Voice from The Seashore
กะเทาะแก่น Solids by the Seashore กับอิฐ-ปฏิภาณและสิ่งที่คนทำหนังตัวเล็กๆ ต้องเผชิญ
- ชวน ‘อิฐ – ปฏิภาณ บุณฑริก’ ผู้กำกับ Solids by the Seashore มาพูดคุยถึงเบื้องหลังหนทางการทำหนังอิสระในมุมของคนตัวเล็กๆ ที่อยากทำหนังด้วยแพสชั่นอีกคนในบ้านเรา
ในวันที่ ‘Solids by the Seashore’ หรือ ‘ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง’ ภาพยนตร์ไทยที่เปิดตัวเข้าฉายครั้งแรก ณ โรงภาพยนตร์ House Samyan นับว่าเป็นครั้งแรกที่เราได้ทำความรู้จักอิฐผ่านการดูหนัง ฟังเสวนาหลังหนังจบ และการได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับเขาด้วยสนทนาเพียงสั้นๆ แต่เพราะประโยค ‘คนตัวเล็ก’ ที่ได้ฟังจากเสวนายังคงติดค้างในความคิด ทำให้เรากับเขาได้มาพูดคุยกันถึงเส้นทางการทำหนังเรื่องนี้
บทความนี้จึงขอเปิดเผยเนื้อหาเล็กน้อย แต่ยังปลอดภัยสำหรับใครที่ยังไม่ได้รับชม เราขอเล่าอย่างคร่าวๆ ว่านี่คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของอิฐที่บอกเล่าปัญหาการสร้างเขื่อนหิน ผ่านสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวละคร ‘ฝน’ ศิลปินหญิงที่ออกเดินทางมาทำงานศิลปะที่ภาคใต้เพื่อจัดแสดงนิทรรศการ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ‘ชาตี’ หญิงมุสลิมซึ่งกำลังถูกคลุมถุงชนให้แต่งงาน
เขื่อนหิน ศาสนา และความรักของแซฟฟิก ดูจะเป็นประเด็นที่แตกต่างกันมากจนอดลุ้นไม่ได้ว่าอิฐจะเล่าออกมาอย่างไร แต่หลังดูจบก็พบจุดร่วมสำคัญที่พาเราไปถึงบางอ้อว่า อิฐต้องการนำเสนอมุมมองของคนตัวเล็กที่พยายามลุกขึ้นมาเจรจา ต่อรองการถูกกดทับจากโครงสร้างอันยิ่งใหญ่ด้วยความยากลำบาก ที่คนดูเองก็เริ่มเกร็งไปกับความอึดอัดของตัวหนังด้วยเช่นกัน
มีอยู่ซีนหนึ่งที่เผยให้เห็นการลอยตัวของฟองน้ำ 2 อัน ซึ่งสร้างอิมแพ็กทางอารมณ์ให้คนดูเป็นอย่างดี ฟองน้ำที่ว่านี้คือสัญญะที่ผู้กำกับใช้เปรียบได้กับ เสียงของคนตัวเล็กที่ไม่ยิมยอมต่ออำนาจบางอย่าง และในขณะเดียวกันนั้น ฟองน้ำก็ยังแสดงจุดยืนของอิฐในฐานะผู้กำกับหนังเรื่องนี้ด้วย
เสียงของฟองน้ำลูกเล็ก
อิฐเติบโตมาจากครอบครัวที่พ่อทำงานด้านสื่อโฆษณา เขาจึงได้ซึมซับภาพความเป็นโปรดักชั่นมาบ้างเล็กน้อย ส่วนแม่ชอบดูหนังก็เลยเปิดโลกภาพยนตร์ให้อิฐชื่นชอบดูหนังในทุกๆ แนว เขาเข้าเรียนต่อในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ด้วยความที่สมัยนั้นหลักสูตรเน้นเรียนทฤษฎีเป็นหลัก ลู่ทางของการได้ลงมือปฏิบัติงานจริงคือต้องวิ่งส่งผลงานเข้าประกวดตามโครงการต่างๆ อิฐเริ่มฝึกทำหนังจากวิธีนั้น ส่วนธีสิสจบของเขาเองก็ยังคงทำหนังสั้นเกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่ตั้งใจทำส่งประกวดด้วย
จากอิฐในวัยนักศึกษามาเป็นอิฐในบทบาทผู้กำกับตัวเล็กๆ ที่เคยสร้างผลงานทั้งหนังสั้นและหนังสารคดี มักพูดถึงปัญหาธรรมชาติในเชิงระบบโครงสร้าง บางเรื่องมีโอกาสไปฉายในต่างประเทศ รวมถึงการทำหนังขนาดยาวเรื่องแรก Solids by the Seashore (2023) ก็ได้เดินทางไปฉายและได้รับรางวัล LG OLED New Currents Award กับ NETPAC Award จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (Busan International Film Festival) ครั้งที่ 28 มาด้วย
ลายเซ็นหลักที่อิฐมักใส่เข้ามาในผลงานของเขาเสมอคือเรื่องของความเท่าเทียมและการถูกกดทับของคนตัวเล็ก สำหรับเรื่องนี้เอง เขาเล่าให้ฟังว่า
“มันเริ่มต้นเมื่อ 11 ปีก่อนตอนที่เรากำลังถ่ายทำสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเขื่อนหินกันคลื่น เราไปสัมภาษณ์ พีระ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีสงขลาในเวลานั้น ซึ่งเขาคือคนตัวเล็กคนหนึ่งที่ต่อสู้กับโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการออกมาตั้งคำถามกับโครงการสร้างเขื่อนบนชายหาดที่ใช้งบประมาณเยอะมาก มันบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นคอร์รัปชันหรือเปล่า แต่ทุกคนคิดอยู่ว่ามันเป็นไปได้ แต่การต่อสู้ของเขากลับกัดเซาะเขาซะเอง เพราะไม่กี่วันต่อมาหลังจากที่เราสัมฯ เขาไป เขาก็โดนยิงเสียชีวิต นี่คือจุดเริ่มต้นที่มีผลกับเรามากๆ”
มีคำพูดหนึ่งที่พ่ออิฐมักบอกเขาเสมอ จนกลายมาเป็นเครื่องยึดมั่นในการดำรงชีวิต ‘อย่าเอาเปรียบใคร แต่ก็อย่าให้ใครเอาเปรียบกลับ’ นอกจากที่มาของหนังที่เพิ่งเล่าไป อิฐย้อนเล่าภาพชีวิตของเขาด้วยแววตาจริงจังว่า เขาเติบโตมาโดยพบเจอการถูกกดทับจากอำนาจและสิทธิพิเศษทั้งเรื่องที่ใกล้ตัวและไกลตัว ทุกครั้งที่อยู่ในสถานการณ์เหล่านั้น เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่ลุกขึ้นมาออกเสียง ซึ่งแสดงเจตนาต่อการไม่ยินยอม หรือพูดถึงสิ่งที่ไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด
“เรารู้นะว่าเราเป็นคนตัวเล็ก แต่หลายๆ อย่างเราก็ควรพูดออกไปดีกว่าที่จะมาหยุดยอมกัน วิธีการต่อสู้ของเราคือการนำเสนอประเด็นที่เราเจอผ่านหนัง เราทำหนังเพื่อขับเคลื่อนและเล่าความเป็น Personal ของเรา”
เขื่อนหินจึงเปรียบเสมือนโครงสร้างอันยิ่งใหญ่ ซึ่งอิฐนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์ หรือฟองน้ำเล็กๆ ที่กลายมาเป็นเหยื่อของการถูกกำหนดกฎเกณฑ์ และต้องลุกขึ้นออกมาเจรจาด้วยความยากลำบากเพื่อพังทลายโครงสร้างที่ไม่ได้เป็นธรรมชาติ
“เราเชื่อว่าเมื่อไหร่ฟองน้ำอันอื่นมารวมตัวกันเพื่อแสดงแรงมหาศาลของสังคม โครงสร้างอันยิ่งใหญ่ก็อาจจะพังทลายด้วยฟองน้ำเล็กๆ เหล่านั้นได้ ดังนั้นเสียงเล็กๆ มันมีประโยชน์เสมอ”
ทำหนังอย่างอิฐ
การเล่าเรื่องด้วยการหยิบเสียงคลื่นซัดของทะเล การใช้ภาพชายหาด และโทนสีเข้ามาเปรียบเปรยห้วงอารมณ์มากมายของตัวละครที่มีต่อสถานการณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งความเงียบระหว่างกันแต่ใช้เพียงสายตาบอกเล่าความรู้สึกที่ทั้งคู่มีให้กัน นับว่าเป็นหนังที่ได้โชว์วิถีสไตล์อิฐได้เป็นอย่างดี
Solids by The Seashore จึงเป็นหนังไทยที่ได้เข้ามาเพิ่มความหลากหลายแก่วงการภาพยนตร์ไทยอีกเรื่องเลยก็ว่าได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นความจริงว่า หากต้องการทำหนังที่บอกเล่าถึงประเด็นและแสดงให้เห็นถึงตัวตนของผู้กำกับที่อาจไม่ได้ตรงกับหนังในกระแสนิยมในบ้านเรา การวิ่งหาทุนด้วยตนเองก็คงเป็นหนทางที่คนทำหนังอิสระต้องดิ้นรน
Film Festival จึงเปรียบเสมือนเวทีและโอกาสที่คนทำหนังตัวเล็กๆ จะได้ประกวด และนำเสนอไอเดียของตนเพื่อให้ได้ทุนมาสร้างหนังเรื่องหนึ่ง แต่วิธีการหาหนังของอิฐคือการหิ้วหอบไอเดียวิ่งไปเจรจา พูดคุยกับผู้คนที่อาจสนใจในความคิดของเขา หรือกับใครสักคนที่อาจพาให้เขาได้ไปรู้จักกันคนที่สนใจประเด็นเดียวกัน การเข้าร่วมโครงการต่างๆ ในต่างประเทศ เช่น Film Lab เพื่อพัฒนาบทในประเทศสิงคโปร์ การไป Pitching บทหนังใน Talents Tokyo หรือการเข้าร่วมเทศกาลหนังที่เมืองคานส์เพื่อนำเสนอโปรเจ็กต์กับผู้คนที่เข้ามาพูดคุย เพื่อให้ได้มาซึ่งคอนเน็กชั่นและเน็ตเวิร์กที่ดี
“ก่อนหน้านี้เราได้ทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาบทจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนสุดท้ายที่เขาจะให้กับคนทำหนังในไทย หลังจากนั้นบ้านเราก็ไม่มีทุนสนับสนุนในด้านนี้แล้ว เราเลยต้องหาทุนด้วยวิธีการอื่นๆ หลักๆ ก็ที่ต่างประเทศ จริงๆ มันมีหลายวิธีมากเลยนะ วิธีการของเราคือเปิดกว้างเลย เราเข้าไปหากองทุนที่ไม่ได้เกี่ยวกับหนังด้วย ซึ่งบางทีการพูดคุยอาจพาเราไปสู่อะไรบางอย่างที่ไม่ใช่เงิน แต่คนที่สนใจเขาอาจเข้ามาสนับสนุนเราในเรื่องของข้อมูล หรือหรือสถานที่ก็ได้ อย่างเช่น เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องสถานที่ A.E.Y. Space และตัวงานศิลปะให้เราได้ถ่ายทำ”
“หรือทุนแบบ Private Funding ที่มาจากคนที่เขาสนใจในหนังของเรา แล้วอยากซัพพอร์ตเรา อะไรพวกนี้คือการเก็บเล็กผสมน้อย แล้วเราก็เอาทุนนั้นมาปรับเปลี่ยนบทและถ่ายทำเพื่อให้เพียงพอกับทุนที่มี”
ตามที่อิฐเล่ามานั้นก็นับว่าเป็นเหตุผลให้หนังเรื่องนี้มีกระบวนการสร้างนานถึง 7 ปี เพราะนอกเหนือจากเรื่องหาทุน อิฐยังให้ความสำคัญในตัวบทที่แม้จะได้ คาลิล พิศสุวรรณ มาเขียนบทแล้ว นักแสดง และทีมงานทุกฝ่ายยังมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาบทด้วย จนเขาเอ่ยปากบอกกับเราว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หนังของเขาเพียงคนเดียว แต่เป็นหนังของทุกคนที่ค่อยๆ เข้ามาประกอบสร้างจนเกิดเป็นความสมบูรณ์ในที่สุด
No Label No Stereotype
Solids by the Seashore แม้จะเป็นเรื่องราวที่ปักหมุดสถานที่ในภาคใต้ แต่ผู้กำกับตั้งใจว่าจะไม่ระบุชื่อจังหวัดหรือชื่อเมือง เพราะเขาไม่ชอบการ Label หรือการตัดสินที่ทำให้ผู้คนไม่เกิดการละทิ้ง Stereotype ทั้งในเรื่องของเชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนาก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงพยายามลดการผลิตซ้ำเพื่อเล่าในสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด อย่างเช่น การที่ตัวละครชาตรีปล่อยผมมาตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือการไม่เผยให้เห็นการละหมาดของคนมุสลิมในเรื่อง
“การ Label มันคือการไปแปะป้าย เรามองว่ามันคือเรื่องเดียวกันกับการมองคนไม่เท่ากัน ที่อาจจะทำให้คนคนนั้นถูกตีตรา และโครงสร้างพวกนี้แหละที่เข้ามากำหนดว่าใครมีอำนาจเหนือใคร หนังเรื่องนี้เราอยากนำเสนอความเป็นมนุษย์ ความสัมพันธ์ โดยที่ไม่ต้องมีแว่นของอคติต่างๆ หรือการกำหนด Stereotype เข้ามาเกี่ยวข้อง เราอยากพิสูจน์เรื่องนี้ผ่านหนังด้วย”
เช่นเดียวกันกับการตีตราหนัง โดยเฉพาะการแยกประเภทระหว่าง หนังแมสและหนังอาร์ตที่นอกจากจะผลักวัฒนธรรมการดูหนังสำหรับใครบางคนออกไปแล้ว การแบ่งแยกหนังด้วย 2 คำสั้นๆ นี้ไม่เคยก่อให้เกิดความหลากหลาย อิฐมองว่าคนทำหนังทุกคนควรได้ทำหนังที่เป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องระวังว่าหนังเรื่องนั้นๆ จะถูกแปะป้ายฉลากว่าอะไร
“เราว่าอันนี้สำคัญ เพราะเราจะได้เห็นลายเซ็นของคนที่ทำงานจริงๆ ได้เหมือนกัน ส่วนคนดู เรารู้สึกว่าดูแล้วชอบเรื่องนี้หรือรู้สึกลิงก์กับเรื่องไหนก็พอ มันจะสร้างตัวเลือกของหนังได้เยอะมากๆ”
เมื่อไหร่ก็ตามที่คำจำกัดความหนังแมสและหนังอาร์ตหมดลง ก็อาจจะเป็นข้อดีที่ทำให้ความหลากหลายของหนังไทยบ้านเราเติบโตมากขึ้น จนสามารถเข้ามาปรับเปลี่ยน Eco System ของแวดวงภาพยนตร์ไทยให้ดีขึ้น ทำให้คนทำหนังอิสระอาจไม่ต้องดิ้นรนไปขอทุนไกลกันถึงเมืองนอก
ถ้ามองภาพรวมของหนังไทยในปี 2023 นี้ก็จะเห็นว่า กระแสหนังไทยในช่วงปลายปีเริ่มกลับมามีสีสันและมีรสชาติให้คนดูได้เลือกชิมกันมากขึ้น สิ่งที่น่าติดตามกันต่อไปคือวิธีการกระจายตัวของหนังให้คนนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับชมกันต่อในอนาคต หรืออย่างที่อิฐทำอยู่คือการรวบรวมจำนวนคนที่อยากดูหนังของเขาจากนักจัดฉายหนังอิสระในแต่ละจังหวัด เพื่อขอพื้นที่โรงหนังใหญ่ได้เปิดรอบฉายหนังให้กับคนในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งแม้จะมีรอบน้อยก็ไม่เป็นไร
แต่ในตอนนี้ภาพยนตร์เรื่อง Solids by the Seashore กำลังมีรอบฉายที่โรงภาพยนตร์ House Samyan และที่ Doc Club & Pub ด้วยนะ ถ้าอยากรับชมหนังไทยดีๆ สักเรื่องก็อย่าได้พลาดกับเรื่องนี้เลย