จในปี 2460) หากแต่โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในอดีตเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังคงสภาพเดิมไว้อย่างนั้น “ตึกใต้” เป็นชื่อเล่นที่คนโบราณเรียกขาน ส่วนชื่อเต็มของบ้านคือ บ้านพัก OMF (OMF International หรือชื่อเดิมคือ Oversea Missionary Fellowship) เป็นบ้านพักของมิชชานารี คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเวียงเชียงราย และเคยอยู่รวมกันในบ้านหลังนี้ สูงสุดถึง 10 ครอบครัว

singhaklai-house

ความกว้างขวางและโอ่อ่าของอาคาร 2 ชั้น ที่ก่ออิฐถือปูนตามสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล เป็นรูปแบบเดียวกับโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เชียงราย คนออกแบบคือหมอฝรั่งนามว่า นายแพทย์วิลเลียม เอ.บริกส์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการแพทย์ สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม เขาเป็นผู้วางผังเมืองของจังหวัดเชียงราย สร้างโรงพยาบาลโวเวอร์บรุกค์ ริมแม่น้ำกก ซึ่งทุกวันนี้ยังคงเปิดให้บริการอยู่ รวมทั้งก่อตั้งศูนย์มิชชันนารีเชียงราย โรงเรียน และอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลจากตัวบ้านนัก

singhaklai-house

หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มิชชันนารี ถูกสั่งให้ระงับการเผยแพร่ศาสนา อาคารที่เคยสง่างามถูกกองทัพทหารเข้ายึดครอง ก่อนที่จะถูกปล่อยคืนในเวลาต่อมา และอยู่ในความดูแลของสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย (คริสตจักร 2 เชียงราย) นับจากนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่ง รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ เจ้าของมูลนิธิมดชนะภัย เกิดถูกชะตาต้องใจในความคลาสสิกของอาคารร้าง จึงทำการประมูลขอเช่าและได้ทำการบูรณะตกแต่งใหม่เพื่อพลิกฟื้นให้สถานที่แห่งนี้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง

ออฟฟิศในแกลเลอรี

“ชื่อของบ้านสิงหไคล มาจากชื่อของถนนสายนี้คือ ถนนสิงหไคล จริงๆ แล้ว ตัวบ้านถูกทิ้งร้างมานานนับ 10 ปี ก่อนที่มูลนิธิฯ จะขอประมูลเช่า โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมยังเป็นของเดิมที่เรียกว่า Wall Bearing หรือการใช้ผนังเป็นตัวรับน้ำหนัก แทนการใช้เสา และทั้งหมดเป็นผนังเก่าที่มีความหนา 1 ฟุต ที่นี่เราไม่มีสิ่งต่อเติมหรืองานบิ้วท์อินใหม่ เน้นเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว ที่ยกเข้าและยกออกได้” เอกพงษ์ ใจบุญ ศิลปินหนุ่ม เจ้าของดาษดาสตูดิโอ 2 เล่าให้ฟังถึงที่มา

singhaklai-house

เอกพงษ์ ใจบุญ

ตัวบ้านตั้งเด่นตระหง่านริมถนนสิงหไคล มีต้นมะขามยักษ์ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาและช่วยให้พื้นที่แห่งนี้ร่มเย็นตลอดทั้งวัน ด้านนอกมองเห็นปล่องไฟระบายอากาศทางปีกตะวันตกหรือโซนห้องครัวของบ้าน ส่วนมุขด้านหน้าก่อเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่จำนวน 4 ต้นเพื่อรองรับอาคารชั้น 2 เอาไว้อย่างแข็งแกร่ง แผงหน้าจั่วตีเป็นแผ่นไม้ซ้อนเกล็ด และกลางแผงหน้าจั่วออกแบบเป็นช่องหน้าต่างที่เปิดปิดได้

ส่วนหลังคาทำเป็นโครงสร้างไม้มุงกระเบื้องลอน แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าบ้านหลังนี้จะผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงรายมาแล้วถึง 2 ครั้ง 2 ครา และถึงแม้ว่าตัวบ้านจะถูกปรับเปลี่ยนซ่อมแซมไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงสภาพชำรุดทรุดโทรมน้อยกว่าอายุของตัวบ้านเสียอีก

ชั้น 1 ของบ้าน ถูกปรับฟังก์ชั่นใช้งานไปตามแพลนเดิมของตัวอาคาร ประกอบด้วย ห้องประชุม ดาษดาสตูดิโอ คาเฟ่ร้านกาแฟ และห้องสโลว์บาร์สำหรับเสิรฟ์กาแฟดริป ของเดิมคือห้องเก็บวัตถุดิบปรุงอาหารของแม่บ้านมิชชันนารีเนื่องจากเป็นห้องที่ถูกแสงแดดสาดส่องน้อยที่สุด ส่วนชั้น 2 เป็นแกลเลอรีจัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่เปิดให้เข้าชมฟรี singhaklai-house

cafe singhaklai

ในขณะที่ชั้นบนสุดเป็นห้องใต้หลังคา ที่คาดว่าจะใช้เป็นห้องเก็บของและที่พักนอนของครอบครัวมิชชันนารีในยุคก่อน ภายในห้องคงมีเสาและขื่อไม้ ที่ โชว์งานสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมมายาวนานนับร้อยปี

singhaklai-house

บ้านแห่งการเรียนรู้และส่งเสริม

ปัจจุบัน บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติ ตามเจตนารมณ์ของ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมปฐพี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหากใครไม่รู้ เขาคือผู้ปิดทองหลังพระในการให้ความช่วยเหลือทีมหมูป่า ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2561

gallery singhaklai-house

gallery singhaklai-house

อย่างไรก็ตาม ที่นี่ ยังถือเป็นจุดเชื่อมต่อของคนรักงานศิลปะ โดยจะมีการจัดแสดงงานศิลปะแบบหมุนเวียนเป็นประจำทุกเดือน ทั้งผลงานของศิลปินแห่งชาติ ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียง ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ และวัยนักศึกษา ผลงานที่บอกเล่าถึงแง่งามของจังหวัดเชียงราย รวมไปถึงผลงานสะสมที่เป็นของประธานมูลมูลนิธิฯ เองด้วย

gallery singhaklai-house

gallery singhaklai-house

นอกจากนี้ บ้านสิงหไคล ยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางด้านสังคมและศิลปะวัฒนธรรมให้กับประชาชน เพื่อส่งเสริมให้เชียงรายเป็นเมืองน่าอยู่ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเชียงรายเมืองศิลปะ

“อีกงานหนึ่งของมูลนิธิฯ คือการสร้างบ้านให้ชุมชน โดยใน 1 ชุมชน จะมีการคัดเลือกผู้ที่สมควรจะได้รับ โดยที่เราเป็นคนออกวัสดุให้ทั้งหมด ยกเว้นหลังคากับผนัง เพราะเราคิดว่าถ้าให้ฟรีหมดทุกอย่าง เขาจะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้รับ ส่วนช่างจะเป็นจิตอาสาที่ไม่คิดค่าแรง ที่ผ่านมา เราสร้างบ้านให้ชุมชน 50 กว่าหลังคาเรือนแล้ว และไม่ใช่เฉพาะที่เชียงรายเท่านั้น แต่เป็นภูมิภาคอื่นๆ ด้วย”

คุณเอกเล่าทิ้งท้ายถึงภารกิจของมูลนิธิมดชนะภัย มูลนิธิของคนตัวเล็กๆ แต่เมื่อรวมกันหลายคน จะกลายเป็นพลังสามัคคีที่ยิ่งใหญ่ ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับชุมชนได้มากมาย

บ้านสิงหไคล

ชวนไปชมนิทรรศการศิลปะ “คิดถึงและผูกพันธ์ : Kidthueng and Phookpan, a family affair” ตั้งแต่วันนี้ – 24 กรกฎาคม 2564 ผลงานศิลปะของแม่-ลูก โดยคุณแม่ผูกพันธ์ ไชยรัตน์ เป็นศิลปินหญิงจากสาขาศิลปะภาพพิมพ์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพเชียงใหม่

art gallery

ผลงานชุดนี้ เกิดจากใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว โดยผูกพันธ์นำผลงานของลูกชาย ซึ่งเป็นการวาดตามธรรมชาติของเด็ก ที่ชอบทดลอง ใช้สี มาผสมผสานกับทักษะทางศิลปะของเธอ สร้างสรรค์เป็นงานศิลปะที่ถ่ายทอดความรู้สึก ความรัก สายใยผูกพันธ์ที่เธอมีต่อลูก กลายเป็นผลงานศิลปะแห่งความรักและกลมกล่อม กว่า 80 ชิ้น งานนี้เข้าชมฟรีจ้า

บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย
628 ถ.สิงหไคล ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย
ร้านกาแฟ เปิดตั้งแต่ 08.00-17.00 น.
แกลเลอรี เปิดตั้งแต่ 10.00-16.00 น.
โทร. 093-234-1035
เฟซบุ๊ก singhaklaihouse

Tags: