- THAIS แบรนด์ไทยที่คิดค้นนวัตกรรม ‘Regenesis’ นำเศษหนังที่เหลือทิ้งจากโรงงานตัดเย็บ มาพัฒนาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จนได้ออกมาเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างคาแรคเตอร์ผ่านลวดลายและสีสันที่ไม่ซ้ำใคร รวมถึงเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในโลกที่ใช้กระบวนการเทคโนโลยีสะอาดแบบ 100%
- กรรมวิธีของการรีไซเคิลปลอดภัยต่อโลก ไม่มีการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังกระจายรายได้แก่ชุมชน ภายใต้วิธีคิดที่ยั่งยืนและคืนคุณค่าให้วัสดุ
Thais แบรนด์ของคนรักหนังที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง ปลุกปั้นโดย ธันย์ - ธันยวัฒน์ ทั่งตระกูลและ เม - พัณณ์ชิตา ธราดลศิริฐิติกุล
“ตอนที่เราเรียนอยู่ต่างประเทศทุกคนจะพูดถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ได้พูดแบบธรรมดา แต่พูดเป็นกฎข้อบังคับ เราเลยซึมซับมาตลอดระยะเวลา 10 ปี พอกลับมาไทยเราก็รู้สึกว่าเองยังมีความรู้สึกตรงนี้อยู่ เลยพยายามจะสร้างสิ่งที่มันแตกต่างขึ้นมา เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ นี้มันน่าจะช่วยอะไรได้บ้าง” ธันย์เล่าถึงสภาพแวดล้อมในอดีตที่หล่อหลอมให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ก่อนจะพูดต่อถึงที่มาของชื่อแบรนด์ให้เราได้ฟังว่า
“Thais(ทาอิส) จริงๆ เป็นภาษากรีก แปลว่า ‘การเป็นที่รัก’ มาจากเพลงๆ หนึ่งในเพลงคลาสสิค ตอนฟังเรารู้สึกว่าท่วงทำนองมันไพเราะ เลยเลือกเอาชื่อนี้มาใช้แล้วมันพ้องรูปกับคำว่า Thai(ไทย ) ด้วย”
คุณค่าในสิ่งที่ไร้ค่า
เดิมทีทั้งเมและธันย์เองมีความชื่นชอบในเครื่องหนังและมักตัดเย็บเพื่อใช้เองอยู่บ่อยครั้ง นานวันเข้าเศษหนังที่ไม่ถูกใช้งานเริ่มกองสูงขึ้นในห้องสี่เหลี่ยม จนธันย์อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเขาทิ้งเศษหนังพวกนี้ รถขยะที่มารับไปก็ต้องนำกองหนังเหล่านี้ไปทิ้งเหมือนขยะอื่นๆ “ตอนนั้นเราเริ่มตั้งคำถามว่า จะทำยังไงให้เศษหนังพวกนี้กลับมาใช้ได้ เราอยู่กับคำถามนี้หลายเดือน เพราะเราอยากนำเศษหนังพวกนี้กลับมาใช้ให้ได้เยอะที่สุด”
จากนั้นประกายไอเดียต่อมาจึงเกิดขึ้น “เราพยายามหานวัตกรรมที่จะเอาเศษหนังพวกนี้เข้าสู่ระบบหมุมเวียนได้ แต่มันไม่มี…ทำให้เราต้องกลับมามองว่า เราสามารถเอาองค์ความรู้ที่ตัวเองมีมาใช้อะไรได้บ้าง” กว่าทาอิสจะสร้างนวัตกรรมที่นำเศษหนังเหลือทิ้งจากโรงงานตัดเย็บเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้นั้น ใช้ระยะร่วมกว่า 2 ปี
“ในช่วง 2 ปีแรกก็มีบ้างที่ทบทวนสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ เพราะเราแทบไม่ได้อะไรเลย แต่ก็คิดนะว่าเราแปลงวัสดุได้ด้วยระยะเวลาแค่นี้ ถ้าทำต่อไปมันอาจจะไม่ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีแล้วก็ได้ อาจจะใช้เวลาแค่อีก 6 เดือน หรือกี่เดือนก็ตาม แต่ถ้าเราดันหยุดก็คงจบกันแค่นี้ ตอนนั้นเราบอกกับตัวเองว่า เราแปลงเศษหนังเป็นวัสดุที่หน้าตาเปลี่ยนไปประมาณหนึ่งแล้ว เริ่มมีรูปมีร่างแล้ว ถ้าเราหยุดตรงนี้…เท่ากับว่ามันจะไม่สามารถไปถึงภาพที่เราจินตนาการไว้ได้นะ มันเลยทำให้เราเลือกไปต่อจนถึงวันนี้”
สิ่งที่ทาอิสมั่นใจ คือเรื่องของ Milestone การมีหลักชัยในแต่ละก้าวเดินและมีเป้าหมายที่ชัดเจน หนึ่งคือต้องการลดการปนเปื้อนขยะมีพิษหรือขยะอุตสาหกรรม สองคือต้องการลดค่าใช้จ่ายในการขนทำลาย สามคือลดปริมาณขยะที่ต้องเอาไปทิ้ง นั่นก็เพื่อก้าวเข้าไปสู่การเป็น ‘ผู้นำทางด้านวัสดุรักษ์โลก’
ธันย์ย้ำชัดอย่างหนักแน่นว่า “ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายสามเดือน หกเดือน หนึ่งปี หรือห้าปี นั่นก็คือ ‘เป้าหมาย’ ที่เราเขียนขึ้นมา ฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในทุกๆ วัน ก็เป็นส่วนหนึ่งในปลายปากกาแรกที่เราวาดลงไป และเรากำลังเดินตามทางนั้นอยู่”
คิดอย่างยั่งยืน
ทั้งสองบอกกับเราว่าในช่วงแรกพวกเขาทั้งค้นคว้า ทดลอง หาข้อมูล จนรู้ว่าตัวเศษหนังในบ้านเรามีมากถึง 10,000 ตัน ต่อ 1 ปี ถ้านึกไม่ออกว่ามากขนาดไหน ให้ลองนึกว่าหากนำเศษหนังมาใส่ถุงแล้ววางเรียงซ้อนกันจะได้ความสูงเท่ากับตึกมหานคร อาคารที่สูงที่สุดในประเทศ ได้ถึง 6 ตึก มากกว่านั้นกองเศษหนังมวลมหาศาลเหล่านี้ จะถูกกำจัดด้วยการเผาและการฝังกลบทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทนไปจนถึงสารพิษปนเปื้อนในดินและน้ำ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ล้วนก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
THAIS เล็งเห็นปัญหาตรงนี้จึงอยากนำเศษหนังเหลือทิ้งเหล่านั้นกลับมารีไซเคิลให้เกิดเป็นวัสดุและสินค้าใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยคำนึงว่าต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในฐานะของผู้ผลิตธันย์ต้องตั้งคำถามอีกครั้งว่า “เราจะเข้าไปอยู่ตรงไหนในห่วงโซ่ได้บ้าง”
โรงงานตัดเย็บ บริษัทขนทิ้ง และสิ่งแวดล้อม คือห่วงโซ่ที่ธันย์พูดถึงก่อนหน้า “แต่จะเป็นไปได้มั้ย ถ้าเราขอเข้าไปอยู่ในจุดที่สร้างความสัมพันธ์ใหม่ ถ้าเราได้เศษหนังจากบริษัทขนทิ้ง เรามองว่าเราน่าจะทำอะไรได้บ้าง”
แม้ทาอิสต้องการจะเป็นผู้จัดหาวัสดุรักษ์โลก แต่วัสดุเหล่านั้นก็ต้องผ่านการรับรองและได้มาตรฐานหรือมาจากกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ เพราะธันย์เชื่อว่าด้วยหัวใจตรงนี้จะทำให้ลูกค้าสัมผัสได้จากใจจริง
“เราเริ่มรับเศษหนังจากโรงงานต่างๆ ทั้งโรงงานในประเทศและต่างประเทศ จากนั้นเราจะคัดแยกเศษหนังตามสี แล้วนำไปทำความสะอาด เพื่อดึงความชื้นในหนังออก จึงค่อยนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่นเคลือบผิวให้หนังคงทนและทนทานต่อกรดด่างกลายเป็นหนังรีไซเคิลผืนใหม่ที่รีไซเคิลจากเศษหนัง 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้สารเคมี 0 เปอร์เซ็นต์ และมีหน้าตาเหมือนหินอ่อนอย่างที่เราได้เห็น” ธันย์เล่าพร้อมกับเอื้อมมือไปหยิบแผ่นหนังที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้มาให้เราได้ดูใกล้ๆ
แต่กว่าจะออกมาเป็นสินค้าหนึ่งชิ้น ขั้นตอนการตัดเย็บก็เป็นส่วนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังชิ้นงานดีไซน์เก๋คือ ชาวบ้านที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้เป็นเหมือนพาร์ทเนอร์คนสำคัญของแบรนด์ “ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราจะรู้ดีว่าในแต่ละปีมันจะมีช่วงหลังเก็บเกี่ยวที่ชาวบ้านในพื้นที่ว่างงาน หลายคนต้องออกไปหางานทำที่ต่างจังจังหวัดเพื่อเอาเงินมาเลี้ยงปากท้อง เราเลยมองว่าถ้าคุณมาฝึกงานมาทำงานที่โรงงานของเรา อย่างน้อยคุณก็ยังได้อยู่ในพื้นที่และมีรายได้ ก็เหมือนกับเราได้พึ่งพาซึ่งกันและกัน” นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่เขาอยากกระจายรายได้แก่ชุมชน
สู่เครื่องหนังรักษ์โลก
สิ้นค้าทุกชิ้น ทุกเฉดสี ทุกลวดลาย จะมีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวมีความยูนีค ด้วยตำแหน่งลวดลายที่ต่างกัน จึงทำให้สินค้าของ Thais มีความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร
ส่วนเรื่องของของความคงทนยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะธันย์บอกกับเราว่า “เพราะใช้เศษหนังแบบ 100 % เข้าสู่กระบวนการผลิต เลยทำให้อายุการใช้งานของเขาค่อนข้างยาวนานตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี ผิวสัมผัสยังสามารถกันน้ำ กันน้ำมันได้ด้วย เลยจัดว่าเป็นของใช้และของตกแต่งบ้านที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน”
ทาอิสได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาสามารถเป็นแบรนด์ผลิตเศษหนังรีไซเคิลด้วยกระบวนการเทคโนโลยีสะอาด ที่ใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและเรื่องอายุการใช้งานเป็นหลักได้อย่างที่ตั้งใจ
และถ้าจะพูดถึงในเรื่องของความยั่งยืน ธันย์จะบอกเสมอว่าทาอิสไม่ใช่ผู้นำความยั่งยืน แต่เป็นผู้สร้างบาลานซ์ให้เกิดขึ้นระหว่างอุตสาหกรรมการผลิต กระบวนการทิ้ง และผู้ใช้งาน “เราอยู่ในห่วงโซ่อันหนึ่งซึ่งเป็น (Subset) ที่เล็กมากๆ ของคำว่า ‘sustainable’ แต่ถ้าถามว่าความยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริงๆ มั้ย เราว่ามันสามารถทำได้ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกัน ถ้าภาครัฐเข้าใจ องค์กรเข้าใจ ค่านิยมในสังคมก็จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นความยั่งยืนมันเกิดได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเข้าใจ แล้วเราไปด้วยกัน”
เราเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านเริ่มสนใจและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไป เราอาจลองเริ่มกันที่แนวคิดง่ายๆ ว่า ของทุกอย่างทุกชิ้นที่เราเลือกใช้มันสามารถช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้ เหมือนอย่างที่เจ้าของแบรนด์ทิ้งท้ายกับเราว่า “พอเราเข้าใจในการมีส่วนได้ส่วนเสียของคนที่อยู่ในห่วงโซ่ของเราแล้ว มันจะทำให้เกิดการส่งต่อ แล้วก่อเป็นห่วงโซ่แห่งความยั่งยืนขึ้นมา เพราะทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเราให้ดียิ่งขึ้น”
อยากรู้จัก Thais มากขึ้น
Facebook: Thais Ecoleathers
Instagram: thais.ecoleathers