About
RESOUND

Save The Island

ปาจรีย์ ศรีฟ้า สาวน้อยหัวใจ Eco ผู้สร้างต้นแบบพลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะพระทอง

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 12-01-2021 | View 3004
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เกาะพระทอง หรือทุ่งหญ้าสะวันนาของเมืองไทย เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในพังงา และเป็นอันดับ 7 ของเมืองไทย ความเงียบสงบของเกาะ ยังความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และส่วนใหญ่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
  • บนเกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของ The Moken Eco Village ซึ่งเป็นรีสอร์ตต้นแบบของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100% เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร งดใช้ขวดพลาสติก และให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล
  • นอกจากเป็นรีสอร์ตอีโค่ 100% แล้ว ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์หายาก ซึ่งมักจะแวะมาทักทายและหาอาหารบนเกาะ อาทิ กวาง นกตะกรุม และเต่าตนุ

เกาะพระทองเป็นที่รู้จักในสมญานาม “ทุ่งหญ้าสะวันนาของเมืองไทย” เป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสำหรับคนรักธรรมชาติ ชอบท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ท่ามกลางความสงบที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงในพื้นที่ส่วนใหญ่ ที่ซึ่งหลายคนคาดหวังอยากให้ความสวยงานอันบริสุทธิ์คงอยู่ตรงหน้าตราบนานเท่านาน

The Moken Eco Village ภายใต้การดูแลของ ปาจรีย์ ศรีฟ้า คือหนึ่งในนั้น และพยายามลงมือทำผ่านรูปแบบรีสอร์ตพลังงานแสงอาทิตย์ 100% แห่งแรกและแห่งเดียวบนเกาะ ที่ให้ความสำคัญเรื่องการลดใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ

มอแกนหลังใหม่กับใจดวงเดิม

แม้จะเป็นเกาะใหญ่ที่สุดในจังหวัดพังงา และใหญ่เป็นอันดับ 7 ของไทย รองจากภูเก็ต สมุย เกาะช้าง ตะรุเตา พะงัน และเกาะกูด แต่ชาวบ้านเกาะพระทองกลับเพิ่งจะมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อนนี่เอง และมีเพียง 1 ใน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านทุ่งดาบเท่านั้น ส่วนบ้านแป๊ะโย้ยและบ้านปากจก ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเนื่องจากต้องผ่านเขตป่าและมีการทำวิจัยสิ่งแวดล้อมเสียก่อน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ความเป็นอยู่บนเกาะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต้องพึ่งพาเครื่องปั่นไฟเป็นหลัก ก่อนที่ The Moken Eco Village จะเป็นที่แรกของการนำพลังงานทางเลือกเข้ามาใช้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

The Moken Eco Village

ก่อนหน้านั้น กฤษ ศรีฟ้า อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา คุณพ่อของ แพร-ปาจรีย์ เคยสร้างรีสอร์ตเล็กๆ ชื่อว่า “กระท่อม มอแกน” แต่ครั้งนั้นปล่อยเช่าบริหาร ซึ่งยังใช้ระบบเครื่องปั่นไฟเหมือนกับทุกที่ กระทั่งเกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 รีสอร์ตได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้ต้องหยุดกิจการไปนานนับ 10 ปี

The Moken Eco Village

“ช่วงที่หยุดไป เราก็ยังกลับมาที่นี่ทุกปี กลับมาปลูกพวกต้นมะพร้าว มะขาม มะม่วงหิมพานต์ (ต้นไม้ที่เติบโตได้ดีบนเกาะ) มาทุกครั้งก็รู้สึกว่าสวยทุกครั้ง สามารถพายแคนูไปดำน้ำหน้าเกาะได้เลย ปะการังก็สวยมาก อยากให้หลายๆ คนได้มาเห็นเหมือนที่เราเห็น แต่เมื่อเรามาแล้วก็ไม่อยากเป็นภาระทำให้ธรรมชาติต้องสูญเสีย เราจึงอยากเก็บความเป็นธรรมชาติแบบนี้ไว้ ทำแบบที่ให้ธรรมชาติยังอยู่ ทำแบบไม่ทำลายธรรมชาติ และอยู่แบบกลมกลืนกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด” แพร เล่าถึงที่มาของ The Moken Eco Village รีสอร์ตหลังใหม่บนผืนดินเดิม

หน้าชายหาด

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ในรีสอร์ตแบบ 100% แทนระบบปั่นไฟเหมือนในอดีต พร้อมกับมีการออกแบบอาคารที่พักแบบเน้นธรรมชาติ พยายามไม่ใช้ปูนหรือสิ่งแปลกปลอม และยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการในครอบครัวกันเองเกือบทั้งหมด

โซลาร์เซลล์…ทางเลือกที่ใช่

บนพื้นที่ทั้งหมด 11 ไร่ บริเวณอ่าวตาแดง หรือปัจจุบันเรียกติดปากว่า “หาดพ่อตาหินกอง” ติดกับหาดสุดขอบฟ้า ซึ่งว่ากันว่าเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดประจำเกาะ ประกอบด้วย บังกะโลทั้งหมด 14 หลัง แต่ละหลังมีการติดแผงโซลาร์เซลล์อยู่ข้างบ้าน เช่นเดียวกับโรงซักผ้า เครื่องปั๊มน้ำ ส่วนห้องอาหารและรับรองแขกเป็นจุดใหญ่ที่สุดของการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์

ห้องอาหาร The Moken“ช่วงแรกๆ มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อย เพราะยังไม่รู้ว่าควรดูแลรักษาอย่างไรให้ใช้งานได้นานๆ แต่พอใช้ไปเรื่อยๆ กลับดูแลไม่ยากอย่างที่คิด ค่อนข้างง่ายด้วยซ้ำ ซึ่งตลอด 4 ปีที่เปิดบริการมา เราเจอปัญหาใหญ่แค่ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือแผงโซลาร์เซลล์โดนฟ้าผ่า แก้ไขด้วยการติดสายล่อฟ้าตามจุดต่างๆ กับอีกครั้งเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเม.ย. เป็นช่วงฝนตกเยอะ ทำให้ไฟไม่พอในตอนกลางคืน ลูกค้าต้องกินอาหารใต้แสงเทียน แต่ไม่มีใครโวยวาย ตรงกันข้ามทุกคนเข้าใจและกลายเป็นความโรแมนติกไปอีกแบบ หลังจากนั้นเราได้เพิ่มแบตเตอรี่มากขึ้นเพื่อสำรองพลังงาน และจากนั้นก็ไม่เคยเกิดปัญหาอีกเลย”

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกแบบห้องพักที่เน้นประหยัดพลังงานให้มากที่สุด ไม่มีแอร์ ไร้ทีวี ผนังห้องทุกหลังทำเป็นช่องลมตามภูมิปัญญาชาวบ้านและติดมุ้งลวดกันยุงแทน เพื่อให้ลมผ่านภายในห้องตลอดเวลา แม้ไม่ได้เปิดพัดลมก็ยังรู้สึกเย็นสบาย โดยเน้นไฟเฉพาะจุดที่จำเป็น พร้อมปลั๊กไฟแบบ USB สำหรับไฟฟ้ากระแสตรง

ภายในห้องพักของรีสอร์ท

“ตอนสร้างรีสอร์ตไม่คิดว่าเราจะเป็นรีสอร์ตที่เน้นความสบาย แต่เราอยากให้นักท่องเที่ยวได้มาใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เห็นธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ เราเน้นแบบนั้นมากกว่า ใครที่ต้องการความสะดวกสบายอาจไม่เหมาะกับเรา และเราเองก็ไม่เหมาะกับลูกค้าทุกกลุ่มเช่นกัน” ผู้บริหารสาวติดดินบอกถึงคอนเซปต์ของรีสอร์ต

ขับเคลื่อนรีสอร์ทหัวใจ ECO

นอกจากการออกแบบโดยฝีมือของคุณพ่อ ซึ่งมีความสนใจและผ่านการอบรมด้านพลังงานแสงอาทิตย์มาโดยเฉพาะแล้ว ทายาทวัย 32 ปี ยังบอกด้วยว่า ไม้ที่ใช้ในรีสอร์ตส่วนใหญ่เป็นไม้เศรษฐกิจที่ปลูกกันเองในสวนบนฝั่ง เช่น โต๊ะในห้องอาหารทำมาจากไม้กระถินเทพา ส่วนบังกะโลทำจากไม้สนและกระถินเทพา และทุกครั้งจะมีการปลูกทดแทนเมื่อถูกนำมาใช้เสมอ

บังกะโล Moken

ห้องอาหารของ The Moken

ไม่เพียงการลดใช้พลังงานและสิ่งแปลกปลอมจากธรรมชาติ ที่นี่ยังพยายามปรับทุกอย่างให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ทั้งลดการใช้พลาสติก โดยการฝากถุงตาข่ายไว้ที่ร้านประจำในตลาดสำหรับใส่ของแห้งและพืชผักต่างๆ ที่ปลูกเองไม่ได้และต้องซื้อมาจากบนฝั่ง รวมทั้งการใช้เหยือกน้ำ และกระบอกน้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวเติมน้ำไว้พกพายามออกไปเดินหน้าหาดแทนขวดพลาดติก อีกทั้งยังมีโรงแยกขยะ เศษอาหารนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ บางส่วนเอาไปขายของเก่า ส่วนขยะที่นำไปรีไซเคิลไม่ได้ก็ใช้วิธีการฝังกลบ โดยไม่มีการเผาเด็ดขาด

 

“เราอาจไม่ใช่อีโค่รีสอร์ต 100% แต่เราพยายามปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในทุกๆ ปี เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสองปีมานี้เราต้องเจอกับไมโครพลาสติกที่ถูกพัดขึ้นหาดมามากอย่างเห็นได้ชัด แถมขยะบางส่วนก็มาไกลจากเพื่อนบ้าน”

ความโดดเด่นอีกอย่างของที่นี่คือ การเชื่อมโยงกับชุมชนผ่านเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำจุดเด่นบนเกาะแห่งนี้มาตั้งเป็นชื่อบ้านพักแต่ละหลัง เช่น บ้านมอแกน บ้านสะวันนา บ้านดองดึง (ดอกไม้ประจำเกาะ) บ้านลิ้นห่าน (ผักหายากใกล้สูญพันธุ์ แต่ยังหาได้ที่นี่) และบ้านกวาง เป็นต้น หรือการเอาวิถีมอแกนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรีสอร์ต ทั้งเรือนรับรองที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรือ “ก่าบาง” ของชาวมอแกน และเสา “หล่อโบง” Spirit of Moken หรือเสาบรรพบุรุษของชาวมอแกน ที่ตั้งอยู่หน้าหาด ตามความเชื่อว่าจะคอยปกปักรักษาคนที่อยู่ในบริเวณนี้ให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ซึ่งได้ชาวมอแกนแท้ๆ มาตั้งให้ตามพิธีจริง ยิ่งไปกว่านั้น รายได้ 2% จากค่าห้องพัก จะมอบเป็นทุนให้โรงเรียนของเกาะในทุกๆ ปี

“เราไม่ได้มอบเป็นทุนการศึกษา แต่จะถามโรงเรียนว่าปีนี้อยากได้อะไร เหมือนปีแรกทางโรงเรียนอยากต่อเติมห้องอาหาร อยากได้ปูน อยากได้อะไร เราก็จัดหาไปให้ ปีไหนใช้ไม่หมด เราก็สะสมไปเรื่อยๆ ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 60,000 บาท หรือทุนอาหารเที่ยง มอบให้ปีละครั้ง ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนก็เป็นชาวมอแกน”

 

เสามอแกน

แสงตะวันบันดาลสุข

“ตั้งแต่ต้น เราไม่ได้มองว่าจุดคุ้มทุนของโซลาเซลล์จะใช้เวลากี่ปี เราทำอีโค่เพราะอยากให้ธรรมชาติอยู่กับเราไปนานๆ แต่กลับกลายเป็นจุดเด่นที่เรียกลูกค้าให้ หลายคนไปรีวิวใน Tripadvisor แนะนำควรมาที่นี่เพราะยังอนุรักษ์ธรรมชาติมาก ก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติ ใช้โซลาร์เซลล์ แม้แต่ลูกค้าที่เดินมาจากที่อื่นก็ชอบมาก เพราะข้อดีของการใช้โซลาร์เซลล์ คือไม่มีเสียงดังรบกวน”

เกาะพระทอง ธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์

แพร บอกว่าหากเทียบกับกิจการโรงแรมบนฝั่งที่เคยทำในอดีต The Moken Eco Village ถือว่าคุ้มทุนเร็วกว่ามาก เพราะนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเป็นลูกค้ารีเทิร์น ปีแรกอาจจะมาอยู่ 1 สัปดาห์ ปีที่สองขยับเป็น 15 วันและเป็น 1 เดือนในปีถัดมา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอนุรักษ์ ตั้งใจมาอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง และมีการแลกเปลี่ยนไอเดียบางสิ่งบางอย่างที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก ที่สำคัญ รีสอร์ตของเธอยังเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอีก 2-3 ที่เข้ามาศึกษาดูงาน

หนึ่งในนั้นคือ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพระทอง ที่เข้ามาเรียนรู้และนำไปสู่การให้บริการไฟสาธารณะจากพลังงานแสงอาทิตย์ของแต่ละหมู่บ้านในขณะนี้ และส่งอิทธิพลไปสู่รีสอร์ตอื่นๆ ให้เปลี่ยนมาใช้โซลาร์เซลล์

“ตอนนี้หลายที่บนเกาะเริ่มเปลี่ยนมาใช้โซลาร์เซลล์กันแล้ว อย่างเช่น Golden Buddha Beach Resort ซึ่งมีลักษณะธุรกิจ Timeshare ก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้หลายหลังแล้ว และเริ่มทยอยใช้กันหลายๆ ที่แล้ว แม้ยังไม่ใช่แบบ 100% เหมือนเรา แต่ก็ถือเป็นทิศทางที่ดีและเป็นเรื่องน่ายินดีมาก”

ไฟฟ้ามา…แต่โซลาร์ยังยืนหนึ่ง

แม้การไม่มีไฟฟ้าใช้จะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเกาะพระทอง แต่ล่าสุดหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามนำไฟฟ้าเข้ามาให้บริการในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเจ้าของรีสอร์ตหัวใจอีโค่ ไม่ปฏิเสธถึงความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เป็นอยู่เช่นกัน แต่เมื่อมองในแง่คุณภาพชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะด้านการแพทย์และความจำเป็นบางอย่างก็ยากจะปฏิเสธได้

วิถีชีวิตของชาวบ้านเกาะพระทอง

“ถึงตอนนั้น เราคงยังใช้โซลาร์เซลล์เป็นหลัก แต่อาจมีการนำไฟฟ้าเข้ามาใช้ในบางจุดที่จำเป็น เช่น ตู้เย็น เพราะทุกวันนี้ตอนกลางคืนเราต้องถอดปลั๊กตัวเครื่องทำความเย็นที่ผ่านอินเวอร์เตอร์ (แปลงเป็นกระแสสลับสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า) เพื่อไม่ให้กินไฟมากเกินไป แต่คงไม่ปรับเป็นห้องแอร์ หรือเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าทั้งหมด หรือถ้าไม่มีเข้ามาเลยก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งสำคัญสำหรับเราคือธรรมชาติ”

ธรรมชาติของรีสอร์ท

บริเวณโดยรอบของรีสอร์ท The Moken

จึงไม่แปลกที่เจ้าของสาวจะเผยให้เห็นถึงรอยยิ้มปนสุขทุกครั้ง ยามเล่าถึงแขกพิเศษผู้มาเยือนอย่างกวาง ผู้แอบย่องเข้ามากินลูกหม่อนอยู่บ่อยครั้ง เสียงร้องของนกเงือกหรือนกตะกรุม การขึ้นมาวางไข่ของเต่าตนุบริเวณแหลมหน้ารีสอร์ต เช่นเดียวกับการพานักท่องเที่ยวออกไปชมทุ่งหญ้ากลางเกาะด้วยตัวเอง พร้อมกับแนะนำต้นไม้ดอกหญ้าต่างด้วยแววตาแห่งความสุข

ปาจารีย์ เจ้าของรีสอร์ทรักษ์โลก

ในยุคที่คำว่า “พลังงานแสงอาทิตย์” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทยอีกต่อไป แพร สนับสนุนด้วยเสียงหนักแน่นว่า โซลาร์เซลล์คุ้มค่าแก่การลงทุน ไม่ใช่แค่อายุการใช้งานยาวนานถึง 20 ปี บวกกับราคาดร็อปลงพอสมควรเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนตอนติดตั้งที่บ้านบนฝั่ง แต่ยังช่วยโลกได้ไม่น้อย ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศอย่างน่าเป็นห่วงเนื่องจากภาวะโลกร้อน

ไม่แน่ว่าการได้มาเยือนที่นี่ของใครบางคน อาจไม่ใช่แค่มารับ “ธรรมชาติบำบัด” เท่านั้น แต่ยังอาจได้แรงบันดาลใจให้หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยก็เป็นได้

ภาพจาก :  The Moken Eco Village

สำหรับใครที่สนใจอยากไปเที่ยวชมเกาะพระทองและพักที่ The Moken Eco Village ติดตามและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/PhrathongIsland หรือ www.mokenecovillage.com

Tags: