About
Leisure

Sit Ny (ซิทนี่)

s y d n y เปลี่ยนบ้านยุค 80’s สู่คาเฟ่ไวบ์ดีย่านทุ่งมังกรที่เก็บความเก่า เติมความใหม่ และเบเกิล

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • s y d n y คาเฟ่และสตูดิโอย่านทุ่งมังกรที่รีโนเวตจากบ้านยุค 80’s ที่ถูกทิ้งร้าง พยายามคงของเดิมเอาไว้ให้มากที่สุดเพื่อรักษาเสน่ห์ของสถานที่ เพิ่มฟังก์ชันเพื่อรองรับผู้คนที่หลากหลาย และเสิร์ฟเบเกิลกว่า 12 ตัวเลือกให้ได้อร่อยกัน

ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Everything Everywhere All at Once อาจจะพอจำกันได้ว่า เอเวอร์ลีนต้องพยายามห้ามไม่ให้ลูกสาวกระโดดเข้าไปใน ‘เบเกิล’ ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะถึงกาลอวสาน แต่เรื่องนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับที่ร้านนี้ที่มีเบเกิลให้เลือกถึง 12 แบบ สามารถกินได้ทั้งแบบคาวและแบบหวาน โดยไม่ต้องห้ามใคร และโลกไม่ถึงกาลอวสานแน่นอน

ที่นี่คือร้าน ‘s y d n y’ ใครเห็นคงคิดว่าตั้งชื่อตามเมืองซิดนีย์ของประเทศออสเตรเลีย คนเขียนเองก็คิดแบบนั้นในทีแรก และด้วยหน้าที่ ผมจึงเอาข้อสงสัยนี้มาถามกับ รน-รณรงค์ ชมภูพันธ์ เจ้าของร้านว่า ทำไมถึงต้องตั้งชื่อนี้ในแบบที่ไม่มีตัว E

รนให้มา 2 เหตุผลสั้นๆ อย่างแรก รนมีบูทีคโฮเทลที่มีคาเฟ่ในตัวชื่อ Sunkiss และยังมีสตูดิโอถ่ายภาพให้เช่าชื่อ Sanders การตั้งชื่อว่า s y d n y เหมือนเป็นการหาตัวอักษรที่จะล้อไปด้วยกันได้กับชื่อของสถานที่ก่อนหน้านี้ อย่างที่สอง รนอยากเล่นคำเมื่อคนอ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย ‘มาซิทนี่สิ’ หรือก็คือ ‘มานั่งที่นี่สิ’ นั่นเอง

อีกมุมหนึ่งก่อนเข้าเนื้อหา นอกจากรนจะเป็นเจ้าของร้านแล้ว เขายังมีสถานะเป็นสถาปนิกที่ควบคุมการรีโนเวตบ้านที่ทั้งเคยร้างและเคยเก่าหลังนี้ ซึ่งมีโครงสร้างของยุค 70’s หรือ 80’s ที่ถูกตาต้องใจรนเอามากๆ ให้กลายเป็นคาเฟ่ที่ยังคงคาแรคเตอร์เดิมเอาไว้ พร้อมๆ ไปกับต่อเติมของใหม่เข้ามาเพื่อประโยชน์ใช้สอยสำหรับวันข้างหน้า

“มันเหมือนศิลปะการบาลานซ์กันระหว่างเก็บของเก่ายังไงไม่ให้ดูโทรม ดูน่ากลัว กับสร้างของใหม่ยังไงไม่ให้ดูใหม่เกิน จนมองไม่เห็นคาแรกเตอร์เดิมของสถานที่เลย” รนอธิบายถึงสิ่งที่เขายึดเป็นพื้นฐานในการรีโนเวตบ้านหลังนี้

s y d n y

ออกแบบของใหม่ ไม่บดบังของเก่า

“แรกเริ่มเดิมที เราขับรถผ่านตรงนี้ทุกวันเพื่อกลับเข้าไปที่พัก เห็นบ้านหลังนี้มานาน และจากคำบอกเล่าของคนแถวนี้ ตัวบ้านก็ร้างมานานแล้วเหมือนกัน เราชอบคาแรกเตอร์ของบ้าน แถมตอนนั้นกำลังอยากทำสตูดิโอที่คาแรกเตอร์แตกต่างกับ Sanders ก็เลยคิดปั้นที่นี่ให้เป็นสตูดิโอถ่ายภาพทั้งหลังก่อน แล้วค่อยเปิดเป็นคาเฟ่ในเวลาต่อมา”

นั่นคือการแรกพบสบตากับสถานที่ รวมถึงเป็นความคิดแรกในการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนสถานที่นี้ที่เคยร้างให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าจะย้อนกลับยังจุดเริ่มต้น สิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยหากรนไม่ใช่คนที่ชื่นชอบในของเก่า

s y d n y

“มันเริ่มมาจากเด็กๆ ที่เราชอบนาฬิกา รถ โปสเตอร์เก่าๆ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นคนชอบเรื่องราวด้วยแหละ พวกของเก่ามันจะมีที่มาที่ไป มีประวัติว่าผลิตปีไหน ผลิตขึ้นมาเพื่ออะไร อย่างบ้านเก่าหลังนี้ เราก็ดูว่ามันเป็นโครงสร้างสมัยนั้น แล้วพยายามทำให้กลับมาสู่ยุคเดิมของมัน เหมือนที่จะเห็นได้ตอนเดินเข้ามา ตึกไม่ได้ดูถูกรีโนเวตหรือถูกปรับปรุงจนดูไม่ออกว่าเป็นตึกเก่า ถ้าคาแรกเตอร์เดิมของตึกไม่ถูกเก็บไว้ มันอาจจะไม่มีเสน่ห์เลย อาจจะกลายเป็นแค่บ้านหลังหนึ่งในชุมชนที่ดูไม่ออกว่าหน้าตาเดิมของมันเป็นยังไง” รนอธิบาย

s y d n y

ย่อหน้าข้างบนตามมาด้วยข้อสงสัยว่า แล้วคาแรคเตอร์ของตัวบ้านนั้นเป็นอย่างไร สำหรับรนในตอนนั้น การมองหาและมองคาแรกเตอร์ให้ออกค่อนข้างยากด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งตัวอาคารที่เป็นบ้านร้างคล้ายจะสร้างไม่เสร็จ ไหนจะต้นไม้มากมายที่ขึ้นบดบังหน้าตาเป็นส่วนใหญ่ แต่เหมือนจะเป็นโชคดีที่ไม่ถูกกรรมบัง เพราะเมื่อเคลียร์ต้นไม้ออก เขาก็พบกับแผงอิฐที่ถูกก่อโชว์แนวเอาไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม ความเป็นหลังคาหน้าจั่ว พื้นที่ภายในที่ถูกแบ่งเป็นชั้น 1 ชั้น 1 ครึ่ง แล้วค่อยต่อด้วยชั้น 2

s y d n y

s y d n y

s y d n y

ทีนี้กลายเป็นว่า ความชอบสะสมเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์นของรน เห็นจะไปได้ดีกับสถานที่แห่งนี้แบบพอดิบพอดี เกิดเป็นความเป็นไปได้และไปกันได้ที่จะหยิบสิ่งของเหล่านั้นมาเติมเต็มพื้นที่นี้ โดยที่ยังคงความเดิมเอาไว้กว่า 90%

“เราเลยต่อยอดจากคาแรกเตอร์เดิม เก็บภาษาเดิมในการออกแบบไว้ ที่ชั้น 1 จะเห็นเป็นที่นั่ง 3 อันอยู่ข้างนอก ตรงนั้นเรามีการใช้อิฐที่ลักษณะคล้ายของเดิมมาใช้กับส่วนที่เราทำใหม่ เพื่อให้งานออกแบบและงานก่อสร้างสุดท้ายออกมาแล้ว มันยังดูไปกันได้อย่างกลมกล่อมเหมือนเดิม” รนพูดถึงส่วนข้างหน้าร้านที่ใครเห็นก็คงคิดว่าอิฐส่วนบนและส่วนล่างเป็นของจากยุคเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วแนวอิฐข้างล่างถูกสร้างตามส่วนข้างบนต่างหาก

s y d n y

s y d n y

s y d n y

s y d n y

ออกแบบประสบการณ์

s y d n y มีการแบ่งสัดส่วนคร่าวๆ โดยให้ชั้น 1 เป็นโซนคาเฟ่หลักที่มีเคาน์เตอร์สำหรับสั่งอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมด้วยเบเกิลกว่า 12 แบบวางเรียงให้เลือกสรร มีสวนข้างหลังที่ถูกทำขึ้นมาใหม่ให้สามารถออกไปนั่งได้ แต่ก็นั่นแหละ สภาพอากาศเมืองไทยตอนนี้ ใครออกไปนั่งคงได้กินมื้อที่สุกที่สุดแน่นอน

s y d n y

s y d n y

ชั้น 2 ยังคงเป็นโซนคาเฟ่ที่มีบันไดเชื่อมทั้งหน้าหลัง ขึ้นจากด้านในก็ได้ จากนอกสวนก็ดี เป็นการออกแบบเพื่อไม่ให้สถานที่มีทางตัน และไม่ให้เกิดเป็น Waste Space อย่างไรก็ตาม รนได้มีการทำประตูเข้าออกกั้นระหว่างชั้น ฟังก์ชันของชั้น 2 จึงมีไว้เพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องการความเงียบสงบ แยกส่วนระหว่างคนที่มานั่งทำงาน มานั่งกินกาแฟ มานั่งคุยกัน ให้ทุกคนได้มีพื้นที่เป็นของตัวเองโดยสมบูรณ์

s y d n y

s y d n y

s y d n y

ส่วนชั้น 3 จะเป็นสตูดิโอที่เปิดให้เข้าเฉพาะทีมที่เช่าเอาไว้ หรือถ้ามาในวันหยุดก็สามารถใช้คาเฟ่ทั้งหลังเป็นสตูดิโอได้เลย

“ฟังก์ชันเดิมของอาคารเหมือนสร้างไม่เสร็จอยู่แล้ว มันจะเป็นพื้นที่ห้องโปร่งๆ โล่งๆ เราเลยใช้กระจกเข้ามาช่วยเสริมให้แสงธรรมชาติเข้าถึงมากขึ้น ไม่ให้มันดูโทรมเหมือนตอนที่ยังไม่ได้มีการจัดการหรือปรับปรุง แต่เราก็ยังให้เห็นความดิบของตัววัสดุอยู่ อย่างคานคอนกรีตหรือคานไม้ เราก็เก็บของเดิมเอาไว้ แล้วก็โชว์โครงสร้างแทนที่เราจะปิดด้วยฝ้า และยกฝ้าขึ้นไปอยู่ที่โครงสร้างอาคาร ชั้น 2 กับชั้น 3 จะได้ความสูงของพื้นที่มากขึ้น ไม่อึดอัด” รนชี้ให้เห็นถึงคานคอนกรีตเดิมที่เขายังคงความดิบเอาไว้แบบไม่คิดซุกซ่อน

s y d n y

s y d n y

ในส่วนของจานอาหาร 80% ของร้านนี้คือเบเกิล ที่ตัวรนเองก็มองว่า การเลือกขายอาหารชนิดนี้นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง คนจะเข้าใจไหม คนจะกินไหม หรือจะแค่มาลองแล้วไม่กลับมาอีก แต่สุดท้ายความนอยด์เหล่านั้นก็ถูกขจัดไปด้วยคำพูดของลูกค้าที่ว่า “ดีจังเลย ไม่ต้องเข้าไปกินเบเกิลถึงในเมืองแล้ว” หลังจากนั้นลูกค้าหน้าเดิมก็เริ่มวนเวียนกลับมาที่ร้านบ่อยครั้งให้ได้พอชื่นใจ

ส่วนเรื่องคุณภาพ รนยินดีนำเสนอด้วยครัวที่ตั้งอยู่ตรงทางเข้า มีกระจกใสให้ได้เห็นกันถึงความโฮมเมดทุกภาคส่วน ทำแป้งเอง นวดแป้งเอง และอบแป้งเอง จะกินเป็นของว่างก็ได้ จะกินเป็นจานหลักก็เอาอยู่ ใครไม่รู้จะสั่งแบบไหน เพราะมีตัวเลือกตั้ง 12 แบบ ให้พนักงานแนะนำได้เลย แต่ถ้าถามคนเขียน Original กับ Cheese & Garlic ถูกใจผมเป็นพิเศษ

s y d n y

s y d n y

s y d n y

“เราอยากให้เขาแฮปปี้ที่ได้ลองกินอะไรใหม่ๆ ได้ประสบการณ์ในเรื่องของอาหารการกินอย่างเบเกิล ได้เข้ามาเห็นงานรีโนเวตจากบ้านเก่าว่ามันมีโอกาสในการทำแบบนั้นแบบนี้ได้ การเลือกเก็บบางสิ่ง การเลือกปล่อยบางอย่าง การบาลานซ์ระหว่างคาแรกเตอร์ของของเดิมที่เราไม่ต้องไปเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด หรือการเพิ่มฟังก์ชันใหม่เข้าไป ในฐานะนักออกแบบ เราอยากให้เขาเข้ามาเห็นความสวยงามของสถานที่ บรรยากาศที่เราจัดเตรียมไว้ และแน่นอนว่าเราพยายามจะใส่พื้นที่นั่งให้ได้เยอะที่สุดเพื่อความพร้อมในการรองรับทุกคนที่มา” นี่คือประสบการณ์ที่รนอยากให้คนที่มาคาเฟ่ของเขาได้รับ

s y d n y

การออกแบบคือการแก้ปัญหา

สำหรับตัวรนเอง เขามองว่าการได้มีโอกาสรีโนเวตบ้านหลังนี้เหมือนเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เปิดประสบการณ์ให้เขาในฐานะสถาปนิก เพราะที่ผ่านๆ มา คือการรับงานออกแบบจากลูกค้าที่มีความต้องการของผู้อยู่อาศัยชัดเจนอยู่แล้ว ตรงกันข้ามกับที่นี่ที่รีโนเวตเพื่อรองรับการเข้ามาของคนหลากหลายคาแรคเตอร์

รนบอกว่าการออกแบบคือการแก้ปัญหา เพียงแต่การแก้ปัญหาในครั้งมีคนมากมายเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็มีความตามใจตัวเองอยู่ในนั้นด้วย

s y d n y

“อย่างอันนี้เราเป็นเจ้าของธุรกิจเอง ก็โชคดีหน่อยที่อยากทำอะไรก็ทำ เราแคร์ความรู้สึกตัวเองเป็นสำคัญ แต่เราก็ต้องคิดถึงฟังก์ชันการใช้งานด้วย แต่ถ้าพูดถึงความสนุก มันคือการที่มีคนได้เข้ามาใช้งานสิ่งที่เราออกแบบ แล้วเขาพูดถึงมัน มีการสนทนาเกิดขึ้นกับสิ่งที่เขาเห็น กับสิ่งที่เราออกแบบมา บางทีเราก็แฝงตัวเป็นลูกค้า แล้วฟังเขาคุยกัน มันแฮปปี้นะ” รนพูดถึงความสนุกด้วยรอยยิ้ม

s y d n y

s y d n y

ท้ายที่สุด รนหวังว่าฟังก์ชันที่จะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดของร้านเขาคือ การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทุ่งมังกร ทั้งการเป็นตัวเลือกให้กับออฟฟิศแถวนี้ในช่วงเวลาพักกลางวัน การเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาผ่อนคลาย ไปจนถึงหาที่นั่งทำงาน หรือในอนาคต ตึกฝั่งตรงข้ามกำลังรีโนเวตเป็นสตูดิโอเต็มรูปแบบ การมีศิลปินเข้ามาจัดแสดงงานก็อาจทำให้คนแถวนี้ได้มีพื้นที่ส่งต่อหรือต่อเติมความคิดสร้างสรรค์ให้กันและกัน โดยที่พวกเขาไม่ต้องถ่อไปถึงในตัวเมือง เช่นเดียวกับการมีอยู่ของเบเกิลในร้าน

S Y D N Y เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07:00-17:00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09:00-17:00 (ปิดทุกวันอังคาร)
FB: s y d n y

Tags: