พลิกเขาหลักสู่ ‘เซิร์ฟทาวน์’
ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช ชายหนุ่มผู้พลิกเขาหลักสู่ ‘เซิร์ฟทาวน์’
- ทำความรู้จักกับ ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช คีย์แมนคนสำคัญ ที่ช่วยปลุกกระแสการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงาให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งด้วยกีฬาโต้คลื่น
- ค้นหาคำตอบกันว่า ทำไมทะเลเมืองไทย จึงเล่นเซิร์ฟได้สบายๆ ไม่แพ้ทะเลเมืองนอก และอนาคตของเขาหลักคือเซิร์ฟทาวน์ดีๆ ของไทยที่ใครๆ ต้องมา
- ทุกแง่มุมความคิด และความตั้งใจดีของผู้ชายคนนี้ ที่ต้องการผลักดันให้เซิร์ฟเป็นกีฬาทางน้ำที่ยั่งยืน มิใช่แฟชั่นที่ผ่านมาแล้วผ่านไป
ในวันที่การท่องเที่ยวทั่วไทยดูเงียบเหงา แต่สำหรับ Memories Beach เขาหลัก จังหวัดพังงา กลับคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาเล่นกีฬาโต้คลื่น (surfing) พร้อมกับสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องบันทึกไว้ว่า ปี 2563 เป็นปีที่คนไทยมาเล่นเซิร์ฟที่จังหวัดพังงาในฤดูฝนมากเป็นประวัติการณ์
เรื่องที่น่ายินดีครั้งนี้ ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับ ‘ต๊ะ-ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช’ คีย์แมนคนสำคัญ ผู้ช่วยปลุกกระแสให้เขาหลักบูมขึ้นมาอีกครั้ง และ Memories Beach ก็เปลี่ยนภาพจากหาดลับเป็นชายหาดแห่งความทรงจำสำหรับใครก็ตามที่ได้มา...โต้คลื่น
ครั้งแรกบนเกลียวคลื่น
หลายคนอาจรู้จักต๊ะในฐานะเจ้าของเพจท่องเที่ยว Surfer’s Holiday ที่เน้นเรื่องราวกีฬาโต้คลื่นเป็นพิเศษทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีคนติดตามมากกว่า 1.3 แสนคน นอกเหนือจากนั้นเขายังเป็นเจ้าของโฮสเทล Monkey Dive Thailand และงานล่าสุดเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Better Surf Thailand หรือโครงการโรงเรียนสอนเล่นเซิร์ฟ ณ Memories Beach
“เมื่อก่อนที่นี่ยังไม่มี surf school ไม่ค่อยมีคนไทยโต้คลื่น มีน้อยมากๆ เราเข้ามาเจอและได้รู้จักกับคนท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มเล่นเซิร์ฟ ได้เจอกับ พี่ฉิ่ง- มนตรี ณ ตะกั่วทุ่ง เจ้าของ Memories bar และขอให้สอนผมเล่นเซิร์ฟ ตอนนั้นเป็น Community เป็นครอบครัวเล็กๆ ที่ผมชอบมาพักผ่อน ชอบมาอยู่ด้วย”
นั่นคือฝันเป็นจริงครั้งแรกของบล็อกเกอร์วัย 34 ปี หลังหลงใหลในกีฬาชนิดนี้มาตั้งแต่วัยเด็ก และเลือกไปเรียนถึงประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะเมืองเซิร์ฟของโลกก็ด้วยเหตุนี้
“ผมเช่าบ้านอยู่หน้าหาดที่เป็นเมืองโต้คลื่น ทำให้ซึมซับกับวัฒนธรรมการเล่นเซิร์ฟของที่นั่นทุกๆ วัน แต่เพราะต้องการพิสูจน์ตัวเองโดยไม่พึ่งพาครอบครัว จึงต้องทำงานทุกวัน บวกกับความไม่มั่นใจหลายๆ อย่าง ที่ช็อกมากๆ คือ วันแรกที่ไปถึง ได้ไปทักทายคนข้างบ้านแล้วมองไปที่ขาของเขา เหลือขาข้างเดียวเพราะโดนฉลามกัด ทำให้ความคิดในการลงทะเลตอนนั้นก็หมดไปด้วย แม้เขาจะมีระบบเตือน แต่สุดท้ายก็กลับได้มาเล่นที่บ้าน”
เมืองไทยก็โต้คลื่นได้
“อยากเล่นเซิร์ฟมาทั้งชีวิต สุดท้ายบ้านเราก็เล่นได้”
คำพูดแกมขำๆ ของต๊ะ ตอกย้ำความรู้สึกเมื่อ 10 ปีก่อนว่า การเล่นเซิร์ฟในเมืองไทยถือเป็นเรื่องไกลตัวมาก เหมือนกับคนอีกส่วนใหญ่ที่ยังไม่เคยรู้ว่าเมืองไทยก็โต้คลื่นได้ แต่ความจริงแล้วเมืองไทยก็โต้คลื่นได้
“จริงๆ แล้ว เขาหลักหรือภูเก็ต ก็มีคนเล่นมาเป็น 10-20 ปีแล้ว แต่เราอาจชินตากับภาพการเล่นเซิร์ฟในคลื่นใหญ่ๆ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น การเล่นเซิร์ฟจะแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ บอร์ดสั้น (Short Board) ที่เล่นกับคลื่นใหญ่ๆ และบอร์ดยาว (Long Board) ที่ดูผ่อนคลายกว่า มีคนเดินบนบอร์ด คลื่นเล็กก็เล่นได้ หลายๆ คนอาจจะมองไม่เห็นว่า ที่นี่มีคลื่นใหญ่ด้วยหรือเปล่า คำตอบคือ มีครับ บางวัน 2-3 เมตร หรือบางวันจะมีช่วง Groundswell หรือที่เรียกว่าขบวนของคลื่น แม้แต่นักเซิร์ฟดังๆ ที่มีดีกรีระดับโลก ก็ล้วนเคยมาเซิร์ฟที่นี่ด้วย เพียงแต่เราไม่รู้จักว่าคนนี้คือใคร มีดีกรีอะไรเท่านั้นเอง ที่สำคัญ ที่นี่ยังสร้างนักกีฬาทีมชาติที่คว้าเหรียญทองแดง กีฬาซีเกมส์ครั้งล่าสุดมาแล้ว ย่อมเป็นเครื่องการันตีได้ว่า ไม่ธรรมดา ! ”
ด้วยลักษณะหาด Memories Beach ที่มีความตื้นและยาว มีแต่ทรายไม่มีหิน และไม่อันตราย คือจุดเด่นที่ต๊ะยืนยันว่า เหมาะสำหรับมือใหม่หัดเล่นทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นอายุ 50 กว่า หรือเด็กๆ 5-6 ขวบก็เล่นได้หมด และกว่า 60% ของนักเรียนเป็นผู้หญิง ซึ่งหากได้รับการเรียนอย่างถูกต้อง เซิร์ฟเป็นกีฬาที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด สามารถเลือกได้ว่าจะเล่นคลื่นแบบไหน โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุก็ค่อนข้างน้อย มันเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่มีโอกาสเกิดได้ แต่เมื่อเทียบอัตราส่วนแล้วก็ถือว่าน้อย
จากนักโต้คลื่นสู่การสร้าง Surf School
เมื่อเล็งเห็นว่ากีฬาโต้คลื่นนั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป เขาจึงได้เข้ามาช่วยเหลือร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กัน ทั้งการแข่งขันกีฬาโต้คลื่น การเขียนเรื่องราวผ่านเพจ การทำเซิร์ฟแคมป์ เพื่ออยากปรับภาพลักษณ์ทุกอย่างให้เป็นเมืองที่ทุกคนอยากมาให้ได้
“ที่ตรงนี้ (Memories Beach) สมัยก่อนต้องเขียนกระดาษวาดแผนที่ให้กันถึงจะมาเจอ ไม่มี Google Map คนไทยไม่รู้จักเลย พูดง่ายๆ ว่าลูกค้า 100% เป็นต่างชาติ เป็น Community ที่บาร์เทนเดอร์ พ่อครัว ทุกคนเล่นเซิร์ฟ จนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราจัดเซิร์ฟแคมป์ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Bacardi Surf Camp และได้รับความสนใจอย่างมาก”
จากกิจกรรมครั้งนั้นทำให้เห็นว่าการเล่นเซิร์ฟเป็นไลฟ์สไตล์ที่คนสนใจ และมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เรื่อยมา กระทั่งเมื่อปี 2562 ได้เปิดสอนการเล่นเซิร์ฟในชื่อว่า ‘Better Surf Thailand’ โดยจับมือกับ แมน-ชาติชาย สมพร อดีตนักกีฬาเซิร์ฟทีมชาติไทยและผู้ฝึกสอน รวมทั้ง เรมี-อาทิต์ยา จันทร์ประเสริฐ นักเซิร์ฟ เจ้าของเหรียญทองแดงประเภทบอร์ดยาวของกีฬาซีเกมส์เมื่อปีที่แล้ว
ถึงแม้ว่าในช่วงแรกจะมีคนไม่เห็นด้วยและไม่เข้าใจเนื่องจากโต้คลื่นเป็นกีฬาอันตราย แต่พวกเขารู้ดีกว่ากำลังทำอะไรอยู่ รวมทั้งมีการศึกษาหาข้อมูลมาอย่างดี โดยนักเรียนของ Better Surf Thailand จะได้เรียนทฤษฎีกับครูแมนโดยตรงก่อนจะลงทะเลกับนักเซิร์ฟมากประสบการณ์ ซึ่งช่วงเปิดซีซั่นระหว่าง 15 เมษายน – 15 พฤศจิกายนของทุกปี
เขาหลักคึกคัก น่ารักเวลาลงเล่น (เซิร์ฟ)
“ต้องบอกว่ามันประสบความสำเร็จมากๆ คนไทยโต้คลื่นเยอะขึ้นมาก อย่างเดือนนี้มีนักเรียนถึง 2,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่มหัศจรรย์มาก ด้วยความที่เป็นบล็อกเกอร์ มีโอกาสไปเที่ยวเมืองเซิร์ฟทั่วโลกบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น บาหลี ออสเตรเลีย ไปเอาความรู้และวัฒนธรรมของแต่ละที่มาผสมผสานและสื่อสาร เพราะเราเชื่อว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ต้อง ‘ให้’ คนอื่น เพราะฉะนั้นในเพจ เราจึงใช้เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลดีๆ กระจายออกไป โดยไม่ได้คิดว่าต้องเลือกมาเรียน เมื่อเขาได้รับ ก็ยิ่งทำให้โตเร็วไปเรื่อยๆ”
การเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ ยืนยันได้จากสถิติจำนวนนักเรียนรวมปีนี้มากกว่า 7,000 คน เพิ่มขึ้นจากซีซั่นที่แล้ว (1,600 คน) กว่า 4 เท่าตัว นี่ยังไม่รวมนักเซิร์ฟที่เดินทางมาเที่ยวแบบไม่ลงเรียน แม้ในวันฝนตกทั้งรถและคนก็ยังคนแน่นหาด
“สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ต้องบอกตรงๆ ว่า มันคือการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดพังงา เพราะอย่างที่เห็นปีนี้คือปีที่คนไทยมาเที่ยวพังงาเยอะที่สุดในฤดูฝน ส่วนหนึ่งอาจมีผลจากโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ทุกคนอยากออกมาทำอะไรท้าทายมากขึ้น ตอนเปิดจังหวัดกระแสมาแรงมาก ดาราหลายๆ คนมาทำให้เกิดกระแสไปทั่วประเทศ คนหลั่งไหลมาเขาหลักจนยอดจองที่พักเต็มไปหมดทุกสุดสัปดาห์ ช่วยทำให้พนักงานหลายร้อยคนได้กลับมาทำงาน มีเงินจุนเจือครอบครัวในช่วงเวลายากลำบากที่ผ่านมา”
ไม่เพียงแค่คนในพื้นที่เท่านั้น แต่กระแสโต้คลื่นในเขาหลักยังมีอานิสงส์ไปถึงเพื่อนบ้านด้วย เมื่อครูสอนหลายคนจากภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และอยู่ระหว่างว่างงาน ก็ถูกเรียกตัวมาร่วมสานฝันเรื่องเซิร์ฟไปด้วยกัน ณ หาดแห่งนี้
“มันเกินจากที่คาดฝันไว้มาก เราไม่คิดว่าวันหนึ่งคนไทยจะโหยหาอยากจะมาลองทำกิจกรรมเกี่ยวกับเซิร์ฟ ทุกวันนี้ ทุกคนอยากเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปโต้คลื่น เรามีนักกีฬาทีมชาติที่ไปคว้าเหรียญทองแดงซีเกมส์ และคนใกล้ตัวเป็นนักกีฬาทีมชาติหลายคน
“มันไม่น่าเชื่อ จากเรื่องเล็กๆ ที่จุดประกายให้ใครสักคนออกไปทะเล แล้ววันหนึ่งกลายเป็นอาชีพ เป็นนักกีฬา และยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนอีกนับร้อยคนในประเทศไทยกล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย จากรูปบางรูป ข้อความของเราแค่ไม่กี่บรรทัดสามารถช่วยให้คนอีกพันอีกหมื่นรับรู้ได้”
เซิร์ฟทาวน์…กลายเป็นจริง
ทั้งหมดทั้งสิ้นที่บล็อกเกอร์คนดังในวงการโต้คลื่นได้บอกเล่าและพยายามผลักดันร่วมกับทุกฝ่ายนั้น ก็เพื่อเป้าหมายหลักคือ ต้องการให้เขาหลักเป็นเซิร์ฟทาวน์ของเมืองไทย ซึ่งได้แรงบันดาลใจสำคัญมาจากบาหลี
“ไปเที่ยวอินโดมาบ่อยมาก ทำให้เห็นว่าบ้านเราสู้กับบาหลีได้สบาย โรงแรมก็สวย อาหารถูกปาก ฝรั่งก็ชอบ คนไทยก็ชอบ ทะเลก็สวยกว่า และหลายๆ คนอาจยังไม่รู้ว่าที่นี่มีโรงงานผลิตกระดานโต้คลื่นที่ส่งออกไปทั่วโลกตั้งอยู่ใกล้ๆ หาด มีศักยภาพเพียงพอในหลายด้าน จึงเกิดเป็นแนวคิดร่วมกันที่อยากจะผลักดันให้เขาหลักเป็นเซิร์ฟทาวน์ของไทย”
“สิ่งหนึ่งที่ผมดีใจมากๆ คือเมื่อก่อนทุกคนมาเขาหลักก็จะพูดถึงแต่สึนามิ แต่ทุกวันนี้พูดถึงเรื่องเซิร์ฟ ๆๆๆ มันเหมือนได้ช่วยลบอดีต ลบปมในใจที่อยากจะก้าวผ่านมันไปให้มันไปต่อได้ การทำให้คนลืมภาพเมืองผีหลอก เมืองสึนามิ เป็นเมืองที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากจะมาสักครั้งในชีวิต จริงๆ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันคือความร่วมมือของหลายๆ คน เพราะการจะลบภาพของคนทั้งประเทศ จะใช้เงินพันล้านก็ทำไม่ได้ในบางครั้ง แต่ครั้งนี้มันเกิดมาจากความตั้งใจและทุกคนจับมือกัน มันเป็นอะไรที่น่าภูมิใจ” ต๊ะ เล่าด้วยความภูมิใจ เขาเกิดและเติบโตที่ตะกั่วป่า โชคดีที่ชีวิตรอดตายอย่างหวุดหวิดจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี 2547
เซิร์ฟ…ที่มากกว่าแค่โต้คลื่น
ความสำเร็จในครั้ง ต๊ะบอกว่าผลที่ได้รับมันเกินคำว่าสำเร็จไปมากแล้ว เขาปฏิเสธลูกค้าไปหลายรายเพราะต้องการควบคุมคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณ ขณะที่กระแสคนโต้คลื่นก็ไม่ได้มีเพียงเขาหลักและภูเก็ต แต่ยังกระจายไปทั่ว เช่น ระยอง จันทบุรี หัวหิน และสงขลา
“เป้าหมายต่อไป เราอยากให้ความรู้ที่ลึกมากยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้มีคนเริ่มต้นมาเรียนแล้ว แล้วเขาอยากจะไปต่อเรื่อยๆ เราก็อยากสนับสนุนให้คนไทยหันมาสนใจ และชื่นชอบกีฬาชนิดนี้มากยิ่งขึ้นเพราะหลังๆ เมื่อมีการแข่งที่ภูเก็ต คนไทยเข้าใจการโต้คลื่นมากขึ้น เริ่มมีการเชียร์ มีแฟนคลับนักกีฬา ทำให้กีฬาเริ่มโต เราไม่อยากให้กิจกรรมเซิร์ฟเป็นแค่แฟชั่นที่คนมาถ่ายรูปแล้วก็จบ เราอยากให้มันอยู่ยั่งยืน มีทีม มีเป้าหมายในอนาคตต่อไป”
โต้คลื่นสำหรับต๊ะ มันไม่ใช่แค่กีฬา มันเกี่ยวกับการใช้ชีวิต มันคือวัฒนธรรม เพราะทุกครั้งที่ออกไปโต้คลื่น มันสอนให้เข้าใจธรรมชาติ อย่างที่อาจเคยได้ยินกันว่า การโต้คลื่นไม่ใช่การเอาชนะธรรมชาติ แต่เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติ ทุกครั้งที่ออกไปเล่นจำเป็นต้องรอคลื่น ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง มันเหมือนเป็นการรีเซตชีวิตทุกครั้งที่มีความสุข
“ในต่างประเทศมีการใช้กีฬาโต้คลื่นบำบัดโรคซึมเศร้า ผมเองก็เคยทำแคมเปญกับ ททท. คือ โอเชียน เทอราปี ผลวิจัยบอกว่าการมาโต้คลื่นช่วยทำให้หลายๆ คนที่มีอาการซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้น และได้เจอกับตัวเอง เมื่ออยู่ๆ ก็มีน้องคนหนึ่งวิ่งมากอด แล้วบอกขอบคุณมากที่ช่วยชีวิตเขา เขาเคยจะฆ่าตัวตายแล้ว แต่ว่าวันหนึ่งไปเจอบทความที่ผมเขียนไว้เกี่ยวกับเซิร์ฟ แล้วรู้สึกว่ายังตายไม่ได้ ลองไปเซิร์ฟก่อน แล้วหลังจากวันนั้น ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป และค้นพบว่า ชีวิตเขาควรจะอยู่ต่อเพื่อทำอะไรสักอย่าง นั่นคือสิ่งที่เราภูมิใจ” ต๊ะ กล่าวพร้อมทิ้งท้าย
“ถ้าใครที่เครียดอยู่ ลองให้กีฬาโต้คลื่นช่วยบำบัดดูสิครับ”
ขอบคุณภาพจาก เพจ Better Surf Thailand และ Surfer’s Holiday
สนใจเรียนโต้คลื่นหรือร่วมกิจกรรม ติดตามได้ที่ www.facebook.com/bettersurfthailand